ก่อนหน้าที่โลกจะเคลื่อนขยับด้วยวัฒนธรรมออนไลน์ คงไม่มีใครคาดคิดว่าวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถเรียนรู้ความลับของอีกฟากโลกได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว เหมือนที่เราจะพาคุณข้ามประตูมิติไปสำรวจเรื่องราวในอดีตกับผ่าน 5 พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) ทั้งแนววิทยาศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ การันตีว่าเรียนรู้จากที่บ้านก็สนุกได้ไม่รู้จบเหมือนกัน
1.ท่องจักรวาล NASA สนุกจนลืมกลับโลก
ถ้าแผนที่สำรวจดวงดาวคือความสนุกในวัยเด็ก ใจเต้นทุกครั้งเมื่อฟังข่าวหลุมดำมฤตยู (Black Hole)
เป็นแฟนตัวยงหนัง “สตาร์ เทรค” (Star Trek) และมักสงสัยว่ามนุษย์อวกาศเขากินอยู่กันยังไง? รีบอ่านต่อให้ไว เพราะคุณเจอเนื้อคู่เข้าให้แล้ว!!
ละทิ้งความวุ่นวายบนโลกใบนี้แล้วไปสบตากับจักรวาลผ่าน นิทรรศการออนไลน์ของ NASA ชมความงามของภาพถ่ายโลกยามค่ำคืนจากอวกาศ กลุ่มดาวฤกษ์ดาวเคราะห์กระจายตัวนับพันล้าน และฝุ่นละอองอวกาศนั้นสวยงามไม่แพ้ภาพจิตรกรรมชิ้นเอกของโลก เร้าอารมณ์ไปกับเพลงบรรเลงที่นาซ่าคัดสรรพาเราด่ำดิ่งไปกับนิทรรศการราวกับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่นั้นด้วย เฉกเช่นนิทรรศการของ โอไรออน เนบิวลา (Orion Nebula) หรือเนบิวลานายพรานสุดฮอต ได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตดวงดาวขนาดมหึมาที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะมากที่สุดคือ 1,344 ปีแสง หรือ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร เป็นเนบิวลาเรืองแสงขนาดใหญ่ที่มนุษย์สามารถเห็นรายละเอียดของมันผ่านกล้องโทรทรรศน์ แต่หากอยากเห็นสีของมันชัดๆ ต้องดูผ่านภาพถ่ายเท่านั้น Nasa เลยจัดจำลองภาพวิดีโอแบบ 360 องศา พาเราแหวกว่ายผ่านอุโมงค์ โอไรออน เนบิวลา สำรวจความงามและเรื่องราวของมันได้เต็มๆ แบบจุดต่อจุด แถมยังหยุด-เลื่อน-หมุน สำรวจบางช่วงของอุโมงค์เนบิวลาได้ตามที่เราต้องการ พร้อมคำอธิบายว่าสิ่งที่เราเห็นมันคืออะไร เกิดมาจากไหน แอบกระซิบว่าใครไม่ถนัดภาษาอังกฤษแนวดาราศาสตร์ แนะนำให้เปิดแอป Google Arts & Culture ผ่านมือถือ มี Google แปลเป็นภาษาไทยให้ แต่สุดท้ายถ้าอยากรู้ลึกก็ต้องเปิดอากู๋ดูคำอธิบายเพื่อเคลียร์ชัดๆ อยู่ดี แต่เอาเหอะ คุ้ม!!
คลิปตัวอย่างการสำรวจ Orion Nebula I https://artsandculture.google.com/exhibit/a-360-degree-journey-through-the-orion-nebula/AwKSJ3vQWuSIJg
ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
ใกล้โลกเข้ามาอีกนิดกับ นิทรรศการสุดคลาสสิก อพอลโล 11 (APOLLO 11)
การสำรวจดวงจันทร์ที่กลายเป็นตำนานศักดิ์สิทธิ์ของมนุษยชาติ ยังคงถกเถียงอย่างไม่มีสิ้นสุดว่า สรุปแล้ว อเมริกาได้ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจริงหรือเป็นแค่เรื่องลวงโลก!!
