Muse Mag
Muse Idol : “คุณครูก็คือนักเรียนคนหนึ่ง” วิชาชีวิต 101 จากครูลูกกอล์ฟ
Muse Mag
06 มิ.ย. 61 5K
Museum Siam

ผู้เขียน : Administrator

“ คุณครูก็คือนักเรียนคนหนึ่ง ”

 

วิชาชีวิต 101 จากครูลูกกอล์ฟ


            คุยกับติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษสุดเปรี้ยวและเฟี้ยวไปด้วยเป็นทัศนคติแง่บวกที่เขาถ่ายทอดให้คนรอบข้างอยู่เสมอ ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ แห่งสถาบันกวดวิชาภาษาอังกฤษ Angkriz (ที่มีหนังสือแบบเรียนเปรี้ยวเข็ดฟัน) เจ้าของยูทูบชาแนล Loukgolf's English Room ที่ถ่ายทอดขึ้นเพราะต้องการใช้โซเชียลมีเดียสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจและเข้าถึงภาษาอังกฤษ (ในแบบฟรีๆ ) ซึ่งบางคลิปมีผู้เข้าชมถึงหนึ่งล้านคน และล่าสุด ความเป็นครูของเขาได้อยู่ในบทบาทของผู้ดำเนินรายการวิทยุ ช่วง “พุธทอล์ค พุธโทร” ที่เปิดไมค์ให้คำปรึกษาปัญหานานาสาระทุกคืนวันพุธ ทางสถานี EFM

            สำหรับเรา ลูกกอล์ฟได้คงความเป็นครูในทุกๆ บทบาทที่เขาเป็น

            แต่สำหรับตัวลูกกอล์ฟเอง เขามองว่าครูก็นักเรียนคนหนึ่งเช่นกัน ที่ยังต้องเรียนรู้ ยังต้องค้นหา และพัฒนาตัวเองไม่จบสิ้น

            ชีวิตกว่าจะถึงวันนี้ของเขา การเรียนรู้ทั้งหมด เริ่มต้นจากพลังงานด้านลบที่เผชิญ นำไปสู่ความกระหายใคร่รู้อยากออกไปสำรวจมหาสมุทรชีวิตที่ยิ่งใหญ่

            และนี่คือเส้นทางการเดินทางของเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่เติบโตมาเป็นครูผู้จุดประกายทั้งความรู้และทัศนคติในการใช้ชีวิตให้กับเด็กไทยในยุคนี้

 

 

 ชีวิตวัยเด็กของครูลูกกอล์ฟ และสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมให้ครูลูกกอล์ฟช่างเป็นตัวของตัวเองเช่นทุกวันนี้

           เราเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง เติบโตมาในหมู่บ้านที่เล็กมากๆ ไกลจากเมืองหลวง บ้านทุ่งลุง จังหวัดสงขลา ถ้านึกถึงหนังเรื่อง The Hunger Games เราก็คือ แคตนิส เอเวอดีน ผู้รอดชีวิตจากเขต 12 เราโตมาในครอบครัวที่คอนเซอร์เวทีฟ คุณพ่อเป็นคนจีนในตระกูลใหญ่แบบกงสี เติบโตมาโดยมีอาม่า ครอบครัวมีความเป็นจีนสูง ความรักของพ่อกับแม่คล้ายกับตำนานรักดอกเหมย นั่นคือเราโตมาในสภาพที่ขัดกับความเป็นเรามากๆ

           คำว่า “Success” ความสำเร็จมันถูกนิยามไว้โดยคนในครอบครัวว่า เราเกิดมาเป็นพี่ชายคนโตในตระกูลคนจีน เราต้องเรียนสายวิทย์ ต้องเรียนหมอหรือไม่ก็เป็นวิศวะ ซึ่งตอนนั้นเราก็ค่อนข้างรู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าเราเป็นตุ๊ดตั้งแต่ประถม ดังนั้นคือโตมาแบบนี้ เราก็เป็นเด็กที่ไม่ได้ปิดบัง ไม่ได้ชอบเล่นแบบที่เด็กผู้ชายเล่น เราไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบนั้น

 

