แน่นอนว่า COVID-19 เป็นปรากฏการณ์สั่นสะเทือนระดับโลกที่ไม่เคยพบเห็น พรากชีวิตมนุษย์ไปนับแสน เศรษฐกิจย่อยยับ
แต่ไม่ว่าอย่างไร เพื่อเผชิญหน้าและดำรงอยู่ มนุษย์ต้องไม่ยอมแพ้ และนี่ก็คือที่มาของเรื่องสร้างสรรค์ท่ามกลางการทำลายในช่วง COVID-19
ออกซิเจนจากสวรรค์ใจกลางกรุงคาบูล
เมื่อ 7 ปีที่แล้ว Najibullah Seddiqi จำต้องปิดโรงงานออกซิเจนในกรุงคาบูลลงด้วยเหตุผลด้านข้อจำกัดของกระแสไฟฟ้าและปัญหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น แต่เมื่อไวรัสโคโรนาระบาดเข้ามาในประเทศอัฟกานิสถาน โรงงานดังกล่าวจึงฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้งเพื่อเติมออกซิเจนในถังขนาดเล็กจำนวน 200-300 ถังต่อวันสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ฟรี
ส่วนโรงพยาบาลและผู้ค้าปลีก คิดราคา 300 อัฟกานี หรือประมาณ 3.80 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับออกซิเจนถังใหญ่ ซึ่งถูกกว่าเรตทั่วไปมาก เนื่องจากราคาถังบรรจุออกซิเจนพุ่งสูงขึ้นถึง 10 เท่า แตะที่ 20,000 อัฟกานี หรือประมาณ 250 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาในการเติมออกซิเจนต่อกระป๋องอยู่ที่ 2,000 อัฟกานี หรือประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 5 เท่าของราคาเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาด
กรุงคาบูลมีโรงงานผลิตออกซิเจนทั้งหมด 6 แห่ง แต่โรงงานของ Seddiqi เป็นเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการเติมออกซิเจนแก่ประชาชนฟรี
"เป้าหมายเดียวของผมคือการช่วยชีวิตคนให้ได้มากที่สุด" Seddiqi กล่าว
ที่มา : https://www.voanews.com/covid-19-pandemic/long-shut-factory-helps-covid-struck-afghans-breathe-free
เปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์เป็นห้องไอซียู
เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ Carlo Ratti สถาปนิกชาวอิตาเลียนซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริการู้ทันทีว่าประเทศต่างๆ จะต้องขยายขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยหนักอย่างเร่งด่วน เขาจึงรวบรวมทีมงานเพื่อออกแบบ Cura หรือห้องผู้ป่วยหนักในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตขึ้น
CURA หลังแรกอวดโฉมอยู่ที่โรงพยาบาลชั่วคราวในเมืองตูริน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2020 ประกอบด้วยเครื่องสร้างแรงดันลบภายในอาคารซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อทางอากาศ ที่เจ๋งไปกว่านั้น ตู้คอนเทนเนอร์นี้ยังเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ ของโรงพยาบาลด้วยโครงสร้างพองลมซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องเก็บของและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สามารถขยายขนาดเพื่อรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 40 เตียง ที่สำคัญคือประกอบเพื่อใช้งานได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และยังเคลื่อนย้ายง่าย สามารถตั้งไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลภาคสนามได้อีกด้วย
CURA พัฒนาขึ้นโดยไม่แสวงหาผลกำไร เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถนำแม่แบบไปประยุกต์ใช้ได้ และทีมงานยินดีรับข้อเสนอแนะและการปรับปรุงการออกแบบที่เว็บไซต์ www.CURApods.org
ที่มา : https://carloratti.com/project/cura
ชาวประมงผนึกกำลังแบรนด์ไทยผลิตอาวุธต้านไวรัส
ใครจะเชื่อว่าอวนสำหรับจับปลาของชาวประมงได้กลายร่างเป็นเฟซชิลด์และขวดบรรจุแอลกอฮอล์เพื่อเป็นสินค้าส่งออกในช่วงระบาดของ COVID-19
ด้วยจำนวนเรือประมงขนาดเล็กกว่า 50,000 ลำ และเรือพาณิชย์กว่า 10,000 ลำ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในแหล่งอุตสาหกรรมการประมงที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงพ่วงตำแหน่งผู้ก่อมลพิษจากพลาสติกทางทะเลอันดับต้นๆ ด้วย
สัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์หลายร้อยตัวถูกซัดขึ้นบนชายฝั่งไทยทุกปี ประมาณ 74% ของเต่าทะเลและ 89% ของพะยูนที่เกยตื้นบนชายหาดระหว่างปี 2558-2560 ได้รับบาดเจ็บจากอวนที่ถูกทิ้งไว้ในมหาสมุทร ฟังดูช่างน่าเศร้า แต่เมื่อไม่นานมานี้ โครงการของมูลนิธิเพื่อความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (EJF) ได้เชิญชวนให้ชาวประมงกว่า 100 คนจากหมู่บ้านชายฝั่งทะเล 4 แห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้เข้าร่วมโครงการรับซื้ออวน 10 บาทต่อกิโลกรัมเพื่อส่งต่อให้แบรนด์ Qualy ของไทยนำไปรีไซเคิลเป็นเฟซชิลด์ ขวดบรรจุแอลกอฮอล์ และไม้สำหรับกดลิฟต์ เพื่อส่งขายในยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง โดยในช่วงที่โควิด 19 ระบาดหนัก Qualy รีไซเคิลอวนไปมากถึง 700 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ปากีสถานปลูกต้นไม้ 50 ล้านต้นช่วงปิดเมือง
