หากจำเป็นต้องลงมือจัดขนมแบบไทย ๆ ต้อนรับฝรั่งมังค่าแขกบ้านแขกเมือง เราจะเลือกขนมอะไรจัดวางลงไปในพานทองอันงดงาม ที่ประดับตกแต่งไปด้วยบายศรีสวย ๆ
ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ว่าแล้วก็บรรจงหยิบขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมผิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมสังขยา ขนมหม้อแกง ลงไปในพาน ซึ่งทุกอย่างดูไทยจริง ๆ เอาคะแนนการจัดพานไปสิบกะโหลก น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก แต่จะว่าไปเราไม่อยากรู้จักผู้คิดค้นรังสรรค์ขนมพวกนี้เหรอ ว่าคนนั้นคือใคร ? คนไทยหรือเปล่า ? เขาเอาต้นตำรับมาจากไหน ? หรืออยู่ ๆ ก็คิดสูตรขึ้นมาเอง
เชื่อกันว่าผู้ที่คิดค้นขนมเหล่านี้คือ “ท้าวทองกีบม้า” ชื่อก็ไทยเหลือเกิน แต่แน่นอนชื่อไทยก็ไม่ได้หมายความว่าสตรีนางนี้เป็นคนไทย แต่เป็นสตรีที่มีเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น บรรพบุรุษฝ่ายบิดาของท้าวทองกีบม้าเป็นชาวญี่ปุ่นที่สมรสกับชาวโปรตุเกส มีชื่อเดิมดังที่ปรากฏในบันทึกของบาทหลวง เดอ ซัวซีย์ คือ dona Guyamar de Pina
เมื่อทราบแบบนี้แล้วก็ยังคลายความสงสัยไม่ได้อีกว่าชาวต่างชาติมาเกี่ยวข้องวุ่นวายอะไรกับเรา ? จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาบริบทสังคมในตอนนั้น ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์กับต่างชาติอยู่มาก และมีชาวต่างชาติจำนวนมากที่กลายเป็นคนสยาม ดังบันทึกของ นิโกลาส์ แชรแวส ที่พูดถึงอาณาจักรสยามว่ามีพลเมืองเป็นต่างด้าว หรือชาวต่างชาติ จำนวนมากถึงหนึ่งในสามของพลเมืองทั้งหมด ที่เข้ามาอาศัยอยู่ภายในอาณาจักรสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ซึ่งท้าวทองกีบม้านั้นเป็นนามบรรดาศักดิ์ของข้าราชสำนักฝ่ายใน มีหน้าที่ประกอบประดิษฐ์เครื่องเสวยที่เรียกว่าเครื่องต้น ปรากฏนามบรรดาศักดิ์นี้ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งใช้คำว่า “วิเสท” เรียกพวกประกอบเครื่องเสวย โดยแบ่งเป็น “วิเสทกลาง” มีหน้าที่ประกอบอาหารหวาน มีบรรดาศักดิ์ 3 ตำแหน่ง คือ ท้าวเทพภักดี ท้าวทองพยศ ท้าวทองกีบม้า และ “วิเสทนอก” มีหน้าที่ประกอบเครื่องคาวทุกชนิด มีนามบรรดาศักดิ์ 3 ตำแหน่งคือ ท้าวยอดมณเฑียร ท้าวอินกัลยา ท้าวมังสี
เรื่องของขนมหวานตำหรับเท้าทองกีบม้า น่าจะเชื่อได้ว่าอาหารจำพวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา หม้อแกง เกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาจากการคิดค้นประดิษฐ์ดัดแปลงมาจากอาหารหวาน ตามเชื้อชาติของบรรพบุรุษท้าวทองกีบม้า คือ ชาวโปรตุเกส โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือ ไข่ แป้ง และน้ำตาลทราย และวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีในแผ่นดินอยุธยา แต่ได้รับการดัดแปลงให้แตกต่างจากของเดิม ตามความคิดประดิษฐ์ของท้าวทองกีบม้า และเมื่อเวลาผ่านไปคนไทยก็ดัดแปลงเพิ่มเติมต่อมาทั้งรูปร่างลักษณะและรสชาติ เพื่อให้ถูกรสนิยมแบบไทย ๆ
มีหลักฐานว่าปัจจุบันลักษณะอาหารโปรตุเกสที่มีส่วนคล้ายคลึงกับขนมหวานที่เชื่อกันว่าท้าวทองกีบม้านำเข้ามาเผยแพร่ในสยาม มีอยู่ 2 อย่าง คือ “ทองหยิบ” ซึ่งเรียกว่า “Biretta” และ “ฝอยทอง” ที่เรียกว่า “Fios do Ovos”
ในส่วนขนมอื่น ๆ เช่น ขนมฝรั่ง ขนมบ้าบิ่น หม้อแกง และสังขยา เข้าใจว่าน่าจะใช้ส่วนประกอบตามแบบขนมหวานโปรตุเกสมาดัดแปลง เช่น “ขนมหม้อแกง” ในปัจจุบัน เชื่อว่ามาจากขนมชื่อ “กุมภมาศ” ซึ่งท้าวทองกีบม้าดัดแปลงมาจากขนมแบบยุโรปเพื่อถวายเป็นของเสวย
