Muse Mag
Muse Inside : กว่าจะมาเป็นนิทรรศการแต่ละชิ้น
Muse Mag
09 เม.ย. 62 2K

ผู้เขียน : Administrator

เพราะโลกในพิพิธภัณฑ์มีหลายฟันเฟืองสำคัญเป็นตัวขับเคลื่อน

 

 

            Muse จะพาคุณไปทำความรู้จักแบบคลุกวงใน ว่าแต่ละส่วนงานพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม มีตำแหน่งหน้าที่และบทบาทสำคัญอย่างไรบ้าง ก่อนที่เราจะได้เห็นสื่อและนิทรรศการเช่นทุกวันนี้ Issue นี้ มารู้จักบทบาทการทำงานของ พาฉัตร ทิพทัส (กบ) นักจัดการความรู้อาวุโส ฝ่ายมิวเซียมสยาม

 

จุดเริ่มต้นในอาชีพ การทำนิทรรศการตำแหน่งภัณฑารักษ์

            พี่จบการศึกษาด้านการบริหารจัดการวัฒนธรรมและเข้ามาทำงานที่มิวเซียมสยามตำแหน่งประสานงาน ดูแลเรื่องการจัดประชุม งานบริหารจัดการทั่วไป ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้อยู่ในแผนกคอนเทนต์ หรือคิวเรเตอร์ (ภัณฑารักษ์) ซึ่งระหว่างนั้นอยู่ในช่วงที่มิวเซียมสยามกำลังเตรียมเปิดให้บริการ

 

            จนกระทั่งมิวเซียมสยามก่อสร้างเสร็จ มีนิทรรศการชั่วคราว เราจึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมคอนเทนท์ผลิตและพัฒนานิทรรศการไปด้วยกัน นิทรรศการ “จับไมค์ ใส่ขนนก” นำเสนอปรากฏการณ์ความคิดสร้างสรรค์ของลูกทุ่งไทย ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการจัดแสดงของหายากในวงการลูกทุ่ง ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้กับคุณภารวี วงศ์จิรชัย (ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติขณะนั้น) ที่เปรียบเสมือนเมนเทอร์ สอนขั้นตอนการหาข้อมูล การปรับแต่งข้อมูล การจัดกลุ่ม และสร้างประเด็นให้คนเข้าใจ แต่ก่อนเราจะเน้นงานวิจัยจากเปเปอร์เป็นหลัก ซึ่งคุณหมอก็แนะนำว่าพยายามอย่าไปโฟกัสว่าเป็นงานวิจัย เพราะอาจจะเป็นวิชาการมากเกินไป แต่ให้เราพยายามทำให้เหมือนกับกำลังนิตยสารออกมาเป็นเล่มต่างๆ หาประเด็นที่ร่วมสมัย บางอย่างอาจจะดูทีเล่นทีจริงบ้าง อาจเป็นประเด็นที่ขำขันบ้าง เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ

 

 

            เช่นเรื่องของชุดลูกทุ่ง ในนิทรรศการ “จับไมค์ ใส่ขนนก” คุณภารวีก็ลองให้เราจับประเด็น แบ่งประเภทใช้การสังเกตร่วมสมัย โดยเอาทฤษฎี ความรู้ คอนเทนท์ที่มีอยู่เป็นพื้นฐาน มาบวกกับสิ่งที่คนอยากรู้ หรือสิ่งที่สังคมกระหาย และอยากให้เราไข

            คอนเทนต์บางอย่าง เราต้องการเสนอเรื่องเล่า ซึ่งอาจเล่าด้วยตัวอักษรไม่เพียงพอ ต้องนำเสนอผ่านสื่ออื่น เช่นคลิปวิดีโอ จำได้ว่างานนั้นมีชุดลูกทุ่งชุดหนึ่งชื่อว่าชุดเพชร เป็นชุดโป๊มาก เป็นตะปิ้งเลยซึ่งเราก็ไม่เคยเห็น มันเคยปรากฏแค่ในหนังสือ ในนิตยสารโบราณ ชุดนี้เป็นชุดที่เรียกคนมาได้ฮือฮามาก ท้ายสุดก็ไปหาชุดนี้มาจนได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมือนักสะสมที่ฮ่องกง นี่คือหนึ่งในตัวอย่างการนำเสนอคอนเทนท์

           

