In Focus
In Content
ร่างมนุษย์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาทางมานุษยวิทยาและโบราณคดี รวมถึงการวิจัยและ
การศึกษาทางแพทยศาสตร์ พิพิธภัณฑ์คณะแพทยศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 19 อาศัยร่างมนุษย์ใน
การศึกษาทางพยาธิวิทยาเพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายหรือร่องรอยโรค
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา โบราณคดี ธรรมชาติวิทยา สะสมหัวกะโหลกและกระดูก เพื่อสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อชาติ (racial science) นักวิชาการต่างหมกหมุ่นในการสร้างคำอธิบายความแตกต่าง และจัดลำดับวิวัฒนาการวัฒนธรรมกับเชื้อชาติ ร่างกายมนุษย์กลายเป็นหลักฐานยืนยันสมมติฐานดังกล่าวด้วยลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน
เมื่อย่างเข้าสู่กลางศตวรรษที่ 20 แนวคิดในการอธิบายมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกลับถูกท้าทาย คนพื้นถิ่นเริ่มต่อต้านการจัดแสดงร่างบรรพชน และนักเคลื่อนไหวที่เป็นชนพื้นถิ่นเรียกร้องความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น
ก่อนสหัสวรรษใหม่ ร่างมนุษย์ในคลังพิพิธภัณฑ์กลายเป็นประเด็นอ่อนไหว พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย จัดทำระเบียบในการปฏิบัติต่อร่างมนุษย์ ทางการในอีกหลายประเทศตรากฎหมายในการปฏิบัติต่อร่างมนุษย์ และแนวทางการส่งคืนร่างบรรพชนสู่บ้านเกิดอย่างเป็นระบบ
ตั้งแต่ ค.ศ. 1996 รัฐบาลของสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียต่างให้คำมั่นในการคืนร่างชนพื้นถิ่นสู่บ้านเกิด
ในอเมริกาเหนือ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตรากฎหมายที่เรียกว่า Native American Graves Protection and Repatriation Act (NAGPRA) หรือ กฎหมายในการคุ้มครองสุสานและการคืนมรดกวัฒนธรรมชนพื้นถิ่นอเมริกัน ค.ศ. 1990 โดยรัฐสภากล่าวอย่างชัดเจนถึงร่างเหล่าบรรพชนว่า “ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและเสมอภาค”
อย่างไรก็ดี หากพิพิธภัณฑ์คงเก็บรักษาและจัดแสดงร่างมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา พิพิธภัณฑ์ควรจัดแสดงให้เหมาะสมอย่างไร ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการจัดแสดงร่างมนุษย์ใน 3 กรณีที่น่าสนใจ เพื่อเป็นข้อคิดให้พิพิธภัณฑ์พิจารณาในการนำเสนอร่างมนุษย์ในนิทรรศการ
การเล่าเรื่องพัฒนาการ “คนลอนดอน”
เดือนตุลาคม ค.ศ. 1998 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 พิพิธภัณฑ์ลอนดอนในอังกฤษจัดนิทรรศการ “London Bodies: The Changing Shape of Londoners from Prehistoric Times to the Present Day” (ร่างลอนดอน: รูปและร่างที่ปรับเปลี่ยนจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์สู่ปัจจุบัน)
นิทรรศการดังกล่าวฉายภาพความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชาวลอนดอน เนื้อหาในนิทรรศการพัฒนาจากงานวิจัยโครงกระดูกที่พิพิธภัณฑ์เก็บรักษากว่า 6,000 ร่าง ในกระบวนการทำงาน พิพิธภัณฑ์อาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา ทั้งนักกายวิภาคศาสตร์ ภัณฑารักษ์ นักออกแบบ นักสื่อสารประชาสัมพันธ์ และนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ร่วมตัดสินใจในการกำหนดแนวทางและการออกแบบนิทรรศการ เรียกได้ว่าดุลยภาพในการจัดแสดงร่างมนุษย์ระหว่างศักดิ์ศรีความเป็นคนกับการเรียนรู้สาธารณะ
