Muse Around The World
การมองอนาคตกับอนาคตของพิพิธภัณฑ์
Muse Around The World
23 ม.ค. 67 2K

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

In Focus

  • การมองอนาคตคือยุทธศาสตร์สำคัญ พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องใช้การมองอนาคตเพื่อการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์อย่างมีพลวัตและสัมพันธ์กับสังคม เน้นการสำรวจแนวโน้มของอนาคตและเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ดังกล่าว พิพิธภัณฑ์จึงควรก้าวข้ามการวางแผนแบบเดิม ๆ โดยให้ความสำคัญกับชุดความคิดเชิงรุกและสร้างสรรค์มากขึ้น
  • การประยุกต์ใช้การคาดการณ์ในงานพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ต้องอาศัยการคาดการณ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เช่น การติดตามแนวโน้ม การกำหนดฉากทัศน์ และการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
  • การวิเคราะห์ความไม่แน่นอนด้วยเมตริกซ์ความไม่แน่นอน (uncertainty Matrix) ที่พัฒนาโดยสตีเฟน วุนเกอร์ช่วยให้พิพิธภัณฑ์จัดประเภทและจัดการกับความไม่แน่นอนในลักษณะต่าง ๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและวางแผนเชิงกลยุทธ์
  • บทบาทของการมองอนาคตในการกำหนดทิศทางพิพิธภัณฑ์ในอนาคต การมองอนาคตทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่เพียงตั้งรับกับสถานการณ์ แต่ออกแบบอนาคตในทิศทางที่ต้องการได้ โดยใช้เครื่องมือในการมองอนาคตเชิงกลยุทธ์ที่เรียกว่า cone of plausibility และแผนภูมิวิเคราะห์แบบเมตริกซ์ความไม่แน่นอน เพื่อให้พิพิธภัณฑ์รักษาบทบาทสถาบันทางสังคมเพื่อวัฒนธรรมและการศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่มากกว่าการปกปักรักษาอดีต เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง พิพิธภัณฑ์จึงเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตและต้องมองไปข้างหน้าในการบริหารจัดการ การคาดการณ์จึงไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำหากแต่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การสำรวจอนาคตในลักษณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้และเตรียมพร้อมกับอนาคตเหล่านั้น จะทำให้พิพิธภัณฑ์ยังคงทำหน้าที่อย่างมีพลังในการส่งเสริมการเรียนรู้และสัมพันธ์กับสังคม

การมองอนาคตในงานพิพิธภัณฑ์เป็นมากกว่าการคาดการณ์ แต่เป็นกระบวนการในการวิเคราะห์แนวโน้มและความเป็นไปได้ต่าง ๆ ฉะนั้น หากพิพิธภัณฑ์มีการทำงานในเชิงรุกเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติงานพิพิธภัณฑ์ในทุกระดับคิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยชั้นเชิงกลยุทธ์ และออกแบบอนาคตได้ตามต้องการมากกว่าการตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ

โดยทั่วไปการวางแผนแบบดั้งเดิมมุ่งเน้นความท้าทายในระยะสั้น ที่อาศัยการตั้งสมมติฐานและกำหนดมาตรการที่ต้องการบรรลุผลเฉพาะกาล ในทางตรงข้าม การคาดการณ์ปลดล็อคเราจากข้อจำกัดต่าง ๆ และส่งเสริมให้เรามีชุดความคิดที่เปิดกว้าง ด้วยการตั้งคำถามกับสมมติฐานและเปิดสู่การวัดผลสัมฤทธิ์ที่กว้างมากขึ้น ข้อเขียนนี้จะนำเสนอความแตกต่างการมองอนาคตกับการคาดการณ์

ภาพ 1 Queens Museum ผลงาน forever…, 2020. ไวนิลหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ควีนส์ “Dear Service Worker, Thank you for keeping NYC alive! For->forever…” [ถึงคนทำงานภาคบริการ ขอบคุณที่ทำให้เมืองนิวยอร์กคงมีชีวิตตลอดไป] © Mierle Laderman Ukeles (ภาพจาก https://queensmuseum.org/wp-content/uploads/2022/06/unnamed-3-1.jpg)

การมองอนาคตในปฏิบัติการ

การมองอนาคตไม่ใช่ทฤษฎี แต่เป็นเครื่องมือที่อาศัยวิธีการต่าง ๆ โดยแต่ละวิธีการมีส่วนสำคัญในการวางแผนอนาคต ลองพิจารณาวิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการทำงาน

  • ระบุและเฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลง พิพิธภัณฑ์อาศัยการติดตามแนวโน้มและประเด็นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น หากพิพิธภัณฑ์ของคุณสนใจกับการสร้างประสบการณ์เสมือนหรือ virtual experiences โดยเฉพาะในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นต้องพัฒนาสื่อดิทิทัลในการสื่อสาร เช่นการเที่ยวชมเสมือนและการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าชมคลังในระบบออนไลน์ เหล่านั้นส่งผลให้พิพิธภัณฑ์เตรียมพร้อมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ผู้ชมเข้าถึงและมีส่วนร่วมในเนื้อหาต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์
  • พิจารณาอนาคตแบบต่าง ๆ มองอนาคตและสร้างฉากทัศน์เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เตรียมพร้อมกับอนาคต ถ้าพิพิธภัณฑ์ของคุณพิจารณาผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็จะนำมาสู่การวางแผนแบบอนาคตที่เกิดขึ้น ดังเช่นการผนวกรวมการนำเสนอด้วยเอไอที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม การวางแผนดังกล่าวนำมาสู่การลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่เพื่อส่งเสริมประสบการณ์ของผู้ชมในการเรียนรู้
  • สื่อสารและตอบสนองความเปลี่ยนแปลง จำเป็นอย่างยิ่งที่พิพิธภัณฑ์ต้องสื่อสารข้อมูลจากการมองอนาคตและปรับตัวให้สอดคล้องอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่นหากพิพิธภัณฑ์เข้าใจถึงความต้องการที่เรียกร้องความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลายที่นำเสนอในงานศิลปะ พิพิธภัณฑ์ควรพิจารณาถึงการปรับปรุงการจัดแสดงและคลังวัตถุ ด้วยการนำเสนอผลงานของศิลปินที่หลากหลายและรูปแบบศิลปะนานาประเภท เพื่อสะท้อนพลวัตวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการของสังคม
  • เข้าใจปัจจัยภายนอก เช่น เทคโนโลยีร่วมสมัย การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความท้าทายของสิ่งแวดล้อม นับเป็นกลยุทธ์ที่พร้อมปรับเปลี่ยนที่พิพิธภัณฑ์ควรพัฒนา เช่น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาคำนึงและบูรณาการความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมในการวางแผนอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสำนึกในนิเวศวิทยาที่เพิ่มมากขึ้นในการทำงาน

Cone of plausibility: กรวยในการวิเคราะห์อนาคตที่อาจเกิดขึ้น

กรวยอนาคตที่อาจเกิดขึ้น (cone of plausibility) เป็นเครื่องมือสำคัญในการมองอนาคต เครื่องมือดังกล่าวช่วยให้พิพิธภัณฑ์วางแผนอนาคต ในกรวยดังกล่าว พบแนวโน้มอนาคตที่เป็นไปได้มากที่สุด เช่นปัจจุบันจินตนาการในการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุด้วยระบบ teleportation หรือการเคลื่อนย้ายด้วยการโยกย้ายมวลสารวัตถุ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่การใช้เครื่องพิมพ์แบบสามมิติสร้างวัตถุจำลองจากข้อมูลดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีที่พิพิธภัณฑ์สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและเข้าถึงวัตถุได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

ภาพ 2 แผนภูมิกรวยอนาคตที่อาจเกิดขึ้นเป็นเครื่องมือในการมองและวางแผนความเป็นไปได้ต่าง ๆ Present: “ปัจจุบัน” เป็นจุดเริ่มต้นกรวย แสดงถึงสภาพปัจจุบันของกิจการ Past: “อดีต” อยู่ในตำแหน่งหลังปัจจุบัน ชี้ให้เห็นบริบทเชิงประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความเป็นมาของปัจจุบัน Baseline: “พื้นฐาน” อยู่ใจกลางของแกน คือ “อนาคตที่คาดหวัง” พิจารณาจากแนวโน้มและข้อมูลปัจจุบัน Limit of Plausibility: ขอบเขตอนาคตที่อาจเกิดขึ้น หากข้ามเส้นดังกล่าวฉากทัศน์ที่คิดไว้ไม่อาจเกิดขึ้นได้  Vision: วิสัยทัศน์ จุดในระยะไกลของปลายกรวยซึ่งแสดงเป้าหมายที่ต้องกาย Implications: แนวโน้มผลลัพธ์ที่เกิดจากการบรรลุวิสัยทัศน์ ตำแหน่งจึงอยู่ใกล้กัน Alternative Futures: อนาคตแบบอื่น พื้นที่ในกรวยที่อยู่นอกเหนือจากพื้นฐาน ฉากทัศน์ที่อาจเป็นไปได้นอกจากอนาคตที่คาดหวังไว้ (ภาพจาก https://www.collidu.com/media/catalog/product/img/d/1/d18f1aa8b0637ac74f98904f883666f15f442a4ac2fa1f9e50f73b7df3292128/cone-of-plausibility-slide1.png)

