คุยกับเจ้าพ่อหนังผีของเมืองไทย ผู้ใส่ความกลัวและความเชื่อลงไปบนแผ่นฟิล์ม
15 ปีที่แล้ว “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ภาพยนตร์ไทยในปี 2547 กำกับโดยโต้ง -บรรจง ปิสัญธนะกูล และโอ๋ -ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ได้สร้างปรากฏการณ์แห่งความแปลกใหม่ และพาวงการภาพยนตร์ไทยเดินทางไปถึงจุดที่ยังไม่เคยไปถึง ทั้งพล็อตสยองขวัญ จังหวะการเล่าเรื่องที่ขนหัวลุก ตอนจบของภาพยนตร์ที่ทำเราเสียวสันหลังวาบ พร้อมสร้างรายได้ถึง120 ล้านบาท ชื่อของ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ถูกพูดถึงและยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ผีไทยที่น่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้ก้าวต่อๆ ไปของโต้ง-บรรจง ในบทบาทผู้กำกับหนังรุ่นใหม่ได้ฝากลายเซ็นความหลอนอย่างต่อเนื่องทั้งภาพยนตร์เรื่องแฝด สี่แพร่ง (ตอนคนกลาง) ห้าแพร่ง (ตอนคนกอง) พร้อมฉีกขนบการทำหนังสยองขวัญแบบเดิมด้วยการใส่อารมณ์ขันแบบไทยๆ ลงไป มาจนถึงพี่มากพระโขนงที่คว้ารายได้ถล่มทลาย 1,000 ล้านบาท
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เป้าหมายของการทำหนังสยองขวัญคือทำให้คนดูกลัว”
ผมรู้สึกว่าความกลัวเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง เหมือนเวลาที่เราไปดูหนังแล้วเราอยากตลก อยากร้องไห้ เช่นกันกับหนังผี เวลาเราไปดูหนังผี เราก็อยากจะกลัวมากๆ นี่คือความบันเทิง ผมมักวิเคราะห์ว่าทำไมเรากลัวหนังเรื่องนี้ ทำไมเราไม่กลัวหนังเรื่องนั้น คิดเองและค้นพบเองว่าหนังผีที่ไม่มีความลึกลับ เห็นหน้าค่าตา รู้จักเขาทุกอย่าง เราจะไม่กลัว แต่หนังผีที่เราอินส่วนมากจะเป็นหนังผีที่เกี่ยวกับความไม่รู้ ดูแล้วมีคำถามว่า ผีมันต้องการอะไร มันแค้นอะไรกันแน่ ผมไม่ค่อยเชื่อว่าหนังเปิดมามีผีเดินมาบีบคอแล้วคนจะกลัว มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ต้องมีอะไรบางอย่างที่มันลึกลับ ซึ่งมันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่จะทำอย่างไรให้หนังมันมีความกลัวได้มากที่สุด นำไปสู่ศิลปะการเล่าเรื่อง ซึ่งความเท่ตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่ดึงดูดอยากให้ผมเข้าไปทำหนังผี
ย้อนกลับไปในวันที่คุณรู้สึกอยากเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ช่วยเล่าให้เราฟังสักนิด
ผมเป็นคนชอบดูหนังแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะทำเป็นอาชีพ แถวบ้านมีศาลเจ้าที่จัดหนังกลางแปลงตลอด จำความรู้สึกเวลาดูหนังกลางแปลงได้ว่ามีหนังสือพิมพ์ปูรองนั่ง ถ้าหนังผีเรื่องไหนตลก เราจะหัวเราะแล้วเอามือตบกับพื้นจนเจ็บมือ ซึ่งบรรยากาศมันคลาสสิกมาก จนกระทั่ง ม.2 ได้ดูหนังไทยเรื่อง “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” กำกับโดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ฉากที่ขนลุกคือพระเอกกำลังจะตาย และร้องขอกับยมทูตว่าเขายังไม่ได้ทำนั่นทำนี่ ยังไม่ได้สารภาพรัก ยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง แล้วยมทูตก็บอกว่า30 ปีที่ผ่านมานายทำอะไรอยู่ สิ่งที่หนังพูดมันทำให้เราเก็บไปคิดที่บ้านได้เป็นวันๆ กลายเป็นจุดกำเนิดว่าเราเริ่มอินกับการดูหนังมากขึ้นเรื่อยๆ
