Muse Around The World
จาก Ecomusée ถึง Ecomuseum จุดบรรจบของกระแสพิพิธภัณฑสถานวิทยาใหม่ รัฐบาล ท้องถิ่น และชาวบ้านในงานพิพิธภัณฑ์นิเวศ
Muse Around The World
09 มิ.ย. 66 2K
Le Creusot, Fance; Monceau-les-mines, France; Flodden 1513, Scotland; England, United Kingdom

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

In Focus

  • บทสำรวจพัฒนาการพิพิธภัณฑ์นิเวศอย่างย่นย่อในฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศ
    เพื่อทำความเข้าใจที่มาของการผนวกสภาพแวดล้อม ชาวบ้าน และมรดกวัฒนธรรม หลอมรวมเป็นพิพิธภัณฑ์นิเวศที่ขับเน้นอัตลักษณ์ของพื้นที่
  • พิพิธภัณฑ์นิเวศทลายกรอบพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะพิพิธภัณฑ์นิเวศเกิดขึ้นในบริบทพื้นที่ ทั้งธรรมชาติ โบราณสถาน ชุมชนและประสบการณ์ส่วนบุคคล กลายเป็นองค์ประกอบในการสร้างพิพิธภัณฑ์นิเวศ
  • การบริหารจัดการมรดกแบบประชาธิปไตย คือจุดมุ่งหมายของพิพิธภัณฑ์นิเวศ ชุมชน ผู้เชี่ยวชาญ และทางการท้องถิ่นต่างทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความหมายของมรดกที่ตอบสนองสังคมปัจจุบัน

In Content

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พลเมืองในหลายประเทศเคลื่อนไหวและต่อต้านการใช้กำลังทางทหารในการจัดการปัญหาทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยเรียกร้องความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมในปัญหาสิ่งแวดล้อม บริบทของสังคมและการเมืองในทศวรรษ 1960 และ 1970 ก่อให้เกิดการตั้งคำถามกับการพัฒนาความรู้ หรือขนบในการบริหารพิพิธภัณฑ์ จนเกิดนิยามของพิพิธภัณฑสถานวิทยาใหม่ที่มุ่งหวังในการสร้างความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์กับสังคม หนึ่งในความเคลื่อนไหวในระยะเวลาดังกล่าว คือพิพิธภัณฑ์นิเวศ หรือ Ecomuseum

บทความนี้เป็นหนึ่งในข้อเขียนจำนวน 5 เรื่อง ที่จะสำรวจความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์นิเวศ และความเป็นไปของพิพิธภัณฑ์นิเวศในจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลี ผู้เขียนจะเผยแพร่เป็นระยะ ๆ เพื่อปูทางสู่กิจกรรมเสวนาพิพิธภัณฑ์หรือ Museum Focus: Museum and More Definition เรื่อง พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 ณ มิวเซียมสยาม ในเวทีดังกล่าว มีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารโครงการวัฒนธรรม และเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนและการใช้ประโยชน์วัฒนธรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม

แนวคิดพิพิธภัณฑ์นิเวศ (Ecomusées)  

ฮอก์ เดอวารีน และจอร์จ อองรี-ริวิแยร์ นักพิพิธภัณฑ์วิทยาชาวฝรั่งเศส คือผู้ที่นำแนวคิดนิเวศวิทยามาสู่การปฏิรูปงานพิพิธภัณฑ์ อนึ่งคำนี้มาจากการประชุมโต๊ะกลมซาติอาโก ค.ศ. 1972 ในชิลี ที่ประชุมดังกล่าวเสนอกระบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ หรือ ‘the integrated museum’ กล่าวคือ การผนวกรวมท้องถิ่นและชุมชนเข้าสู่การทำงานพิพิธภัณฑ์ ในระยะต่อมาจึงเกิดแนวคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นิเวศหรือ ecomuseum ที่ทำหน้าที่สถาบันทางสังคมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเครือข่ายนานาชาติในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์นิเวศ