ชีวิตที่เติบโตมากับความแตกต่างและขัดแย้งในใจ ทำให้คุณเป็นอย่างไร

           ตอนประถมก็โดนเพื่อนล้อแล้ว เพื่อนมันเรียกเราว่าตุ๊ด แต่ต้องเข้าใจว่าเด็กเราทุกคน เขาไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นอะไร แต่ฉันเป็นของฉันแบบนี้ พอเราขึ้นประถมปลายก็เริ่มรู้แล้วแหละว่าฉันเป็นอะไร คือยอมรับแล้วก็บอกกับที่บ้าน…

           พอมองย้อนกลับไปมันก็คงช็อกเหมือนกันนะสำหรับเขา แรงเสียดทานเยอะ พ่อเผชิญกับความคาดหวังจากอาม่า ความกดดันจากคนรอบข้าง จากสังคมที่เขาอยู่ และในสังคมต่างจังหวัดที่เล็กมาก การถูกเปรียบเทียบ ถูกวิจารณ์พูดถึงคือเรื่องปกติ


           พอเราตัดสินใจที่จะเป็นตัวเองตั้งแต่เด็กก็บ้านแตก ใช้คำว่าบ้านแตกเลย เพราะหนึ่ง คุณพ่อก็แอนตี้เลยทันที คุณแม่ก็จะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่น่าสงสารเพราะว่าอยู่ตรงกลาง คือแม่เขารู้แหละว่าเราเป็นตุ๊ด ความที่แม่เป็นสะใภ้ไทยคนเดียวในตระกูลคนจีน อาม่าก็โทษแม่ทุกอย่าง ทุกคนก็โทษแม่ ทำให้เรากลายเป็นเด็กที่มีสองบุคลิก อยู่โรงเรียนเราก็เป็นอีกแบบ วี้ดว้ายเป็นตุ๊ดไป อยู่บ้านเราก็นิ่ง เงียบ เก็บกด ไม่มีความสุข ถ้าให้พูดว่าช่วงวัยเด็กเป็นอย่างไร คำตอบคือเราไม่มีช่วงชีวิตของทางบ้านที่น่าจดจำ เราโตมากับการต้องทนคำพูด พิสูจน์ตัวเอง รับความกดดัน สำหรับเรานั่นคือ Negative Energy เหมือนมันมีคนถือหอกอยู่ และจะทิ่มเราเมื่อไรก็ได้ ทุกอย่างที่บอกพ่อแม่ไปมันโดนตีกลับหมด เช่น เราบอกว่าอยากเข้านิเทศ จุฬาฯ (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็จะมีคำถามกลับมาว่าทำไม เราโง่เหรอ ทำไมเรียนหมอไม่ได้ ทำไมเรียนสายวิทย์ไม่ได้


            ถ้าเด็กๆ อ่านอยู่ต้องเข้าใจก่อนนะว่าสังคมแต่ก่อนมันโหดร้ายมากสำหรับคนเป็นเพศแบบนี้ เมื่อก่อนมันไม่มี social media ดังนั้นพ่อแม่จะเสพจากสื่อหลัก ถ้าย้อนกลับไปดูหนังสือพิมพ์แต่ก่อน สื่อหลักยังเขียนบรรยายพวกเราว่า

“วิปริตผิดเพศ” คู่ขาเกย์แทงกันตาย โรคเอดส์ต่างๆ คือเราเติบโตมากับพลังงานลบแบบนี้


           แต่ถือเป็นโชคดีของตัวเองที่คิดได้และอดทน พอรู้ตัวว่าเราเป็นอย่างไรก็คิดว่าซวยแล้ว เราจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว ความเป็นเด็กมันทำให้เราคิดว่า เราต้องหาทางออกให้ตัวเอง ให้เขาดุด่าเราน้อยที่สุด ถ้าการเป็นตุ๊ดทำให้เขาว่าเราทุกวันอยู่แล้ว หากเราเรียนไม่เก่งอีก เราคงไม่เหลืออะไร ตอนประถมสอบได้ที่ 38 จาก 40 พอขึ้นมัธยมก็เริ่มแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ เริ่มตั้งใจเรียนเพื่อให้ที่บ้านว่าเราไม่ได้ แล้วเราก็เรียนดีขึ้นจริงๆ จนเริ่มมาจับภาษาอังกฤษตอน ม.2 ม.3 ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่ามันจะพาเรามาไกลแค่ไหน ได้แต่หวังว่าภาษามันจะเปิดโลกเรา คิดแต่หวังว่าที่เมืองเราอยู่ มันคือสระน้ำ แต่โลกนี้มันยังต้องมีแม่น้ำ มีทะเลสาบ มีมหาสมุทร และเราต้องออกไป