จริงๆ ตอนที่เรียนก็เลือกเรียนแค่สิ่งที่ชอบเท่านั้น (จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง) แต่ยุคที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นยุคที่หนังไทยยังไม่ได้รุ่งเรือง มีคนพูดกันเยอะมากว่า อุตสาหกรรมหนังไทยกำลังตกต่ำ เป็นช่วงที่หนังวัยรุ่นครองตลาดและก็มีหนังอยู่แนวเดียว จนค่อยๆ เปลี่ยนสู่ยุคที่คนในวงการโฆษณากระโดดเข้ามา เช่นพี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับนางนาก ไปสู่ยุคที่มีระบบดิจิทัลเข้ามา เด็กๆ เข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือได้มากขึ้น มีกล้อง มีการตัดต่อ มีการประกวดหนังสั้น ผมเริ่มจากการประกวดหนังสั้น งานที่ทำก็เลยได้โชว์ออกไป เป็นยุคที่เด็กๆ ได้เข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ง่ายขึ้น
ทำไมต้องเป็นหนังผี
ไม่ใช่ความตั้งใจเลยนะครับ ตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอยู่ ฟีโนมีนา โปรดักชั่นเฮาส์ ที่นี่อยากทำหนังโดยชวนผมกับคุณโอ๋ ภาคภูมิ มาเขียนบทโดยเป็นหนังแนวไหนก็ได้ เราคิดมาหลายเรื่อง แต่สุดท้ายชัตเตอร์เป็นเรื่องที่พล็อตลงตัวที่สุด ตอนแรกแค่เขียนบท คิดแค่ว่าเขียนเรื่องให้มันดีที่สุด ไม่ได้คิดว่าจะได้กำกับด้วยซ้ำ จนเขาบอกว่ามากำกับกันเองเลยแล้วกัน ตอนเริ่มทำอายุ 23 ปี หนังฉายตอนอายุ 25 ปี ผมมีความกังวลมาก นอนไม่หลับ กลัวการออกกองถ่าย จะทำเป็นเหรอหนังผี เพราะว่ามันต้องอาศัยทักษะในการเล่าเรื่อง ตัดต่อ โปรดักชั่นสูงมาก เราก็ทำกันหนัก ดูเรฟเฟอเรนซ์เยอะมาก วิเคราะห์ว่าทำไมเรื่องนี้เวิร์ก เรื่องนี้ไม่เวิร์ก และเป็นช่วงที่หนังผีเอเชียมันกำลังสุกงอมเต็มที่ ชัตเตอร์ก็น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ของไทยที่กระโดดเข้าไปร่วมกับกระแสหนังเอเชียในยุคนั้น
จากความสำเร็จของชัตเตอร์ ก้าวต่อไปในเส้นทางผู้กำกับ ทำไมยังคงเลือกเป็นหนังผี
ความสำเร็จจากชัตเตอร์มันล้นหลามมาก แต่เราไม่ได้คิดเลยว่าจะทำอะไรต่อ มีการพูดว่าจะไม่ทำหนังผีด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นคุณโอ๋ ภาคภูมิ ที่กำกับด้วยกัน ไปเจอข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งมันก็เป็นวัตถุดิบของการคิดหนังที่ดีมากเลย เขาไปเจอข่าวแฝดสยาม เด็กที่มีสองศีรษะ หัวหนึ่งน่ารักมาก อีกหัวหนึ่งน่ากลัว รู้สึกว่าประเด็นนี้มันไม่เคยมีในหนังสยองขวัญมาก่อน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผีคือแฝดสยามที่เราผ่าแล้วตายไป ก็รู้สึกว่าสนุกมาก มันยังมีมุมให้เราเล่าสิ่งใหม่ๆ ได้ เลยกลับมาทำหนังผีกันอีกครั้งโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
