โลกย่อยยับไปถึงไหนแล้ว ?
ใครคือผู้รับกรรมจากสิ่งที่มนุษย์ก่อไว้ ?
ไม่ได้อยากชวนคุณมากู้โลก แต่ Muse Latitude จะพาออกสำรวจเรื่องราวของเหยื่อโลกร้อนรอบโลก ไม่ว่าจะอยู่ก้นบึ้งมหาสมุทร แอบซ่อนอยู่ในป่าลึก อาศัยอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือที่หนาวเหน็บ หรือแม้แต่มนุษย์ที่อยู่ห่างไกลจากต้นเหตุโลกร้อน ล้วนตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และอีกกี่ชีวิตที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ก้มหน้ารับกรรมจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ โศกนาฏกรรมนี้อาจหนักหนาสาหัสเกินกว่าคุณจินตนาการ
1.ลมหายใจสุดท้าย Great Barrier Reef วิกฤตมรดกโลก
สิ่งมีชีวิตอายุ 25 ล้านปีกำลังจะตาย! กลุ่มปะการังยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก Great Barrier Reef ทอดตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียยาว 2,300 กิโลเมตร คลุมพื้นที่ 3.44 แสนตารางเมตร ขนาดที่คุณต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้ได้เห็นขอบเขตของมัน กลุ่มปะการังยักษ์นี้ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโกในปี 1981 โดยไม่มีใครคาดคิดว่าอีก 39 ปีต่อมา มรดกโลกชิ้นนี้จะอยู่ในห้วงวิกฤต Great Barrier Reef เคยฟอกขาวและกลับฟื้นตัวได้โดยอาศัยระยะเวลาเร็วสุดคือ 10-15 ปี (ปกติการฟื้นตัวอยู่ที่ 25-30 ปี) แต่การกลับมาครั้งนี้ดูเหมือนจะบานปลายขึ้นทุกที
การฟอกขาวคืออะไร
เรามักเห็นปะการังสีสันสวยงาม ล้อมหน้าล้อมหลังด้วยสัตว์ทะเลมากมาย แท้จริงแล้วปะการังเป็นแค่โครงร่างหินปูนรองรับเนื้อเยื่อใสทรงกระบอกหลากสีสัน ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบาง มันกินโดยใช้หนวดจับแพลงก์ตอนเข้าปาก และมีอีกหนึ่งตัวช่วยคือ สาหร่ายเซลล์เดียวขนาดเล็ก “ซูแซนเทลลี” (Zooxanthellae) มันอาศัยในเนื้อเยื่อปะการัง ใช้ของเสียจากปะการังในการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารและเพิ่มจำนวนเซลล์ ปะการังก็ได้รับสารอาหารไปด้วย พวกมันพึ่งพากันและกัน แต่พออุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมถ่านหินในออสเตรเลียสูงขึ้นทำให้น้ำทะเลเป็นกรด เจ้าสาหร่ายเลยย้ายไปหาที่อยู่ใหม่เพื่อให้มีชีวิตรอด คราวนี้ปะการังก็เสียแหล่งอาหารหลัก ประกอบกับความตึงเครียดจากภัยคุกคามของอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น ปะการังจึงกลายเป็นโครงสร้างหินปูนสีขาวที่เราเรียกว่า “ฟอกขาว” ถ้าอยู่ในภาวะแบบนี้สัก 2-3 เดือน แล้วน้ำกลับสู่อุณหภูมิปกติ เหล่าปะการังก็จะมีชีวิตรอด หากนานกว่านี้มันจะอ่อนแอและตาย
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวถูกพบครั้งแรกในมหาสมุทรแปซิฟิกปี 2527 ก่อนจะลุกลามในมหาสมุทรทั่วโลก จนถึงตอนนี้วิกฤตโลกร้อนทำลายสัตว์น้ำใต้ทะเลและบริเวณชายฝั่งโซน Great Barrier Reef กว่า 1,500 ไมล์ มหาสมุทรนี่เองที่ดูดซับความร้อนกว่า 93% ของก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ในปี 2019 ที่ผ่านมาเป็นปีที่น้ำในมหาสมุทรร้อนที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ และเราเชื่อว่ามันคงไม่หยุดอยู่เท่านี้
ที่มาและรูปภาพ
https://edition.cnn.com/2020/04/07/australia/great-barrier-reef-bleaching-2020-intl-hnk/index.html
https://www.britannica.com/place/Great-Barrier-Reef
https://www.nytimes.com/2020/04/06/world/australia/great-barrier-reefs-bleaching-dying.html
https://ngthai.com/science/26012/coral-bleaching
2.น้ำแข็งอาร์กติกละลาย “วอลรัส” ตายหมู่
สะเทือนใจจนนึกว่าเป็นแค่ภาพยนตร์...แต่มันคือเรื่องจริง!
