ในปี 2540 ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในภาคการเงิน และได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังแทบทุกส่วนของสังคม ทั้งในภาคเมืองและภาคชนบท ทั้งในภาคธุรกิจ ภาคการเมือง และภาควัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ลุกลามไปทั่วโลก แม้เวลาจะผ่านเวลามาเกือบ 20 ปีแล้ว ประดิษฐกรรมที่มีกำเนิดจากยุค “ต้มยำกุ้ง” หลายสิ่ง ยังคงดำรงอยู่และมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน อาทิ การเกิดขึ้นของอาชีพ “ฟรีแลนซ์” , การเกิดกระแสธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน, การเกิดเศรษฐกิจฐานความรู้ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของ “ทุน” ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ “เงินทุน” หรือการเดินตามแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วยการท่องเที่ยว อย่างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วจาก “Amazing Thailand” เมื่อ 20 ก่อน
มิวเซียมสยาม จึงอยากขอเชิญทุกท่านมาสัมผัส นิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน! บอกเล่าเหตุการณ์ วิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” เป็นกรณีศึกษา ทำความเข้าใจสังคมไทย ในแง่มุมต่างๆ ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต หรือประวัติศาสตร์ระยะใกล้ จะช่วยให้คนไทยเข้าใจและตระหนักถึงการเรียนรู้สังคมไทยผ่านบทเรียนในอดีต ทั้งยังทำให้ได้สืบย้อนการต่อยอดของสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันว่ามีที่มาอย่างไร นำไปสู่การตัดสินใจกำหนดอนาคตของสังคมร่วมกัน
นิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน ใช้แนวคิดในการออกแบบและจัดวางข้อมูลแบบ “Back to School” กล่าวคือใช้บรรยากาศบางส่วนของโรงเรียน ห้องเรียน ชื่อแบบเรียนมาเป็น key visual ในการออกแบบ เพื่อสื่อสารว่าวิกฤตสำคัญดังกล่าวเป็นวิกฤตที่สมควรได้รับการศึกษา ถอดบทเรียน และเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เพื่อที่สังคมไทยจะไม่ “เลียน”แบบความผิดพลาดเดิมในอดีตอีก ในทางตรงข้าม การ “เรียนรู้”บทเรียน จะทำให้สังคมไทยก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง นิทรรศการแบ่งเป็น 8 โซนด้วยกัน คือ
โซนหนึ่ง สวนสรุป เป็นการนำเสนอข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ในรูปแบบของสวนสนุก นำรูปแบบของเครื่องเล่นเด็กในโรงเรียน เช่น สไลเดอร์ บาร์โหน มาประยุกต์ใช้ ข้อมูลนี้จัดแสดงกลางแจ้ง เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาชม
โซนสอง กำแพงข่าวหน้าห้องเรียน จำลองบรรยากาศกำแพงข่าวในโรงเรียนมาจัดแสดงข้อมูลสถานการณ์ต้มยำกุ้งด้วยภาพการ์ตูน ของการ์ตูนนิสต์ในยุคนั้น
โซนสาม ห้องภาระศึกษา โซนนี้ล้อมาจากวิชาพละศึกษา เนื้อหาของโซนนี้ว่าด้วยภาระหนี้ที่คนไทยทุกคนต้องประสบในห้วงเวลา 20 ปี การจัดแสดงข้อมูลใช้เครื่องมือในการออกกำลังเป็นสื่อ
โซนสี่ ห้องสันทนาการ เป็นห้องที่จัดให้บรรยากาศสบายๆ นำเสนอสังคมในยุคฟองสบู่ ผ่านสื่อภาพยนตร์และวัตถุจัดแสดงต่างๆ
โซนห้า ประสบการณ์ชีวิต เสนอข้อมูลช่วงฟองสบู่แตก และชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นด้านลบ หรือด้านบวก ตลอดจนทางออกต่างๆที่คนในสังคมไทยดิ้นรน ณ เวลานั้น เช่น ผ้าป่าช่วยชาติ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
โซนหก วิชาความน่าจะเป็น นำเสนอความเข้าใจในวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านคำอธิบาย 5 แนวทาง
โซนเจ็ด การงานพื้นฐานอาชีพ นำเสนอข้อคิด บทเรียน จากคนในอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางหรือภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นใหม่ไว้ศึกษา
โซนแปด วิชาประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต เป็นการสรุปรวบยอด และสร้างการแบ่งปันประสบการณ์ การมีส่วนร่วมของผู้ชมต่อนิทรรศการ
สูจิบัตรนิทรรศการ