พอมาถึงสี่แพร่ง เราคุยกันเล่นๆ ผมเองรู้สึกว่าไม่อยากกำกับคู่แล้ว เพราะว่าหนึ่งอาจจะโตขึ้น ประกอบกับคุณโอ๋ดันไปคิดพล็อตจากการได้ยินเรื่องหนึ่งมา ความเชื่อของประเทศหนึ่งที่เจ้าหญิงของศาสนาหนึ่ง เมื่อเสียชีวิตแล้วต้องบรรจุศพโดยสารเหมือนกับคนบนเครื่องบิน คือห้ามบรรจุโหลดใต้ท้องเครื่อง (ตอนเจ้าหญิงในสี่แพร่ง) ทำให้เรารู้สึกว่า โห นี่มันหนังชัดๆ แต่ควรเป็นหนังความยาว30 นาที เลยกลายเป็นไอเดียรวมผู้กำกับที่เคยทำหนังผีของค่ายมารวมตัวกัน แต่ละคนทำคนละตอนสั้นๆ ไอเดียที่เคยจดไว้ทั้งหมดก็เอามาพรั่งพรูกันใหญ่ ผมก็มีไอเดียเรื่องคนกลางซึ่งเคยจดไว้พักหนึ่งแล้ว ว่า คนที่กลัวผีมาถ้านอนด้วยกันมักจะแย่งกันนอนตรงกลาง แต่ถ้าผมตาย ผมจะมาหลอกไอ้คนนอนกลางนี่แหละคนแรก ซึ่งเป็นไอเดียที่คิดว่า มันไม่น่าจะเป็นหนังได้จริงๆ ด้วยซ้ำ มันดูไร้สาระ ตงต๊อง แต่กลายเป็นว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนอาชีพเราเลย คือเราสามารถทำhorror comedy ได้ ผมรู้สึกว่ามันน่ากลัว แล้วมันตลกได้ด้วย ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่บอกว่าเราเจออารมณ์ขันในความสยองขวัญ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ท้าทายเรา
การจะทำหนังผีแต่ละเรื่อง คุณมักเริ่มต้นจากวัตถุดิบอะไรบ้าง
จุดเริ่มต้นของการทำหนังแต่ละเรื่อง มันเริ่มได้หลากหลายมาก อย่างชัตเตอร์ เริ่มจากภาพ เราไปเห็นภาพที่นายทหารนั่งอยู่บนสแตนด์ ทำให้เรานึกถึงภาพถ่ายติดวิญญาณ ซึ่งยังไม่เคยมีหนังสยองขวัญที่เจาะเรื่องนี้โดยตรง ก็เลยเริ่มไปรีเสิร์ช และพบว่ามีการศึกษาเรื่องภาพถ่ายวิญญาณอย่างจริงจัง เมืองนอกเรียกว่าSpirit photographyอย่างแฝดก็มาจากข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งข่าวหน้าหนังสือพิมพ์สำหรับผมคือแหล่งข้อมูลชั้นดีที่ทำให้เราเห็นความเชื่อและความเป็นไปไม่ได้อีกมากมาย สี่แพร่งเป็นไอเดียที่เราจดไว้เล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่หนังรักอย่างกวน มึน โฮ ก็มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง บันทึกการเดินทางที่เราปรับเปลี่ยนให้เป็นหนังมากขึ้น พี่มากพระโขนงก็คิดเอาเองเลยว่าจะเอา 4 ตัวละคร 4 คนที่เราชอบมาขยายเรื่องยังไง ดังนั้นการทำหนังมันเริ่มจากอะไรก็ได้ เพียงแต่เราต้องหาจุดที่สปาร์กให้เจอ แล้วค่อยๆ ขยายไปทีละส่วน
การทำหนังอารมณ์ขันในความสยองขวัญซึ่งเป็นอีกหนึ่งลายเซ็นของคุณ คุณมีหนังในดวงใจที่เป็นต้นแบบไหม
ตอนทำหนังไม่ได้นึกเลยว่าจะเอาอะไรเป็นเรฟเฟอเรนซ์ แต่ผมจำความรู้สึกตอนที่เด็กๆ ดูเรื่องฉลุย ภาค 2 ได้ ฉากที่อยู่ในรถป่อเต็กตึ๊ง แล้วรถก็เลี้ยวไปเลี้ยวมาเหมือนจะคว่ำ แล้วต้องไปจูบกับศพ ตอนเด็กๆ จำได้ว่าหัวเราะแทบตาย ผมจำความรู้สึกแบบนั้นได้มากกว่า รู้สึกว่าถ้าจะทำหนังแนวนี้ต้องทำให้ได้อย่างนี้ ทั้งที่จริงๆ ตอนถ่ายสี่แพร่งในกองไม่มีใครหัวเราะเลยนะ (ยิ้ม)
เทคนิคขยี้ความกลัวลงไปหนัง