นิทรรศการ “London Bodies: The Changing Shape of Londoners from Prehistoric Times to the Present Day” (ร่างลอนดอน: รูปและร่างที่ปรับเปลี่ยนจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์สู่ปัจจุบัน) จัดแสดงระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 1998 กับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 ณ พิพิธภัณฑ์ลอนดอน สหราชอาณาจักร
(ที่มา: https://www.dandad.org/awards/professional/1999/environmental-design/10122/london-bodies-exhibition/)
พิพิธภัณฑ์ลอนดอนแจ้งเตือนผู้ชมก่อนเข้าชมนิทรรศการ และไม่อนุญาตให้เด็กหรือนักเรียนเข้าชมโดยไม่มีผู้ปกครองหรือผู้ดูแล สาธารณชนต่างให้ความสนใจนิทรรศการเป็นจำนวนมาก แต่ก็เกิดข้อถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง นักโบราณคดีที่มีประสบการณ์ทำงานในอเมริกาเหนือหรือออสเตรเลีย กล่าวถึงมุมมองของชนพื้นถิ่นในการจัดแสดงร่างมนุษย์ในสถานที่สาธารณะ การกระทำนั้นเป็นการล่วงเกินผู้ตาย อย่างไรก็ดีนักวิชาการอีกส่วนหนึ่งระบุว่า เราไม่ควรนำวิถีปฏิบัติของสังคมแห่งหนึ่ง เป็นมาตรวัดความเหมาะสมในอีกสังคมหนึ่ง
โลกของร่างกายในนิทรรศการ Body Worlds
นิทรรศการในนาม “Body Worlds” (โลกของร่างกาย) จัดแสดงในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน นิทรรศการเกิดขึ้นจากความตั้งใจของ ดร.กุนเธอร์ วอน ฮาเกนส์
(Dr. Gunther von Hagens) นักกายวิภาคศาสตร์ และ ดร.แอเจลินา เวลลีย์ (Dr. Angelina Whalley)
ภัณฑารักษ์ ที่ต้องการ “ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานภายในร่างกาย และบอกเล่าถึงไลฟ์สไตล์ที่ส่งผลดีและผลเสียต่อสุขภาพ” ดร.วอน ฮาเกนส์ เป็นผู้รังสรรค์ร่างมนุษย์ในอากัปกิริยาต่าง ๆ เขาผ่าตัดร่างมนุษย์ให้เห็นกล้ามเนื้อและโครงสร้างภายในร่างกาย จากนั้น ใช้เทคนิคพลาสติเนชัน (plastination) หรือการกำซาบด้วยสารพลาสติก วิธีการดังกล่าวเป็นการรักษาสภาพของชิ้นเนื้อด้วยพอลิเมอร์ สารนั้นแทรกซึมเข้าไปแทนที่ของเหลวตามธรรมชาติของร่างกาย ทำให้ร่างปราศจากกลิ่นและกลายเป็น “ตัวอย่างแห้ง” พร้อมสำหรับการจัดแสดง
สาธารณชนจำนวนไม่น้อยในสหรัฐฯ เข้าชมนิทรรศการ “โลกของร่างกาย” และตื่นเต้นกับการเรียนรู้ร่างมนุษย์ที่กลายเป็นวัตถุทางวิชาการ (scientized dead) แม้นิทรรศการได้รับความนิยม นักเทววิทยาและนักจริยศาสตร์
บางกลุ่มตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการจัดแสดงร่างมนุษย์ ในนครโตรอนโต แคนาดา นักเทววิทยากล่าวถึง
แนวคิด imago Dei ที่เชื่อว่ามนุษย์นั้นสร้างขึ้นจากภาพของพระผู้เป็นเจ้า ร่างกายมนุษย์จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
แม้เมื่อสิ้นลมหายใจ การจัดแสดงร่างกายที่ไร้วิญญาณเปรียบประหนึ่งการก้าวล่วงความศักดิ์สิทธิ์นั้น
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งคงจัดแสดง “โลกของร่างกาย” โดยจัดทำการประเมินทางจริยธรรมถึง
