นางกวักรุ่นเกล้าผมสูงใส่แว่นตาดำ คล้องกระเป๋าแบรนด์เนม คือ ภาพจำเมื่อเอ่ยถึงชื่อ ‘THIS.MEAN.THAT’ มากกว่านั้นคือสร้อยคอรุ่นหมูสองหัว ยันต์มหารวย มหาเลิฟ มหาโชค รวมทั้งล็อกเก็ตมหาไลก์ แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า THIS.MEANS.THAT เป็นสำนักทรง หรือร้านเช่าเครื่องรางของขลังใดๆ ตรงกันข้าม ที่นี่คือสำนักผลิตงานดีไซน์ที่นำโจทย์ความเป็นไทยมาตีความใหม่ในแบบฉบับของ THIS.MEANS.THAT
ทำไมต้องไทย
“จริงๆ เราไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านของขลังเหมือนที่ใครๆ เขาตั้งให้ จุดเริ่มของสตูดิโอแห่งนี้คือเราอยากทำแบรนด์ของตกแต่งบ้าน เพียงแต่เป็นของแต่งบ้านที่หยิบเอาสิ่งที่เราทั้งคู่คุ้นเคยมาเล่าในมุมมองใหม่ ในแบบ THIS.MEANS.THAT นกจบด้านกราฟิก มีความถนัดด้านการสื่อสาร ส่งเมสเสจออกไปในรูปแบบกราฟิก ส่วนไผ่ถนัดงานด้านออปเจ็กต์ เชี่ยวชาญด้านเครื่องประดับ พอมารวมกันก็เลยเป็นการสื่อสารในเชิงโปรดักส์ที่มีเรื่องราว แต่บังเอิญว่าเรื่องราวรอบตัวของเรา ณ เวลานั้นมันคือเรื่องความเชื่อ การตีความก็เลยกลายเป็นคอลเล็กชั่นนางกวัก”
คุณนก-ธันย์ชนก ยาวิลาศ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอร่วมกับ คุณไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของสตูดิโอเล็กๆ ที่มีพนักงานเพียง 2 คน ทำหน้าที่ตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงลงมือผลิต โดยมีโจทย์หลักคือการนำความคุ้นชินรอบตัวมาเล่าใหม่ด้วยคำว่าดีไซน์
“ตอนที่เริ่มทำงานคือช่วงปี 2014 สตูเราตั้งอยู่แถวเสาชิงช้า ฝั่งพระนคร รอบตัวเรามีแต่ร้านสังฆภัณฑ์ ร้านขายพระ มันมีความเชื่อแบบไทยๆ อยู่รอบตัวเรา และสิ่งที่เราเห็นคือทุกบ้านมีนางกวัก จุดนี้จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดคอลเล็กชั่นแรกของเราขึ้นมาในชื่อ Welcome หมายถึงการต้อนรับ เป็นการเชื้อเชิญสิ่งดีๆ เข้ามา ซึ่งนางกวักก็ตอบโจทย์คำว่าเชื้อเชิญ การต้อนรับได้ดีที่สุด”
คุณไผ่ให้เหตุผลถึงการนำนางกวักมาเป็นโจทย์ ซึ่งในมุมมองของนักออกแบบเอง นางกวักสามารถเป็นของตกแต่งที่ตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า บ้าน คอนโดมิเนียม ออฟฟิศหรู หรือโชว์รูม ที่สำคัญยังสามารถคงฟังก์ชันด้านความเชื่อไว้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในงานดีไซน์แบบไหน
“จริงๆ ความคิดเริ่มแรกของเราไปไกลมาก เป็นนางกวักใส่กระโปรงสั้น ตีความไปถึงสาวพริตตี้ ลองออกแบบมาเยอะมาก แต่สุดท้ายก็มาคุยกันว่าจริงๆ แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนทุกยุครู้ได้ว่านี่คือนางกวัก คำตอบชัดมากคือท่านั่งกวักแบบนี้”
เมื่อตกผลึกความคิดได้แล้วว่านางกวักในยุค 2000 ควรจะมีรูปร่างออกมาอย่างไร คราวนี้ก็มาถึงการใส่ความหมายถึงความร่ำรวย โดยนางกวักในยุคแรกจะนั่งอยู่บนแท่นมีครอบแก้วแบบพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ที่นิยมเช่าบูชา เพิ่มความเท่ด้วยแว่นตาดำ และเปลี่ยนความหมายของความร่ำรวยจากถึงเงินเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมรุ่นที่ทุกคนในยุคนั้นนิยม จากนั้นก็เริ่มคลี่คลายใส่เรื่องราวของแต่ละยุคลงไป
“นางกวักของเราในแต่ละปีจะมีไอคอน ดีเทลที่ต่างกัน เพราะเราต้องการให้เป็นเหมือนสิ่งที่บันทึกเรื่องราวความเชื่อ ความนิยม ของคนในยุคนั้นๆ รวมทั้งใส่ไอเดีย คาแรกเตอร์ของช่างที่ทำขี้ผึ้ง หล่อเรซินลงไปด้วย อย่างคอลเล็กชั่นล่าสุดก็จะมีความอ่อนหวานแบบผู้หญิงมากขึ้น และก็มีลายหินอ่อนซึ่งคนหล่อเรซินเขาเป็นคนตาบอดสี เขามองไม่เห็นสี แต่ใช้น้ำหนักของสีขาวดำในการทำงาน นี่คือเสน่ห์ของการทำมือ และเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ขยายงานด้วยการพึ่งโรงงาน”