ความน่าสนใจของนิทรรศการออนไลน์นี้ คือเบื้องหลังภารกิจที่ทีมงานระดับหัวกะทิของนาซ่าทุ่มเทแรงกายแรงใจและแรงแห่งความหวัง ค้นคว้าวิจัยและทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งความพยายามในการเอาชนะกฎธรรมชาติของยานอวกาศ ชุดเดินอวกาศที่ถอดโมเดลระบบรักษาความปลอดภัยจากสายสะดือของทารก การตามหาแหล่งน้ำและสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร การทดลองปลูกพืชในสถานีอวกาศ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของนักบินอวกาศขณะอยู่นอกโลก รวมทั้งอาหารผงและของแข็งที่พัฒนาจนกลายเป็นเมนูแสนอร่อย ที่ว่ามานี้เป็นแค่น้ำจิ้มที่คุณจะได้สำรวจกันแบบทุกซอกมุมผ่านนิทรรศการเสมือนจริงชุดนี้
เข้าสู่โลก Virtual Exhibition : Nasa ได้ทางแอปพลิเคชัน Google Art & Culture
อ้างอิง
https://artsandculture.google.com/partner/nasa
www.nasa.gov
https://becommon.co/world/nebula
www.bbc.com/thai/features-49001306
www.sarakadee.com
2. มาสเตอร์พีซ ชิ้นเดียวในโลก Rijksmuseum
พิพิธภัณฑ์เก่าแก่อายุ 200 ปี ที่มวลมหาชาวดัตช์ยกให้เป็นกรุสมบัติจัดผลงานศิลปะระดับโลกกว่า 1 ล้านชิ้น พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ (Rijksmuseum) ได้รับความสนใจอีกครั้งหลังปิดบูรณะครั้งมโหฬาร ท่ามกลางความโกลาหลที่ทำให้การปรับปรุงยืดเยื้อกว่า 10 ปี และถล่มเงินไป 400 ล้านยูโร!!
กระแสฮือฮาผ่านหนังสารคดี The New Rijksmuseum ที่เปิดเผยความดาร์กในวงการพิพิธภัณฑ์ การแก่งแย่งชิงอำนาจ ความผิดพลาดที่ไม่อาจให้อภัย ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลับมาเป็นที่สนใจ และเมื่อเปิดทำการนักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างแห่ชมความงดงามของตัวอาคารที่สวยดุจพระราชวัง สถาปัตยกรรมสไตล์กอธิกผสานเรอเนซองส์ และผลงานศิลปะที่ประเมินค่าไม่ได้ แม้ตอนนี้จะถูกปิดเนื่องจากโรคระบาด Covid-19 แต่เราสามารถก็ชมพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ผ่าน Virtual Museum ได้เช่นกัน
ความเก๋ไก๋คือระหว่างชมเราจะได้ฟีลเหมือนเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว (ซึ่งสถานที่จริงไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้ ส่วนภาพไฮไลต์คนก็รุมดูเยอะมาก พอถึงคิวเราต้องรีบดูแล้วรีบเปิดทางให้คนข้างหลังดูต่อ) พร้อมข้อมูลและการวิเคราะห์แบบลงลึกในภาพมาสเตอร์พีซ อย่างภาพ The Milkmaid อันโด่งดังของโยฮันเนส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) ในนิทรรศการออนไลน์เล่าตั้งแต่จุดที่เป็นไฮไลต์ของภาพอย่างน้ำนม แสงเงาที่ศิลปินใช้ ริ้วรอยบนข้อมือของสาวรับใช้ ความหยาบกร้านของขนมปัง การวางตัวของผ้ากันเปื้อน ไปจนถึงการมีอยู่ของตะปูตัวจิ๋วตรงฉากหลังที่เราสามารถละเลียดชมแต่ละจุดอย่างรื่นรมย์ ไม่ต้องวุ่นวายกับใคร
อีกหนึ่งภาพเขียนที่ทั่วโลกจดจำ The Night Watch ผลงานของแรมแบรนดท์ (Rembrandt Van Rijn) ศิลปินผู้มาก่อนกาลที่ฟาดแสงเงาด้วยเทคนิคสุดล้ำในศตวรรษที่ 17 ชวนให้เราซูมเข้าซูมออกภาพวาดเพื่อสำรวจจิตวิญญาณผ่านรายละเอียดและสีหน้าท่าทางบุคคลในภาพ บอกเลยว่าถ้าไม่ชมผ่านออนไลน์ ยังไงก็ทำไม่ได้แน่นอน