ความเหมาะสมและจุดประสงค์ที่แท้จริงของการนำเสนอร่างมนุษย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ระบุในช่วงท้ายของเอกสารการประเมินจริยธรรมว่า “จำเป็นอย่างยิ่งที่พิพิธภัณฑ์ต้องมีคณะกรรมการประเมินจริยธรรมในระดับท้องถิ่นเข้าร่วมการตัดสินใจในการจัดแสดง 'โลกของร่างกาย' และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าร่างมนุษย์เหล่านั้นมาจากการบริจาคด้วยความยินยอม การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ขัดต่อหลักปฏิบัติทางวัฒนธรรม จริยธรรม หรือศาสนา”
สถาปัตยกรรมที่สร้างความหมายให้กับร่างผู้วายชนม์
ตัวอย่างสุดท้ายเกี่ยวกับการจัดแสดงร่างมนุษย์ในพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โมเอสการ์ด
(Moesgaard Museum) แห่งมหาวิทยาลัยอาร์ฮุส (Aarhus University) เดนมาร์ก
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถาบันวิชาการทางโบราณคดีและมานุษยวิทยา อาคารพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการสร้างขึ้น
เมื่อ ค.ศ. 2014 การออกแบบสถาปัตยกรรมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมอย่างลงตัว
พื้นที่จัดแสดงภายในประกอบด้วย ชั้นบน ชั้นระดับพื้นดิน และชั้นใต้ดิน
พื้นที่ทั้งสามเชื่อมต่อกันตามขนบความเชื่อของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ชั้นบนเป็นบริเวณที่เรียกว่า “ท้องฟ้า” กล่าวถึงดาราศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตและการเดินทางของผู้คน พวกเขาอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นเครื่องนำทาง ชั้นระดับพื้นดินและชั้นใต้ดินบอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ไล่เรียงจากยุคหิน ยุคทองแดง ยุคเหล็ก และยุคไวกิ้ง
ผังนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์โมเอสการ์ด การออกแบบของสถาปนิกสะท้อนถึงความพยายามในการเล่าเรื่องชีวิตบรรพชนกับธรรมชาติ และร่างมนุษย์ที่ได้รับการจัดแสดงที่ขับเน้นความเป็นมนุษย์ (ที่มา: Tzortzi, Kali. 2018. “Human Remains, Museum Space and the ‘Poetics of Exhibiting.’” University Museums and Collections Journal 10: 27.)
ร่างมนุษย์ปรากฏในส่วนจัดแสดงยุคทองแดงและยุคเหล็ก ในชั้นระดับพื้นดินที่กล่าวถึงยุคทองแดง สถาปนิกออกแบบพื้นที่ในลักษณะวงกลมห้อมล้อมร่างมนุษย์ในโรงไม้ โครงกระดูกทั้งสามสวมเครื่องแต่งกาย (ภาพปก) ห้องจัดแสดงมีเพียงแสงสลัวเพื่อสร้างให้ผู้ชมรู้สึกเสมือนเข้าสู่บริเวณที่ฝังศพผู้ตาย ถัดมาเป็นห้องวีดิทัศน์ที่แสดงใบหน้าจำลองด้วยวิธีซีทีสแกนจากกะโหลกที่ขุดพบ
ส่วนบริเวณชั้นใต้ดินจัดแสดงมนุษย์โกรบัลล์ (Grauballe Man) ในยุคเหล็ก ร่างมนุษย์โกรบัลล์ในตู้กระจกตั้งตระหง่าน ณ ใจกลางห้องจัดแสดง ผู้ชมสามารถนั่งรายล้อมและพินิจร่างมนุษย์ที่อยู่เบื้องหน้า และปราศจากป้ายอธิบายใด ๆ ในห้องถัดไป ภาพยนตร์ถ่ายทอดเรื่องราวการค้นพบ การดูแลรักษา และการนำเสนอในสถานที่สาธารณะ นิทรรศการปิดฉากด้วยการจัดแสดงเครื่องประดับเงินและเครื่องประกอบพิธีในการสักการะเทพเจ้า
การออกแบบห้องจัดแสดงมนุษย์โกรบัลล์ ที่ขับเน้นร่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ และอำนวยพื้นที่โดยรอบให้ผู้ชมพินิจร่างมนุษย์ที่อยู่เบื้องหน้า (ที่มา: https://birkhede.dk/media/1512/moesgaard-museum-grauballemanden.jpg)
