Muse Around The World
“100 ปีตึกเรา” การค้นพบตึกมิวเซียมสยามอีกครั้ง
Muse Around The World
23 มิ.ย. 66 4K
มิวเซียมสยาม

ผู้เขียน : ศราวัณ วินทุพราหมณกุล

In Focus

  • การเฉลิมฉลอง 100 ปี อาคารมิวเซียมสยาม นับเป็นโอกาสอันดีให้คนทำงานตั้งคำถามกับอาคารทรงคุณค่า ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวแต่ยังไม่เคยรู้จักกันอย่างจริงจัง และแสวงหาคำตอบด้วยการค้นคว้าจากเอกสารและภาพถ่าย รวมทั้งบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • การแสวงหาข้อมูลจากบุคคลอาศัยการสอบถามจากผู้รู้และผู้ให้ข้อมูลในแวดวงต่าง ๆ
    จากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม อดีตข้าราชการ และผู้มีประสบการณ์กับสถานที่
    ความรู้และความทรงจำจากบุคคลจึงกลายเป็นข้อมูลอันล้ำค่า และคืนชีวิตอาคารเก่าด้วยเรื่องเล่า
  • บทบันทึกนี้กล่าวถึงการทำงานของ "คนเบื้องหลัง" นิทรรศการและกิจกรรมใน "100 ปีตึกเรา" เนื้อหาฉายให้เห็นการทำงานของคนมิวเซียมที่เดินทางไปและกลับระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และร่วมสร้างอนาคตไปพร้อมกับผู้คนในสังคม

In content

  • “อะไร ทำไม” และการค้นพบตึกมิวเซียมสยามอีกครั้ง
  • ชีวิตในประวัติ จากการค้นหาความเป็นมาของอาคาร 
  • ประวัติในชีวิต ร้อยเรื่องราวจากบุคคล
  • ชีวประวัติของพิพิธภัณฑ์

“100 ปีตึกเรา” เป็นชุดการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม และความงามของตึกแบบฝรั่งรวมถึงชีวิตของตึกตั้งแต่การก่อสร้างด้วยฝีมือการออกแบบของนายช่างอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในสยาม เพื่อใช้เป็นกระทรวงพาณิชย์และปรับปรุงเป็นมิวเซียมสยามในเวลาต่อมา ตลอดระยะเวลา 100 ปีแห่งความทรงจำของผู้คนที่เคยมีชีวิตผูกพันกับตึกหลังนี้ จึงมีเรื่องราวจำนวนมากมายให้มิวเซียมสยามถ่ายทอด ในรูปแบบของนิทรรศการและกิจกรรมเสาร์สนามไชย ในระหว่างเมษายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2565 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของอาคาร

เดิมทีอาคารหลังนี้ไม่ใช่อาคารจัดแสดงนิทรรศการของมิวเซียมสยาม แต่เป็นสำนักงานของกระทรวงพาณิชย์  โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติได้รับมอบตึกพร้อมพื้นที่จากกรมธนารักษ์
เมื่อ พ.ศ. 2548 ในการจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ แห่งที่ 1 สถานที่แห่งนี้ครอบคลุมอาคารพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันหนึ่งหลังและที่ดินเป็นจำนวน 7 ไร่

ภาพที่ 1 ตึกมิวเซียมสยามหรือตึกกระทรวงพาณิชย์เดิม จากตึกสำนักงานสู่ตึกพิพิธภัณฑ์การเพื่อการเรียนรู้

ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 จนถึง พ.ศ. 2537 คือช่วงเวลา 72 ปีที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ ตึกนี้จึงมีชีวิตและความผูกพันกับภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ ก่อนที่จะย้ายไปยังสถานที่ตั้งในปัจจุบัน
เรื่องราวของตึกนี้ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน

การถ่ายทอดเรื่องราวของตึกที่มีอายุหนึ่งศตวรรษนับเป็นความท้าทายสำหรับคนรุ่นหลัง ทั้งในการค้นคว้า คัดสรรเนื้อหา และตีความสู่นิทรรศการกับกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีอาคารนี้ และสร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมกิจกรรม

บทความได้ลำดับให้เห็นขั้นตอนการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบบันทึกเหตุการณ์และเกร็ดเรื่องเล่าจากการทำงาน เพื่อให้ผู้อ่านติดตามการทำงานพอสังเขป และหลายเรื่องไม่ได้รับการบอกเล่าในนิทรรศการ ข้อเขียนนี้จึงเป็นเสมือน ‘อนุทิน’ ฉบับกะทัดรัดของผู้เขียนที่เรียบเรียงขึ้นภายหลังจากการจัดงานพิพิธภัณฑ์ เพื่อสื่อสารวิธีการคิดและทำจนสร้างเป็นผลงานของคณะทำงาน “100 ปีตึกเรา”

“อะไร ทำไม” และการค้นพบตึกมิวเซียมสยามอีกครั้ง

การทำงาน 100 ปีตึกเรา เริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ หลายข้อ  เช่น มีอะไรบ้างที่หลงเหลือในตึกนี้ที่มีอายุถึงหนึ่งร้อยปี ต้นไม้ต้นไหนเก่าแก่ที่สุดในบริเวณมิวเซียมสยาม ทำไม “ห้องพื้นกระเบื้อง” ถึงได้เป็นห้องเดียวที่มีพื้นต่างจากห้องอื่นที่เป็นพื้นไม้ ตัวเลข 2465 และสัญลักษณ์ทั้งสองด้านบนแผ่นปูนที่อยู่ข้างหลัง “แม่เอิบ” คือตัวเลขและสัญลักษณ์อะไร มันเป็นของเก่าหรือมันถูกทำขึ้นใหม่  แล้วถ้าเปรียบตึกนี้เป็นชีวิตคนคนหนึ่ง ตึกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ร่างกายของเขาเป็นแบบไหน ได้ประสบพบเห็นอะไรมาบ้าง ฯลฯ

ทีมงานอนุญาตให้ความสงสัยใครรู้ทำงาน และพยายามหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้อย่างถึงที่สุด โดยไม่ละเลยรายละเอียดซึ่งอาจจะนำไปสู่การไขคำตอบให้กับอาคารที่เราอยู่กับมันมานาน แต่ก็เหมือนเพื่อนที่เรากลับรู้จักกันไม่มากนัก

ความสงสัยใคร่รู้ด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไม” ซึ่งเป็น DNA ของมิวเซียมสยามตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ได้นำเราไปเจอกับเอกสาร พาเราไปคุยกับภาพถ่ายเก่า คลิปภาพยนตร์เก่า ไปนั่งเพ่งพินิจลายกระเบื้องที่ระเบียงทางเดิน ไปอ่านบันทึกการบูรณะอาคาร ไปฟัง “เสียง”ของคนในอดีตจากหนังสือผู้วายชนม์ ไปสอบถามนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญสมัยคณะราษฎร ให้ช่วยระบุตัวบุคคลจากภาพถ่ายที่รางเลือน ไปส่องขยายภาพถ่ายทางอากาศ ไปคุยกับผู้คนที่เคยเดินไปเดินมาบนตึกนี้ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้จะว่าไปแล้วเป็นการเก็บข้อมูลแบบ “แกะรอย” ที่ “ไม่มีโครงสร้าง” แบบระเบียบวิธีวิจัยที่เคร่งครัดนัก ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งเราได้ข้อมูลมาด้วยความบังเอิญด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีแม้ว่าทีมงาน
จะพยายามขุดคุ้ยข้อมูลจากตึกกันขนาดไหน ก็ใช่ว่าคำถามทุกคำถามจะได้รับคำตอบ หลายเรื่องยังคงเป็นปริศนาที่หวังว่า สักวันหนึ่งจะมีคนสนใจใคร่รู้จริงจังและได้ค้นพบตึกนี้อีกครั้ง

ชีวิตในประวัติ จากการค้นหาความเป็นมาของอาคาร

จากความต้องการถ่ายทอดเรื่องราวโดยลำดับเวลา คณะทำงานสร้างเส้นเวลา (timeline) สำหรับกำกับการหาข้อมูลและเรื่องเล่าตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง และช่วยกำกับทิศทางในการค้นคว้าข้อมูลมาจากเอกสาร ภาพถ่าย และการสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาคาร ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นกระทรวงพาณิชย์และเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