 

พลังงานด้านลบเปลี่ยนแปลงคุณอย่างไรบ้าง

           พอเราอุดรูรั่วเรื่องการเรียนแล้ว ก็กลายเป็นเด็กเรียนเก่งไปเลย เรียนได้เกรด 3 กว่า ไม่เคยถูกเชิญผู้ปกครอง แต่…นั่นก็ยังไม่ดีพอสำหรับพ่อ โชคดีมากที่แม้แม่จะปิดประตู แต่แม่ยังแง้มหน้าต่าง ในขณะที่พ่อเปรียบเสมือนประตูทุกบานที่ปิดล็อกสนิท มันมาปะทะหนักสุดตอนเราเรียน ม.ปลาย รู้แล้วว่าเราต้องการอะไร รู้แล้วว่าฉันไม่ได้ป่วย ไม่ต้องพาไปรักษา เพื่อนเราบางคนถูกพาไปหมอผีด้วยซ้ำ แต่พ่อยังคงว่าเราทุกวัน น้องก็เริ่มไม่ศรัทธาเรา มันทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราอยู่ไม่ได้ เมื่อบ้านไม่ใช่บ้าน มันก็ไม่ดีสำหรับใคร


           เราจึงตัดสินใจสอบโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปประเทศเยอรมนี แม่ก็พยายามโน้มน้าวพ่อให้ลูกไปเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ส่วนพ่อก็มีความเชื่อประหลาดๆ ว่า ส่งไปเยอรมนีเราจะได้แมนกลับมา ปรากฏว่าฉันแฮปปี้มากกว่าเดิม เจอเพื่อนตุ๊ดเต็มเลย เจอสังคมยุโรปที่ทุกคนมีความคิดว่า Who cares? เป็นตุ๊ดแล้วไง ได้ไปเจอ host family ที่รักเราและรับเราได้ เป็นช่วงเวลาหนึ่งปีที่มีความสุขมากที่ได้เป็นตัวของตัวเอง ที่ฉันเคยเชื่อว่าไกลกว่าสระน้ำมันยังมีมหาสมุทร มันมีอยู่จริง ที่นี่คนไม่ตัดสินกันว่าคุณจะเป็นอะไร มันเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมากเลยกับเพศสภาพ แล้วทุกคนก็จะได้รับโอกาส และเอาเวลาไปพัฒนาศักยภาพ เอาเวลาไปให้เด็กทำกิจกรรม ให้เด็กค้นหาตัวเอง


           โชคดีที่เยอรมนีเราได้เจอครอบครัวที่ดีมาก ก็สารภาพกับเขาว่าไม่อยากกลับเมืองไทยเลย เพราะพ่อรับไม่ได้ สิ่งที่ครอบครัว host family ทำให้คือ เขาไปหาคนไทยที่พูดภาษาเยอรมันได้ แล้วเขาก็ให้แปล เขียนจดหมาย โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาเขียนส่งถึงพ่อ เนื้อความในจดหมายคร่าวๆ ว่า “ไม่ว่าลูกคุณจะเป็นอะไร คุณก็ควรจะต้องรับเขาให้ได้ ลูกเธอเป็นเด็กดี ฉันอยู่กับเขามาปีหนึ่งเอง เขาสร้างความสุขให้บ้านฉันมาก” แล้ว host family ก็เขียนลงท้ายจดหมายว่า “…ถ้ารับไม่ได้ที่ลูกเป็นเช่นนี้ พวกเราจะเลี้ยงเขาเอง” สำหรับเรา นี่เปรียบเหมือนการตบหน้าพ่อครั้งใหญ่ว่า ครอบครัวจากที่อื่นแต่เขากลับยอมรับเรา แล้วครอบครัวที่แท้จริงล่ะ เหตุการณ์ครั้งนั้นพ่อเริ่มเปลี่ยนไป พ่อโวยวายกับเราน้อยลง แต่ก็ยังคงมีแรงต้านอยู่ นั่นคือยังไม่เปิดใจยอมรับ พอเราโตขึ้นก็มาวิเคราะห์ว่า เพราะพ่อเติบโตมากับสังคมผู้ชาย เพื่อนทุกคนเป็นตำรวจเป็นทหาร ตอนพ่อหนุ่มๆ พ่อยังไล่เตะตุ๊ดอยู่เลย จึงทำให้พ่อมีก้อนความคิดแบบนี้