ภาพที่ 1 ภาพลายเส้น ค.ศ. 1806 บันทึกลักษณะอาคารและสภาพโรงหล่อ แสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูของกิจการเหมืองแร่ โรงหล่อเหล็ก และอุตสาหกรรมการผลิตแก้วในพื้นที่ เลอเครอโซต์เคยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกเหล็กที่สำคัญของยุโรป ตระกูลชไนเดอร์เป็นทั้งผู้บุกเบิกและผู้สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับแคว้นบูร์กอนย์ (Bourgogne) และเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่กิจการเฟื่องฟู (ภาพวาดลายเส้นบันทึกสภาพของโรงหล่อ ค.ศ. 1806 © CUCM, document Écomusée จาก https://www.creusotmontceautourisme.fr/en/discover/le-creusot/a-rich-industrial-past/history-of-le-creusot/from-the-royal-foundry-to-the-english-style-forge)

ในต้นทศวรรษ 1970 เดอวารีนชี้ให้เห็นความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์วรรณนาของผู้คนและวัตถุวัฒนธรรมที่ต้องสัมพันธ์กับบริบทสิ่งแวดล้อม หนทางในการแสวงหาความรู้นั้นจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกับชุมชน และกำหนดเป้าหมายที่ตอบโจทย์การพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จำกัด

ตัวอย่างเช่นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเลอเครอโซต์ (Le Creusot) ด้วยกระบวนการพิพิธภัณฑ์นิเวศ เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตอนกลางของฝรั่งเศสและมีเหมืองถ่านหินและแร่เหล็กขนาดใหญ่ที่เคยเฟื่องฟูตั้งแต่ ค.ศ. 1782 เมื่อเวลาผ่านไปเมืองเติบโตเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รองรับคนงานและครอบครัวหลายหมื่นชีวิต แต่กิจการดั้งกล่าวต้องเลิกราไปเพราะอุตสาหกรรมประเภทอื่นเข้ามาทดแทนและการถลุงแร่ที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม นำมาสู่สภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจในที่สุด

พิพิธภัณฑ์เครอโซต์มองต์โซ (Ecomusée Creusot Montceau) จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างให้พื้นที่กลับมามีชีวิต ผู้คนในพื้นที่เป็นบ่อเกิดของประสบการณ์และเป็นผู้ดูแลแหล่งมรดกต่าง ๆ อันได้แก่ อาคารจัดแสดงในคฤหาสน์ตระกูลเจ้าของกิจการเหมืองให้ภาพรวมประวัติศาสตร์ของพื้นที่และผู้คน ส่วนสถานที่จริงในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ชีวิตของชาวเหมือง อดีตคนงานเหมืองและครอบครัวที่ยังอาศัยในเลอเครอโซต์ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ของตน กล่าวโดยสรุปพิพิธภัณฑ์นิเวศในระยะแรกมองชุดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน สภาพแวดล้อม กับเศรษฐกิจที่ไม่แยกขาดจากกัน

ภาพที่ 2 พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่จากการปรับใช้เหมืองแร่เก่าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการถลุงแร่ เขตบรองซี และชีวิตคนงานอีกกว่าหมื่นสามพันคน การบูรณะถาวรวัตถุต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในงานอนุรักษ์ด้านโบราณคดีอุตสาหกรรมและสถาปนิกที่ร่วมออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเยี่ยมชม ผู้สนใจสามารถเดินลงไปสังเกตสภาพของเหมืองแร่ในความลึกราว 200 เมตร เพราะเหมืองมีระบบโครงสร้างที่ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี (ภาพเหมืองถลุงแรกในแซนต์โคลด พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ © Xavier Spertini จาก https://www.creusotmontceautourisme.fr/decouvrir/montceau-les-mines/patrimoine-minier/le-musee-de-la-mine)

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ริวิแยร์กล่าวถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และประยุกต์ใช้พิพิธภัณฑ์นิเวศในการออกแบบการจัดการอุทยานระดับภูมิภาคของฝรั่งเศส ซึ่งมีความพยายามในการออกแบบการบริหารและจัดการอุทยานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในระยะต่อมาริวิแยร์พัฒนานิยามในช่วงทศวรรษ 1980 ที่มักได้รับการอ้างอิงในการสร้างพิพิธภัณฑ์นิเวศ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์นิเวศอาศัยการตีความประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่นและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในอาณาบริเวณหนึ่ง ๆ สะท้อนเอกลักษณต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น อาหารในภูมิภาค และพร้อมโอบรับความหลากหลายที่ไร้ขีดจำกัด (limitless diversity) ในการดำเนินการ พิพิธภัณฑ์สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับลักษณะทางการเงิน การเมือง และวัฒนธรรมในท้องถิ่น