คิวเรเตอร์กับภัณฑารักษ์ต่างกันอย่างไร

            วัฒนธรรมการมีพิพิธภัณฑ์เริ่มต้นที่ต่างประเทศ ของฝรั่ง ในยุคที่ฝรั่งมาล่าอาณานิคมในแอฟริกาและในเอเชีย สมัยนั้นฝรั่งก็รุกรานอาณานิคมทางฝั่งแอฟริกา ฝรั่งก็เลยสะสม เก็บของ เพื่อจะบอกเล่าว่าได้เก็บของที่จะมาเล่าว่าดินแดนแห่งนี้ ฉันได้ไปเหยียบและได้มาครอบครองแล้ว เปรียบเสมือนการมีวัตถุเพื่อเป็นประจักษ์พยาน บอกความมีตัวตนของวัฒนธรรมของชนเผ่านั้น ยุคนั้นก็เกิดประเพณีการเก็บของจากพวกจีน ญี่ปุ่น เข้าพิพิธภัณฑ์ เอาของนั้นมาจัดแสดง ดูแลรักษาของเหล่านั้นให้คงอยู่สืบต่อไปยันลูกหลานได้คือที่มาของคำว่า “ภัณฑารักษ์” ผู้มีหน้าที่เก็บของแล้วก็สงวนรักษาของให้อยู่คงไว้

 

            แต่ในปัจจุบัน การบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่การสะสมสิ่งของอย่างเดียวแล้ว อาจเป็นคลิป เป็นการเก็บบทสัมภาษณ์ เก็บเป็นวีดีโอที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ เป็นการถ่ายทอดคอนเทนท์ที่มากกว่า โดยส่วนตัวจึงรู้สึกว่าหน้าที่เราไม่ใช่ภัณฑารักษ์ เพราะเราไม่ได้สงวนรักษาของ แต่เราคือคิวเรเตอร์ (Curator)คือคนคัดสรรว่าเราจะนำเสนอประเด็นไหน เพื่อหยิบมาทำมาถ่ายทอดให้กับผู้ชม เลือกใช้วิธีไหน อาจจะเป็นเกม เป็นคลิปวิดีโอ เป็นแอนิเมชั่นไหม ทำกิจกรรมประกอบไหม ส่วนตัวคิดว่าคิวเรเตอร์เป็นคำจำกัดความในปัจจุบันซึ่งกว้างกว่าภัณฑารักษ์ ซึ่งภัณฑารักษ์จะเหมาะกับพิพิธภัณฑ์บางที่ที่มีของจัดแสดงอยู่เยอะ และทำหน้าที่เพื่อสงวนรักษาของมากกว่า

 

 

องค์ประกอบที่ดีของนิทรรศการ

            สิ่งแรกที่เราต้องรู้ คือผู้ชมแต่ละคนมีสไตล์ หรือว่ารูปแบบการรับสารที่แตกต่างกัน นิทรรศการเหมือนสื่อการเรียนรู้ เราเป็นครู แต่เราไม่ได้เป็นครูที่สอนในห้องเรียน แต่สอนในบรรยากาศบริบทนอกห้องเรียนครูบางคนอาจจะสอนโดยพูดหน้าห้องเรียน และจดบนกระดานอย่างเดียว เด็กที่จะรับสารได้ก็คือเด็กที่ตั้งใจเรียน แต่จริงๆ แล้วยังวิธีการรับสารเยอะมากที่มันจะสัมฤทธิ์ผล เช่น อาจเป็นภาพประกอบ วิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว ของจัดแสดงโดยไม่จำเป็นต้องเป็นโบราณวัตถุ แต่อาจเป็นของร่วมสมัยก็ได้ ไปจนถึงให้เด็กลงมือทำการทดลองเวิร์คช้อป บางทีครูก็อาจจะขยันมากเลย พาไปทัศนศึกษา ออกนอกสถานที่เลย ทั้งหมดคือรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างไป เพื่อให้เด็กรู้มากขึ้น

 

            หัวใจของการทำนิทรรศการคือ นำเสนอให้ผู้ชมเห็นองค์ความรู้ และความรู้นั้นสามารถกลับมาเชื่อมโยงกับชีวิตเขา และภายภาคหน้าได้อย่างไร หรืออาจจะนำเสนอประเด็นปัจจุบัน เรื่องร่วมสมัยที่น่าสนใจที่ทันเหตุการณ์ ผู้ชมได้รับและนำไปสร้างประโยชน์ หรือเพิ่มพูนทักษะทั้งด้านความรู้ และในเรื่องการมองโลกให้กว้างขึ้นก็ได้ แต่สุดท้ายมันก็ต้องอยู่ที่ว่าผู้ชมมีความสนใจอะไร

 

            กว่าจะได้แต่ละนิทรรศการ มีการทำงานหลายฝ่าย ตั้งแต่ฝั่งคอนเทนท์ วิชาการ ภัณฑารักษ์ ฝ่ายนิทรรศการ ฝ่ายการตลาด ต้องพูดคุยกัน เลือกหัวข้อ และต้องทำนายว่าในปีสองปีข้างหน้าเรื่องใดจะบูมเป็นกระแสที่น่าสนใจ จากนั้นก็ร่วมกันระดมสมองร่วมกันทุกฝ่าย