รู้อย่างนี้แล้วก็โล่งอกไปที ค่อยยังชั่วที่ ถึงผู้คิดประดิษฐ์ขนมไทยจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ก็คิดบนผืนแผ่นดินอยุธยาราชธานีหนึ่งที่เรานับว่าเป็นไทยอยู่ดี
แต่ช้าก่อน ! แล้วถ้ามีคนมาบอกว่าขนมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินอยุธยาด้วยซ้ำล่ะ เนื่องจาก “ต้นตำรับการทำขนมของท้าวทองกีบม้าแท้จริงแล้วมาจากญี่ปุ่นอีกทีหนึ่ง” เราลองมาเปิดใจรับรู้ถึงแนวคิดที่แตกต่างจากการยึดไทยเป็นจุดศูนย์กลางกันบ้าง
ข้อสันนิษฐานนี้เป็นแนวคิดของ เรโกะ ฮาดะ (Reiko Hada) นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ได้เขียนบทความลงในวารสารสยามสมาคม โดยเสนอว่า อันที่จริงท้าวทองกีบม้าได้สูตร หรือถูกสอนให้ทำขนมลักษณะนี้มาจากแม่ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นอีกทีหนึ่ง ไม่ได้คิดประดิษฐ์ใหม่ เนื่องจากเมื่อครั้งที่ชาวโปรตุเกสเข้าไปในญี่ปุ่นมากขึ้น ก็ได้สอนให้ชาวญี่ปุ่นหัดทำขนมโปรตุเกส ซึ่งปัจจุบันขนมญี่ปุ่นหลายชนิดก็เป็นตำรับโปรตุเกส เช่น ขนมของญี่ปุ่นที่มีลักษณะเหมือนฝอยทอง ที่ชื่อ “เครันโชเมน” ที่มีหน้าตาและสีสันคล้ายกับฝอยทองมาก ปัจจุบันยังคงทำอยู่ที่เกียวโตและคิวชู ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเท่ากับว่าขนมไทยสูตรท้าวทองกีบม้า ก็คือขนมญี่ปุ่นตำรับโปรตุเกส ที่ท้าวทองกีบม้าได้รับการถ่ายทอดส่งต่อมาอีกที ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในสยามหรือผืนแผ่นดินไทยด้วยซ้ำ
มาถึงตอนนี้ ถ้าเริ่มรู้สึกเศร้าใจจากที่ว่าขนมไทยอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินอยุธยาด้วยซ้ำอย่างที่ เรโกะ ฮาดะ สันนิษฐานแล้ว เราลองมาตามติดประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้าก็น่าเศร้าไม่แพ้กัน
ความดราม่าของชีวิตท้าวทองกีบม้า กว่าจะได้มารังสรรค์ขนมให้เราได้กินกันมีเรื่องราวคือ ท้าวทองกีบม้า เป็นภรรยาของ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” หรือที่รู้จักกันในนามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ฟอลคอลก็เป็นที่เกลียดชังของขุนนางสยาม โดยเฉพาะพระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) จนสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนัก พระเพทราชาก็ถือโอกาสยึดอำนาจ
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระเพทราชา ภายใต้ราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ชะตาชีวิตของฟอลคอล ถูกจำคุกและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา จึงทำให้ชีวิตของท้าวทองกีบม้าประสบกับความลำบาก อีกทั้งขุนหลวงสรศักดิ์ก็อยากจะได้เธอไปเป็นภรรยา จึงใช้กลวิธีต่าง ๆ ที่จะเอาชนะใจ แต่ไม่ได้ผล ขุนหลวงสรศักดิ์จึงสั่งให้ทรมานด้วยการใช้งานและกักขัง ต่อมาขุนหลวงสรศักดิ์ก็เปลี่ยนแผนการใหม่โดยส่งญาติของท้าวทองกีบม้าซึ่งรับราชการอยู่ในพระราชสำนักฝ่ายใน ให้ทำทีไปเยี่ยม และจะช่วยพาไปหาที่พักพิงแห่งใหม่ภายในวัง โดยนางหลงเชื่อไว้ใจติดตามญาติเข้าไปในวัง แต่นางได้มาทราบภายหลังว่าเป็นวังของขุนหลวงสรศักดิ์