มันต้องหาในสคริปต์นั้นว่าอะไรเหมาะ บางอย่างก็เป็นผีมาหลอก บางอย่างเป็นแค่สถานการณ์ง่ายๆ เช่น สมมติเล่าเรื่องแฝดสยาม เรื่องคนตัวติดกันตลอดชีวิต แต่ปรากฏว่าถ้าผู้หญิงคนนั้นวันหนึ่งเขาขึ้นรถไฟฟ้า แล้วปรากฏว่าคนเต็มหมดเลย ไม่มีที่นั่งเหลือ ที่ยืนก็เต็มหมดเลย แต่ว่าข้างเขาไม่มีใครกล้ามานั่งเลย คือฟังดูมันก็ดูหลอน หรือเรื่องอย่างชัตเตอร์ เราปิ๊งไอเดียว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผีขี่อยู่บนคอ ซึ่งสมมติว่ามาเฉลยตรงๆ อย่างนี้มันก็ไม่น่ากลัว มันต้องมีลีลาการเล่าเรื่องที่หลอกล่อ มีการปู แล้วพอสุดท้ายเฉลยขึ้นมา ให้คนดูรู้สึกว่า อ๋อ นี่ไงที่ฉันเจอเงื่อนงำต่างๆ ตลอดทั้งเรื่อง เช่นตอนชั่งน้ำหนัก ทำไมพยาบาลถึงบอกให้ขึ้นไปชั่งอีกครั้งหนึ่ง เป็นเงื่อนงำที่รู้สึกว่าถ้าผูกกัน ความน่ากลัวน่าจะมากขึ้น ตรงนี้เป็นเทคนิคทางการทำหนังว่าจะเล่ายังไงให้มันทั้งเท่ แล้วก็เพิ่มอารมณ์ความกลัวได้ ที่สำคัญการทำหนังผีต้องหลอกล่อทุกวิถีทาง คนชอบคิดว่าใส่เสียงดังๆ ไว้ คนก็ตกใจแล้ว จริงๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะคนรู้เท่าทันหมดแล้ว ในฐานะผู้กำกับต้องหาวิธีใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์มากขึ้น แม้ไม่ต้องใส่ซาวนด์อะไรเลย แต่ด้วยบทที่เฉียบคมก็ทำให้คนกลัวได้ นี่คือศิลปะของการทำหนังผีที่ท้าทาย
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เมื่อคนดูเริ่มรู้เท่ากัน การสร้างความกลัวและความสยองขวัญในหนังเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
ยุคก่อนมีหนังผีหลายเรื่องที่ผมกลัวมากๆ อย่าง The Ring, Kairo ของญี่ปุ่น The Sixth Sense กำกับโดย เอ็ม.ไนท์ ชยามาลาน แต่ยุคหลังๆ แทบจะไม่มีหนังที่ทำให้ผมรู้สึกกลัวเลย มีน้อยมาก เพราะการทำหนังผีมันยากมากขึ้นทุกวัน ล่าสุดยกให้ Hereditaryในแง่คนทำหนัง เรื่องที่จะทำให้เรากลัวหรือไม่กลัวมันมีหลายองค์ประกอบ ข้อแรกคือความกลัวต้องสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ กระตุ้นความอยากรู้ตลอดเวลา สองคือการออกแบบฉากสยองขวัญที่ต้องสดใหม่ ซึ่ง Hereditary มีฉากที่ผมจำได้ดี นั่นคือฉากที่อยู่ในห้องแล้วผีอยู่ด้านหลัง แต่ผีลอยอยู่ในอากาศเหมือนกำลังว่ายน้ำอยู่ ซึ่งมันดูพิเศษมากที่ออกแบบความเฮี้ยนของตัวละครได้หลอนขนาดนี้ ข้อสามคือบทที่ดี บางทีก็สร้างความกลัวได้เลยโดยไม่ต้องมีอะไรหวือหวา
คุณชอบโมเมนต์ใดที่สุดในการทำหนังผี
ผมชอบไปนั่งดูปฏิกิริยาของผู้คน แล้วหนังผีจะจับฟีดแบ็กของคนได้ง่ายมาก เราจะมองออกได้เลยว่า ฉากนี้คนจะกระตุกไหม ฉากสะดุ้งทั้งหลาย หรือว่าฉากที่น่ากลัวสุดขีด แล้วพอผ่านพ้นไปได้ เหมือนมันโล่งที่ความกลัวได้ผ่านพ้นไป สักที หรือมุกไหนที่เราทำแล้ววืด คนนั่งกันเงียบเลย ไม่ตกใจ มันจะเห็นฟีดแบ็กได้ชัด โดยเฉพาะที่คนเต็มๆ โรง ผมรู้สึกบรรยากาศนี้มันสนุกสนานมากเลย
ความเชื่อและความกลัวอันเป็นรากฐานของคนไทย สิ่งนี้ทำให้หนังผีประสบความสำเร็จไหม