และแม้คุณนกจะย้ำถึงการทำงานแฮนด์เมดที่ต้องใช้เวลาในการทำมือทุกขึ้นตอน แต่ทาง THIS.MEANS.THAT ก็ไม่ลืมที่จะทำงานในส่วนของการสร้างรายได้เพื่อให้การตัดสินใจลาออกจากงานประจำครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
“ก่อนหน้านั้นนกทำงานอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรมเพื่อใช้ทุนที่ไปเรียนด้านกราฟิกที่อังกฤษ ใช้ทุนอยู่สองปีกว่าก็ออกมาทำงานเอเจนซี่ ทำไปสักพักรู้สึกว่าคุณค่าของสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไปจากร้อยเหลือเพียงแค่ห้าเมื่อถึงมือลูกค้า เราอยากสร้างงานที่มีคุณค่ามากกว่านั้น ก็เลยตัดสินใจออกมาโดยไม่รู้หรอกว่าจะไปได้หรือไม่ได้”
“มีคนเคยถามผมนะว่ารวยแล้วสิ ไม่จ้างโรงงาน ทำเดือนละไม่กี่ชิ้น จริงๆ ผมกับนกเคยหน้ามืดจะจ้างโรงงานอยู่หลายรอบนะ เพราะเหนื่อยมาก แต่สุดท้ายก็กลับมาคุยกันว่า แล้วอย่างนั้นความสนุกในงานแบบที่เราตั้งใจตอนแรกมันจะไม่มีแล้วนะ ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเก็บงานที่เราอยากสนุกกับมันไว้อย่างงานนางกวัก และรับงานอื่นๆ เพิ่มอีกทางเพื่อสร้างรายได้ให้สตูดิโอสามารถเลี้ยงตัวเองได้”
อะไรคือไทยแท้
หลังจากคอลเล็กชั่นนางกวักโด่งดังและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ดีไซเนอร์หลายคนกล้าหยิบเรื่องความเชื่อไปต่อยอด THIS.MEANS.THAT ก็ได้ออกคอลเล็กชั่นที่ 2 คือ Made in Thailand นำความเชื่อเรื่องหมูสองหัว จิ้งจกสองหางที่คนไทยมักจะนำมาตีความเป็นการเสี่ยงโชคเข้ามาตั้งเป็นโจทย์ ส่วนผลลัพธ์ที่ได้คืองานปั้นรูปหมูสองหัว ล็อกเก็ต ส่วนคอลเล็กชั่นที่ 3 คือ Feel like a home ที่ค่อยๆ หลีกห่างเรื่องความเชื่อมาเป็นวิถีริมฟุตปาธที่ไม่เหมือนใครของคนไทย โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เป็นเหมือนห้องนั่งเล่นในบ้านได้อย่างไม่มีที่ไหนเหมือน
“นกมองว่างานที่เราทำออกไปทุกชิ้น สุดท้ายมันก็เป็นไทย เพราะเราเป็นคนไทย เกิดและใช้ชีวิตที่นี่ อย่าง Feel like a home มันคือความเป็นไทยที่อยู่ๆ ก็สามารถเจอโซฟาอยู่ริมฟุตปาธ คนนั่งเล่นกันเหมือนห้องในบ้านได้ นี่แปลว่าความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องบังคับว่าไทยคือลายกนก ไทยคือวัสดุแบบนี้ แต่ไทยคือการใช้ชีวิตของเราในปัจจุบัน เราสองคนมีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ เราจะเห็นชัดเลยว่างานของเรามีความแตกต่างจากคนอื่น มันมีกลิ่นอาย มีสไตล์ที่เป็นไทยอยู่แล้ว ดังนั้นกระบวนการคิดงานของเราสองคนจึงไม่ต้องกังวลว่ามันจะไทยหรือไม่ ทำอะไรออกมาก็ไทยหมด วันหนึ่งที่เราเอางานออกไปต่างประเทศ จะเห็นเลยว่างานมันต่าง ทำไมคิดแบบนี้ ก็เพราะเป็นคนไทยไง คนไทยเขาคิดแบบนี้ ไทย”
“อย่างงานไผ่ส่วนใหญ่จะไปแสดงต่างประเทศ และเป็นงานที่เกี่ยวกับตัวไผ่เอง บอกเล่าเรื่องราวของแม่ไผ่เองที่เป็นอัลไซเมอร์และใส่เสื้อตามสีประจำวัน ซึ่งการใส่เสื้อตามสีประจำวันไม่มีที่ไหนทำกันหรอกนอกจากที่เมืองไทย”
คุณไผ่ให้มุมมองถึงความเป็นไทยที่ส่งผ่านกระบวนการคิดออกมาอย่างอัตโนมัติ เช่นเดียวกับงานทุกชิ้นของTHIS.MEANS.THAT ที่ไม่จำเป็นต้องบอกว่านี่คือความเป็นไทย แต่กระบวนการคิดที่หล่อรวมคนทั้งคู่ วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวคือความเป็นไทยที่รอให้ THIS.MEANS.THAT จับไปตีความ
เรื่อง ศรัณยู นกแก้ว
ภาพ เนาวรัตน์ บุญวิภาส