           

 

การออกไปเห็นว่ามหาสมุทรมีอยู่จริง เปลี่ยนแปลงคุณมากน้อยแค่ไหน

           พอเห็นโลกกว้าง นั่นทำให้เมื่อพ่อโวยวายอะไรมาอีก เราก็ไม่สนใจ ตัดเขาไปได้เลย เราบอกแม่เสมอว่า หม่าม้าต้องอดทน ตอนนี้ลูกยังทำอะไรให้ภูมิใจได้ไม่มาก เราต้องวิเคราะห์ว่า เด็กคนหนึ่ง กว่าจะทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้มันต้องใช้เวลา ตอนเราเป็นเด็กนักเรียน เราทำได้ดีที่สุดก็คือเรียน ทำกิจกรรม แล้วก็ทำตัวดี พอเราอยู่มหาวิทยาลัย เราก็ยังทำได้แค่นั้น คือเรียน ทำกิจกรรม ให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้เล่นยา เราไม่เขว และกว่าที่เด็กคนหนึ่งมันจะทำงาน พ่อแม่ก็ต้องอดทน เราพูดตามสื่อตลอดเวลาว่า “พ่อแม่เหมือนคนกำลังปลูกต้นไม้” มันคือสัจธรรมเลย ล่าสุดบ้านเราปลูกมะยงชิด 10 ปีแล้ว เพิ่งมาออกลูกเมื่ออาทิตย์ก่อน แต่พ่อเราเกือบโค่นต้นนี้ทิ้งแล้วนะ เราบอกว่าไม่ต้อง ก็ปล่อยเขาไป เขาไม่มีลูกก็ปล่อยเขา จนวันนี้ผ่านไป 10 ปี เขาออกลูกเต็มต้นเลย เห็นไหม เช่นเดียวกันกับการเลี้ยงลูก บางคนปลูกต้นไม้ 10 ปี ไม่มีลูกสักที ก็อยากโค่น รำคาญ หงุดหงิด เหมือนกันกับเด็ก พ่อแม่อาจจะคิดว่า ทำไมฉันลงแรงกับเธอ ฉันให้เงิน ฉันลงทุน ฉันรัก แต่ 10 ปีแล้ว ลูกไม่เห็นคืนอะไรให้ฉันเลย เพราะลูกคือมะยงชิด มันอาจจะงอกปีที่ 11 ปีที่ 12 ก็ได้

 
          ดังนั้นหลายๆ คนที่เป็นพ่อแม่ควรเข้าใจว่าการเลี้ยงลูกมันเหมือนการปลูกต้นไม้ ปลูกต้นไม้ใหญ่ด้วยนะ ที่รากต้องลึก อาชีพพ่อแม่ต้องอดทน ใส่ใจ และเข้าใจ โชคดีที่ตัวเรายังมีแม่ที่ดูแลต้นไม้ไม่ให้คนโค่น ไม่ใส่สารพิษ วันนี้ที่มีลูกกอล์ฟได้เพราะแม่เป็นหลักเลย ลองคิดภาพเด็กคนหนึ่ง ต่อให้จะเก่งแค่ไหน แข็งแรงแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนสนับสนุน ให้กำลังใจ ก็ไม่มีทางมาถึงจุดนี้ได้เลย


           เราเป็นเด็กมีเหตุผล ไม่โวยวาย เมื่อกลับจากเยอรมนีก็สอบเข้านิเทศ จุฬาฯ ต่อให้ที่บ้านเขาจะไม่ภูมิใจเราก็ไม่สนแล้ว จำได้ว่าที่บ้านอาม่า เราเป็นหลานคนเดียวที่ไม่มีการเฉลิมฉลองตอนเอนทรานซ์ติด เพราะหลานคนอื่นสอบติดวิศวะ ติดหมอ บ้านเรามีหมอ 12 คน คิดดูสิว่า นามสกุลนี้ต้องสร้างโรงพยาบาลแล้ว