เข้าสู่โลก Virtual Museum : Rijksmuseum ได้ทางแอปพลิเคชัน Google Art & Culture
อ้างอิง
https://artsandculture.google.com/partner/rijksmuseum
https://www.wurkon.com/blog/39-rijksmuseum
https://documentaryclubthailand.com/the-new-rijksmuseum
3. บ้านหลังสีฟ้าและสุนทรียะแห่งความตาย Frida Kahlo
กำแพงสีฟ้าจัดตัดกับประตูเขียวแดง ภาพจำของ The Blue House หรือ Museo Frida Kahlo บ้านแสนรักของศิลปินสาวเม็กซิกัน ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) ภายใต้สีสันเริงระบำแบบฉบับเม็กซิกันแท้ แต่สาวน้อยฟรีดากลับทนทุกข์ทรมานจากโรคโปลิโอตั้งแต่เด็ก พอแตกเนื้อสาวก็ประสบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรง แท่งเหล็กแทงทะลุกระดูกเชิงกราน กระดูกหักหลายแห่งทั่วร่างกาย ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้เธอเลือกยึดเหนี่ยวจิตใจด้วยการถ่ายทอดความปวดร้าวผ่านงานศิลปะ
เมื่อคุณสำรวจโลกของฟรีดาผ่าน Virtual Reality เลนส์ตาพิเศษจะพาเดินเข้าไปชมภายในบ้านกึ่งสตูดิโอของเธอที่ถูกจัดคล้ายกับตอนที่ฟรีดามีชีวิตอยู่ เตียงนอนที่เธอใช้วาดรูป สวน ม้านั่ง โต๊ะทำงาน ของตกแต่ง ห้องครัว และแน่นอนตู้เสื้อผ้าลึกลับของฟรีดาที่ถูกพบหลังเธอตายไปกว่า 50 ปี ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) สามีศิลปินได้เก็บเสื้อผ้าและสมบัติล้ำค่าของฟรีดาไว้ในห้องน้ำส่วนตัวหลังจากเธอเสียชีวิตแล้วปิดตายเอาไว้
หลังจากดิเอโกเสียชีวิตในปี 2004 ประตูห้องน้ำถูกเปิดออก รายการของสำคัญกว่า 300 ชิ้นของฟรีดาจึงถูกเปิดเผยต่อสายตาสาธารณชน ในนิทรรศการ Appearances can be deceiving ทั้งเครื่องประดับจากปิกัสโซ เครื่องแต่งกายสไตล์ชนเผ่า Tehuana ที่ฟรีดาใช้แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและตัวตนของเธอ รวมถึงแนวคิดทางการเมือง คอร์เซตรัดกระดูก ขาเทียมคัลเลอร์ฟูล เหล่านี้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนวงการศิลปะและแฟชั่นให้กับศิลปินรุ่นใหม่ในทุกยุค
แต่หากอยากชมภาพวาดชื่อดังของฟรีดาอย่าง The Broken Column, Henry Ford Hospital, Self-portrait with small Monkey หรือไดอารี่ของฟรีดา ต้องไปชมใน นิทรรศการออนไลน์ Frida Kahlo : I Portray Myself ของพิพิธภัณฑ์ Museo Dolores Olmedo พิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำกรุงเม็กซิโก และหากอยากรู้ว่าทำไมชาวเม็กซิกันถึงมีความเชื่อความศรัทธาเชื่อมโยงกับความตาย แล้วเหตุใดโครงกระดูกถึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในงานรื่นเริง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ล้วนมีคำตอบ
เข้าสู่โลก Virtual Museum : Museo Frida Kahlo หรือ Museo Dolores Olmedo ได้ทางแอปพลิเคชัน Google Art & Culture
อ้างอิง
https://artsandculture.google.com/partner/museo-frida-kahlo
https://www.theguardian.com/artanddesign/costume-and-culture/gallery/2015/may/05/what-frida-kahlo-wore-artists-wardrobe-locked-up-for-50-years
https://themomentum.co/travel-mexico-frida-kahlo-the-blue-house
4. ดินแดนแห่งพระราชวังตะวันออก มรดกศักดินา “พระราชวังต้องห้าม”