ในใจกลางของกรวยคือ “อนาคตที่คาดหวัง” ของพิพิธภัณฑ์ เป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องการบนแนวโน้มของการบริหารจัดการเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ เทคโนโลยี และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริหาร แต่อนาคตที่คาดหวังนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการมองอนาคต ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ต้องอาศัยการมองอนาคตด้วยการศึกษา เข้าใจ และเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

การมองอนาคตในงานพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยการพิจารณาอนาคตที่เป็นไปได้ต่าง ๆ ภายในกรวยอนาคตที่อาจเกิดขึ้น เข้าใจถึงปัจจัยที่เอื้อให้อนาคตดังกล่าวเกิดขึ้น และตัวชี้วัดใดบ้างที่บ่งชี้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับอนาคตที่เป็นไปได้เหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิพิธภัณฑ์กำหนด “อนาคตที่ต้องการ” (preferred future) ก็จะนำมาสู่การกำหนดกลยุทธ์ในการทำงานให้ไปถึงภาพในอุดมคติที่ต้องการนั้น

วิเคราะห์สถานการณ์พิพิธภัณฑ์ด้วยเมตริกซ์ความไม่แน่นอน (Uncertainty Matrix)

นอกเหนือจากการมองอนาคตด้วยกรวยอนาคตที่เป็นไปได้ในการกำหนดทิศทางของพิพิธภัณฑ์ เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งคือ เมตริกซ์ความไม่แน่นอน (uncertainty matrix) ที่ช่วยในการกำหนดฉากทัศน์ของสตีเฟน วุนเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์องค์กรและนวัตกรรม เมตริกซ์ความไม่แน่นอนช่วยให้องค์กรต่าง ๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์สามารถจัดประเภทและบริหารสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ

ภาพ 3 แผนภูมิในการวิเคราะห์ความไม่แน่นนอน
แกนตั้งคือ ปริมาณข้อมูล ด้านล่างของแผนภูมิปรากฏเป็นส่วนที่มีข้อมูลจำกัด การตัดสินใจอาศัยสมมติฐานหรือข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ปรากฏในส่วนที่เป็น Known Unknowns พิพิธภัณฑ์ตระหนักในสิ่งที่ขาดข้อมูล และUnknown Unknowns พิพิธภัณฑ์ไม่เคยรู้ว่าเป็นส่วนที่ขาดข้อมูล ด้านบนของแผนภูมิคือส่วนที่มีปริมาณข้อมูลเพียงพอ ช่วยในการตัดสินใจและวางแผน ได้แก่ Known Knowns ส่วนที่พิพิธภัณฑ์มีทั้งข้อมูลและความเข้าใจในการใช้อย่างเหมาะสม ส่วน Unknown Knowns คือส่วนที่พิพิธภัณฑ์มีข้อมูล แต่ยังไม่ได้สำรวจหรือพิจารณาอย่างถ่องแท้ (ภาพจาก https://www.aam-us.org/wp-content/uploads/2021/01/Uncertainty-Matrix.jpg?resize=1280%2C720px)