 
           พอออกมาจากตรงนั้น มาเรียนกรุงเทพฯ ทำให้เรารู้สึกว่า บางครั้งเราสู้กับปัญหาไม่ได้ เพราะเราไม่พร้อม เรายังไม่มีเครื่องมือ แต่พอเรามาที่นี่ปัญหามันเล็กมากเลย 1,000 กิโลเมตรมันช่วยได้นะ เรามีความสุขมากตอนอยู่นิเทศ จุฬาฯ ตั้งใจเรียน ทำกิจกรรม แล้วก็ตั้งเป้ากับตัวเองว่าฉันต้องประสบความสำเร็จให้ได้ในฐานะนิสิต เรียนจบปุ๊บคิดว่าถ้าเราอยากเปิดโรงเรียนสอนภาษา เราต้องมีความรู้มากกว่านี้ จึงไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ กลับมาก็มาเปิด Angkriz

  
ความรู้สึกอยากเป็นครู อยากเปิดโรงเรียน เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร

            มีความคิดนี้มาตั้งแต่ตอนเรียนปี 3 เพราะเราสอนพิเศษตามร้านกาแฟมาตลอด สอนมาสักพักแล้วก็รู้สึกว่าเราตกหลุมรักอาชีพนี้ แล้วถ้าเราอยากจะทำ เราต้องทำให้มันถูกต้อง ให้มันเป็นโรงเรียน เราคิดใหญ่ ไม่ใช่ว่าการสอนในร้านกาแฟไม่ดีนะ แต่มันไม่ใช่ฉัน เราทำได้ไม่ 100% มันมีเสียงรบกวน มันไม่ใช่ที่ของเรา คือสิ่งที่หลายคนเห็นทุกวันนี้ ในห้องเรียนของ Angkriz ห้องเรียนเป็นรันเวย์ นั่นคือไอเดียที่มีตอนปี 3 ตอนนั้นมันเป็นแค่ไอเดีย เราก็เก็บไว้ไม่ทิ้ง จนวันหนึ่งเรากลับมาจากอังกฤษ เราก็ทำ ทำไปเรื่อยๆ ทำไปจากห้องเรียนเล็กๆ ค่อยๆ ขยายๆ ไป ทุกอย่างต้องใช้เวลา ความอดทน แล้วก็ทุ่มเท


           แล้ววันหนึ่งคนก็เห็น เริ่มมีสื่อสนใจ เราเริ่มทำวิดีโอใน Youtube เป็นการสอนฟรี ถามว่าทุกวันนี้รายการ English Room มาจากไหน ก็มาจากการนี้ คือพาร์ทหนึ่งในใจเรารู้สึกว่าเราต้องให้คืน

 

           เราเห็นความสำคัญของการที่เด็กต่างจังหวัดได้รับไป ครั้งหนึ่งตอนเราเป็นเด็กมัธยม มีรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อพี่เป้ เป็นรุ่นพี่ ย.ว. รุ่น 36 รุ่นเดียวกับพี่โอปอล์ พี่เป้เรียนนิเทศ จุฬาฯ กลับมาให้แรงบันดาลใจน้องๆ ความเศร้าคือพี่เป้เสียชีวิตแล้ว แต่ถ้าวันนั้นไม่มีพี่เป้มาจุดประกาย เราคงไม่ได้เห็นเป้าหมายของการเรียนนิเทศ จุฬาฯ เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่าจริงๆ แล้วยังมีเด็กอีกมากที่ต้องการการจุดประกาย เราเป็นครู เราเป็นพี่ เราต้องมีหน้าที่ในการจุดประกายเขา ดังนั้นเราก็เลยเริ่มทำคลิป Youtube ทำอะไรก็ได้ให้เด็กได้รับไปฟรีๆ แล้วมันก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นรายการหนึ่งในวันนี้ โซเชียลมีเดียคือสื่อที่สามารถทำให้เราสอนคนได้เยอะมาก คิดภาพตามนะ English Room บางตอนคนดูเป็นสามแสน บางคลิปคนดูเป็นล้าน ถ้ามองว่านั่นคือห้องเรียน นี่คือห้องเรียนที่ใหญ่จังเลย 