แหล่งข้อมูลสำคัญ ๆ ประกอบด้วยเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ห้องสมุดของกระทรวงพาณิชย์ หนังสือที่ระลึกผู้วายชนม์ และการนัดสัมภาษณ์ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอาคารประวัติศาสตร์แห่งนี้ 

ภาพที่ 2 ภาพตึกกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2468 ในภาพมองเห็นต้นประดู่

จากข้อมูลหนึ่งไปสู่อีกหลายชุดข้อมูล การค้นคว้าเผยให้เราเห็นถึงความคิดก้าวหน้าและทันสมัยของผู้ออกแบบอาคารที่แม้จะเป็นนายช่างชาวตะวันตก แต่อาคารหลังนี้ได้รับการออกแบบตามลักษณะภูมิอากาศของประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น เช่น การออกแบบหลังคา ให้มีช่องระบายความร้อน โดยการเปิดช่องระหว่างจันทันที่ใต้หลังคาไว้ให้ลมเย็นจากภายนอกพัดเข้ามาและพัดเอาความร้อนที่กักไว้ภายในออกไป ช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารได้  การสร้างอาคารไม่ติดดิน ยกพื้นชั้นล่างให้สูงขึ้น มีแผ่นคอนกรีตโค้งวางใต้พื้นไม้ป้องกันความชื้นขึ้นสู่พื้นไม้ที่ชั้นล่างและมีช่องระบายความชื้นใต้อาคาร

การออกแบบหน้าต่างไม้ให้สามารถระบายน้ำไม่ให้เข้ามาที่ตัวอาคาร การออกแบบระเบียงทางเดินที่ทำหน้าที่เป็นกันสาด พื้นระเบียงปูกระเบื้องหินขัด ทนแดดและฝนได้ดี เน้นความเรียบง่าย แต่ยังคงความหรูหราในแบบฉบับตะวันตก รวมถึงการวางผังตึกให้อยู่ในทิศทางที่โดดเด่นถึงแม้จะตั้งอยู่ ณ ปลายถนน รายละเอียดเหล่านี้ทำให้ทีมข้อมูลเห็นว่าตึกนี้รวมเอาภูมิความรู้แบบฝรั่ง ผสมเข้ากับความเข้าใจในพื้นที่ เป็น “Smart Building” ที่มาก่อนกาล

นอกจากตัวอาคารแล้ว ยังมีกลุ่มภาพถ่าย ที่มีความสำคัญต่อการทำความรู้จักอาคารแห่งนี้กันใหม่ เช่น ภาพถ่าย พ.ศ. 2465-2466 ที่บันทึกสภาพแวดล้อมเมื่อครั้งแรกสร้าง เห็นต้นประดู่ทั้ง 2 ต้นด้านหน้าตึกทั้งฝั่งซ้ายและขวา ภาพนี้ประกอบกับภาพถ่ายทางอากาศในช่วงราว พ.ศ. 2500 ทำให้ได้คำตอบว่าต้นประดู่ด้านหน้าเป็นต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่แห่งนี้ ไม่ใช่ต้นไทรที่อยู่ด้านหลัง

ภาพถ่ายด้านหลังและด้านข้างของตัวอาคาร ทำให้เราเห็นส่วนหนึ่งของอาคาร “ศาลาแยกธาตุ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปริศนาในพื้นที่แห่งนี้ ภาพนี้ค้นพบโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เพียรพยายามหาภาพถ่ายเมื่อแรกสร้างจากแฟ้มเก็บเอกสารของกระทรวงพาณิชย์ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่กลับไปพบโดยบังเอิญในแฟ้มที่เก็บภาพของโรงพยาบาลจุฬาฯ 