พิพิธภัณฑ์โมเอสการ์ดอาศัยการออกแบบสถาปัตยกรรม และการออกแบบประสบการณ์พิพิธภัณฑ์ด้วยแสงและเสียงตามจังหวะของเรื่องราว เพื่อกำกับความหมายให้กับร่างมนุษย์ เช่นนี้ผู้ชมจึงพินิจร่างผู้วายชนม์ในฐานะมนุษย์ผู้เคยมีลมหายใจ ด้วยความเคารพและความเข้าใจในความเป็นไปของมนุษย์ในอดีต
จากทั้งสามตัวอย่าง คงไม่มีสูตรสำเร็จในการดูแลรักษาและการจัดแสดงร่างมนุษย์ในพิพิธภัณฑ์ ควรเป็นเช่นใด หากเป็นคำถามให้คนทำพิพิธภัณฑ์ต่างร่วมอภิปรายและแสวงหาแนวทางการทำงานที่เหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์และสังคมในแต่ละแห่ง
สิ่งสำคัญคือ หลักจริยธรรมในการปฏิบัติต่อร่างมนุษย์ด้วยความเคารพและเสมอภาค ทั้งร่างของบรรพชนคนพื้นถิ่นหรือร่างมนุษย์ที่บริจาคเพื่อวิทยาศาสตร์ ข้อปฏิบัติที่บัญญัติไว้จะเป็นเครื่องยืนยันถึงการทำงานของพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นระบบ และการปฏิบัติต่อร่างผู้ตายด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคน.
California Science Center. 2004. “Summary of Ethical Review: Body Worlds: An Anatomical Exhibition of Real Human Bodies.” California Science Center. https://www.mos.org/sites/dev-elvis.mos.org/files/docs/press-kits/Summary%20of%202004-05%20Ethical%20Review%20%20CA%20SCI%20Center.pdf.
Connor, James Thomas Hamilton. 2007. “Exhibit Essay Review: ‘Faux Reality’ Show? The Body Worlds Phenomenon and Its Reinvention of Anatomical Spectacle.” Bulletin of the History of Medicine 81 (4): 848–62. https://doi.org/10.1353/bhm.2007.0112.
Deathridge, Julia R. 2017. “Should Human Remains Be Displayed in Museums?” Academic Institution. UCL: Researchers in Museum. March 28, 2017. https://blogs.ucl.ac.uk/researchers-in-museums/2017/03/28/should-human-remains-be-displayed-in-museums/.
NPS.gov. 2022. “Native American Graves Protection and Repatriation Act.” National Park Service. May 23, 2022. https://www.nps.gov/subjects/nagpra/index.htm.
Redman, Samuel. 2016. “Reconsidering Body Worlds: Why Do We Still Flock to Exhibits of Dead Human Beings?” Academic rigor, journalistic flair. The Conversation. April 8, 2016. https://theconversation.com/reconsidering-body-worlds-why-do-we-still-flock-to-exhibits-of-dead-human-beings-57024.
Tzortzi, Kali. 2018. “Human Remains, Museum Space and the ‘Poetics of Exhibiting.’” University Museums and Collections Journal 10: 23–34.
UKEssays. 2018. “Human Remains Curatorship: Ethical or Academic?” UKEssays: The Essat Writing Experts. April 30, 2018. https://www.ukessays.com/essays/archaeology/human-remains-curatorship-ethical-or-academic.php?vref=1.
Whalley, Angelina, and Gunther von Hagens. 2023. “Philosophy.” Body Worlds. https://bodyworlds.com/about/philosophy/
ภาพปก ภาพจาก https://www.shutterstock.com/th/image-photo/skeleton-bronze-age-man-burial-mound-257549167