การขับเคลื่อนท้องถิ่นด้วยอุดมการณ์และข่ายใยทางสังคม

การทำงานในพิพิธภัณฑ์นิเวศจึงวางโจทย์ไปตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ กล่าวได้ว่า Eco ที่กำกับความเป็นพิพิธภัณฑ์นิเวศในที่นี้ ช่วยสร้างสมดุลของธรรมชาติ วัฒนธรรม คน เศรษฐกิจ และสังคม จากบทบาทพิพิธภัณฑ์นิเวศในเชิงท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์นิเวศค่อย ๆ ปรับตัวสู่กลไกในการพัฒนาศักยภาพพื้นที่และแหล่งทรัพยากรท้องถิ่นที่มีคุณค่า โดยมีคนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและเป็นผู้รับผลจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์นิเวศยังเป็นกระจกที่ส่องความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ผู้ชม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ภาพที่ 3 สนามรบโฟลด์เดนคือสถานที่ของการปะทะระหว่างกองกำลังของพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสก็อตแลนด์ กับกองทหารของราชสำนักอังกฤษ โดยมีทอมัส โฮเวิร์ด ผู้ดำรงตำแหน่งเอิร์ลแห่งเซอร์เรย์ เป็นแม่ทัพ การปะทะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1513 และการรบที่ต่อเนื่องอีกสามสัปดาห์ ในอดีตนั้น มีบันทึกถึงการต่อสู้ระหว่างราชอาณาจักรทั้งสองตลอดสามร้อยว่า การรบแบรกซ์ตันมัวร์ (the Battle of Branxton Moor) แต่เปลี่ยนชื่อเป็นการรบสนามโฟลด์เดน (Battle of Flodden Field) โดยนักเขียนและนักประวัติศาสตร์ยุควิคตอเรียในศตวรรษที่ 19 ชื่อโฟลด์เดนมาจากเนินเขาที่พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสก็อตแลนด์ตั้งค่ายหลายสัปดาห์ก่อนจะเข้าโรมรันในการรบ (ภาพจาก https://www.historic-uk.com/wp-content/uploads/2017/04/battle-of-flodden-1920x987.jpg)

คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์นิเวศนานาชาติประมวลลักษณะร่วม 21 ประการของพิพิธภัณฑ์นิเวศที่มุ่งเน้นการสร้างอัตลักษณ์พื้นที่ ความเชื่อมโยงสภาพแวดล้อมในอดีตและปัจจุบัน และกระบวนการที่บรรจุความทรงจำร่วม ในลักษณะร่วมดังกล่าว มีหลักการพื้นฐานใน 3 หัวข้อสำคัญ

(1) ตอบโจทย์คนในท้องถิ่นและความต้องการนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
(2) ความต้องการในการพัฒนาและการอนุรักษ์มาจากคนในชุมชน
(3) ท้องถิ่นทุกภาคส่วนแสดงความเป็นเจ้าของและร่วมมือกันในการบริหารพิพิธภัณฑ์นิเวศ

กระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อแช่แข็งเรื่องราวและความเป็นไปของสถานที่ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้กับภาคพลเมืองร่วมกันวางทิศทางการพัฒนาในพื้นที่อย่างแท้จริง และมุ่งหวังให้รัฐบาลท้องถิ่นทำหน้าที่ส่งเสริมภาคประชาสังคม องค์กรสาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ และเอกชนในกระบวนการทำงาน รัฐบาลท้องถิ่นจึงไม่ควรเป็นเพียงผู้สนับสนุนเทศกาลหรือกิจกรรมพิเศษที่เกิดขึ้นและจบไปชั่วครั้งชั่วคราว  

