Muse Around The World
จักรวาลจุลินทรีย์ในไมโครเปีย
Muse Around The World
19 ต.ค. 66 801

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

In Focus

  • ไมโครเปีย (Micropia) พิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่จัดแสดงจุลินทรีย์กว่า 200 ชนิดที่ยังมีชีวิต
  • พิพิธภัณฑ์มุ่งหวังให้ผู้ชมเข้าใจธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
    และปรับเปลี่ยนความเข้าใจผิดในการมองว่าจุลินทรีย์มีแต่โทษและภัยต่อมนุษย์
  • ห้องปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารความเข้าใจในการศึกษาโลกของจุลินทรีย์
  • กิจกรรมแลปทล็อกคือโอกาสในการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับสาธารณชน

ในเมืองแห่งประวัติศาสตร์และสีสันวัฒนธรรมอย่างอัมสเตอร์ดัม ไมโครเปีย (Micropia) ชวนผู้ชมดำดิ่งไปในจักรวาลจุลิทรีย์ สิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า นอกจากคอลเลคชันที่มีชีวิตอย่างจุลิทรีย์หลากหลาย
สายพันธุ์ ไมโครเปียคือแหล่งเรียนรู้ที่ผสมผสานกิจกรรมกับความรู้ และออกแบบประสบการณ์ให้กับผู้ชมที่ไม่เหมือนใคร

เมื่อย่างเข้าสู่ไมโครเปีย ผนังจัดแสดงจานเพาะเชื้อจุลินทรีย์หลากชนิดในชีวิตประจำวัน ผู้ชมได้ทบทวนความเข้าใจผิดที่มีต่อจุลินทรีย์ เพราะแม้หลายชนิดเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและคนเรา แต่อีกจำนวนมหาศาลกลับมีบทบาทสำคัญในสมดุลธรรมชาติและสุขภาพของคนเรา พิพิธภัณฑ์จึงมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเห็นความสำคัญของจุลินทรีย์ที่เสมือนไร้ตัวตนในโลกใบนี้

จากการผสมผสานความเป็นศาสตร์กับศิลป์ “Live collection” แสดงให้เห็นเชื้อที่เพาะไว้ในรูปร่างที่แปลกตาและหลากสีสัน จุลินทรีย์เหล่านี้จึงตรึงผู้ชมไว้กับความงามในจักรวาลของสิ่งที่มองไม่เห็น และเรียนรู้ถึงการดำรงอยู่ของเหล่าจุลินทรีย์ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน

อาร์ติส (ARTIS) สวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ณ ใจกลางกรุงอัมสเตอร์ดัม คือหน่วยงานที่ริเริ่มและจัดตั้งไมโครเปีย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้บริการกับผู้ชมในย่านประวัติศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคารเลอเด็นโลคะเล็น (Ledenlokalen) ที่สร้างขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 19

ภาพ 1 การปรับปรุงพื้นที่ในอาคารประวัติศาสตร์ด้วยการออกแบบที่ทันสมัย
ประกอบด้วยโถงชั้นล่างที่ต้อนรับกลุ่มผู้ชมและนิทรรศการในชั้นบนของอาคาร
(ภาพจาก https://presentations.thebestinheritage.com/images/presentations/2017/19-b.jpg)

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แฮก แบเลียน (Haig Balian) อดีตผู้อำนวยการอาร์ติสวางวิสัยทัศน์สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ระหว่างโลกธรรมชาติกับชีวิตของคนในสังคม ที่สำคัญยิ่งกว่าการสะสมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตเช่นในอดีต ด้วยเหตุนี้ไมโครเปียจึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่เผยสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอยู่ร่วมกับเรามาอย่างยาวนาน

นับตั้งแต่วานเลเว็นฮุก (Van Leeuwenhoek) บิดาผู้วางรากฐานจุลชีววิทยาในศตวรรษที่ 17 ไมโครเทคโนโลยีในการสำรวจโลกจุลชีพได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกล้องจุลทรรศน์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ชีวเคมี และการศึกษาในระดับรหัสพันธุกรรม บรรยากาศภายในไมโครเปียปกคลุมด้วยความมืดและมีเพียงไฟส่องสว่างเฉพาะจุด ประหนึ่งผู้ชมย่างก้าวเข้าสู่จักรวาลจุลชีวิน หากต้องการสำรวจโลกของสิ่งมีชีวิต ผู้ชมสามารถใช้กล้องจุลทรรศน์ที่ได้รับการออกแบบเฉพาะในการมองโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของจุลินทรีย์