วกกลับมาในเอเชีย ถ้าไม่เอ่ยถึง พระราชวังต้องห้าม (Forbidden City) หรือ พระราชวังกู้กง (Gu Gong National Palace Museum) แห่งกรุงปักกิ่ง คงนอนไม่หลับ เพราะนอกจากยูเนสโกจะขึ้นทะเบียนมรดกโลก ยกให้เป็นอาคารโครงสร้างไม้เก่าแก่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่นี่ยังมีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับ 1 ของโลก 17 ล้านคนต่อปี!! และอีกตำแหน่งที่ขอยกให้คือพิพิธภัณฑ์ที่ทำ Virtual Museum ได้ดีที่สุดในโลก! (แม้จะไม่มีภาษาอังกฤษก็ตาม TT) กราฟิกสุดเนี้ยบที่ปรากฏบนหน้าจอชวนให้สงสัยว่านี่คือภาพถ่ายจริงหรือกราฟิกกันแน่ อลังการมาก แถมยังได้สำรวจจุดต้องห้าม อย่างบันได 9 มังกร เป็นบันไดหินอ่อนแกะสลักมังกร 9 ตัว อดีตเป็นทางเดินของจักรพรรดิ ซึ่งปัจจุบันนี้ปิดห้ามคนเข้า แต่เราก็สำรวจแบบชัดๆ ได้ทางออนไลน์นี้แหละ หากนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปครั้งโบราณคงได้นั่งมองตาปริบๆ อยู่นอกกำแพง เพราะห้ามคนทั่วไปเข้ามาในวัง
เมื่อเราส่องแผนที่ในมิวเซียมเสมือนจริง พระราชวังต้องห้ามถูกแบ่งเป็น “พระราชวังชั้นนอก” ไว้ใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ห้ามผู้หญิงออกมายังชั้นนี้เด็ดขาด และ “พระราชวังชั้นใน” ซึ่งเป็นที่ประทับของฮ่องเต้ พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ โดยมีนางสนม ขันที และข้าหลวงรับใช้ที่ต้องอาศัยอยู่หลังกำแพงวังชั่วชีวิต อาคารทั้งหมดมีกว่า 980 หลัง 8,886 ห้อง พื้นที่กว้างขวางถึง 720,000 ตร.ม. วัสดุที่ใช้สร้างพระราชวังนั้นคือไม้หายากที่ถูกลำเลียงออกจากป่าลึกโซนตะวันตกเฉียงใต้ของจีน คนงานต้องลากหินขนาดใหญ่ไถมาตามพื้นน้ำแข็งท่ามกลางฤดูหนาว ไหนจะพื้นหินหยก ไหนจะศิลาทองคำ ทั้งหมดนี้ใช้คนงานก่อสร้าง 1 ล้านคน ช่างฝีมือกว่า 1 แสนคน และก่อสร้างนานถึง 14 ปี
ไฮไลต์สำคัญ ตำหนักไท่เหอ (Taihe Dian) เป็นพระตำหนักไม้โบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บนพื้นยกสูง สูงถึง 35.5 เมตร และไม่อาจมีอาคารใดสมัยนั้นที่สูงเกินอาคารนี้เพื่อแสดงแสนยานุภาพขององค์จักรพรรดิ ในอดีตใช้เฉพาะงานพระราชพิธีสำคัญ เช่น พิธีบรมราชาภิเษก พิธีราชาภิเษกสมรส ใช้เป็นที่ว่าราชการ และบริเวณกลางอาคารมีบัลลังก์มังกรฮ่องเต้สีทองอร่ามจัดแสดงอยู่
ไฮไลต์ของพระราชวังชั้นในคือ สวนอวี้ฮัวหยวน (Yu Hua Yuan/Imperial Garden) เต็มไปด้วยพรรณไม้ใหญ่อายุ 100-300 ปี โดยเฉพาะอนุสรณ์แห่งรัก “ต้นสนคู่” ยิ่งเดินเที่ยว (ออนไลน์) ก็ยิ่งสัมผัสถึงบรรยากาศอันหลากหลายในพระราชวังแห่งนี้ ทั้งรื่นรมย์สมหวัง สูงส่ง แก่งแย่งหักหลัง ทั้งบริเวณที่เคยเกิดโศกนาฏกรรมนองเลือด และเรื่องราวหลังวังที่เต็มไปด้วยคราบน้ำตา ล้วนแต่กลายเป็นบทเรียนฉากสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จีน
ชม Virtual Museum : พระราชวังต้องห้าม ผ่านทาง https://pano.dpm.org.cn/gugong_app_pc/index.html
อ้างอิง
https://th.wikipedia.org
https://www.lonelyplanet.com/china/beijing/attractions/forbidden-city/a/poi-sig/368617/355905
https://www.chinahighlights.com
www.dplusguide.com
5. จากสงครามชิงอำนาจสู่เมืองหลวงซอมบี้กระหายเลือด
