Muse Around The World
มรดกชุมชนในไต้หวัน
Muse Around The World
21 ก.ค. 66 2K
ไต้หวัน

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

In Focus

  • ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ผู้นำไต้หวันให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพลเมือง
    เพื่อลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และความต้องการสร้างความเป็นหนึ่งให้กับไต้หวันใหม่
  • นโยบายการสร้างเสริมพลังชุมชนแบบบูรณาการ (Holistic Community Building) ขับเน้นจิตวิญญาณชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิต และเชื่อมั่นในการทำงานจากรากฐาน
  • พิพิธภัณฑ์ศิลปะหมู่บ้านชนบทถูโกว และพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อยเป่ยโถว เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องถิ่นในการฟื้นฟูมรดก จนเกิดอัตลักษณ์ชุมชนที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่

In Content

  • การฟื้นฟูจิตวิญญาณชุมชน
  • มรดกหลังอาณานิคมในบริบทเมือง
  • มรดกหมู่บ้านในชนบท
  • ความหมายพิพิธภัณฑ์ที่ชุมชนร่วมสร้าง

ไต้หวันมีประชากรราว 23 ล้านคน และประกอบด้วยเกาะใหญ่ 5 เกาะ ซึ่งเกาะไต้หวันเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีเนื้อที่ประมาณ 35,000 ตางรางกิโลเมตร ไต้หวันมีมรดกทางธรรมชาติ ประกอบด้วยเทือกเขาสูงกว่า 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ภูเขาไฟ ที่ราบสูง ที่ราบชายฝั่ง และเกาะน้อยใหญ่อีกหลายแห่ง

มีแหล่งมรดกวัฒนธรรมอีกหลายแห่ง สถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์หมิงและชิงของจีน มรดกวัฒนธรรมจากยุคอาณานิคมดัตช์ สเปน และญี่ปุ่น มรดกพื้นถิ่นของชนพื้นถิ่นเชื้อสายมาลาโย
โพลินีเชียที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน 

ด้วยนโยบายสาธารณะที่ขับเน้นบทบาทพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง งานมรดกวัฒนธรรมหลายโครงการจึงเกิดขึ้นจากการทำงานของชุมมชน มาร่วมสำรวจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และทำความเข้าใจในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์นิเวศบนฐานทุนธรรมชาติและวัฒนธรรมจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนเป่ยโถว และพิพิธภัณฑ์ศิลปะหมู่บ้านชนบท
ถูโกว ตามลำดับ

การฟื้นฟูจิตวิญญาณชุมชน

หลี่เติงฮุย ผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและครองอำนาจประธานธิบดีคนแรกจากการเลือกตั้ง ระหว่าง ค.ศ.1988 กับ ค.ศ. 2000 เขาวางนโยบายสำคัญ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองจากความแตกต่างทางชนชาติในไต้หวัน หลี่เชิดชูแนวคิด “ความเป็นหนึ่งของไต้หวันใหม่” ที่หลอมรวมพลเมือง ชุมชน และชาติพันธุ์ ด้วยนโยบายการสร้างเสริมพลังชุมชนแบบองค์รวม (Holistic Community Building)

นโยบายดังกล่าวขับเน้นจิตวิญญาณชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิต เขาเชื่อมั่นในการทำงานจากรากฐาน (bottom-up approach) พลเมืองไต้หวันจึงมีโอกาสร่วมเวทีประชาพิจารณ์ในหลายโครงการของท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในการริเริ่มโครงการของชุมชน 

ตั้งแต่ ค.ศ. 1994 สภากิจการวัฒนธรรมไต้หวันผลักดันให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์และเสริมสร้างพลังชุมชนเมืองและชนบท โดยมีเป้าหมายของการพัฒนาใน 5 ด้าน ประกอบด้วยคน วัฒนธรรม ที่ดิน ภูมิทัศน์ และผลิตภัณฑ์ นโยบายดังกล่าวนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายลักษณะ เพราะสมาชิกชุมชนหารือและวางแผนงานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองและสถานศึกษาในท้องถิ่น

ภาพที่ 1 ผังย่านชุมชนในเขตน้ำร้อนเป่ยโถว ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของไทเปกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ที่ได้รับความนิยมอีกครั้งหลังกระบวนการฟื้นฟูมรดกชุมชนปลายทศวรรษ 1990 ©ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2014.