ภาพวอลรัสนับร้อยตกจากผาสูงชัน ร่างกระแทกหินจนเสียชีวิตในสารคดี Our Planet ของ Netflix เป็นภาพที่หลายคนตกใจ ไม่เข้าใจ หดหู่ใจ และสงสัยว่ามันเกิดจากอะไร
ถ้าเราบอกว่าภาพที่เห็นเกิดจากปรากฏการณ์โลกร้อน คุณจะเชื่อไหม
วอลรัสเป็นสัตว์อ้วนกลม น้ำหนักตัวมหาศาล มีเขี้ยวยาวทั้งในเพศผู้และเพศเมีย อายุไขเฉลี่ย 40 ปี พวกมันเป็นสัตว์สังคมสุดโต่งอยู่รวมกันเป็นฝูงนับพันๆ ตัว เขี้ยวของมันใช้เจาะแผ่นน้ำแข็งขึ้นมาหายใจ จากใต้น้ำ ใช้ลากน้ำหนักตัวมหึมาไปตามธารน้ำแข็ง ความสามารถพิเศษของมันคือการปรับอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในร่างกาย นับเป็นสัตว์แกร่งที่เอาตัวรอดสบายในสภาพภูมิอากาศสุดโหดในขั้วโลก
โดยปกติวอลรัสมักนอนแผ่หลาอยู่บนก้อนน้ำแข็งที่ลอยกลางมหาสมุทร นั่นเพราะเวลาหาอาหาร วอลรัสจะดิ่งลงไปหาหอยกินก้นมหาสมุทร เหนื่อยปุ๊บก็ขึ้นไปนอนพักผ่อนบนก้อนน้ำแข็ง แล้วลงไปหาอาหารต่อ มันจะขึ้นบกเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น พออุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งก้อนเล็กๆ ละลายหมด หลังจากหาอาหารเสร็จเหล่าวอลรัสพเนจรจำต้องว่ายน้ำไกลเป็นไมล์เพื่อหาที่พักผ่อน โชคร้ายในสารคดีนี้พวกมันว่ายไปเจอหาดที่ติดกับหน้าผาหิน วอลรัสนับพันแออัดยัดเยียดกันที่ชายหาด บางตัวที่อยากหลีกหนีความวุ่นวายและเลี่ยงการต่อสู้กับตัวอื่นก็เริ่มปีนป่ายผาหินสูงชันขึ้นเรื่อยๆ โปรดิวเซอร์ถ่ายทำสารคดีเล่าว่ามันขึ้นไปสูงกว่า 80 เมตร แต่ละตัวดูโซซัดโซเซ โดยไม่รู้เลยว่าหายนะกำลังจะมาถึง เมื่อถึงเวลาลงสู่ทะเล วอลรัสหลายตัวก้าวพลาดกลิ้งหล่นลงมา ด้วยน้ำหนักตัวมหาศาล ร่างของมันทิ้งดิ่งลงกระแทกโขดหินด้านล่าง บ้างตาย บ้างเจ็บหนักขยับตัวไม่ได้จนตายในที่สุด ผู้ถ่ายทำหวังว่าการฉายภาพสารคดีเหตุการณ์ตายหมู่ของวอลรัสกว่า 200-300 ชีวิต จะกลายเป็นแรงกระตุ้นผู้คนให้สร้างความเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยให้กับโลกใบนี้ และผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา การใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการสร้างปัญหาให้กับอีกหลากหลายชีวิตบนโลกใบนี้ให้น้อยที่สุด
ที่มาและรูปภาพ
https://www.theatlantic.com/science/archive/2019/04/why-are-walruses-walking-off-cliffs/586510
https://people.com/pets/netflix-our-planet-walrus-death-scene-explained
https://www.nationalgeographic.com/animals/mammals/w/walrus
http://trenderfly.com
https://says.com/my/news/photos-melting-ice-forces-35-000-pacific-walruses-to-haul-out-onshore-in-alaska
https://guim.co.uk
3. New Normal : No Choice, No Future
“ผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศ” อนาคตใหม่ประชากรโลก
