Muse Around The World
อัลคาทราซ - พิพิธภัณฑ์ที่โลกต้องจำ!
Muse Around The World
24 ส.ค. 66 2K
สหรัฐอเมริกา

ผู้เขียน : ศิรดา เฑียรเดช

In Focus

  • Alcatraz Island หรือเกาะอัลคาทราซในอ่าวซานฟรานซิสโก ไม่ห่างจากสะพานโกลเดนเกต เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ในการจองจำมนุษย์ในหลายช่วงเวลา คุกอัลคาทราซเปิดใช้งานจนถึง ค.ศ. 1963
  • ค.ศ. 1972 อัลคาทราซอยู่สำนักอุทยานแห่งชาติ (National Park Service) และได้รับการบูรณะ  พร้อมทั้งพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์คุกเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับผู้สนใจประวัติศาสตร์ หรือต้องการสำรวจอาณาบริเวณที่เคยถูกปิดกั้นจากโลกภายนอก
  • การจัดแสดงเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบที่เคยใช้งาน และถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำของอดีตนักโทษ นอกจากนี้ การสวมบทบาทเป็นผู้คุมเรือนจำ นับเป็นเทคนิคในการนำเสนอชีวิตของผู้คนที่ใช้ชีวิตในสถานที่แห่งนี้
  • อัลคาทราซและพิพิธภัณฑ์คุกอีกหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงสถานที่ที่เคยเกิดภัยพิบัติเป็นทางเลือกของการท่องเที่ยวสายดาร์ก นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งต้องการสัมผัสสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ แต่กลับเป็นบทเรียนสอนใจ หรืออีกหลายคนอาศัยการเยี่ยมชมในการรำลึกถึงบุคคลที่จากไปในเหตุการณ์และสถานที่นั้น

 

ว่ากันว่าไม่มีใครรู้จักชาติใดอย่างแท้จริง จนกว่าจะเข้าไปอยู่ในคุกของชาตินั้น
จึงไม่ควรตัดสินคุณค่าของชาติจากการปฏิบัติต่อพลเมืองที่มีอำนาจ
แต่ควรตัดสินจากการปฏิบัติต่อคนที่ด้อยค่าที่สุด

                                                                                                           เนลสัน แมนเดอลา

 

เกาะอัลคาทราซ เป็นเกาะเล็กตั้งอยู่กลางอ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนครซานฟรานซิสโก จากตำแหน่งของสะพานโกลเดนเกตที่เชื่อมระหว่างซานฟรานซิสโกกับมารินเคาน์ตี้ เราจะมองเห็นเกาะแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน        

ฮวน มานูเอล เดอ อยาลา นักสำรวจชาวสเปน ผู้เดินทางมายังอ่าวซานฟรานซิสโกค้นพบเกาะแห่งนี้เมื่อ ค.ศ. 1775 และขนานนามตามลักษณะที่พบ ลา อิสลา เดอ ลอส อัลคาทราซ ซึ่งแปลว่า “เกาะแห่งนกกระทุง” เกาะมีสภาพที่แห้งแล้ง และตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางอ่าวซานฟรานซิสโก กระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากและมีอุณหภูมิติดลบระดับจุดเยือกแข็งห้อมล้อมเกาะแห่งนี้ไว้ พอ ๆ กับคลื่นลมที่โหมกระหน่ำและฝูงปลาฉลามอันดุร้าย

ค.ศ. 1859 อัลคาทราซเป็นสถานที่ตั้งประภาคาร ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพสหรัฐ ต่อมา
ค.ศ. 1934 อัลคาทราซกลายสภาพเป็นเรือนจำทหาร โดยมีนักโทษจากสงครามกลางเมือง และอาชญากรชื่อกระฉ่อนหลายคน หนึ่งในนักโทษที่ถูกคุมขังบนเกาะนี้คือ อัล คาโปน อาชญากรตัวฉกาจในสหรัฐฯ เมื่อทศวรรษ 1920-1930

นอกจากนี้ มีเรื่องเล่าถึงการแหกคุกของแฟรงค์ ลี มอร์ริส จอห์นและคลาเรนซ์ แอนกลิน ทั้งสามร่วมกันวางแผนและหลบหนีสู่โลกภายนอกได้สำเร็จ เสมือนแผนปฏิบัติการในภาพยนตร์ “มิชชั่น อิมพอสซิเบิล” ความสำเร็จของทั้งสามแตกต่างจากนักโทษอีกหลายราย บ้างถูกจับกุมถูกทรมาน หรือถูกยิงและเสียชีวิต 