 

ทศวรรษ 1990 พิพิธภัณฑ์นิเวศกลายกระแสในการทำงานวัฒนธรรม โดยมีเนื้อหาที่หลากหลายตามแต่ละพื้นที่ เช่น สตอรี่เฮ้าส์ชุมชนทหารเถาหยวน, พิพิธภัณฑ์นิเวศทะเลสาบสุริยันจันทรา พิพิธภัณฑ์ศิลปะหมู่บ้านชนบทถูโกว พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคำ อุทยานนิเวศวิทยาเหมืองถ่านหินโหวต๋ง เป็นต้น พิพิธภัณฑ์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยคนในพื้นที่ และเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตชุมชนและสภาพแวดล้อม 

มรดกหลังอาณานิคมในบริบทเมือง

ซินเป่ยโถวตั้งอยู่ในทางตอนเหนือของกรุงไทเป และเป็นแหล่งน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ ย่านนี้มีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง มีสวนสาธารณะและทรัพยากรทางธรรมชาติมากมาย หนึ่งในกิจกรรมสันทนาการที่ผู้มาเยือนไม่พลาดคือ การอาบน้ำพุร้อน

ในปัจจุบันโรงอาบน้ำพุร้อนกลับมาเปิดกิจการ เพราะความร่วมมือในการฟื้นฟูชุมชนและการพัฒนาอาคารประวัติศาสตร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในเป่ยโถว

ภาพที่ 2 อาคารพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนเป่ยโถวเป็นสถาปัตยกรรมลูกผสมแบบญี่ปุ่นและตะวันตก
ใกล้เคียงกับโรงอาบน้ำพุร้อนเขาไอซึ (Mount Izu) ในญี่ปุ่น ©ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2014.

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยเป็นโรงอาบน้ำเป่ยโถว ที่สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1913 เพราะเป่ยโถวเป็นแหล่งน้ำพุร้อนของเทือกเขาต้าถุน มร.โมริยามา มัตซึโยซุเกะ คือสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารหลังนี้ และอาคารสำคัญอีกหลายแห่งในไต้หวัน เช่น ทำเนียบผู้บริหารไต้หวันและศาลาว่าการเมืองไถหนาน รูปแบบสถาปัตยกรรมสะท้อนการผสมผสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับตะวันตกเป็นอย่างดี อุตสาหกรรมโรงอาบน้ำกับกิจการการค้าประเวณีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไต้หวันอยู่ในการปกครองของอาณานิคมญี่ปุ่น

กิจการ “โรงอาบน้ำ” เจริญถึงขีดสุดในช่วงสงครามเกาหลีและเวียดนาม เมื่อถึงทศวรรษ 1970 รัฐบาลสมัยเจียงไคเช็กคว่ำบาตรอุตสาหกรรมค้ากาม เพราะในสายตาของรัฐบาล อุตสาหกรรมทางเพศคือรอยด่างพร้อยของสังคม เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูในเขตเป่ยโถวจึงอยู่ในภาวะถดถอย โรงอาบน้ำจึงถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานหลายครั้ง เช่น สถานีตำรวจ ทำเนียบผู้บริหารท้องถิ่น แต่ความร้อนจากใต้พื้นดินได้ส่งผลให้โครงสร้างอาคารนั้นทรุดโทรม และเมื่อขาดความดูแลเอาใจใส่ อาคารจึงถูกทิ้งร้างและปิดตายในที่สุด 

จนทศวรรษ 1990 โรงอาบน้ำกลับได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง เมื่อครูและนักเรียนทัศนศึกษาในพื้นที่และพบอาคารดังกล่าว จึงพยายามสืบค้นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่และอาสาสมัครในการช่วยจัดเก็บข้อมูล ในที่สุด ทางการท้องถิ่นร่วมมือกับภาคเอกชนในการบูรณะอาคาร จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารประวัติศาสตร์ระดับสาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 ต่อมาพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนเป่ยโถว (Beitou Hot Springs Museum) และเปิดประตูต้อนรับสาธารณชน เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1998 โรงอาบน้ำและการค้าประเวณีที่เคยเป็นรอยด่างพร้อยของสังคมกลับกลายเป็นจุดเด่นของชุมชน  

ภาพที่ 3 อ่างอาบน้ำมีความยาว 9 เมตรและความกว้าง 6 เมตร นับเป็นอ่างอาบน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกในสมัยแรกสร้าง ©ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2014.

ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ถิ่นกำเนิดโฮกุโทไลต์
ตั้งชื่อตามสถานที่พบแร่กำมะถันที่พบได้ในไต้หวันและญี่ปุ่น โดยจัดแสดงแร่ที่มีน้ำหนักถึง 800 กิโลกรัม โรงอาบน้ำสาธารณะซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้ว ประวัติน้ำพุร้อน สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ต่าง ๆ เหมือนเมื่อครั้งที่โรงอาบน้ำเคยใช้งาน อ่างอาบน้ำภายในอาคารมีซุ้มวงโค้งด้วยสัดส่วนที่พอเหมาะและเสารับน้ำหนักล้อมรอบอ่าง นับความงดงามของการออกแบบสถาปัตยกรรม

นิทรรศการอีกส่วนหนึ่ง “ฉายฉานความยิ่งใหญ่ของเป่ยโถว” (Seeing Greater Beitou) นำเสนอการฟื้นฟูมรดกจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวชุมชน นอกจากนี้ มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและจัดแสดงผลงานศิลปะ ดังเช่นการจัดแสดงผลงานจากกิจกรรม “วิจิตรศิลป์ถิ่นเป่ยโถว” (Painting Beritou Together) ด้วยการเชิญชวนให้นักเรียนของสถานศึกษาในท้องถิ่นและชาวชุมชน ร่วมกันอวดฝีแปรงบันทึกภูมิทัศน์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ยังมีห้องฉายสารคดีบอกเล่าเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนเป่ยโถว ในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชุมชน ส่วนสุดท้ายเป็นห้องสันทนาการที่ปูด้วยเสื่อตาตามิ สถานที่ดังกล่าวเคยเป็นห้องรับรองผู้ใช้บริการโรงอาบน้ำได้เอกเขนกหลังจากการอาบน้ำพุร้อน

ภาพที่ 4 ส่วนจัดแสดงภูมิสัณฐานของเทือกเขาต้าถุน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการลำเลียงน้ำพุร้อนมายังโรงอาบน้ำสาธารณะ
©ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2014.

ผลพลอยได้จากการบูรณะและพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์นิเวศ คือจำนวนผู้มาเยือนสูงนับแสนคนในแต่ละปี เป่ยโถวในวันนี้กลายเป็นย่านที่ได้รับความนิยม โรงอาบน้ำกลับมาดำเนินกิจการ
และสร้างเม็ดเงินในพื้นที่ได้อีกครั้ง แม้ในอดีตโรงอาบน้ำที่แฝงการค้าประเวณีเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจ แต่คนในชุมชนเลือกที่ยอมรับและไม่ฝังกลบประวัติศาสตร์นั้น พวกเขาใช้อดีตและพัฒนาพื้นที่ในการบอกเล่าอัตลักษณ์ของตน

มรดกหมู่บ้านในชนบท

ตั้งแต่ ค.ศ.1953 รัฐบาลส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร เมื่อเทคโนโลยีทดแทนแรงงานคนและสัตว์ ผู้คนในชนบทจึงย้ายเข้าสู่เมือง สัดส่วนประชากรในชนบทและเมืองจึงไร้สมดุล ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงกำหนดแนวคิดภูมิทัศน์ในการเชื่อมโยงธรรมชาติกับวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตขึ้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะหมู่บ้านชนบทถูโกว (Togo Rural Village Art Museum) ในเขตปกครองตนเองไถหนานใกล้กับช่องแคบไต้หวัน เป็นตัวอย่างของความพยายามในการฟื้นฟูชนบทที่น่าสนใจ

ภาพที่ 5 กิจกรรมศิลปะผู้สูงวัยในชุมชนกับการสร้างสรรค์ผลงาน
(ภาพจาก https://www.instituteforpublicart.org/site/assets/files/5104/13177979_1186942494650372_8409756638648804902_n.768x0.jpg)

คนหนุ่มสาวรวมตัวกันและจัดตั้งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหมู่บ้านชนบทถูโกว ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ ไถหนาน จึงเกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ชนบทด้วยศิลปะ ตั้งแต่ ค.ศ. 2004 ชาวบ้านที่เป็นช่างไม้ ช่างเหล็ก และคนทั่วไปร่วมทำกิจกรรมศิลปะกับนักศึกษา
หลายคนได้พัฒนาความเข้าใจชีวิตในหมู่บ้านด้วยการเรียนรู้ในการสื่อสารกับชาวบ้านและความเคารพกับคนในพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัย

ผลลัพธ์จากกิจกรรมที่อาศัยความร่วมมือเกิดเป็นผลงานศิลปะในสถานที่ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นกลายเป็นวัตถุสะสมชิ้นแรกของพิพิธภัณฑ์คือ ประติมากรรมรูปควาย ที่ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน เดิมทีควายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงกันในครัวเรือน แต่เมื่อเครื่องจักรเข้ามาแทน แรงงานจากสัตว์จึงลดความสำคัญ ประชากรควายลดลงตามลำดับจนเหลือเพียงตัวเดียวในหมู่บ้าน ประติมากรรมควายกลายเป็นสัญลักษณ์ในการฟื้นฟูจิตวิญญาณของหมู่บ้านชนบท

จนในที่สุด ค.ศ. 2012 พิพิธภัณฑ์ศิลปะหมู่บ้านชนบทถูโกวเปิดอย่างเป็นทางการ ด้วยคำขวัญที่ว่า “พิพิธภัณฑ์อยู่ในหมู่บ้านและหมู่บ้านคือพิพิธภัณฑ์” ท้องนาเปรียบประหนึ่งผืนผ้าใบธรรมชาติ และชาวบ้านคือศิลปินร่วมรังสรรค์ผลงานจากดินอุดม 

ภาพที่ 6 ประติมากรรมจัดแสดงกลางแจ้งในทุ่งนา
(ภาพจาก https://www.instituteforpublicart.org/site/assets/files/5105/14203396_1275986499079304_3001142096385493634_n.768x0.jpg)

นักศึกษาหลายคนเลือกกลับมาตั้งรกรากในพื้นที่ภายหลังสำเร็จการศึกษา ด้วยการประกอบกิจการขนาดเล็ก เช่น Buffalo Design Tribe, Farming Arts and Crafts และ Elegant Art Factory นับเป็นกิจกรรมที่อัดฉีดพลังคนรุ่นใหม่เข้าไปในพื้นที่

ในระยะต่อมา เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบกับชาวบ้านตามแนวคิดเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนเกิดการทำงานศิลปะจากข้าวที่เรียกว่า อาร์ตมี่ (Art Mi) และผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกในแบรนด์อาร์ตมี่อีกด้วย ผู้มาเยือนสามารถหาประสบการณ์จากการเรียนรู้เรื่องอาหารถิ่น การเกษตร และหัตถกรรม หรือเยี่ยมเยือนหมู่บ้านในเทศกาลศิลปะประจำปีที่จัดแสดงผลงานศิลปกรรมที่เกิดขึ้นการทำงานร่วมกันของศิลปินกับชาวบ้าน 

ตลอดระยะเวลากว่าสิบปี ความร่วมมือของสมาคม ฯ กับสถาบันการศึกษาก่อให้เกิดกิจกรรม
อย่างต่อเนื่อง และการทำงานกับภาคเอกชนในการแปลงศิลปะให้เป็นรายได้ของชุมชน  จึงเห็นได้ว่าสมาชิกชุมชนและคนหนุ่มสาวได้ร่วมกันพัฒนาโครงการศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะหมู่บ้านชนบทถูโกวเกิดขึ้นด้วยแรงขับเคลื่อนของชุมชนอย่างจริงจัง ภาคีและเครือข่ายในพื้นที่จึงต้องเข้าใจสถานการณ์ของหมู่บ้านชนบทที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และต้องรู้จักปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานที่ตอบโจทย์พื้นที่อยู่เสมอ

ความหมายพิพิธภัณฑ์ที่ชุมชนสร้าง

งานมรดกวัฒนธรรมของไต้หวันเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ทางสังคมอย่างชัดเจน ด้วยการส่งเสริมบทบาทพลเมืองในการพัฒนาและสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น

โครงการพิพิธภัณฑ์นิเวศจึงเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนเป่ยโถวในเขตเมืองเกิดขึ้นเพราะชุมชนต้องการเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่น และไม่ปฏิเสธเรื่องราวการค้าประเวณีที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคม กิจการโรงอาบน้ำจึงสามารถกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะหมู่บ้านชนบทถูโกวในเขตชนบท พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษากับสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมถูโกว กิจกรรมหลายอย่างกลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ของคนต่างวัย หลายอย่างเปิดโอกาสให้คนสูงวัยพบปะกับคนต่างถิ่นและยังความภาคภูมิใจในถิ่นฐานของตน

ภาพที่ 7 ประติมากรรมจากข้าวสะท้อนการใช้ผลิตผลจากดินในการสร้างผลงานศิลปกรรม
พิพิธภัณฑ์ศิลปะหมู่บ้านชนบทถูโกว ไถหนาน
(ภาพจาก https://dynamic-media-cdn.tripadvisor.com/media/photo-o/0a/67/24/81/photo1jpg.jpg?w=1200&h=-1&s=1)

การวางโจทย์ของพิพิธภัณฑ์นิเวศจึงไม่ได้ยึดติดกับเขตหรือพื้นที่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
การพัฒนาพิพิธภัณฑ์หรือกระบวนการมรดกควรตอบโจทย์ในการพัฒนาบนฐานทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และเปิดโอกาสในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันของมนุษย์ต่างวัยในสังคม.

อ้างอิง

กระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน). 2021. 2020-2021 ไต้หวันในหนึ่งนาที. จาก https://multilingual.mofa.gov.tw/web/web_UTF-8/MOFA/glance2020-2021/2020-2021%20Taiwan%20at%20a%20Glance%20(Thai).pdf, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565.

สำนักการท่องเที่ยวไต้หวันประจำกรุงเทพ. (ม.ป.ป.). ห้องสมุดสาธารณะเป่ยโถว (Beitou Library), จาก https://www.taiwantourism.org/th/where-to-go/ห้องสมุดสาธารณะเป่ยโถว, สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565.

Beitou Hot Spring Museum. (n.d.). “Welcome to Beitou Hot Spring Museum: 100 years of Beitou's Splendor”, Beitou Hot Spring Museum, available from https://hotspringmuseum.taipei/News_Content.aspx?n=7F7676C34AC3FCF9&sms=CDFD835559552999&s=14090D7DD708233F, accessed on July 11, 2022.

Kembel, Nick. 2022. “Beitou Hot Spring & Thermal Valley: A Detailed 2022 Guide”, Spiritual Travels, available from https://www.nickkembel.com/beitou-hot-spring/#A_Brief_History_of_Beitou, accessed on June 6, 2022.

Lai, Ying-Ying. “In the Name of the Museum: The Cultural Actions and Values of the Togo Rural Village Art Museum, Taiwan.” In Museums and Social Change: Challenging the Unhelpful Museum, edited by Adele Chynoweth, Bernadette

Liu, Zhen-Hui, and Yung-Jaan Lee. “A Method for Development of Ecomuseums in Taiwan.” Sustainability 7, no. 10 (September 25, 2015): 13249–69. https://doi.org/10.3390/su71013249.

Lynch, Klaus Petersen, and Sarah Smed. Museum Meanings. Milton Park, Abingdon, Oxon ; New York, NY: Routledge, Taylor and Francis Group, 2020.

———. “Museum Collection Re-Defined: A Case Study of TOGO Rural Art Museum, Taiwan.” Muzeológia a Kultúrne Dedičstvo 7, no. 1 (2019): 75–82.

Zhang, Heng, Chu-Yao Peng, and Ru-Hui Zhang. “Relationships between Community as an Ecomuseum and Sustainable Community Development: Lessons from Tainan, Taiwan.” In Proceedings of the International Conference on ’Cities, People and Places’Proceedings of the International Conference on “Cities, People and Places.” Colombo: University of Moratuwa, 2014.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