“ผู้สร้างมลพิษน้อยที่สุดกลับกลายเป็นผู้แบกภาระหายนะของโลกไว้มากที่สุด” นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าปี 2050 ประชากร 1,000 ล้านคนจะกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มากกว่าการลี้ภัยทางสงครามด้วยซ้ำ และที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศเหล่านี้กลับไม่ได้รับการคุ้มครองและสิทธิใดๆ เหมือนกับผู้ลี้ภัยทางสงคราม
เมื่อธรรมชาติแปรปรวน ผู้มีกำลังทรัพย์สามารถซื้ออุปกรณ์ป้องกันรักษาตัว หาทางหลีกเลี่ยงปัญหาได้ ในขณะที่ประเทศยากจนไม่มีทรัพยากรมากพอจะฟื้นฟูตัวเอง กลับต้องยากจนลงเรื่อยๆ เมื่อไร้อนาคต ไร้ทางออก การอพยพย้ายถิ่นไปตายเอาดาบหน้าจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของพวกเขา เช่นในประเทศคิริบาส (Kiribati) เกาะที่อยู่ระหว่างนิวซีแลนด์และฮาวาย กำลังเผชิญปัญหาจากระดับน้ำที่สูงขึ้นทุกปี จนประธานาธิบดีแนะนำให้ผู้คนอพยพ คิริบาสมีเนื้อที่ 811 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะแบนราบทอดยาว ทะเลสาบอยู่ใจกลาง มีชุมชนที่ใช้ชีวิตพึ่งพาธรรมชาติ ทำการเกษตรและประมง เรียกได้ว่าเป็นเกาะสวรรค์ในฝันของหลายคน แต่ประชากรกว่า 15,000 คนบนเกาะกำลังจะกลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะอุณหภูมิโลกสูงขึ้นส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ในหนึ่งวันน้ำขึ้นน้ำลงในระดับที่แตกต่างจนชาวบ้านต้องแบกของหนีน้ำทุกวัน และหากเกิดคลื่นยักษ์ มันจะโถมและม้วนตลบโครมไปอีกฟากฝั่งเกาะได้ เพราะเกาะมีลักษณะแบนราบ
เมื่อบ้านไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป รัฐบาลคิริบาสได้จ้างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นออกแบบประเทศลอยน้ำที่ปลอดภัยขึ้นมา แต่หากจะทำฝันเป็นจริงต้องใช้เงินทุนกว่า 15 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า GDP คิริบาสรวมกัน 3,000 เท่า (คิริบาสคือกลุ่มในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก) ความฝันเป็นอันต้องพับเก็บ เมื่อไร้อนาคต หลายครอบครัวตัดสินใจย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ในขณะที่อีกหลายคนยืนยันจะใช้ชีวิตในบ้านเกิดต่อไป แม้จะต้องเผชิญภัยพิบัติที่อาจถึงแก่ชีวิตก็ตาม
ที่มาและรูปภาพ
https://www.cbsnews.com/news/climate-change-refugees-united-nations-rules
https://helprefugees.org/news/7-ways-climate-change-affects-refugees
https://mgronline.com/science/detail/9590000050731
https://www.flickr.com/photos/dfataustralianaid/10695297335
4.ถึงกาลอวสาน “ต้นไม้พันปี” ถูกคุกคามทั่วโลก
เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่การตายก่อนเวลาอันควรอาจไม่ใช่เรื่องปกติ เมื่อนักพฤกษศาสตร์พบว่าต้นไม้ที่เคยมีอายุเฉลี่ยนับพันปีกำลังทยอยตายทั่วโลก เช่นต้น Giant Sequoia ในแคลิฟอร์เนียที่เคยมีอายุเฉลี่ยกว่า 3,000 ปี กลับถูกตัวด้วงรุกรานอย่างหนัก มองเผินๆ ก็คิดว่าเป็นวงจรธรรมชาติ แต่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ามันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทั่วโลก ต้น Giant Sequoia มีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นเท่ากับความยาวของรถ 2 คัน กิ่งก้านของมันที่ยาว 300 ฟุต พุ่งสูงเหมือนจะทะลุก้อนเมฆ ปกติแล้ว Giant Sequoia มีภูมิคุ้มกันพิเศษต่อการรุกรานของแมลง ทำให้มันผ่านร้อนผ่านหนาวและมีอายุเฉลี่ยสูงมาก แต่ล่าสุดเมื่อนักพฤกษศาสตร์ปีนขึ้นไปสำรวจกลับพบตัวด้วงเจาะเปลือกไม้จำนวนมากอยู่ตามกิ่งก้าน พวกเขาสันนิษฐานว่าความแห้งแล้งที่ยาวนาน ไฟป่าที่หนักหนาสาหัส และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงนั้นทำให้ไม้ใหญ่อ่อนแอจนถูกแมลงโจมตี สำหรับต้นไม้ชนิดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จากภาพถ่ายดาวเทียมในปี ค.ศ. 1900-2015 พบว่าต้นไม่ใหญ่ในป่าเก่าแก่หายไปกว่า 1 ใน 3 ส่วน อัตราการตายของต้นไม้ไซส์ยักษ์สูงขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอุณหภูมิโลกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นมีส่วนให้อัตราการตายของต้นไม้สูงขึ้น หลายคนคิดว่าเมื่อก๊าซคาร์บอนฯ เพิ่มสูงขึ้นน่าจะทำให้ต้นไม้ใหญ่เจริญเติบโตได้ดี แต่กลับตรงกันข้าม ในขณะที่โลกร้อนขึ้น บรรยากาศจะดูดซับความชื้นจากพืชและสัตว์ ต้นไม้ตอบสนองด้วยการปลิดใบและปิดรูขุมขนเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของตัวเองแบบอัตโนมัติ ทำให้พืชดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ น้อยลง และเมื่อตายลง มันจะหยุดดูดซับก๊าซพิษทันที หนำซ้ำยังปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่เก็บกักไว้อย่างยาวนานกลับสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย! นักวิทยาศาสตร์มองว่าต่อจากนี้ต้นไม้ใหญ่ในป่าทั่วโลกจะมีอัตราการตายสูงขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของป่าน้อยลง ที่สำคัญคือต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นมีศักยภาพการดูดซับก๊าซพิษ และเป็นแหล่งพึ่งพิงของสัตว์ในระบบนิเวศจำนวนมาก ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นภัยคุกคามทั้งพืชและสัตว์ทุกสายพันธุ์ ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์
ที่มาและรูปภาพ
https://www.nationalgeographic.com/science/2020/05/grand-old-trees-are-dying-leaving-forests-younger-shorter
https://www.theguardian.com/environment/2020/jan/18/beetles-and-fire-kill-dozens-of-california-indestructible-giant-sequoia-trees-aoe
5.Dead Zone ลุ่มน้ำมรณะ
