ภาพของถุงกระสอบสีขาวซึ่งบรรจุฝาขวดน้ำพลาสติกหลากสีที่ใช้แล้วอยู่ภายในเรียงซ้อนกันขึ้นไปจนเกือบจรดเพดานของศูนย์รีไซเคิลขนาดกะทัดรัดอันตั้งอยู่ ณ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (FREC) แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
ใกล้กันมีเครื่องจักรสำหรับบด หลอมละลาย บีบอัด และฉีดพลาสติกให้ขึ้นรูปกำลังทำหน้าที่ของตัวเองอย่างขะมักเขม้น ไม่ต่างจาก คุณดอมินิก-ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการ Precious Plastic Bangkok (PPB) ที่กำลังแปลงพลาสติกไร้ค่าให้กลายร่างเป็นสินค้าสร้างรายได้ซึ่งวางจำหน่ายตามงานนิทรรศการต่างๆ และบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของ PPB รวมถึงที่มิวเซียมสยาม ในฐานะพันธมิตรดำเนินโครงการ “ขยะบทที่ 2” เพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยเรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี
ก่อนจะมาถึงวันนี้ PPB ก้าวผ่านความท้าทายมาหลายรูปแบบ เฉกเช่นเดียวกับคุณดอมซึ่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้วสานเข้ากับความมุ่งมั่นตั้งใจ จนถักทอออกมาเป็นองค์กรเล็กๆ ที่สร้างกิจกรรมอันยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแนวความคิดต่อขยะพลาสติกของผู้คนในวงกว้าง
แรงบันดาลใจในการก่อตั้ง Precious Plastic Bangkok ของคุณดอมจุดประกายขึ้นตอนไหน
“ผมมี passion เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณแม่เคยทำงานที่มูลนิธิโลกสีเขียว จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผมเลือกเรียนและทำงานด้านนี้มาโดยตลอด ซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์ของผมในด้านต่างๆ และมีโอกาสร่วมงานกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อแสวงหาแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อม
“นอกจากนี้ สารคดีของ David Attenborough ทำให้ผมได้เห็นโลกของธรรมชาติในแบบที่ยังไม่ถูกทำลาย ได้เห็นบรรดาสิงสาราสัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกมนุษย์ก่อกวน ผมจึงอยากปกป้องสิ่งเหล่านี้ไว้ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านสิ่งแวดล้อมจาก London School of Economics และทำงานด้านการประมงในบริษัทเอกชนอยู่พักหนึ่ง ผมจึงกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อกลับมาทำงานเกี่ยวกับการประมงที่นี่ได้ประมาณหนึ่งปีครึ่ง ผมเห็นขยะพลาสติกตามท่าเรือ ชายหาด รวมถึงตามสถานที่ต่างๆ เต็มไปหมด ผมจึงอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อต่อยอดความฝันส่วนตัวให้ชัดเจน”
ทำไมคุณถึงเลือกแนวทางของ Precious Plastic เป็นต้นแบบในการดูแลโลกใบนี้
“การที่ขยะเข้าไปในเครื่องแล้วได้รับการแปรสภาพอย่างรวดเร็วโดยใช้ต้นทุนต่ำ เป็นวิธีที่มีเอกลักษณ์ เหมาะกับชุมชน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของพวกเขาในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ทุกคนบนโลกยังสามารถนำชื่อ โลโก้ และการออกแบบเครื่องมือของ Precious Plastic ไปใช้ได้ฟรี ซึ่งแนวคิดหลักคือการที่ทุกคนสามารถรีไซเคิลพลาสติกได้ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม ในมุมมองของผมเอง แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในการรีไซเคิลพลาสติกคราวละจำนวนมาก แต่มันช่วยต่อยอดความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้คนเห็นว่าเมื่อกี้มันยังเป็นขยะอยู่เลย แต่ตอนนี้มันเอามาใช้งานได้แล้วนะ เขาจะมีความชื่นชมยินดีและเข้าใจกระบวนการนี้มากขึ้น ถือเป็นการสร้างผลลัพธ์ในทางอ้อม นอกเหนือไปจากการรีไซเคิลพลาสติกโดยตรงครับ”
จากวันแรกจนถึงวันนี้ Precious Plastic Bangkok ผ่านอะไรมาบ้าง
“ตอนที่เริ่มต้น ปัญหาการรีไซเคิลขยะพลาสติกยังได้รับการพูดถึงน้อยมากในประเทศไทย รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่พอโครงการของเราเริ่มดำเนินกิจกรรมมาเรื่อยๆ ก็ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ เราจัดเวิร์กช็อปในสถาบันการศึกษาหลายแห่งเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนและนักศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดการนำฝาขวดน้ำพลาสติกที่เป็นขยะมาสร้างมูลค่าได้ รวมถึงทำงานร่วมกับชุมชนในกรุงเทพฯ เพื่อเเก้ไขปัญหาเเละลดจำนวนขยะพลาสติกผ่านการรีไซเคิลโดยเครื่องจักรเล็กๆ ของเรา ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการเปลี่ยนทัศนคติให้ผู้คนเห็นว่าขยะเป็นเเหล่งทรัพยากรที่มีค่าและสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย ปัจจุบันเรามีจุด drop off 30 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ในการรับบริจาคฝาขวดน้ำพลาสติกมารีไซเคิลเป็นกระถางต้นไม้ ที่รองแก้วน้ำ และโคมไฟ เพื่อนำรายได้ไปต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ของ Precious Plastic Bangkok ต่อไป”