  • Known Knowns: ในประเภทนี้ พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งมีข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ เช่น พิพิธภัณฑ์ที่จัดทำรายงานการเงิน รายงานดังกล่าวคือ ‘know know’ ประเภทหนึ่ง ข้อมูลเช่นนี้นำมาสู่การกำหนดงบประมาณและวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่ถูกต้อง การตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์อาศัยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสถานการณ์การเงินของตนเอง
  • Known Unknowns: ในประเภทนี้ พิพิธภัณฑ์ของคุณขาดข้อมูล จึงต้องให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัย ตัวอย่างเช่นการทำความเข้าใจถึงปริมาณผู้ชมพิพิธภัณฑ์ในระยะหลังโรคระบาด หากพิพิธภัณฑ์เห็นว่าจำนวนผู้ชมลดลงเพราะโรคระบาดอย่างมีนัยสำคัญ ควรค้นหาวิธีการและระยะเวลาที่ผู้ชมสบายใจในการกลับมาเยือนพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้จำนวนผู้ชมกลับมาในสถานการณ์ปกติ
  • Unknown Knowns: ในประเภทนี้ พิพิธภัณฑ์ของคุณมองข้ามหรือเพิกเฉยประเด็นสำคัญ เช่น พิพิธภัณฑ์พิจารณาลักษณะประชากรของผู้ชมแบบเดิม ๆ ทั้งที่สังคมมีความเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑ์เปลี่ยนไปเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การทบทวนสมมติฐานเดิม ๆ ช่วยให้พิพิธภัณฑ์เกิดมุมมองใหม่ เช่น การพัฒนานิทรรศการหลากหลายประเภทหรือใช้เทคโนโลยีในการสร้างประสบการณ์และความต้องการของผู้ชมกลุ่มต่าง ๆ ดียิ่งขึ้น
  • Unknown Unknowns: ในประเภทนี้ พิพิธภัณฑ์เผชิญกับสิ่งที่ไม่เคยเห็นหรือเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรง เช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19 พิพิธภัณฑ์ต้องตอบสนองสถานการณ์อย่างทันท่วงที หลายแห่งจึงสร้างกิจกรรมการเยี่ยมชมเสมือนและนิทรรศการออนไลน์ หรือการทบทวนวิธีในการสร้างการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้พิพิธภัณฑ์คงทำหน้าที่ของตนในวิกฤตการณ์

ความร่วมมือภายในองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญในการประยุกต์ใช้เครื่องมือเหล่านี้สำหรับการมองอนาคต การทำงานร่วมกับผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายในพิพิธภัณฑ์ พันธมิตร และชุมชนช่วยให้พิจารณามุมมองต่อประเด็นเหล่านั้นอย่างหลากหลาย ความร่วมมือดังกล่าวช่วยพัฒนาความเข้าใจถึงข้อท้าทายและโอกาสที่พิพิธภัณฑ์ต้องเผชิญ เพื่อให้เกิดการวางแผนอย่างรอบด้านและทรงประสิทธิภาพ

การมองอนาคตมีบทบาทสำคัญในการวางแผนงานพิพิธภัณฑ์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื้อหาในข้อเขียนนี้ชี้ให้เห็นถึงการวางแผนอนาคตของพิพิธภัณฑ์และออกแบบการทำงานให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว การมองอนาคตจึงไม่ใช่การคาดการณ์ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เป็นการสร้างอนาคตของพิพิธภัณฑ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ ด้วยการมองอนาคตและวางแผนเชิงกลยุทธ์ บุคลากรพิพิธภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและร่วมสร้างให้องค์กรของตนคงเป็นเสาหลักในการอนุรักษ์และการเรียนรู้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังเช่นทุกวันนี้

Sources

American Alliance of Museums. "Futures Studies 101: The Purpose of Foresight." Accessed August 3, 2010. https://www.aam-us.org/2010/08/03/futures-studies-101-the-purpose-of-foresight/

American Alliance of Museums. "Do Innovation, and Diversity, Sometimes Look Like Failure?" Accessed June 15, 2010. https://www.aam-us.org/2010/06/15/do-innovation-and-diversity-sometimes-look-like-failure/

American Alliance of Museums. "Future Studies 101: Potential Futures." Accessed September 1, 2010. https://www.aam-us.org/2010/09/01/future-studies-101-potential-futures/

American Alliance of Museums. "Futurist Friday: Exploring the Cone of Plausibility." Accessed September 16, 2011. https://www.aam-us.org/2011/09/16/futurist-friday-exploring-the-cone-of-plausibility/

American Alliance of Museums. "Mapping Uncertainty in 2021." Accessed January 5, 2021. https://www.aam-us.org/2021/01/05/mapping-uncertainty-in-2021/

Photo Credit

ภาพปก ผลงานศิลปกรรมของ Chiharu Shiota ด้วยการสร้างสรรค์โครงข่ายของด้ายสีแดงที่พุ่งจากโครงเรือในทุก ๆ ทิศทาง ชื่อผลงานคือ Uncertain Journey ภาพจาก https://www.feeldesain.com/wp-content/uploads/2016/09/Chiharu-Shiota-Uncertain-Journey-2016-Installation-view-Courtesy-the-artist-and-BlainSouthern-Photo-Christian-Glaeser-4.jpg)

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