เป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อศิลปินกลุ่มหนึ่งริเริ่มความคิดร่วมกันว่าพวกเขาจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่เพื่อแสดงผลงานออกแบบภายในชุมชนแออัดในย่านธาราวี (Dharavi) ประเทศอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่บนหนองน้ำเก่าใจกลางเมืองมุมไบ ที่อาจกล่าวได้ว่าย่านธาราวีแห่งนี้ถือเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างปลูกสร้างบ้านเรือนอย่างไม่มีพิธีรีตอง ทำให้ย่านนี้กลายเป็นสถานที่แห่งความคิดสร้างสรรค์อันกว้างใหญ่
ล่าสุดกลุ่มศิลปินอย่างฮอร์เฮอ มาเนส รูบิโอ(Jorge Mañes Rubio) มาทิอาส เอชาโนฟ (Matias Echanove) อะแมนดา พินาทีห์ (Amanda Pinatih) และราหุล ศรีวาสทวา (Rahul Srivastava) ก็ได้ตัดสินใจก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อแสดงความสามารถพิเศษด้านการออกแบบของผู้คนในท้องถิ่นขึ้นสำเร็จจนได้ และตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ว่า“พิพิธภัณฑ์ออกแบบธาราวี” (Design Museum Dharavi) ความพิเศษอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กนี้จะถูกพ่วงเข้ากับรถยนต์หรือจักรยาน และลากไปมารอบ ๆ กับพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแสดงผลงานจากหลายพื้นที่ที่ล้วนถูกออกแบบมาให้แสดงพรสวรรค์ของผู้คนที่เรียกสลัมธาราวีว่า “บ้าน” และวิธีที่พวกเขาเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของพวกเราเกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้านเรือนแบบง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตอง ห่างไกลจากคำว่า ยุ่งยาก ตามที่เหล่าศิลปินได้อธิบายไว้ว่าเป็น “ความสามารถในการพลิกโฉมตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขาเป็นเรื่องพิเศษ เกิดความชำนาญเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่พวกเราเรียกว่า ‘การสร้างชุมชนเพื่อตอบสนองผู้อยู่อาศัย (user-generated neighborhoods)’”
ในการทำงานโครงการนี้ เริ่มต้นด้วยคำจำกัดความ ซึ่งการให้คำจำกัดความย่านธาราวีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสถานที่แห่งนี้ถูกตราว่าเป็นชุมชนแออัด (ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตามพาดหัวข่าวในสื่อใหญ่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา) ทว่าอาจยังคงไม่สายเกินไปนักถ้านักวิจัย สื่อ และสาธารณชนบางส่วนเริ่มตั้งคำถามว่าเมืองธาราวีสมควรจะถูกเรียกว่า ชุมชนแออัดจริง ๆ หรือไม่ ด้วยเพราะเมืองนี้ถูกแต่งแต้มไปด้วยองค์ประกอบหลากหลาย ที่ได้แก่ หมู่บ้าน อาคารที่พักอาศัยซึ่งสร้างโดยเทศบาล บ้านเดี่ยวสูงหลายชั้นของพ่อค้าผู้ร่ำรวย แคมป์พักรายทาง ตลอดจนโครงสร้างการต่อขยายที่ต่อเติมขึ้นมาเอง จนพูดได้ว่านับเป็นความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบของบรรดาผู้ค้าและผู้ผลิต ซึ่งแตกต่างจากภาพซ้ำซากจำเจของวิถีชีวิตในย่านเสื่อมโทรมอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ผู้คนในย่านธาราวียังเป็นกลุ่มคนที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่เก่าก่อนย่านอื่น ๆ ในเมืองมุมไบ ซึ่งพวกเขาพยายามจะยกระดับความเป็นอยู่ให้พ้นจากความยากจนแม้จะขาดโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะก็ตาม ก่อนจะแสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้พวกเขาหลายคนได้ก้าวขึ้นเป็นชนชั้นกลางและก้าวไปไกลกว่านั้น
บนถนนมหาตมะ คานธี เราจะเห็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์อันคึกคักซึ่งประกอบไปด้วยร้านค้าที่ขยายหน้าร้านลงบนถนน ผู้คนที่กำลังซื้อขายพูดคุย โรงเก็บเครื่องมือยาวตลอดท้องถนนซึ่งมีสินค้าทุกชนิดที่ได้ประกอบและผลิตขึ้น ร้านค้าปลีกและส่ง ร้านซ่อม ร้านอาหารและร้านน้ำชา ร้านขายเนื้อและตลาดปลา วัด โบสถ์และมัสยิด โรงยิมอันแออัดและห้องโถงอเนกประสงค์ที่ให้บริการตั้งแต่ตัดผมไปจนถึงทำนายดวงชะตา และอื่น ๆ อีกมาก และถึงแม้ว่าพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่จะยังคงอยู่ในช่วงดำเนินการสร้าง แต่ทีมงานได้วางแผนว่าพวกเขาตั้งใจจะเปิดให้สาธารณชนเข้าร่วมชมได้เป็นบางครั้งในระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : trendhunter.com และ Designmuseumdharavi.org/