Muse Around The World
สานวัย สานใจ : ประสบการณ์จากพิพิธภัณฑ์ในฟินแลนด์
Muse Around The World
21 ก.ย. 66 2K
ฟินแลนด์

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

In Focus

  • Intergenerational programs หรือการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัยเป็นแผนงานสำคัญของในหลายประเทศทั่วโลก วัตถุประสงค์สำคัญคือการสร้างโอกาสให้คนต่างรุ่นได้ร่วมทำกิจกรรม เพื่อสร้างการเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ระหว่างกันและกัน กิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องสามารถลดภาวะความโดดเดี่ยวทางสังคมที่เกิดได้กับคนทุกวัย
  • สมาคมพิพิธภัณฑ์ฟินแลนด์ดำเนินโครงการที่เรียกว่า Crema ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ภูมิภาค
    สกอนเนอ (Regional Museum of Skåne) สวีเดนและอีกหลายองค์กรในยุโรป ระหว่าง ค.ศ. 2019 กับ ค.ศ. 2022
  • โครงการ CREative MAking for Lifelong Learning นี้ ต้องการสำรวจการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้ใหญ่ และการถ่ายทอดชุดประสบการณ์ทำงานที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • การออกแบบกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์มีหลากหลายลักษณะ เช่น สองวัยร่วมสำรวจพิพิธภัณฑ์ ที่มุ่งหวังให้คนต่างวัยใช้เวลาร่วมกัน และแบ่งปันมุมมองต่อเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์ หรือคนทำงานรุ่นพี่และรุ่นน้องในสายอาชีพต่าง ๆ ใช้พื้นที่พิพิธภัณฑ์ในการสนทนาและการเรียนรู้ระหว่างกัน นำมาสู่พลังกายและพลังใจที่มีให้แก่กัน

In Content

ในวันที่สังคมเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายช่วงอายุ คนต่างวัยมีโอกาสสนทนากันเพราะอยู่ใน
ครัวเรือนเดียวกัน หรือทำงานร่วมกัน อีกหลายกรณี ต่างเป็นเพียงคนที่เดินสวนกันในท้องถนน การส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัย (intergenerational learning)จึงเกิดขึ้น และมีจุดมุ่งหมายให้สมาชิกต่างวัยใช้เวลาร่วมกัน

กิจกรรมหลากหลายรูปแบบช่วยสร้างบทสนทนา และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองของกันและกัน อีกหลายกิจกรรมเป็นโอกาสในการพัฒนาทักษะ ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือทักษะที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่อ่อนวัยและผู้ที่สูงวัยสามารเป็นผู้เรียนและผู้ถ่ายทอดความรู้ในวาระและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

ความสำเร็จของการเรียนรู้ระหว่างวัยคือการส่งเสริม ความเข้าใจและการให้ความเคารพ ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาวะความโดดเดี่ยวทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัน การลดอคติทางสังคมและฟื้นฟูย่านชุมชน รวมถึงการพัฒนาความพร้อมในการทำงานหรือเพื่อนร่วมวิชาชีพในแต่ละสาขา เป็นต้น

IGL หรือการเรียนรู้ระหว่างวัยเกิดขึ้นจากความเข้าใจและความเคารพของคนต่างวัยที่แบ่งปันเวลาและทำงานกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาทักษะ สร้างคุณค่าและความรู้ (จาก https://www.youtube.com/watch?v=czdIeqxfb-g )

“ครีมา” (CREMA) กับโปรแกรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในยุโรป

CREMA หรือ ครีมา ย่อมาจากชื่อโครงการ CREative MAking for Lifelong Learning ที่ดำเนินงานตามแผนงานย่อยอิรามุส พลัส (ERAMUS+) สหภาพยุโรป ระหว่าง ค.ศ.2019 กับ ค.ศ. 2022 แผนงานดังกล่าววางจุดมุ่งหมายในการพัฒนาการเรียนรู้ระหว่างกันในกลุ่มประเทศยุโรป โดยอาศัยความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม นำไปสู่ความเข้าอันดีของพลเมืองและการสร้างอัตลักษณ์ร่วมยุโรป

ครีมาจึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กร 7 แห่งในยุโรป ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ภูมิภาคสกอนเนอ (Regional Museum of Skåne) ประเทศสวีเดน สมาคมพิพิธภัณฑ์ฟินแลนด์ ประเทศฟินแลนด์ สำนักงานประวัติศาสตร์และศิลปะ ประเทศเดนมาร์ก พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งฮังการี (Hungarian Open Air Museum) พิพิธภัณฑ์สร้างสรรค์ ประเทศรัตเวีย พื้นที่นักประดิษฐ์เรดิโอนา (Radiona Zagreb Makerspace) ประเทศโครเอเชีย และสำนักงานยุทธศาสตร์วัฒนธรรม (BAM! Strategie Culturali) ประเทศอิตาลี