ปีเตอร์ เดวิส นักพิพิธภัณฑ์ศึกษาชาวอังกฤษกล่าวถึงองค์ประกอบที่สำคัญ คือ เครือข่าย พิพิธภัณฑ์นิเวศหลายแห่งจัดตั้งจากโครงข่ายความสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์และแหล่งมรดกวัฒนธรรม/ธรรมชาติในพื้นที่ จึงครอบคลุมอาณาบริเวณที่กว้างขวาง ดังเช่น พิพิธภัณฑ์นิเวศโฟลด์เดน 1513 (Flodden 1513 Ecomuseum) ในสหราชอาณาจักร ที่เชื่อมโยงแหล่งประวัติศาสตร์ 41 แหล่ง และโบราณสถานอีก 32 แห่ง เมื่อครั้งสงครามการต่อสู้ระหว่างราชอาณาจักรสก็อตแลนด์กับราชอาณาจักรอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่อังกฤษเป็นผู้กำชัยชนะ และทหารสก็อตเสียชีวิตไปกว่าหมื่นนาย สถานที่เหล่านี้ได้รับการดูแลโดยชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ประกอบด้วยปราสาท สะพาน โบสถ์ พิพิธภัณฑ์ ซากกำแพง รูปปั้น และสนามรบ

ภาพที่ 4 ตัวแบบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบสร้อยคอ (necklace model) ที่เสนอโดยปีเตอร์ เดวิส (Perter Davis)
พิพิธภัณฑ์นิเวศครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวาง และมีองค์ประกอบต่าง ๆ ในการสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้แก่ ภูมิทัศน์ แหล่งประวัติศาสตร์ เขตแคว้น ความทรงจำ ธรรมชาติ ขนบปฏิบัติ มรดก และชุมชน องค์ประกอบเหล่านี้ยึดโยงแหล่งประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน แต่ละแหล่งมีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ที่เรียกว่า ส่วนประกอบย่อยของมรดก (fragments of heritage) (ภาพจาก https://www.flodden1513ecomuseum.org/images/project/2-Figure-1-the-Necklace-Model-of-the-Ecomuseum.jpg)

โฟลด์เดน 1513 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการบอกเล่าเรื่องราวของสงครามจากมุมมองที่แตกต่างกัน รวมถึงวิธีการบริหารจัดการมรดกแบบส่วนประกอบย่อยของมรดก (fragments of heritage) แต่ละแห่งเผชิญกับข้อท้าทายที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางการเมืองและสังคม การสูญเสีย
งบประมาณอุดหนุนหรือการปรับเปลี่ยนบุคลากรที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ยกตัวอย่างความร่วมมือ
ของนักจดหมายเหตุกับอาสาสมัครนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น ที่สร้างให้จุดรวมมรดก (heritage hub) ในแต่ละแห่งสร้างเรื่องราวจากการตีความหลักฐานชั้นต้นที่แตกต่าง

เดวิสชี้ให้เห็นว่าหากกลุ่มคนที่สนับสนุนโฟลด์เดนไม่เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ และประโยชน์ที่จะเกิดจากการจัดการมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว พิพิธภัณฑ์นิเวศโฟลเดน 1513 คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย กล่าวจนถึงที่สุดอนาคตของมรดกจึงไม่ใช่การพึ่งพิงแนวทางมรดกทางการ (‘authorised heritage’ approach) หากต้องอาศัยกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกันและออกแบบการบริหารจัดการมรดกตามอัตภาพ

มิใช่เพียงความภาคภูมิใจ

ในเวลานี้ พิพิธภัณฑ์นิเวศกลายเป็นเครื่องมือพัฒนาสังคม โดยมุ่งหวังให้พลเมืองถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการตัดสินใจต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์นิเวศหรือพิพิธภัณฑ์อื่นใดที่ใช้การมีส่วนร่วม ย่อมแสดงบทบาทในฐานะตัวการของการเปลี่ยนแปลง (change agent) นั่นคือกระบวนการสร้างให้คนมีฐานคติที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเป็นผู้ร่วมสร้างความหมายของมรดกไปพร้อมกัน 

ประเด็นที่น่าขบคิดสำหรับโครงการมรดกบนฐานชุมชนคือ ความยั่งยืน ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งการเงิน บุคลากร ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงาน การดูแลและใช้ประโยชน์มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมโดยชุมชนจึงต้องอาศัยการวางแผนระยะยาว นอกจากนี้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์นิเวศในแต่ละอาณาบริเวณทำหน้าที่เป็นข่ายใยสังคม ที่เปิดโอกาสในการแบ่งปันความคิด มุมมอง และข้อมูล เพื่อให้ทุกภาคส่วนนั้นกำกับความเป็นไปของพิพิธภัณฑ์และการบริหารจัดการมรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน.