ด้วยชีวิตอันทารุณของผู้ต้องขังและเหล่าอาชญากรตัวฉกาจ อัลคาทราซจึงเป็นเรือนจำที่โหดร้ายและลึกลับในภาพจำของใครหลายคน อัลคาทราซยังเป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Escape from Alcatraz ค.ศ.1979 โดยมีคลินซ์ อีสต์วู้ด รับบทเป็นแฟรงค์ ลี มอร์ริส และเดอะร็อค ยึดนรกป้อมมหากาฬ ค.ศ.1996 ที่มีกลุ่มนักโทษลุกฮือและเข้าควบคุมคุก ด้วยการข่มขู่ในการปล่อยขีปนาวุธเพื่อทำลายล้างนครซานฟรานซิสโกได้สำเร็จ ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จและ
อัลคาทราซได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง

อัลคาทราซกับความหมายที่เปลี่ยนแปลง

 ค.ศ.1963 เมื่ออัลคาทราซปิดตัวลง และอยู่ในกำกับของอุทยานแห่งชาติ ค.ศ. 1972 หนึ่งปีหลังจากนั้นอัลคาทราซเปลี่ยนโฉมหน้าเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ทั้งตัวอาคารและวัตถุอีกจำนวนหนึ่งได้รับการเก็บรักษาอย่างดีในสภาพที่เคยใช้งาน ในการเดินทางมายังอัลคาทราซ ผู้มาเยือนลงเรือจากท่าเรือ Pier 33 เพื่อข้ามฟากมายังเกาะ เจ้าหน้าที่ส่วนหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยวและบอกเล่าความเป็นมาและความสำคัญของอัลคาทราซ

การจัดแสดงมีทั้งภายในอาคารสองหลังและนอกอาคาร อาคารหลังแรกตั้งอยู่ที่ส่วนหน้าของเกาะซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษ ห้องแรกเป็นห้องฉายภาพยนตร์สั้นกล่าวถึงความเป็นอยู่ของนักโทษตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน จากนั้น ผู้ชมเยี่ยมชมอาณาบริเวณต่าง ๆ ได้แก่ห้องคุมขังนักโทษ ห้องซักรีด ห้องอาบน้ำ ห้องทำงานและวิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่ ห้องเก็บอาวุธและเครื่องมือลงโทษ

ภายในอาคาร มีสถานการณ์จำลอง พนักงานพิพิธภัณฑ์สวมบทบาทเป็นผู้คุมและเปิดปิดประตูห้องคุมขังด้วยกลไกควบคุมที่มีเสียงดังก้องทั้งอาคาร พร้อมด้วยการตะโกนร้องปลุกนักโทษในตอนเช้าเพื่อให้นักโทษปฏิบัติภารกิจ การแสดงกระทบความรู้สึกและเร้าอารมณ์ของผู้เข้าชม ทั้งความตื่นเต้น ความตกใจ ให้ความรู้สึกเสมือนอยู่หน้าห้องคุมขังที่ยังใช้งาน 

ซากอาคารที่หลงเหลือตั้งอยู่ไม่ไกลจากอาคารหลัก และแสดงบรรยากาศโดยรอบ (ภาพโดยศิรดา เฑียรเดช)

ก่อนจะออกจากอาคาร มีร้านขายของที่ระลึก และไฮไลต์คือการพบปะกับนักเขียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวของอัลคาทราซจากความทรงจำ แม้จะอายุย่างเข้าวัยแปดสิบ แต่ยินดีมาพูดคุยกับผู้สนใจ พร้อมแจกลายเซ็นบนปกหนังสือและถ่ายภาพร่วมกับผู้เข้าชม ในทำนอง human library หรือ “หนังสือที่พูดได้” ที่สร้างบทสนทนาของการเรียนรู้ระหว่างกัน

ส่วนอาคารด้านท้ายเกาะได้รับการบูรณะแต่รักษาสภาพดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี นิทรรศการข้างในจัดแสดงอัตชีวประวัติของนักโทษ ประกอบด้วยเนื้อหา ภาพถ่าย เสียงสัมภาษณ์ของนักโทษ ผู้ชม
สามารสแกนคิวอาร์โค้ดสำหรับการฟังเสียงบันทึกเหล่านั้น  แต่ละส่วนได้รับการออกแบบด้วยการจัดแสงและการตกแต่งให้ใกล้เคียงกับสภาพดั้งเดิมของอัลคาทราซ นับเป็นการจัดแสดงที่มีชีวิตชีวาและเร้าอารมณ์ของผู้เข้าชม ส่วนภายนอกอาคารด้านท้ายเกาะซึ่งเคยเป็นลานกีฬาสำหรับออกกำลังกายของนักโทษ ผู้เข้าชมสามารถเดินเล่นพักผ่อน ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ของอ่าวซานฟรานซิสโกอันสวยงาม