ฟังดูแล้วอาจนึกว่าชื่อหนัง แต่สถานที่นี้มีอยู่จริง! Dead Zone หรือเขตลุ่มน้ำมรณะ ปรากฏขึ้นจริงบนโลกใบนี้แถมมีอยู่หลายจุดอีกต่างหาก Dead Zone คือบริเวณลุ่มน้ำที่สิ่งมีชีวิตไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ลองจินตนาการถึงกุ้งหอยปูปลา สัตว์ และพืชใต้น้ำที่ขาดก๊าซออกซิเจนไม่สามารถหายใจได้จนล้มตาย นั่นแหละคือพลังในการทำลายล้างของมัน เขตมรณะถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ 50 ปีก่อนบริเวณในแถบตะวันตกของอเมริกา และเริ่มลุกลามในหลายแห่งทั่วโลก
สาเหตุการเกิด Dead Zone หลักๆ มีอยู่ 3 อย่างคือ หนึ่ง การขาดออกซิเจนโดยธรรมชาติเนื่องจากกระแสน้ำวน สอง ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น และที่ร้ายแรงสุดคือปัญหาขยะและสารไนโตรเจนจากปุ๋ยเคมี พื้นที่ที่คาดว่าเกิด Dead Zone ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งคือ บริเวณอ่าวเม็กซิโก ตั้งแต่ปากแม่น้ำมิสซิสซิปปีเชื่อมต่อชายฝั่งลุยเซียนาไปจนถึงเท็กซัส ที่อ่าวเม็กซิโกปัญหาหลักๆ เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีจากเกษตรเชิงเดี่ยว การปลูกข้าวโพดจำนวนมหาศาล เพื่อนำไปทำเชื้อเพลิงหรือแก๊ซโซฮอล์ที่เราคุ้นเคย เมื่อฝนตกน้ำได้ชะล้างสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้สาหร่ายบริเวณนั้นเติบโตและแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว เมื่อสาหร่ายจมน้ำสลายตัวก็ทำให้ก๊าซออกซิเจนลดลง แน่นอนว่าสัตว์ที่เร็วหน่อยก็อพยพหนีเอาชีวิตรอด แต่ปะการัง ฟองน้ำ ปู หอย ปลา และอีกสารพัดชนิดกลับต้องสังเวยชีวิตในลุ่มน้ำนี้
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหน้าร้อนนี้ Dead Zone ในอ่าวเม็กซิโกจะกินพื้นที่ 6,700 ตารางไมล์ ถึงจะน้อยกว่าปี 2560 (9,776 ตารางไมล์) แต่ 5 ปีหลังนี้ เขต Dead Zone ขยายต่อเนื่องและไม่มีทีท่าจะลดลง ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ทำลายแค่สัตว์หรือพืชใต้น้ำ แต่ยังทำลายระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น กระทบทั้งชาวประมงและผู้คนริมทะเลที่อาศัยการจับสัตว์น้ำดำรงชีวิต แม้ว่ารัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นได้ตั้งเป้าหมายกระชับพื้นที่ Dead Zone ให้ลดลงเหลือ 1,900 ตารางไมล์ ภายในระยะเวลา 5 ปี แต่ภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความต้องการใช้พลังงานของมนุษย์กลับยิ่งทำให้การจัดการปัญหานี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย
ที่มาและรูปภาพ
https://www.nytimes.com/2020/06/03/climate/gulf-of-mexico-dead-zone.html
https://www.npr.org/sections/thesalt/2017/08/03/541222717/the-gulf-of-mexicos-dead-zone-is-the-biggest-ever-seen
https://www.thedailyworld.com/nation-world/pollution-flushed-from-midwest-creates-giant-dead-zone-in-gulf-of-mexico
https://watchers.news/2020/06/04/noaa-forecasts-larger-than-average-dead-zone-for-gulf-of-mexico