 

นิทรรศการที่แสนท้าทายที่เคยทำ

 

            มีนิทรรศการตัวหนึ่งชื่อ “ไฉไลไปไหน? ทุกความสวยมีที่มา ทุกความงามมีที่ไป ตอนนั้นคิดหัวข้อแล้วเสนอผู้บริหารเลย จำได้ว่าก็นั่งประชุมกันหลายคน แล้วปิ๊งไอเดียว่า “ทำไมยุคนี้เป็นยุคที่คนให้ค่ากับความงามเหลือเกิน” พอเราเริ่มทำก็เริ่มพัฒนาข้อมูล ยิ่งหาข้อมูลยิ่งพบการแตกประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งน่าแปลกใจว่าประเด็นนั้นยังคงอยู่ในกรอบความคิดที่เราเริ่มต้นมาแต่แรกเลย จนกระทั่งนิทรรศการก่อสร้าง ออกแบบก่อสร้างเสร็จแล้ว ตั้งแต่ต้นจนจบแทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนโครงเรื่องเลย เหมือนกับโครงเรื่องที่เสนอผู้บริหารวันแรก แล้วก็ความแซ่บกลับยิ่งมากขึ้น กลายเป็นเรื่องที่ผู้ชมอินมาก กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และเปิดโลกทัศน์เขา แมสเสจที่ต้องการสื่อคือ ทำไมเราต้องแคร์กับความงามมากนัก แล้วทำไมคุณต้องใช้ความงามมาตรฐานของเราไปตัดสินความงามของคนอื่น แต่ละคนมีแบ็คกราวน์วัฒนธรรมต่างกัน ซึ่งสารที่เราจะบอกคือ ความงามแต่ละชาติแต่ละเชื้อชาติมันเกิดจากวัฒนธรรมของเขาเป็นตัวก่อตั้ง ทำไมคนจีนต้องรัดเท้าถึงสวย ทำไมทุกคนต้องยอมทรมานเพื่อความงาม เราก็นึกว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่น่าจะรู้กัน ปรากฏว่าคนที่มาจากหลากสาขา เด็กทั่วไปที่เรียน ม.ปลาย หรือคนที่เรียนวิศวะ เรียนบัญชีแม้เขาจะไม่ได้มีแบ็คกราวนด์ทางด้านนี้ แต่เขาก็สนุกกับการมาดูนิทรรศการที่ว่าด้วยความงามที่แปลกต่างออกไป

  

 

ลายเซ็นของคุณ

            “โหด มัน ฮา” เพราะคิวเรเตอร์แต่ละคน เรื่องเดียวกันแต่ทำออกมาได้ไม่เหมือนกัน เพราะทุกคนมีลายเซ็นและสะท้อนตัวตนของแต่ละคน ไม่มีผิดไม่มีถูก

 

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำอาชีพนี้

            คุณสมบัติของคิวเรเตอร์ สิ่งแรกคือต้องมีความสนใจในการศึกษาคอนเทนท์และรู้กระจ่างในข้อมูลจนสามารถจับประเด็นได้ ส่วนตัวคิดว่าเรียนรู้จากประสบการณ์ และการขบคิดบ่อยๆ แรกๆ เราก็ยังทำไม่ได้ หลังๆ เราจะเฉียบขึ้น รู้วิธีแตกประเด็นให้ตีโจทย์ให้แตกได้ ส่วนตัวมองคิดว่าคล้ายกับการสร้างพล็อตหนัง พล็อตนิยาย มีข้อมูลอยู่ตรงนี้ เราจะร้อยเรียงอย่างไร ทำสตอรี่ไลน์อย่างไร ทั้งข้อมูลหลัก ข้อมูลย่อยที่สนับสนุน รวมถึงมีคุณสมบัติในการเป็นคนกลางประสานงานให้ทุกฝ่าย ทั้งเขียนพล็อต ถ่ายวิดีโอ ประสานการตัดต่อ ประสานฝ่ายการตลาด ฝ่ายการศึกษาเพื่อดูว่าแมสเสจนี้เด็กจะรับหรือไม่

 

            หลายคนอยากเป็นคิวเรเตอร์ แต่เขานึกถึงในเชิงครีเอทีฟเป็นหลัก ซึ่งจริงๆ ครีเอทีฟคือคนที่แปลงเรื่องราวที่เราทำให้มันน่าสนใจมากกว่า ซึ่งทั้งสองศาสตร์นี้ควรเข้ามาผสมกัน ก็จะทำให้นิทรรศการมีความน่าสนใจมากขึ้นทั้งเนื้อและความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอ

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