คนไทยผูกพันกับความเชื่อมาตลอด ทั้งเรื่องผี เรื่องลี้ลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อย่างที่บอกว่าหนังผีที่จะทำให้คนกลัวมักจะเกิดจากความไม่รู้ ดังนั้นความลี้ลับ สิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ความเชื่อที่ผูกพันกับเรามานานก็เป็นองค์ประกอบสำคัญให้เรากลัว อย่างเช่นเรื่องแฝดที่มาจากแหล่งข้อมูลแบบไทยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ กลายเป็นวัตถุดิบในการคิดพล็อตหนังที่ดีมากเลย
ตอนนี้ยังอยากกลับมาทำหนังผีอยู่ไหม
ไม่ได้ปิดกั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเรื่องที่ดีหรือบทที่ดีมากกว่า และ “ความอยาก ณ เวลานั้นๆ” สำคัญที่สุด ล่าสุดผมก็เพิ่งจะทำหนังสั้นสยองขวัญให้สภากาชาด “6 บทสนทนาสัพเพเหระต่อหน้าศพ” จริงๆ เป็นหนังชวนบริจาคดวงตา ซึ่งทุกปีที่ทำจะเป็นหนัง emotional แต่ปีนี้ลองเปลี่ยนมาทำหนังสยองขวัญดู เล่าเรื่องเมื่อคนเสียชีวิตไป คนที่ลำบากใจที่สุดก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่จะต้องโน้มน้าวให้ญาติของผู้ตายยอมบริจาคอวัยวะ บางคนบอกว่าไม่อยากบริจาคเพราะรู้สึกว่า นี่มันร่างกายของลูกหลานเขานะ โจทย์คือหนังต้องสื่อสารให้ได้ว่าการให้คือทานที่ยิ่งใหญ่ เราจึงปั้นคอนเซ็ปต์ขึ้นมาว่า เวลาเรานึกถึงความตายหรือคนตาย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่ความน่ากลัว เรื่องผี แต่อยากจะให้มีมายด์เซตใหม่ขึ้นมาว่า อยากให้นึกถึงโอกาสที่จะช่วยเหลือคน นำไปสู่ #คนตายไม่น่ากลัว เป็นผีตลก แต่มีเป้าหมายเพื่อการกุศล
เป้าหมายในการทำหนังของตัวคุณต่อจากนี้
อาชีพนี้มันทำให้เรากระโดดเข้าไปในจักรวาลใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เช่น เราอยากเล่าเรื่องคนตาบอดขึ้นมา เราก็ไปสนุกสนานกับการเรียนรู้จักรวาลของเขาแล้วเอามาใช้ในหนังว่าอะไรเวิร์ก อะไรที่พูดแล้วโดนใจเขาที่สุด ขึ้นชื่อว่าผู้กำกับมันเหมือนต้องอัพเกรดตัวเองตลอดเวลา ทั้งรสนิยม แฟชั่น เทรนด์ทางการเล่าเรื่อง ซึ่งเราก็โตขึ้นทุกวัน การทำหนังแต่ละเรื่องต่อไปก็อยากทำในสเต็ปที่โตขึ้น เราเคยทำกวน มึน โฮมาแล้ว พอมาทำแฟนเดย์ก็อยากจริงจังขึ้น ศึกษาตัวละครให้มากขึ้นกว่าเดิม แล้วก็เล่าในมุมที่ดาร์กขึ้นในแบบที่หนังค่ายเราไม่เคยทำมาก่อน เช่นนางเอกเป็นเมียน้อย อย่างที่เราทำแฟนเดย์ เราต้องไปศึกษาเรื่องคนที่มันเข้าสังคมไม่ได้ หรือคนที่ยอมเป็นเมียน้อยคนอื่นมันคืออะไร เราก็ต้องรีเสิร์ชคน สำหรับผม การทำหนังเป็นการทำความเข้าใจมนุษย์โดยที่เราสนุกสนานไปกับมัน ในขณะเดียวกันเราอาจจะเข้าใจตัวเราเองมากขึ้นด้วยโดยที่เราไม่รู้ตัว
ทำหนังผีมาหลายเรื่องแล้ว และ “ผี” ที่น่ากลัวที่สุดสำหรับคุณคืออะไร
สุดท้ายเวลาทำหนัง ปมของตัวละครคือสิ่งสำคัญที่สุด และผมมักจะค้นพบว่าจริงๆ แล้วปมในหนังผีก็มักจะเกี่ยวกับความผิดบาปในใจเรา สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือผีในใจตัวนี่ละ