  

เมื่อเป็นครูลูกกอล์ฟของเด็กๆ แล้ว ชีวิตอีกด้าน ปมในอดีตได้คลี่คลายเมื่อไร

           เราจัดรายการพุธทอล์ค พุทโธ มีเด็กมาขอคำปรึกษามากมาย หนูทะเลาะกับพ่อมา 2 ปีแล้ว เราก็บอก ของพี่ตั้งแต่ประถมเลยดีกว่า เราเพิ่งคุยกับพ่อจริงๆ ตอนที่กลับมาจากอังกฤษได้ 2 ปี ตอนนั้นไปออกรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย


           เป็นบทสัมภาษณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเรามากเลย เราบอกพ่อว่า ป๊าต้องดูรายการวันนี้นะ ธีมของการสัมภาษณ์วันนั้นเป็นเรื่องราวของการ “เสียชาติเกิด” มันคือ Words Hurt คำพูดที่มันทำให้คนเจ็บ และ ”เสียชาติเกิด” สำหรับเรา คำนี้มันหนักมาก ปมนี้มันมาคลายตอนที่ไปออกรายการ เขาถ่ายทอดว่าตัวเราประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง และปิดรายการวันนั้นด้วยคำว่า “ให้คุณผู้ชมดูเทปวันนี้แล้วไปถามตัวเองว่าคนคนนี้เขาเสียชาติเกิดตรงไหน” เราเชื่อว่าการปิดรายการในวันนั้นคงทำให้พ่อโดนตบหน้าด้วยคำนี้ ว่าแล้วเมื่อไรจะหยุดคิดว่าลูกคุณเสียชาติเกิดได้แล้ว


           จำได้เลยว่าหลังจากสัมภาษณ์วันนั้น เราโทรคุยกันปกติ พ่อเป็นคนแสดงอารมณ์ไม่เก่ง เวลาโทรคุยกันแต่ก่อนก็แค่ “ป๊ากินข้าวหรือยัง อืม… โอเคทำงานแล้วนะ” แต่หลังจากวันนั้นเขาอึ้งไปนิดหนึ่ง แล้วเขาก็บอกเราว่า “ป๊ามีอะไรจะบอก ถ้ารู้ว่ามีลูกแบบนี้แล้วมันจะดีแบบนี้ ป๊าจะมีอีก 10 คน” คือแค่นี้เราปลดล็อกแล้ว ตั้งแต่วันนั้นเรารู้สึกว่าความสำเร็จคืออะไรฉันไม่สน แต่ฉันรู้สึกว่าการเป็นมนุษย์ที่มีความสุข ฉันเริ่มวันนี้ ฉันไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว คำพูดของคนอื่นไม่สำคัญเท่ากับคนรอบตัวที่เข้าใจเราหมดแล้ว วงกลมที่เราขีดไว้ว่าอยากให้เขาเข้าใจ มันคลี่คลายแล้ว แล้วเราก็เดินหน้าต่อ ใช้ชีวิตจนมาถึงตรงนี้ และถ้าจะให้การสัมภาษณ์นี้มีประโยชน์คงต้องบอกกับพ่อแม่ว่า “ถ้าเรารับลูกของเรา เราเข้าใจลูกของเราได้เร็วแค่ไหน คุณก็จะมีความสุขวันนั้นเลย”

 

เหมือนชีวิตจบไปแล้วพาร์ทแรก คือแรงผลักที่พิสูจน์ตนเอง และชีวิตอีกพาร์ทในการเป็นครูลูกกอล์ฟ มีเด็กๆ หลายคนบอกว่า เขาสนใจในภาษาอังกฤษเพราะครูลูกกอล์ฟเลยละ เคยคิดไหมว่าจะเป็นครูที่ดีในแบบไหน