แต่เมื่อเหตุการณ์ค่อย ๆ คลี่คลาย ขุนหลวงสรศักดิ์เลิกสนใจในตัวท้าวทองกีบม้าแล้ว ท้าวทองกีบม้าก็ยังคงใช้ชีวิตทำงานในห้องเครื่องต้นอย่างสบายใจขึ้น ในช่วงนี้เองน่าจะเป็นช่วงที่ท้าวทองกีบม้าได้ใช้ฝีมือทำอาหารที่มีลักษณะแตกต่างไปจากอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารหวาน ที่มีไข่และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอันเป็นลักษณะอาหารของชาวโปรตุเกส นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำอาหารหวานตามแบบชาวตะวันตกเป็นครั้งแรก และก็น่าที่จะได้รับการดัดแปลงตามรสนิยมของคนไทยเรื่อยมา
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าเสือ(ขุนหลวงสรศักดิ์)แล้ว ชีวิตของท้าวทองกีบม้าก็กลับมาดีอีกครั้ง พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางมีหน้าที่ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองและเป็นหัวหน้าพนักงานพระภูษามาลา เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ด้วยความดีและความสามารถของนางเอง
ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอความน่าสนใจอยู่สองประเด็นหลัก 1. ข้อสันนิษฐานที่มีผู้เสนอแนวคิดไว้เกี่ยวกับที่มาของขนมไทย 2. เรื่องราวอันน่าสงสารของชีวิตท้าวทองกีบม้า ซึ่งทั้งสองประเด็นมีจุดร่วมกันในเรื่องของ “ความไม่แน่นอน” ความไม่แน่นอนประการแรกคือ ขนมไทยอาจจะเกิดขึ้น หรือไม่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินอยุธยาราชธานีหนึ่งที่เรานับว่าเป็นไทย ประการที่สองคือ ความไม่แน่นอนของชีวิตท้าวทองกีบม้า ที่จากภรรยาของขุนนางใหญ่ สู่การเป็นหม้าย ชีวิตตกระกำลำบาก จนชีวิตกลับมาดีขึ้นในบั้นปลาย ทั้งหมดล้วนไม่แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างแน่ชัดจากหลักฐานคือ “ขนมไทย คนไทยไม่ได้คิด”
อย่างไรก็ตาม ขนมหวานสูตรท้าวทองกีบม้า ก็ได้แพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย จนเป็นขนมไทยไปแล้ว และถือเป็นคุณูปการของท้าวทองกีบม้าที่ได้สร้างสูตรขนมจนกลายมาเป็นขนมไทย และขนมไทยนี้ก็กลับกลายเป็นหน้าเป็นตาของความเป็นไทยที่สามารถนำเสนอสู่สายตานานาชาติได้ ท้าวทองกีบม้าจึงเป็นฝรั่งที่รังสรรค์ขนมจนกลายเป็น “ขนมไทย” ให้คนไทยนำขนมนี้ไปเป็นจุดขายเพื่อเอาไปอวดฝรั่งอีกทีหนึ่ง
รัชนก พุทธสุขา
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และ ปรามินทร์ เครือทอง. (2546). การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ”. กรุงเทพ: มติชน.
เดอ ชัวซีย์. (2550). จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ในปี ค.ศ. 1685 และ 1686. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
นิโกลาส์ แชรแวส. (2550). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์). พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. (2548). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
อ่านเพิ่มเติม
ทิพากร เพียรประเสริฐ. (2556). วิวัฒนาการขนมหวานญี่ปุ่นและสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของขนมหวานญี่ปุ่นต้ังแต่อดีตถึงปัจจุบัน. ปริญญานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. อ่านออนไลน์
Museum Siam Knowledge Center
การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ” / ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และ ปรามินทร์ เครือทอง. อ่านออนไลน์
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม / มร. เดอะ ลา ลูแบร์ ; แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร.
#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials