In Focus
In Content
พิพิธภัณฑ์นิเวศในจีนเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายประการ ทั้งนโยบายทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษ 1980 และอิทธิพลขององค์กรในระดับนานาชาติอย่างองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ทางการจีนกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมเกิดขึ้นและดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอดสี่ทศวรรษ
ในปัจจุบัน จีนมีมรดกโลกถึง 48 แห่ง และมีรายการขึ้นทะเบียนมรดกที่ไม่เป็นกายภาพ (intangible cultural heritage) 38 รายการ นอกจากนี้ จีนเป็นตัวละครสำคัญในเวทีนานาชาติในงานมรดกวัฒนธรรม เช่นการเป็นแกนนำร่วมกับคาซัคสถานในการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกในเส้นทางสายไหม
เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์นิเวศในจีนฉายภาพพัฒนาการงานมรดกวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นจากนิยามและความหมายของผู้คนในระดับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรม ในลำดับต่อไป จะกล่าวถึงสังเขปความเปลี่ยนแปลงของมรดกวัฒนธรรมตั้งแต่การขึ้นครองอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ และเชื่อมโยงมายังจุดกำเนิดและพัฒนาการพิพิธภัณฑ์นิเวศตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน เหล่านี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์และการตอบโต้ระหว่างศูนย์กลางอำนาจ ทางการท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญกับนักวิชาการ และชาวบ้านกับชุมชน ทั้งที่เป็นความร่วมมือและรอยปริแยกในการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรม
การครองอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ค.ศ. 1949 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการสำนึกของประชาชนที่มีต่อวัฒนธรรม เรื่องราวของราชวงศ์และมรดกวัฒนธรรมก่อนการปกครองของพรรคฯ กลายเป็นภาพสะท้อนของอำนาจเก่า ศักดินา ความล้าหลัง และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ
ขบวนการขจัดองค์ประกอบที่เป็นทุนนิยมและวัฒนธรรมประเพณีดำเนินไปภายใต้การปกครองของเหมาเจ๋อตุง และยิ่งเด่นชัดมากขึ้นเมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในทศวรรษ 1960 และ 1970 สถานที่สำคัญหลายแห่งและมรดกวัฒนธรรมอีกจำนวนไม่น้อยจากยุคราชวงศ์ถูกทำลายลง พรรคฯ ขับเน้นเรื่องเล่าเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติในการบ่มเพาะประชาชนและสร้างสำนึกใหม่ตามอุดมการณ์ทางสังคมในเวลานั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 เติ้ง เสี่ยวผิงเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศจีน นโยบาย "โปล่วน ฝ่านเจิ้ง" กำกับทิศทางใหม่ทางการเมือง ด้วยการรื้อถอนนโยบายของลัทธิเหมาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติวัฒนธรรม และเริ่มวาระใหม่ด้วยการการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน
ทศวรรษ 1980 คือจุดตั้งต้นของการปรับเปลี่ยนทางอุดมการณ์ที่นำมาสู่ท่าทีใหม่ของพรรคฯ
ต่อความเชื่อทางศาสนา สังคมประเพณี รวมถึงมุมมองต่ออดีต โบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์ในยุคราชวงศ์กลายเป็นองค์ประกอบในการสร้างความภาคภูมิใจในชาติ
และสะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศ
ภาพที่ 1 นาขั้นบันไดเฟิ่งเยี่ยน (Fengyan) อำเภอฮั่นหยิน (Hanyin) ทางตะวันตกเฉียงเหนือในจีน
มีอายุยาวนาถึง 250 ปี ปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยา
บริหารจัดการโดยสำนักบริหารมรดกวัฒนธรรมมณฑลส่านซี (Shaanxi)
(ภาพจาก https://img2.chinadaily.com.cn/images/202006/18/5eeb18c1a3108348fcd677d1.jpeg)
นับตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลกลางและทางการท้องถิ่นกำหนดนโยบาย กฎหมาย และระเบียบปฏิบัติในการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรม เช่น การขึ้นทะเบียน การบูรณะอาคารและซากโบราณสถานที่ทิ้งร้าง ต่อมาทศวรรษ 1990 จึงขยายความหมายมรดกวัฒนธรรมสู่ความเป็นพื้นถิ่น มรดกชาติพันธุ์และอุตสาหกรรม
ด้วยเหตุนี้อาคารพื้นถิ่น หอประจำหมู่บ้าน และศาลเจ้า รวมถึงแหล่งผลิตและกิจการอุตสาหกรรมได้รับการขึ้นทะเบียน คุ้มครอง และบูรณะ เป้าหมายของมรดกวัฒนธรรมดำเนินไปใน 2 ทิศทาง อันได้แก่ (1) การคุ้มครองอัตลักษณ์และการหลอมรวมประชาชนเพื่อความสมัครสมานในสังคม และ (2) การใช้ประโยชน์ทรัพยากรวัฒนธรรมเพื่อเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการสร้างภาพลักษณ์สังคมหลากเชื้อชาติเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ นับเป็นจุดสิ้นสุดการปฏิเสธวัฒนธรรมในอดีตและการกดขี่ในประเพณี สู่ความพยายามในการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาและเศรษฐกิจ
เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จากการพัฒนาทางอุตสาหกรรมตั้งแต่ทศวรรษ 1980
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องมรดกเช่นการผลักดันให้แหล่งประวัติศาสตร์ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก รวมถึงการพัฒนาแหล่งมรดกของชาติ หรือการจัดตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเกิดกระแสการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านและชาติพันธุ์ที่ "กำลังสูญหาย" ด้วยเครื่องมือเรียกว่า พิพิธภัณฑ์นิเวศ ในการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมระดับพื้นที่
ภาพที่ 2 หมู่บ้านในเจิ้นซานที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำทั้งสามด้าน สร้างขึ้นในราว ค.ศ. 1573 – 1620
ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์ในการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์นิเวศปู้อี (Buyi)
(ภาพจาก https://news.cgtn.com/news/2021-07-25/Zhenshan-Village-in-SW-China-offers-culture-and-captivating-scenery-12b71fL1KUM/img/7d789b1528f842099d8a861fe9f10f5d/7d789b1528f842099d8a861fe9f10f5d.jpeg)
ในทศวรรษดังกล่าว จึงเกิดการแสวงหาความรู้ด้วยการแปลเอกสารของนักวิชการต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นมุมมองงานพิพิธภัณฑ์กับสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติกับวัฒนธรรม และบทบาทของประชากรในพื้นที่ และนำมาสู่การวางโจทย์ในการคุ้มครองประเพณีวัฒนธรรมด้วยการบันทึกเรื่องราวในสภาพแวดล้อมทางสังคม
ต่อมา ค.ศ. 1994 เกิดการประชุมของคณะกรรมการนานาชาติเพื่อพิพิธภัณฑสถานวิทยา สภาพิพิธภัณฑ์สากล และเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับนอร์เวย์ รัฐบาลท้องถิ่นกุ้ยโจวแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นิเวศในกุยโจว โดยมีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ และผู้เชี่ยวชาญจากจีน นำเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งในพิพิธภัณฑ์นิเวศพิพิธภัณฑ์ซัวกา เหมียว (ชนชาติเหมียว) ในกุ้ยโจว รวมถึงพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งในภูมิภาค เช่น พิพิธภัณฑ์นิเวศปู้อื้ (ชนชาติปู้อี้) ในเจิ้นซาน พิพิธภัณฑ์นิเวศตง
(ชนชาติตง) ในถังอัน
พิพิธภัณฑ์นิเวศในระยะแรกของจีนเน้นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในชนทบในถิ่นทุรกันดารและพึ่งพาเกษตรกรรม การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นิเวศจึงมีบทบาทในการส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมในกระแสความเปลี่ยนแปลง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในพื้นที่
ภาพที่ 3 แผนที่สลักบนแผ่นไม้แสดงเส้นทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านถังอัน (Tang'an) ณ ทางเข้าพิพิธภัณฑ์นิเวศถังอันตง
(ภาพจาก http://www.chinatourguide.com/china_photos/guizhou/attractions/hrc_guizhouTangan_map.JPG)
อย่างไรก็ดี พิพิธภัณฑ์นิเวศบางแห่งในรุ่นบุกเบิกอาศัยการบริหารจัดการในรูปแบบบรรษัท เช่นพิพิธภัณฑ์นิเวศตงที่ต้องการส่งเสริมเอกลักษณ์ของเรือนพื้นถิ่นตั้งรายล้อมหอกลองของหมู่บ้าน ในระยะการเปิดพิพิธภัณฑ์ ค.ศ. 2002-2004 บริษัทจัดกิจกรรมพิเศษอย่างต่อเนื่อง ผู้สูงวัยและคนหนุ่มสาวแต่งกายตามประเพณีให้มาร่วมกิจกรรมโดยได้รับค่าตอบแทนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
ในจุดนี้ เกิดข้อกังขาถึงลักษณะของพิพิธภัณฑ์นิเวศกับการบริหารจัดการในรูปแบบบริษัท นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์นิเวศตงไม่สร้างงานในพื้นที่อย่างแท้จริง เพราะผู้มาเยือนเข้ามายังพื้นที่
เพื่อชมสถานที่ บันทึกภาพ และจากไป ชาวบ้านกลับไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ภาระในการดูแลรักษาเรือนพื้นถิ่นให้คงลักษณะดั้งเดิมตามแนวทางที่กำหนดโดยทางการท้องถิ่นกลับตกอยู่กับครัวเรือนที่เป็นเจ้าของ
ในระยะต่อมา เกิดกลุ่มพิพิธภัณฑ์นิเวศชาติพันธุ์ (model of ethnic ecomuseum) ในเขตปกครองพิเศษกวางสี กรมวัฒนธรรมกวางสีได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและนักชาติพันธุ์วรรณนาจากพิพิธภัณฑ์ชนชาติกวางสี จนนำมาสู่การพัฒนาให้แต่ละเขต ให้มีห้องจัดแสดงเอกสารและวัตถุของตนเอง เพื่อให้ผู้ชมเยี่ยมชมนิทรรศการและเรียนรู้จากประสบการณ์แบบการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์
ในการพัฒนาศูนย์นิทรรศการแต่ละแห่ง ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นของเขตปกครองตนเองกวางสี และมีพิพิธภัณฑ์ชนชาติกวางสีเป็นผู้ร่วมจัดตั้ง มีความพยายามให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เช่น นักวิจัยแบบไม่เต็มเวลา ผู้นำชุมชนและครูในการดูแลนิทรรศการ แรงงานในการก่อสร้าง และร่วมการแสดงวัฒนธรรม แต่โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านมีฐานะเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในเบื้องปลายมากกว่าการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานอย่างแท้จริง
ภาพที่ 4 แสดงให้เห็นรูปแบบการนำเสนอเครื่องแต่งกายในศูนย์ข้อมูลของพิพิธภัณฑ์นิเวศเหมียวซู่เจีย (Suojia Miao) ในเขตปกครองพิเศษลิ่วจี (Liuzhi) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกุ้ยโจ้ว
(ภาพจาก http://en.people.cn/NMediaFile/2023/0106/FOREIGN202301060844000044431135303.jpg)
ในช่วงปลายทศวรรษ 2000 พิพิธภัณฑ์นิเวศเกิดขึ้นจากการส่งเสริมของหน่วยบริหารมรดกวัฒนธรรมของรัฐบาลกลาง พิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยาอันจี๋ในซินเจียงได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์กลาง และมีพิพิธภัณฑ์เฉพาะประเด็น 13 แห่ง รวมถึงพิพิธภัณฑ์หมู่บ้าน 26 แห่ง ประกอบเป็นเครือข่าย
พิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยาอันจี๋ฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ จึงให้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยา เนื้อหาครอบคลุมองค์ประกอบทางธรรมชาติ วัฒนธรรม สังคม และนิเวศวิทยา ในฐานะสมบัติของหมู่บ้าน และวางเป้าหมายในการอนุรักษ์มรดกกายภาพและไม่ใช่กายภาพ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการร่วมบริหารจัดการ และเข้าใจในคุณค่าของท้องถิ่น
โครงการจัดตั้งได้รับเงินบริจาคของเจ้าของกิจการในพื้นที่ อาคารจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่ง
ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หากประสบความสำเร็จในรายได้
จะสามารถของบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑ์นิเวศในกลุ่มนี้มีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น พิพิธภัณฑ์นิเวศยวี้เถียวเน้นการนำเสนอจิตรกรรมและศิลปะอักษร ส่วนพิพิธภัณฑ์นิเวศจางวูนำเสนอเรื่องราวอุตสาหกรรมครัวเรือน ได้แก่ การผลิตใบพัดลมและภาพเขียน รูปแบบการนำเสนอคล้ายคลึงกับห้องทำงานศิลปะ ที่ดึงดูดให้ชาวบ้านที่เป็นศิลปินและคนรักงานศิลปะเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนผู้เยี่ยมชมสามารถหาประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติ
กระนั้น พิพิธภัณฑ์ในกลุ่มนี้ยังคงพึ่งพาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยและภัณฑารักษ์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและติดตามการทำงาน แต่ก็เปิดโอกาสการให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ เจ้าของกิจการ และชาวนา ร่วมบริหารจัดการกิจกรรม กล่าวได้ว่ากลุ่มคนทำงานทั้งหมดเป็นคนในท้องถิ่น
หากพิจารณาเปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์นิเวศในบริบทมรดกวัฒนธรรมจีนทั้งสามรุ่น
อย่างไรก็ดี พิพิธภัณฑ์นิเวศในจีนยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อ ค.ศ. 2008 มีการระบุจำนวนพิพิธภัณฑ์นิเวศ 16 แห่ง ในระยะต่อมาจำนวนเพิ่มเป็นสองเท่า ค.ศ. 2014 มากถึง 30 แห่ง แต่ไม่อาจสะท้อนภาพความจริงทั้งหมด เพราะพิพิธภัณฑ์อีกจำนวนไม่น้อยใช้กระบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์นิเวศเพื่อพัฒนาท้องถิ่น แต่ไม่ระบุว่าเป็นพิพิธภัณฑ์นิเวศ
หัวใจของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์นิเวศ ประกอบด้วยปฏิสัมพันธ์ของชุมชนกับสิ่งแวดล้อม และกระบวนการในการพัฒนาพื้นที่บนฐานของชุมชน พิพิธภัณฑ์นิเวศจำเป็นต้องปรับตัวตามเหตุและปัจจัยใหม่ ๆ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์ดำรงความหมายต่อชุมชน และสร้างประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง.
Borrelli, Nunzia, and Rongling Ge. “An Analysis of Chinese Ecomuseums in Relation to Ecomuseum Theories and Principles.” Organon 51 (2019): 123–51. https://doi.org/10.4467/00786500.ORG.19.005.11326.
Donghai, Su. “The Concept of the Ecomuseum and Its Practice in China.” Museum International 60, no. 1–2 (May 2008): 29–39. https://doi.org/10.1111/j.1468-0033.2008.00634.x.
Li, Meng, and Gehan Selim. “Ecomuseums in China: Challenges and Defects to the Existing Practical Framework.” Heritage 4, no. 3 (August 17, 2021): 1868–82. https://doi.org/10.3390/heritage4030105.
Nitzky, William. “Mediating Heritage Preservation and Rural Development: Ecomuseum Development in China Mediating Heritage Preservation and Rural Development: Ecomuseum Development in China.” Urban Anthropology and Studies of Cultural Systems and World Economic Development 41, no. 2-3–4 (2012): 367–417.
Svensson, Marina, and Christina Maags. “Mapping the Chinese Heritage Regime: Ruptures, Governmentality, and Agency.” In Chinese Heritage in the Making: Experiences, Negotiations and Contestations, edited by Christina Maags and Marina Svensson, 11–38. Asian Heritages 3. Amsterdam: Amsterdam University Press, 2018.
ภาพปก/1 ภาพจาก https://www.chinadaily.com.cn/a/202006/18/WS5eeb18c1a310834817253f95.html ©chinadaily.com.cn