หมายเหตุ 

  • ภาพปก ภาพมุมสูงที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูแหล่งอุตสาหกรรมเลอเครอโซต์-มองต์โซ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์นิเวศที่บอกเล่าประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมและความเป็นเมือง และความสัมพันธ์ของสังคมและธรรมชาติกับการใช้ประโยชน์ที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย
  • สำหรับผู้ที่สนใจท่องเที่ยวออนไลน์ไปยังดินแดนประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมเลอเครอโซต์ สามารถเยี่ยมชมแหล่งประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ด้วยภาพมุมสูง จาก https://www.creusotmontceautourisme.fr/ftp/360/belvedere-du-creusot.html
  • สำหรับผู้ที่สนใจโครงการต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้สนามรบโฟลด์เดนเป็นแหล่งประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์นิเวศที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่น สามารถเข้าไปยังตัวเลือก The Projects จาก https://www.flodden1513org/ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์นิเวศ การอนุรักษ์ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ การสืบค้นประวัติศาสตร์การรบและหลังการรบ โดยเฉพาะหัวข้อ 47. Flodden: What have we learnt? เดวิด เอช แคลดเวลล์ ถ่ายทอดกระบวนการทำงานแบบสามเส้าที่เกิดจากการผนวกความรู้จากงานโบราณคดี งานจดหมายเหตุ และงานตามรอยถึงโฟลด์เดน (routes to Flodden) เพื่อเข้าใจในภาพรวมของความหมายของสถานที่และความทรงจำร่วมของลูกหลานเชื้อสายสก็อต จาก https://www.flodden1513ecomuseum.org/project/flodden-what-have-we-learnt/47-flodden-what-have-we-learnt

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Borrelli, Nunzia, and Rongling Ge. 2019. “An Analysis of Chinese Ecomuseums in Relation to Ecomuseum Theories and Principles.” Organon 51: 123–51. Available from https://doi.org/10.4467/00786500.ORG.19.005.11326.

Davis, Peter. 1999. Ecomuseums: A Sense of Place. Leicester Museum Studies. London; New York: Leicester University Press.

———. 2009. “Ecomuseums and the Representation of Place.” Rivista Geografica Italiana 116: 483–503.

———. n.d. “Ecomuseums: How Flodden Fits the Model.” Education. Flodden 1513 Ecomuseum & The Flodden 500 Project. Available from https://www.flodden1513ecomuseum.org/project/ecomuseum-and-the-flodden-500-project/2-ecomuseums-how-flodden-fits-the-model.

Debary, O. 2004. “Deindustrialization and Museumification: From Exhibited Memory to Forgotten History.” The ANNALS of the American Academy of Political and Social Science 595 (1): 122–33. Available from https://doi.org/10.1177/0002716204266630.

Donghai, Su. 2008. “The Concept of the Ecomuseum and Its Practice in China.” Museum International 60 (1–2): 29–39. Available from https://doi.org/10.1111/j.1468-0033.2008.00634.x.

Douglas, Susie. n.d. “Documentary Research Project: A Volunteer’s Perspective at Berwick Record Office.” Education. Flodden 1513 Ecomuseum & The Flodden 500 Project. n.d. https://www.flodden1513ecomuseum.org/project/ecomuseum-and-the-flodden-500-project/2-ecomuseums-how-flodden-fits-the-model.

Robinson, Helena. 2020. “Curating Good Participants? Audiences, Democracy and Authority in the Contemporary Museum.” Museum Management and Curatorship 35 (5): 470–87. Available from https://doi.org/10.1080/09647775.2020.1803117.

Photo Credits

ภาพปก    ภาพมุมสูงสถานที่ตั้งหมู่บ้านและกลุ่มอาคารอุตสาหกรรมในเลอเครอโซต์ © Lesley Williamson จาก https://www.creusotmontceautourisme.fr/en/discover/le-creusot/a-rich-industrial-past

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