ภาพ 2 ควีนแม็กซิมา ราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ (Queen Máxima of the Netherlands)
เสด็จในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ค.ศ. 2014 และทรงประทับพระหัตถ์บนจานเพาะเชื้อ
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเปิดและทิ้งรอยจุลินทรีย์ของพระองค์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชัน
(ภาพจาก https://www.micropia.nl/media/filer_public_thumbnails/filer_public/d7/23/d7231fbc-d258-41a6-89c6-21fbfe960c6d/opeingmicropia_1920x1080.jpg__580x0_q85_subject_location-1581%2C402_subsampling-2.jpg)


ในมุมหนึ่ง ผู้ชมสำรวจเรือนร่างของตนด้วยการสแกนร่างกายและเครื่องทดลองนั้นจะแสดงจำนวนจุลินทรีย์จากการประเมิน ไม่เพียงเท่านั้นผู้ชมจะได้สังเกตการณ์นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานในห้องปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาและความรู้เฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหรือผู้เชี่ยวชาญด้านแบคทีเรียเพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ของการศึกษากับความรู้ที่จัดแสดงในนิทรรศการยิ่งขึ้น

ภาพ 3 ผนังจัดแสดงตัวอย่างจุลินทรีย์แต่ละชนิดที่พบในกิจวัตรประจำวันของผู้ชม
และอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบให้ผู้ชมสามารถสังเกตจุลินทรีย์อย่างใกล้ชิด
(ภาพจาก https://i0.wp.com/rachelsruminations.com/wp-content/uploads/2019/03/petri-dishes-1.jpg)


ไม่ใช่เพียงการสังเกตการณ์เท่านั้น กิจกรรม “แลปทอล์ก” ได้สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้ชม บรรดานักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาวิชาหมุนเวียนมาสนทนากับผู้สนใจ เรียกได้ว่าเป็นการทะลายกำแพงที่กางกั้นระหว่างวิทยาศาสตร์กับคนสามัญ ประสบการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด และเข้าใจบริบทในการทำงานในโลกของการศึกษาจุลินทรีย์อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ในแต่ละปี ไมโครเปียมุ่งมั่นในการพัฒนาความตระหนักและส่งเสริมการประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ในมิติต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นการมอบรางวัลให้กับนักศึกษาที่นำความรู้จุลินทรีย์มาใช้กับคนไข้หลังการผ่าตัดมะเร็ง กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปรับเปลี่ยนการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับจุลินทรีย์ได้อีกทางหนึ่ง

ภาพ 4 ประติมากรรมบนผนังโดยลีซัน เฟรย์เซน (Lizan Freijsen) ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นรอบตัวเรา
สีสันและรูปทรงสะท้อนภาวะการพึ่งพิงของจุลินทรีย์หลากหลายชนิด
(ภาพจาก https://www.micropia.nl/media/filer_public_thumbnails/filer_public/67/07/670731e3-fc16-497e-9ae8-c32b86d83095/the_fungal_wall1920x1080cejpg.jpg__1920x0_q85_subsampling-2.jpg)

การเยี่ยมชมส่วนจัดแสดงต่าง ๆ ในไมโครเปียเป็นเสมือนการเดินทางที่ยากจะลืมเลือน เนื้อหาในนิทรรศการพาเราไปทบทวนถึงความสมดุลของโลกและสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับเรา ไมโครเปียจึงไม่ใช่เพียงพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงจุลชีวินที่มีีชีวิต แต่เป็นสถานที่ที่ชวนให้เรารำลึกถึงความงามที่ดำรงอยู่ในสิ่งที่เราอาจมองไม่เห็น.

แหล่งข้อมูล

The Best of Heritage, available from https://presentations.thebestinheritage.com/2017/micropia.

Micropia museum of invisible life, available from https://rachelsruminations.com/micropia/.

Micropia, available from https://www.micropia.nl/en/.

Kort, Remco and Jasper Buikx. (2021). Micropia, the world's first museum of microbes, available from https://www.youtube.com/watch?v=AG5nK243AKY.

Photo Credits

ภาพปก    จาก https://www.micropia.nl/media/filer_public_thumbnails/filer_public/15/c9/15c99076-e8f4-490d-a269-2011c139647c/triceratiumwve_1920x1080.jpg__1920x1080_q85_crop_subsampling-2.jpg

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