ภาพที่ 3 ด้านหลังอาคารกระทรวงพาณิชย์  ด้านซ้ายของภาพจะเห็นศาลาแยกธาตุ

ส่วนภาพถ่ายหมู่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2465 ถ่ายที่ตึกกระทรวงพาณิชย์เดิม ฝั่งถนนเขตต์ (ปัจจุบันคือถนนเศรษฐการ) มิวเซียมสยามได้รับจากเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ในครั้งที่กระทรวงพาณิชย์ย้ายออกไป และมีเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ท่านหนึ่งนำภาพเก่านี้มามอบให้กับมิวเซียมสยามเก็บรักษา ภาพนี้ได้รับเก็บรักษาในห้องคลังโบราณวัตถุมาตลอดหลายปี โดยที่เราไม่ได้สืบค้นหรือทำความรู้จักกันมาก่อน

อย่างไรก็ดี จากสภาพดั้งเดิมของอาคาร  ป้ายหน้าห้องแสดงตำแหน่งที่ตั้งของแผนกในอาคารสำนักงานปลัดฯ ที่ปรากฏในภาพ ทำให้ภาพนี้กลายเป็นภาพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบ่งบอกถึงการใช้งานอาคารในยุคก่อน และทำให้สามารถระบุตัวบุคคลที่ปรากฏในภาพ โดยเฉพาะขุนวิจิตรมาตรา ผู้ซึ่งเราติดตามท่านจากภาพถ่ายเก่านี้ไปสู่การอ่านหนังสือผู้วายชนม์ของท่าน และทำให้ได้รู้ว่า ท่านทำงานอยู่ “ที่นี่” จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

ภาพที่ 4 ตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวง ตราแรก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
ทรงออกแบบประทาน พ.ศ. 2463

เรื่องราวของตึกยิ่งมีชีวิตชีวามากขึ้น เมื่อมองถึงบทบาทและรูปแบบการทำงานของกระทรวงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ เอกสารต่าง ๆ สะท้อนถึงการวางแผนและการกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศด้วยพาณิชยกรรม การคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถโดยใช้การสอบและการสัมภาษณ์ ไม่ใช้ระบบแนะนำหรือฝากฝัง การเผยแพร่ความรู้ด้วยสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ความรู้เรื่องมาตรชั่ง ตวง วัดในรูปแบบของคู่มือ และการออกแบบตราประจำกระทรวงที่ใช้รูปเครื่องมือชั่งตวงวัดเป็นตราประจำกระทรวงฯ ดั้งเดิม รวมถึงการมีศาลาแยกธาตุ (Government Laboratory) ทำหน้าที่วิจัย วิเคราะห์ งานทดลองวิทยาศาสตร์แยกธาตุและแยกพิษ พรรณพืชเพื่อเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์

ประวัติในชีวิต ร้อยเรื่องราวจากบุคคล  

ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับทีมทำงานได้ไม่แพ้กันคือ เรื่องราวจากการสัมภาษณ์ เสียงที่บอกเล่าความทรงจำคือเสียงที่พูดถึงความผูกพันกับตึกนี้ มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่เราเห็นในภาพข่าวเกิดขึ้นที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาการค้าในระดับประเทศ หรือการเจราจากับกลุ่มผู้ประท้วง การปรับปรุงอาคาร หรือแม้แต่นโยบายในการจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ พ.ศ. 2547 

คณะทำงานมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่เคยปฏิบัติงานที่กระทรวงพาณิชย์เดิมแห่งนี้  ในระหว่างการสัมภาษณ์บุคคล เรามองเห็นความมีชีวิตชีวาและแววตาที่มีประกายแห่งความสุข สำหรับการสัมภาษณ์แบบหมู่คณะ บรรยากาศจะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและมีความเฮฮา ทั้งเสียงที่สนับสนุนกันและกัน และเสียงที่ท้วงติงเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูล

ภาพที่ 5 ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ภาพที่นำไปสู่การสืบค้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องของตึกนี้

 

ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงเรื่องราวในความทรงจำที่ประทับใจด้วยความจริงใจ เหตุการณ์เมื่อครั้งทำงานอยู่ ความภูมิใจในงานที่ทำ ความสง่างามของตึกสมฐานะที่เป็นห้องรับแขกทางการค้าระดับชาติ หรือแม้แต่การต้อนรับกับผู้ชุมนุมชาวไร่ชาวนาที่มาถึงหน้ากระทรวง 