นาทีนี้ไม่มีที่ไหนเป็นที่สนใจไปกว่า พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งเกาหลี (National Palace Museum of Korea) หลัง Netflix สตรีมมิ่งออนไลน์อันดับหนึ่งของโลกทุ่มทุนสร้างซีรีส์เกาหลีย้อนยุค “Kingdom ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด” เรื่องราวการฟาดฟันชิงอำนาจของมเหสี เหล่าขุนนางสูงศักดิ์ และองค์รัชทายาท สะท้อนปัญหาชนชั้น การเมือง สังคม ผ่านวิกฤตโรคระบาด คนกลายเป็นซอมบี้อาละวาดทั่วเมือง นับเป็นการส่งออกวัฒนธรรมท่องเที่ยวอย่างแยบยลเพราะเกาหลีเลือกใช้โลเกชั่นจริงในการถ่ายทำ แถมยังมีพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) ให้คุณเรียนรู้ตามรอยซีรีส์อย่างไม่ขาดตอน
พระราชวังเคียงบกกุก (Gyeongbokgung Palace) เป็นพระราชวังแห่งแรกของราชวงศ์โชซอน ยิ่งใหญ่ที่สุดใน 5 พระราชวังหลวงของกรุงโซล ฉากในราชวังปรากฏในหนัง Kingdom ตอนที่องค์ชายรัชทายาทอีชาง (รับบทโดย Joo Ji Hoon) บุกเข้าไปหาพระบิดาที่กลายเป็นซอมบี้ และไปทวงบัลลังก์จากมเหสีโจ (รับบทโดย Kim Hye Jun) ในซีซั่นแรก ในปี ค.ศ. 1952 พระราชวังถูกญี่ปุ่นเผาทำลายและบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่ในภายหลัง เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งเกาหลีที่เราบอกข้างต้น และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเกาหลี เล่าเรื่องเกาหลีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นที่ตั้งของตำหนักกลางน้ำที่เอาไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
พระราชวังช็องด็อกกุง (Changdeokgung Palace) เป็นสถานที่ถ่ายทำในฉากดราม่าหลักๆ ของเรื่อง ในตอนที่มเหสีโจเผชิญหน้ากับพ่อของเธอ ขุนนางโจฮักจู (รับบทโดย Ryu Seung-ryong) ที่ศาลาริมน้ำ Gwallamjeong Pavilion ในสวนลับฮูวอน รายล้อมด้วยพรรณไม้โบราณอายุกว่า 300 ปี และทิวทัศน์ของใบไม้เปลี่ยนสีสลับกับใบไม้ร่วง แต่ใครจะรู้ว่าฉากหลังความสงบและร่มรื่นนั้น ใต้บ่อน้ำกลับเต็มไปด้วยศพที่ถูกทิ้งลงสู่เบื้องล่างเพื่อรักษาความลับของพระราชวัง และเราสามารถไปเยือนบ่อน้ำนี้ผ่าน Virtual Reality ดวงตามหัศจรรย์ที่พาเราเดินเข้ารั้ววัง ชมอาคารสไตล์เกาหลีโบราณ ผ่านสะพานหินเก่าแก่ มุ่งเข้าสู่สวนลับของราชวงศ์
นอกจากตัวพระราชวังแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงยังเต็มไปด้วยของล้ำค่า ทั้งตราประทับ เครื่องแต่งกายสมัยราชวงศ์โชซอน แท่นบัลลังก์กษัตริย์ ภาพจิตรกรรม เสื้อคลุมของสมเด็จพระราชินี ที่ล้วนเพิ่มความฟินในอรรถรส จนต้องย้อนกลับไปดูซีรีส์ซ้ำแล้วซ้ำอีกกันเลยทีเดียว
ชม Virtual Museum : National Palace Museum of Korea ได้ทางแอปพลิเคชัน Google Art & Culture
อ้างอิง
https://artsandculture.google.com/partner/national-palace-museum-of-korea
https://www.chilloutkorea.com/national-palace-museum-of-korea
https://chill.co.th/articles/article.php?topic=korea-series-kingdom
https://www.thejakartapost.com/travel/2019/06/09/kingdom-filming-locations-to-visit-in-south-korea.html
https://english.visitkorea.or.kr/enu/ATR/SI_EN_3_6.jsp?cid=2595999