ปัจจุบันมีการจัดเส้นทางท่องเที่ยวชมเกาะอัลคาทราซในตอนกลางวันและกลางคืน และเรือข้ามฟากที่บริการรับส่งนักท่องเที่ยวในแต่ละวันถึง 19 รอบ คุกที่เคยได้ชื่อว่าโหดร้ายและน่ากลัวกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางเพื่อแสวงหาประสบการณ์ใหม่

การสืบค้นข้อมูลและเรื่องราว และนำมาออกแบบให้เนื้อหาสำหรับนิทรรศการและสื่อต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ นับเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ งานออกแบบและเทคนิคจัดแสดงที่เหมาะสมช่วยขับให้เรื่องราวนำเสนออย่างน่าสนใจ และก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นทั้งแหล่งความรู้และแหล่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

การท่องเที่ยวสายดาร์ก

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1960 เรือนจำหลายแห่งได้รับการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าด้านการศึกษาและจิตวิญญาณ นอกจากอัลาคาทราซแล้ว ยังมีเรือนจำอีกหลายแห่งที่ได้รับการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เรือนจำคิลเมนฮาม เมืองดับลิน สหราชอาณาจักร พิพิธภัณฑ์เรือนจำโตลสเลง กรุงพนมเปญ กัมพูชา พิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบะชิริ เมืองฮอกไกโด ญี่ปุ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2566 เป็นต้น

Enactment เทคนิคการสวมบทบาทใช้เป็นสื่อในการสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ชมและสร้างบรรยากาศให้กับคุกที่ปรับสภาพเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ (ภาพโดยศิรดา เฑียรเดช)

ด้วยแนวคิดในการใช้อดีตเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน อาคารเรือนจำได้รับการประยุกต์ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ประกอบการนำเสนอวัตถุในเรือนจำและเรื่องราวอีกจำนวนมากมายที่ฝังลืม สิ่งเหล่านี้ได้ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรม เรื่องเล่าจากความทรงจำของผู้ต้องขังสะท้อนเรื่องราวอันเจ็บปวดในอดีต

นอกจากพิพิธภัณฑ์เรือนจำ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสายดาร์กอื่น ๆ เช่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของยูเครน บรรยากาศสุดหล่อนของเมืองที่ทิ้งร้างจากเหตุการณ์ระเบิดที่รุนแรงในประวัติศาสตร์ หรือค่ายกักกัน เอาชวิทซ์ - เบียร์เกอเนาในโปแลนด์ ที่มีกลุ่มอาคารที่เคยเป็นที่ต้องขังของนักโทษ และซากปรักหักพังของเตาเผาศพ เมื่อครั้งเยอรมนีเข้ายึดครองโปแลนด์
ค.ศ. 1939-1945 

สภาพห้องที่แฟรงค์ ลี มอร์ริส หนึ่งในนักโทษแหกคุกเคยพำนัก (ภาพโดยศิรดา เฑียรเดช)

การท่องเที่ยวสายดาร์กนำพาผู้สนใจย้อนไปในกาลเวลา และสำรวจความทุกข์ระทมและโศกนาฏกรรมอันขมขื่น การทำความรู้จักกับบาดแผลที่เคยเกิดขึ้น คือโอกาสในการแสวงหา
บทเรียนที่สอนใจให้ระลึกถึงความเลวร้ายเช่นในอดีต แต่ชวนให้ขบคิดถึงสิทธิของผู้คนในการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สำหรับคนอีกจำนวนหนึ่ง การเดินทางไปยังสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์เลวร้ายกลายเป็นช่วงเวลาในการรำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์เหล่านั้น

แหล่งข้อมูล

National Park Service. (n.d.), “Island of Incarceration, Island of Freedom,” available from https://www.nps.gov/alcatraz.

Billock, Jennifer. (2019). “Five of the Most Fascinating Prison Museums in America: From Alcatraz to Cell Block 7, these jails now hold tours instead of prisoners,” available from https://www.smithsonianmag.com/travel/five-most-fascinating-prison-museums-america-180969137/

Tewell, Megan Cullen. (2018). Historic Prison Museums and the Promise of the “New Museology”. Theory and Practice, Vol. 1, 2018, available from https://articles.themuseumscholar.org/2018/06/14/tp_vol1tewell/

Wikipedia. (2023). “List of jail and prison museums,” available from https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_jail_and_prison_museums    

Coates, Charlotte. (2022). “How are Museums working with Prisons, Ex-Offenders and exploring the justice system?,” available from https://www.museumnext.com/article/museums-prisons-and-ex-offenders/     

Sampson, Hannah. (2019). “Dark tourism, explained. Why visitors flock to sites of tragedy,” available from https://www.washingtonpost.com/graphics/2019/travel/dark-tourism-explainer/#:~:text=Dark%20tourism%20refers%20to%20visiting,disaster%20%E2%80%94%20either%20natural%20or%20accidental.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