เราต้องคิดว่าเป็นคนไทยด้วยกัน และเราต้องช่วยกันแก้ปัญหา
ส่วนใหญ่เราใช้การเจรจา ผู้นำม็อบจะขึ้นมาประชุมกับรัฐมนตรีหรืออธิบดี
ที่ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นห้องนั้น และหลายข้อพิพาทก็จบลงที่ห้องนั้นเช่นกัน

 

ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ (2522-2560)

 

ข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงรูปแบบการใช้งานเมื่อกระทรวงพาณิชย์ย้ายไปยังที่ตั้งในปัจจุบัน ตึกหลังนี้จึงกลายเป็นสถานที่รับรองผู้ใหญ่หรือแขกบ้านแขกเมืองเวลามาเจราจาการค้า และมีโครงการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ ในที่สุด เมื่อทุกหน่วยย้ายออกไป พ.ศ. 2537 สถานที่แห่งนี้จึงไม่ได้รับการใช้งานอีก “นั่งรถผ่านมาก็จะรู้สึกใจหายมันเงียบมากคิดถึงบรรยากาศเดิม ๆ” ผู้ให้สัมภาษณ์บอกเล่าถึงสิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ย้ายออกจากสถานที่ทำงานที่ผูกพัน

ภาพที่ 6 ศาลาแยกธาตุ ห้องปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ งานส่วนหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์
ในการสืบค้นเรื่องราวของผู้คนที่สัมพันธ์กับตึกหลังนี้ เรื่องราวที่ “ทัชใจ” ทีมงานมาก คือเรื่องเกี่ยวกับ
มาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกใหญ่ชาวอิตาเลียนผู้เซ็นสัญญาทำงานกับรัฐบาลสยามเป็นเวลายาวนานถึง 25 ปี และเป็นเสมือนหมอตำแยคนหนึ่งที่ทำคลอดตึกหลังนี้ในช่วงปีท้าย ๆ ที่เขาอยู่ที่นี่ เพียงการจินตนาการว่าเราเดินกันอยู่บนพื้นที่ที่คน ๆ นี้เป็นคนออกแบบ ก็ทำให้ทีมงานอยากจะมีโอกาสได้เห็นเอกสาร แบบร่าง หรืออะไรก็ได้ที่เขาบันทึกเกี่ยวกับตึกหลังนี้

จากการสอบถามผู้ใหญ่หลายท่านแล้วพบว่าท่ามกลางแบบของอาคารต่าง ๆ ที่เขาวาดไว้และตกทอดมาถึงหลานสาว  ไม่มีแบบของกระทรวงพาณิชย์เลย ไม่มีแม้แต่การระบุว่าในทางการออกแบบ อาคารนี้เป็นแบบใดเช่น นีโอคลาสิค อิตาเลียนเรเนอซองส์ ฯลฯ แบบที่ระบุกับอาคารอื่น ๆ ราวกับว่าตามาญโญตั้งใจปล่อยความฉงนไว้ให้ลูกหลานชาวไทยได้ช่วงชิงการนิยามกันเสียอย่างนั้น

เอกสารชิ้นที่ทำให้ทีมงานรู้จักตามาญโญมากขึ้น คือเอกสารจากนิตยสารเมืองโบราณ โดยการแปลของศรัณย์ ทองปาน จากข้อเขียนของเอเลนา ตามาญโญ หลานสาวแท้ ๆ ของ มาริโอ ตามาญโญ ข้อความที่เขียนถึง “การค้นพบ” คุณปู่และผลงานของท่านที่สยามเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ทำให้ทีมงานรู้สึกเสียดายอย่างยิ่ง ที่เรามาสนใจเรื่องนี้กันล่าช้าไปหลายปีมาก ๆ เมื่อสนใจแล้วก็หมดโอกาสเสียแล้วที่จะได้สืบค้นเพิ่มเติมจากบุคคลใกล้ชิด 