ผู้คนชื่นชอบสินค้าจากพลาสติกรีไซเคิลของ Precious Plastic Bangkok มากน้อยแค่ไหน และมีความปลอดภัยในการนำไปใช้งานหรือไม่
“ผลตอบรับต่อสินค้าของเราเป็นไปในเชิงบวก เพราะมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เบื้องหลัง ทั้งในแง่ของวิธีการรีไซเคิลและความร่วมมือกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราแตกต่างจากที่อื่นๆ ส่วนประเด็นด้านความปลอดภัยนั้น ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในการใช้พลาสติกรีไซเคิลมาบรรจุอาหาร ผลิตภัณฑ์ของเราจึงเน้นไปที่การตกแต่ง ซึ่งเรามองว่าเป็นตลาดใหญ่อันจะสามารถพัฒนาสินค้าไปสู่เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านได้ในอนาคต
“ช่วง 2 ปีมานี้ เรารีไซเคิลพลาสติกไปแล้วกว่า 2 ตัน เป็นผลิตภัณฑ์นับพันชิ้น ตอนนี้มีฝาขวดน้ำพลาสติกส่งมาจากทุกที่ทั่วประเทศไทย ทว่าข้อจำกัดอยู่ที่เครื่องจักรซึ่งมีขนาดเล็กยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายมากนัก เราจึงวางแผนที่จะร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อขยายไลน์สินค้า ตอนนี้เราก็กำลังทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อพัฒนาเครื่องย่อยพลาสติกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสร้างโมเดลเครื่องจักรเพื่อรองรับจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างเป็นระบบครับ”
Precious Plastic Bangkok มีบทบาทอย่างไรในการดำเนินโครงการ “ขยะบทที่ 2” ของมิวเซียมสยาม
“เราเป็น 1 ใน 11 ภาคีเครือข่ายซึ่งทำหน้าที่จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยเรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี ผ่านการแยกขยะแต่ละประเภท ไปจนถึงการจำแนกพลาสติกแต่ละชนิด ตลอดจนแสดงให้เห็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติกใช้แล้ว และจัดจำหน่ายที่มิวเซียมสยาม เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพชัดเจนว่าขยะที่เพิ่งทิ้งไปสามารถกลายร่างมาเป็นของใช้ที่มีประโยชน์ได้ ถือเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มดำเนินการไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก
“ผมยอมรับว่าการระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลต่อโมเมนตัมการทำงานของ PPB ที่กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แผนการบางส่วนที่วางไว้ถูกยกเลิก อีกทั้งการดำรงชีวิตของทุกคนในช่วงนี้ทำให้การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งกลับมาในวงโคจรอีกครั้ง จึงเป็นโอกาสดีที่เราได้เชิญชวนทุกคนซึ่งกักตัวอยู่บ้านมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเน้นการคัดแยกประเภทก่อนทิ้งเพื่อไม่ให้ขยะเหล่านั้นลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพราะปัญหาสำคัญคือในกรุงเทพฯ มีถังขยะไม่เพียงพอต่อความต้องการ และยังไม่มีนโยบายลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจังครับ”
หากคุณแวะเวียนไปที่มิวเซียมสยามแล้วเกิดประทับใจในกิจกรรมของ PPB ก็สามารถอุดหนุนสินค้าหลากสีเพื่อสมทบทุนเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนชุมชนต่างๆ ให้มีเครื่องรีไซเคิลพลาสติกเป็นของตัวเองได้ โดยคุณดอมแจกแจงว่ามีวิศวกรที่ทำงานร่วมกันในการผลิตเครื่องบดพลาสติกราคา 70,000 บาท เครื่องหลอมละลายราคา 70,000 บาท เครื่องบีบอัดราคา 120,000 บาท และเครื่องฉีดพลาสติกให้ขึ้นรูปราคา 19,000 บาท ซึ่ง PPB มุ่งเป้าประสงค์ไปที่การสร้างเครือข่ายเป็นสำคัญ เพราะอยากให้ทุกชุมชนโยงใยกันเป็นทีม ใช้วิธีการฝึกอบรมแบบเดียวกัน เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนกำลังเดินไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง
ล้อมกรอบ โครงการ Precious Plastic ของ Dave Hakkens นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวดัตช์ ซึ่งคุณดอมกล่าวถึงนั้นมีความชัดเจนและจับต้องได้ ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถนำแนวคิดของเขาไปใช้ได้ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข เพียงแค่ดาวน์โหลดแบบของเครื่องบด เครื่องหลอมละลาย เครื่องบีบอัด และเครื่องฉีดพลาสติกให้ขึ้นรูปจาก https://preciousplastic.com ก็สามารถเนรมิตพลาสติกไร้ค่าให้กลายร่างเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ปัจจุบันชุมชนออนไลน์แห่งนี้มีสมาชิกกว่า 80,000 รายทั่วโลก ซึ่งทำงานร่วมกันและยังคงแลกเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ เกี่ยวกับการรีไซเคิลพลาสติกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 สำหรับในประเทศไทยเอง เรามี PPB ซึ่งคุณดอมได้ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ มา 2 ปีแล้ว