เชื่อหรือไม่ว่า ในรายงานของ Germanwatch ระบุว่าภายใน 19 ปี (พ.ศ. 2542-2561) ประเทศปากีสถานประสบเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงมากกว่า 150 ครั้ง ตั้งแต่น้ำท่วมไปจนถึงคลื่นความร้อน โดยมีความสูญเสียรวม 3.8 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลยังระบุว่าปากีสถานมีต้นไม้ปกคลุมน้อยกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ภาครัฐบาลจึงพลิกวิกฤตช่วงปิดเมืองเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด 19 ต่ออายุให้กับผืนดินและแรงงานในประเทศไปพร้อมๆ กัน ด้วยการปลูกต้นไม้ในโครงการ 5 ปี 1 หมื่นล้านต้น ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี Imran Khan ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2561 โดยมีเป้าหมายรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น
โดยปกติแล้วฤดูกาลเพาะปลูกในปากีสถานมักจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม แต่รัฐบาลขยายโครงการนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนเพื่อให้ประชาชนมีงานทำนานขึ้น ซึ่งสามารถสร้างงานได้มากกว่า 63,600 ตำแหน่ง คนงานจะได้ค่าจ้างวันละ 500-800 รูปี (ประมาณ 3-5 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยคนงานทุกคนจะต้องสวมหน้ากากและรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างกัน 2 เมตร ประมาณการว่าช่วงปิดเมือง ปากีสถานมีต้นไม้เพิ่มขึ้นถึง 50 ล้านต้นเลยทีเดียว
ไอเดียนี้ไม่เลว ประเทศไทยทำบ้างก็น่าจะดี
ตอบทุกคำถามคาใจกับสำนักงานกฎหมายสุดเก๋า
Pullman & Comley สำนักงานกฎหมายแห่งรัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอายุ 101 ปี และมีทนายความกว่า 90 คนให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปผ่านเว็บไซต์อย่างจริงจังวันละไม่ต่ำกว่า 10 โพสต์ เพื่อสร้างประโยชน์ในช่วงที่กิจการไม่สามารถดำเนินงานช่วงไวรัสระบาดได้
คำถามจะมาจากบรรดาบริษัทเอกชน หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ไปจนถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เช่น นโยบายการทำงานจากที่บ้านและการลาป่วย นายจ้างจะสนับสนุนผู้ปกครองของเด็กที่โรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กถูกปิดได้อย่างไรบ้าง การปิดโรงเรียนมีผลต่อภาระหน้าที่ของเขตการศึกษาที่เกี่ยวกับนักเรียนซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกายอย่างไร
นอกจากนี้ ทางเว็บไซต์ดังกล่าวยังแนะนำหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจไว้ให้ได้อ่านศึกษาหาความรู้ด้วย เช่น สิ่งที่เจ้าของบ้านเช่าและผู้เช่าเชิงพาณิชย์ควรรู้ในสถานการณ์โรคระบาด สนุกกับจานร่อนกลางสนามหญ้า เข้ายิมเล่นกีฬา ไปทัศนศึกษาที่สวนสัตว์ กิจกรรมลักษณะไหนทำได้/ทำไม่ได้ ภายใต้กรอบกระทรวงการศึกษาและพัฒนาการเด็กแห่งรัฐคอนเนตทิคัต เป็นต้น
ที่มา : https://www.pullcom.com/newsroom-publications-FOCUS-Responding-to-COVID-19
หนุ่มน้อยนักประดิษฐ์แจ้งเกิดท่ามกลางวิกฤตในเอธิโอเปีย
การโจมตีของไวรัส COVID-19 ทำให้ชื่อของ Ezedine Kamil วัย 18 ปีจาก Welkite เมืองชนบทซึ่งห่างจากเมืองหลวงของเอธิโอเปียถึง 160 กิโลเมตร กลายเป็นคนดังอย่างรวดเร็วจากการออกแบบเครื่องจ่ายสบู่ไฟฟ้าแบบไม่สัมผัสที่มีเซ็นเซอร์ในตัว จุดเด่นของเครื่องนี้คือสามารถใช้งานได้โดยใช้แป้นเหยียบในช่วงที่ไฟฟ้าดับอันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในประเทศนี้
สิ่งประดิษฐ์ของเขาได้รับการยอมรับจากชุมชนในท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยใน Welkite ได้ผลิตเครื่องจ่ายสบู่ไฟฟ้าดังกล่าวถึง 50 ตู้ และแจกจ่ายให้กับธนาคารและโรงพยาบาลทั่วเมือง นอกจากนี้เขายังสร้างเครื่องช่วยหายใจ โดยค้นหาคู่มือทางออนไลน์จนได้ออกมาเป็นกระเป๋าพลาสติกที่เรียกว่า Ambu ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจแบบกลไกและมีหน้าจอที่ทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือ หลังจากทดสอบเครื่องต้นแบบสำเร็จ เขาก็เริ่มผลิตและส่งมอบ Ambu ให้กับชุมชนในพื้นที่
ปัจจุบัน Ezedine เป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์กว่า 30 ชิ้น เกือบครึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรโดยองค์กร SaveIdeas แล้ว เป้าหมายของเขาคือการเปลี่ยนความหลงใหลในนวัตกรรมเป็นเส้นทางอาชีพและสร้างงานให้ชาวเอธิโอเปียสามารถยืนหยัดได้ด้วยความสามารถของตนเอง
แหม...ปรบมือดังๆ ให้หนุ่มน้อยคนนี้เลย
ที่มา : https://www.dw.com/en/young-inventor-helps-ethiopias-covid-19-crisis/a-53334966