ภายหลังจากที่คุณพ่อของดิฉัน ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2538 เราได้พบกล่องไม้สักหลายใบ
ภายในบรรจุภาพวาด ภาพถ่าย และเอกสารของมาริโอ ตามัญโญ
กล่องเหล่านี้ถูกส่งจาก กรุงเทพฯ กลับไปยังตูริน เมื่อ พ.ศ. 2469 และคงไม่เคยมีใคร
แตะต้องอีกเลย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2484 (ปีที่ท่านถึงแก่กรรม) ทว่าข้าวของ ที่บรรจุภายใน
ยังอยู่ในสภาพดีและได้ช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับผลงานสถาปัตยกรรมของคุณปู่
ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นเพียงเรื่องเล่าในครอบครัวมาริโอ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์(เดิม) ครอบคลุมถึงคนเล็กคนน้อยที่แม้จะไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปของพื้นที่ “แปะ” ของพวกเรา หรือ “บ๊วย” ของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดกิจการก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เมื่อกระทรวงพาณิชย์ย้ายไป แปะยังคงขายก๋วยเตี๋ยวโดยขอใช้พื้นที่ข้างรั้วประตูด้านถนนมหาราชต่อไป จนถึงยุคที่ที่นี่กลายเป็นมิวเซียมสยาม  

ร้าน “ก๋วยเตี๋ยวแปะ” นี้เป็นที่พึ่งพาฝากท้องของชาวมิวเซียมสยามและผู้คนใกล้เคียง ตลอดจนเป็นจุดที่คนกระทรวงพาณิชย์แวะมาทานในยามที่คิดถึงอาคารเดิมอยู่นานปี จนหยุดกิจการไปในที่สุด เมื่อสุขภาพของแปะไม่เอื้ออำนวย ด้วยเป็นคนมีอัธยาศัยและช่างคุย แปะจึงเป็นบุคคลที่คนมิวเซียมสยามจดจำได้ดี  ทีมทำงานบันทึกแปะด้วยภาพลายเส้น เพื่อประกอบนิทรรศการ เพราะเป็นบุคคลที่อยู่ในการเปลี่ยนแปลงจากกระทรวงพาณิชย์เป็นมิวเซียมสยาม 

ชีวประวัติของพิพิธภัณฑ์

ในส่วนที่สาม เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมิวเซียมสยาม นอกเหนือจากเอกสารสำคัญในโครงการจัดตั้งแล้ว คณะทำงานสัมภาษณ์บุคคลสำคัญเช่น ประธานนโยบายบริหารพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อเข้าใจแนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันโลกในปัจจุบันและอนาคต และรู้จักความเป็นมาและเป็นไป

อีกส่วนหนึ่งเป็นรายงานทางวิชาการที่เกิดขึ้นในกระบวนการบูรณะพื้นที่ตั้งของมิวเซียมสยาม เช่น รายงานการอนุรักษ์อาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม และรายงานการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดีพื้นที่กระทรวงพาณิชย์เดิม โดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เนื้อหาในรายงานทั้ง 2 ฉบับมีความสำคัญในการคัดสรรเรื่องราวมาใช้พัฒนานิทรรศการและกิจกรรมเสาร์สนามไชยได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 7 นิทรรศการ 100 ปีตึกเรา ตึกเก่า เล่าใหม่ ตึกเรามีเรื่องราวมากมายให้เล่าขาน

เนื้อหาจากการค้นคว้าช่วยขับเน้นให้อาคารเหล่านี้ไม่ใช่เพียงถาวรวัตถุ แต่สะท้อนถึงความโดดเด่นของอาคาร เช่น กระเบื้องพื้นลายหินขัดลายสวยที่นำเข้าจากต่างประเทศ โคมไฟติดผนังด้านในอาคาร ก้านเป็นเหล็กหล่อ โคมไฟระย้า มีบันไดสวยที่ไม่มีเสารับน้ำหนัก และมีซุ้มปูนปั้นมีตราประจำกระทรวงตราแรกกำกับด้วย พ.ศ. 2465 เมื่อตึกสร้างเสร็จ บริเวณมุขด้านข้างนอกอาคารมีบ่อเกรอะที่อยู่ทั้ง 2 ฝั่ง บ่อเกรอะนี้ทำหน้าที่รับของเสียจากห้องน้ำของอาคาร ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญในงานโบราณคดีอาคารที่แสดงถึงการออกแบบให้มีห้องน้ำภายในใช้ภายในอาคาร จึงต้องมีระบบสุขาภิบาลรองรับตั้งแต่เมื่อเริ่มสร้าง

ในการฉลอง 100 ปีตีกเรา นอกจากนิทรรศการและกิจกรรมเสาร์สนามไชยแล้ว คณะทำงานเผยแพร่ข้อมูลและกิจกรรมที่หลากหลายในรูปแบบของสื่อออนไลน์ และการจัดพิมพ์หนังสือที่เป็นชุดความรู้ จำนวน 3 เล่ม เล่มแรกออกเผยแพร่ พ.ศ. 2563 คือ โบราณคดีมิวเซียมสยาม การเปิดพื้นที่เรียนรู้ คลี่คลายข้อสงสัยต่าง ๆ ได้จากงานขุดค้นทางโบราณคดี เล่มต่อมา ออกเผยแพร่ พ.ศ. 2564 สถาปัตยกรรมมิวเซียมสยาม ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยในรัชกาลที่ 6 กับทีมนายช่างฝรั่งที่เข้ามารับราชการในสยาม สะท้อนการเลือกรับและปรับใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างอย่างเหมาะสม ส่วนเล่มที่ 3 ออกเผยแพร่ พ.ศ. 2565 100 ปีตึกเรา หนึ่งศตวรรษประวัติศาสตร์ตึกมิวเซียมสยาม เป็นหนังสือที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์สังคมการก่อเกิด ชีวิตของตึกหลังนี้ และผลงานอื่น ๆ ในการเฉลิมฉลอง "100 ปีตึกเรา"

ภาพที่ 8 ส่วนระเบียงของตึก ที่ทำหน้าที่รับแดดรับฝน การออกแบบให้เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองร้อนชื้น

มิวเซียมสยามมองเห็นคุณค่าในรอบด้านของเรื่องราวที่มีความสุข ความสนุก ความท้าทาย ความกล้าหาญ  การต่อต้าน และการรอมชอม หรือบางครั้งเป็นความสิ้นหวัง ทุกเรื่องราวผ่านเข้ามาในชีวิตของตึกแห่งนี้ การทำงานในครั้งนี้อาศัยการรวบรวมและส่งต่อเนื้อหาต่าง ๆ ให้กับสาธารณชน และหวังให้สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ให้นำไปใช้ในการคิดสร้างสรรค์ต่อไป.

แหล่งข้อมูล

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, สถาบัน. (2565). 100 ปีตึกเรา หนึ่งศตวรรษประวัติศาสตร์ตึกมิวเซียมสยาม. กรุงเทพ:  สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.

คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2551). รายงานการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดี กระทรวงพาณิชย์เดิม. กรุงเทพ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, สถาบัน. (2563). รายงานการอนุรักษ์กระทรวงพาณิชย์เดิม. กรุงเทพ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2563.

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, สถาบัน. (2563). โบราณคดีมิวเซียมสยาม. กรุงเทพ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, สถาบัน. (2564). สถาปัตยกรรมมิวเซียมสยาม. กรุงเทพ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.

เอเลนา ตามานโญ. (2541). “มาริโอ ตามานโญ  ยี่สิบห้าปีแห่งการเป็นสถาปนิกในราชสำนักสยาม (2453-2468)”  เมืองโบราณ ปีที่24 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน), 39-45.

Photo Credits
ภาพปก ภาพจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
ภาพที่ 1 ภาพจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
ภาพที่ 2 ภาพจากที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ สวนลุมพินี พ.ศ.2468  โรงพิมพ์กรุงเทพ เดลิเมล์
ภาพที่ 3 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
ภาพที่ 4 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภาพที่ 5 ภาพจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ 
ภาพที่ 6 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
ภาพที่ 7 ภาพจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
ภาพที่ 8 ภาพจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