ในกระบวนการทำงาน โครงการต้องการสำรวจแนวปฏิบัติที่เหมาะสมและวิธีการใหม่ ๆ ในการพัฒนาพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่โดยใช้พิพิธภัณฑ์และงานสะสมในการส่งเสริมการเรียนรู้ ผลจากการสำรวจพิพิธภัณฑ์ 36 แห่ง มีพิพิธภัณฑ์จำนวน 30 แห่งที่ระบุถึงแผนงานและกิจกรรมในการส่งเสริมการเรียนรู้ระหวางวัย กิจกรรมที่ได้รับนิยมในการส่งเสริมการเรียนรู้คือ การประดิษฐ์ที่สอดคล้องกับงานสะสมของพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง

‘สานวัย สานใจ’ ในประสบการณ์ฟินแลนด์

Ge&IN หรือ Generations in interaction เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันขององค์กร 7 แห่งโดยมี
ฟอรัมพลเมืองฟินแลนด์ (Finnish Citizens’ Forum) ทำหน้าที่ประสานงาน วัตถุประสงค์หลักได้แก่การยกระดับการทำงานของครู อำนวยกร และผู้สอนในภาคการศึกษาผู้ใหญ่ ด้วยกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัย จากนั้น มีการถอดบทเรียนจากการทำงานและเผยแพร่ความรู้ในช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ

  • หลายวัยท่องพิพิธภัณฑ์ เป็นกิจกรรมนำร่องที่จัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์นอร์ทเคเรเลีย (North Karelian museum) ในฮิลมา ค.ศ.2019 พิพิธภัณฑ์ออกแบบให้สมาชิกที่เข้าร่วมจำนวน
    17 คน ที่มีปีเกิดระหว่าง ค.ศ. 1944 กับ ค.ศ. 2012 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเยี่ยมชมนิทรรศการ และจับกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นจากการชมและประสบการณ์ส่วนบุคคล เรื่องเล่าสะท้อนถึงเหตุการณ์ในอดีต และเกร็ดความรู้ที่แต่ละฝ่ายหยิบยกมาสนทนา
  • พิพิธภัณฑ์คือสื่อกลางระหว่างวัย เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสมาคมพิพิธภัณฑ์ฟินแลนด์กับสมาคมมรดกวัฒนธรรม โดยจัดกิจกรรม ณ พิพิธภัณฑ์ฟอร์สสา เมื่อ ค.ศ. 2013-2016 ร่วมกับโรงเรียนอนุบาล เด็กน้อยกับปู่ย่าตายายได้รับภารกิจในการเที่ยวพิพิธภัณฑ์สองครั้ง และพูดคุยเกี่ยวกับการสื่อสารและสื่อกลางที่ใช้เมื่อครั้งอดีตและในปัจจุบัน เด็กน้อยได้รับรู้ถึงเครื่องมือสื่อสารที่ตนไม่รู้จักในบ้านของตนเองหรือปู่ย่าตายาย ส่วนผู้สูงวัยในครอบครัวรู้จักเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เด็กน้อยใช้ในทุกวันนี้

 

นิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์สงครามและการฟื้นฟู ซัลลา ที่เป็นฐานในการทำงานกิจกรรมระหว่างนักเรียนกับผู้อาวุโสในชุมชน (ภาพจาก https://museot.fi/uploadkuvat/nayttelykuvat/museotfi_perusnyttely.jpg)

  • วิถีในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต กิจกรรมจัดขึ้นภายใต้กรอบงานพิพิธภัณฑ์ในฐานะสื่อกลางด้วยความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์สงครามและการฟื้นฟู ซัลลา (Salla Museum of War and Reconstruction) กับโรงเรียนในท้องถิ่น และสมาคมผู้สูงวัย เด็กจากโรงเรียนในพื้นที่กับผู้สูงวัยเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เป็นกลุ่มย่อย ๆ เด็กน้อยพูดคุยกับผู้สูงวัยเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสภาพปัจจุบันและสิ่งที่กำลังจะเกิดในวันข้างหน้า เด็ก ๆ ใช้
    ไอแพดในการบันทึกบทสนทนา จากนั้น ใช้เวลาในการตัดต่อไฟล์บันทึกให้อยู่ในรูปแบบ “เรื่องเล่าดิจิทัล” (digital stories) และกลับมานำเสนอกับผู้สูงวัยอีกครั้ง นับเป็นโอกาสอันดีที่เด็กน้อยพัฒนาทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัล พร้อมทั้งเรียนรู้วิถีชีวิตของท้องถิ่น
  • จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เกิดขึ้นจากการทำงานของพิพิธภัณฑ์โรงแรมและภัตตาคาร (Hotel and Restaurant Museum) พิพิธภัณฑ์ใช้งานสะสมในการสร้างบทสนทนาให้กับคนทำงานในแวดวงต่าง ๆ รุ่นพี่และรุ่นน้องได้พบปะกัน โดยเฉพาะระหว่างคนที่เกษียณจากการทำงานและคนทำงานในปัจจุบัน การพัฒนาตนเองของรุ่นพี่กลายเป็นประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นให้กับรุ่นน้อง คนรุ่นใหม่ในวงการจึงเห็นสำคัญในการเรียนรู้พัฒนาการในสายงานของตน
    นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานสะสม และบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติวัตถุและเรื่องราวการทำงานที่จารไว้ด้วยประสบการณ์ของผู้คน
  • ทดลองสร้าง กิจกรรมนี้นับเป็นความท้าทายในการพัฒนาศักยภาพคนทำงาน เริ่มต้นจากการสำรวจแนวคิดการเรียนรู้ระหว่างวัยและประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบกิจกรรม
    • การเรียนรู้ระหว่างวัยคืออะไร ผู้ร่วมการอบรมเริ่มต้นสำรวจความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ระหว่างวัยจากการชมวีดิทัศน์เรื่อง Core concepts of intergenerational learning และอภิปรายถึงคุณค่าของการสร้างการเรียนรู้ของตนต่างรุ่น ข้อคิดเห็นที่ได้จากผู้เข้าร่วม เช่น การถ่ายทอดทักษะ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วม มุมมองใหม่ให้กับคนร่วมกิจกรรม บทบาทในการเป็นสื่อกลางของพิพิธภัณฑ์
    • ความท้าทายในการจัดการเรียนรู้ระหว่างวัย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมชมวิดีโอเรื่อง Shadows of intergenerational learning และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมพูดคุยประสบการณ์
      ส่วนบุคคล เมื่อต้องเผชิญกับคนต่างวัยในการทำงานและการดำเนินชีวิตประวัน แต่ละคนต้องปรับตัวและตั้งรับกับมุมมองหรือพฤติกรรมของคนต่างวัยอย่างไร
    • ความเป็นไปได้ในการออกแบบการเรียนรู้ระหว่างวัย ผู้เข้าอบรมชมวีดิโอเรื่อง Learning from the future และได้รับมอบภารกิจในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับกลุ่มคนที่อยู่ใน
      อพาร์ตเมนท์เดียวกัน กิจกรรมที่ออกแบบจะต้องส่งเสริมให้สมาชิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในอาคาร โดยต้องให้ทุกคนได้ใช้ทักษะของตนและเรียนรู้ผู้อื่น เช่น การสร้างสถานีรีไซเคิลในอาคาร การสร้างห้องที่ช่วยให้ผู้อาศัยทบทวนตนเอง “take what you need” 

ภาพ 3 "digital stories" ไม่เพียงพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เด็ก ๆ ที่ร่วมกิจกรรม แต่เป็นโอกาสในการเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่น
(ภาพจาก https://opimuseossa.fi/opimuseossa/uploadkuvat/Salla2.JPG)

Intergenerational Learning หรือ IGL การเรียนรู้ต่างวัยนับเป็นความท้าทายในงานพิพิธภัณฑ์
โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยมิได้มีเพียงการพัฒนาสุขภาวะทางกายให้กับผู้สูงวัยเท่านั้น แต่การส่งเสริมให้สมาชิกในสังคมได้เรียนรู้ระหว่างกันด้วยกิจกรรม จะช่วยให้ผู้สูงวัยและ “อนาคตผู้สูงวัย” ได้เข้าใจในตนเอง และมุมมองของผู้อื่น นำมาสู่ความเข้าใจและความเคารพที่มีให้กัน.

แหล่งข้อมูล

cremaproject.eu. “CREative MAking for Lifelong Learning.” Education. CREative MAking for Lifelong Learning, n.d. https://www.cremaproject.eu/about.

cremaproject.eu and Finish Museums Association. “Chapter 4 Guideline for Intergenerational Learning.” Education. CREative MAking for Lifelong Learning, n.d. https://static1.squarespace.com/static/5e216933d3bb8f2dd401ff34/t/64403b0c773458736db98e95/1681931022542/crema_output_4.pdf.

cremaproject.eu and Finish Museums Association. “Intergenerational Learning and Examples from Finnish Museums.” Education. CREative MAking for Lifelong Learning, n.d. https://www.cremaproject.eu/intergenerational-learning-and-examples-from-finnish-museums.

generations united. “Fact Sheet: Intergenerational Programs Benefit Everyone.” Education. generations united, 2021. https://www.gu.org/app/uploads/2021/03/2021-MakingTheCase-FactSheet-WEB.pdf.

Photo Credits

ภาพปก จาก https://www.cremaproject.eu/intergenerational-learning-and-examples-from-finnish-museums

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