            เราทุกคนผ่านครูมาหมด มนุษย์ทุกคนมีครู ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน หรือใครก็ตาม เราเกิดมาจากประสบการณ์ เกิดมาจากการหล่อหลอม ทุกวันนี้เราทำอาชีพนี้ ทุกวันนี้ที่เราสอน เรารู้ว่าหน้าที่นี้มันมีความสำคัญมาก มันเป็นหน้าที่ที่เด็กให้เกียรติ ทุกคนให้เกียรติ แล้วเราก็ใช้ประสบการณ์ พอเราเริ่มเปิดโรงเรียนเราก็ลองผิดลองถูก มีบางโมเมนต์ที่เราผิดพลาด มีบางคำพูดที่เรารู้สึกว่าไม่น่าพูดไปเลย วันนี้อายุ 33 ปีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเป็นเราและมีการสอนแบบทุกวันนี้ คือการมองย้อนกลับไปในชีวิตตั้งแต่เด็ก เราชอบครูแบบไหน เราจะไม่เป็นครูที่ไม่เคยฟังเด็ก เอะอะตัดคะแนน ทุกคนจะมีครูที่เรานึกถึงแล้วก็ไม่นึกถึง ดังนั้นเราก็จะเลือกเป็นครูที่เรานึกถึง เขามี passion เขาตั้งใจสอน เขามีจิตวิญญาณ รับฟังเด็ก เขาไม่ตัดสิน ชอบอันไหนก็เอามาประยุกต์ แล้วมันก็ทำให้เรามีคุณสมบัติของการเป็นครูที่เราอยากเรียน

 


คุณคาดหวังให้เด็กๆ ได้อะไรกลับไปบ้างหลังเดินออกจากประตูโรงเรียน

            ภาษาอังกฤษเขาต้องได้แน่นอน หลังๆ เราคาดหวังให้เขาเป็นเด็กที่เคารพความต่างของคนอื่น เราสอนให้เด็กเปิดโลกให้เห็นว่าความแตกต่างมันมีอยู่จริง เราจึงมีสโลแกนโรงเรียนว่า Don’t judge the book by its cover. อย่าตัดสินหนังสือที่หน้าปก เพราะมนุษย์เราตัดสินคนอื่นตลอด ถ้าคุณตัดสินเราแล้วคุณไม่ต้องมารู้จัก

 

ในฐานะที่เป็นครู คุณมองว่าการเรียนรู้ของเด็กสำคัญอย่างไร แม้แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียน การเรียนรู้ที่อยู่นอกตำรา

            การเรียนรู้ของเด็กสำคัญมาก แล้วก็คนที่เข้ามาในชีวิตของเด็กไม่ว่าจะเป็นติวเตอร์ ครูประจำที่โรงเรียน ผู้สอน ใครก็ตาม หรือผู้ที่ไปบรรยายตามองค์กรต่างๆ เราทุกคนคือครูของกันและกัน แต่ครูที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ สังเกตว่าคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ย้อนกลับไปคือเขาจะมี backup ที่บ้านที่ดีมาก อยู่ภายนอกต่อให้เขาสูญเสียความเคารพในตัวเอง ขาดความมั่นใจในตัวเองแค่ไหนก็ตาม แต่หากเขากลับมาที่บ้านแล้วครอบครัวเข้าใจ เชื่อมั่น นั่นคือที่สุดแล้ว


           การเรียนรู้ของเด็กสำคัญ เราต้องเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพจริงๆ ขนาดเด็กอย่างเราที่มาจากที่ไกลๆ เรายังมาได้ถึงทุกวันนี้ เด็กควรได้รับการสนับสนุนแบบเต็มที่ ให้เขาได้ค้นพบตัวเองจริงๆ ในเมืองไทยความน่าเศร้าอย่างหนึ่งคือครูไม่ค่อยคุยกับเด็ก พ่อแม่ก็ไม่คุยกับเด็ก เรามักจะโยนไปให้เด็กบอกว่าคุณต้องเรียน เด็กบางคนเขาไม่ได้อยากเรียนหนังสือ แต่เขาเกิดมาพร้อมพรสวรรค์บางอย่าง บางคนเขาสนใจบางอย่าง ทุกปีจะมีเด็กที่เดินมาบอกว่า “พี่ หนูอยากเป็นแดนเซอร์ แม่ก็จะให้เรียนบัญชี” แต่ถ้าเป็นเมืองนอกก็จะเปิดกว้างมาก อยากเต้นแม่ก็ให้เต้น บางคนอยากเรียนบัญชีด้วยอยากเต้นด้วย มันก็ได้ทั้งคู่ไง แต่เมืองไทยถ้าเต้นอย่างเดียวอาจถูกมองว่าไร้สาระ

 
          ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำเสมอเวลาสอนก็คือ เราคุยกับเด็ก จะถามเสมอว่านักเรียน Do you really want to learn? หนูอยากเรียนภาษาอังกฤษจริงหรือ พี่ไม่ได้บังคับนะ แต่ You should หนูควรนะ ถ้าหนูเรียน อย่างน้อยหนูอ่านหนังสือรู้เรื่องมากขึ้น ดูหนังไม่ต้องดูซับไตเติล หนูเดินทางหนูจะเข้าเว็บไซต์จองตั๋วเอง หนูไม่ต้องใช้ agency คือเราก็จะพยายามให้ข้อดี แต่เราจะไม่บอกว่า You must to learn English คุณต้องเรียน…ไม่!

 


นิยามคำว่า ครู ในแบบครูลูกกอล์ฟ

           ครูก็คือมนุษย์ วันนี้เรามาทำอาชีพนี้ เราก็ไม่ได้บอกว่าเราเก่งอะไรมากมาย แต่เราแค่ได้รับเกียรติจากสังคมผ่านงานที่เราทำ ทำให้เราได้เห็นว่าจริงๆ ครูก็คือนักเรียนคนหนึ่งนั่นเอง เราแค่รู้เยอะกว่าเด็ก มาเพื่อเอาความรู้นี้มาส่ง เพื่อจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้เขา เพื่อวันหนึ่งเขาจะไปเป็นหมอ ไปเป็นครู ไปเป็นวิศวะที่ไปจุดประกายคนอื่นต่อ เราก็มีหน้าที่ในการเป็นนักเรียนที่ต้องขวนขวายเพิ่มขึ้นมากๆ เพื่อส่งให้กับเด็กของเราต่อไป หลายคนตกกับดักของตัวเอง ทำให้เราหยุดเรียนรู้ เราไม่เปิด เราคิดว่า I’m always right. สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดของอาชีพนี้ มันไม่ใช่คำสรรเสริญเยินยอจากใคร มันไม่ใช่การยอมรับจากสังคม มันคือการที่นักเรียนที่เรียนกับเรามีความทรงจำร่วมกันอย่างไร แล้วความรู้อะไรที่เขาได้ติดตัวกลับไป แค่นี้เองจริงๆ

 

 

 

3 วิชาที่อยากให้โรงเรียนเปิดสอน

Muse ชวนคุณครูลูกกอล์ฟหาคำตอบสนุกๆ ถึง 3 วิชาน่าเปิดหลักสูตร

 

  1. วิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด ศาสตร์มืดในที่นี้ก็คือสื่อมืด

ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่สื่อน่ากลัว มีทั้งสื่อปลอมเยอะมาก ขายครีมปลอม เขียนข่าวปลอม พาดหัวข่าวที่มันสร้างความเกลียดชัง ทุกวันนี้เด็กเสพสื่อโดยอาจขาดวิจารณญาณ ให้อาจารย์เปิดสอนและชวนเด็กๆ มาสร้างภูมิคุ้มกันโดยวิเคราะห์ข่าว

 

  1. วิชาร้องเพลงกันเถอะ

วิชาร้องเพลง อยากให้มีบังคับเป็นวิชาหลัก และอยากให้มีคะแนนหน่วยกิตเยอะเท่ากับภาษาอังกฤษหลัก การร้องเพลงเป็นการขัดเกลามนุษย์ และที่สำคัญเป็นการฝึกการฟัง เราเห็นภาพเด็กประสานเสียง acappella เบาๆ สอบ final มีการขึ้นคอนเสิร์ตเลยนะ

 

  1. เป็นชื่อวิชาตามใจฉัน

ให้เด็กโหวตว่าอยากทำอะไร แล้วก็ให้โรงเรียนพาเขาไปทำ วิชาตามใจฉันจะการช่วยเรื่องเข้าสังคม เช่น ครูคะ หนูอยากไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก หนูไม่เคยไปเลย เอาละ ครูจะพาไปเธอเรียนนอกห้องเรียน

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