ในยุคที่เทคโนโลยีปรากฏอยู่ในทุกส่วนของชีวิตประจำวัน การผนวกรวมปัญญาประดิษฐ์กับพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่น่าสนใจ สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ ที่ไม่ใช่แทนที่ความสร้างสรรค์ของมนุษย์ แต่เป็น “เพื่อนร่วมเดินทาง” ในการเสริมและเติมเต็มให้การทำงานของคนทำพิพิธภัณฑ์
ระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะตัวแบบแมชชีนเลิร์นนิ่ง (machine learning models) นับเป็นเทคโนโลยีในการประมวลข้อมูลได้พร้อมกันจำนวนมาก แต่การทำงานดังกล่าวแตกต่างจากการรู้คิดของมนุษย์ เพราะในขณะที่มนุษย์เรียนรู้ปรับตัวและมีความยืดหยุ่น พร้อมสำหรับการเปิดกว้างสู่การรู้คิดในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ระบบปัญญาประดิษฐ์เน้นการทำงานด้วยความแม่นยำและการจดจำรูปแบบภายในภารกิจเฉพาะ
งานพิพิธภัณฑ์ที่มี “ตัวช่วย”
การผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับความเชี่ยวชาญของมนุษย์ในพิพิธภัณฑ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ของคนทำงานกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญอย่างยิ่ง ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลและการจดจำรูปแบบสามารถปฏิวัติวิธีการจัดการคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ การสร้างประสบการณ์ที่ดึงดูดผู้เข้าชม รวมถึงการสร้างเนื้อหาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
ลองจินตนาการถึงเครื่องมือที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถในการจดจำวัตถุ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์ ปัญญาประดิษฐ์สามารถตรวจพบสัญญาณความเสื่อมสภาพหรือความเสียหายที่ตาเปล่าอาจไม่สามารถสังเกตได้ทันที หรือในอีกลักษณะปัญญาประดิษฐ์สามารถจำลองผลของแนวทางการอนุรักษ์ที่ช่วยให้นักอนุรักษ์เลือกวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ภาพ 1 AI Guide ที่สามารถให้รายละเอียดของผลงานศิลปกรรมและบริบทต่าง ๆ ตามความสนใจของผู้ชม ©DEEPBRAIN AI (ภาพจาก https://cdn.prod.website-files.com/6392a785ccd80e2027060fd4/63a1c9f254dbb27e3e2e973f_4-1024x576.jpeg)
หากต้องการออกแบบประสบการณ์พิเศษให้แก่ผู้เข้าชม ปัญญาประดิษฐ์สามารถเปลี่ยนประสบการณ์การนำชมแบบดั้งเดิมให้เป็นการเยี่ยมชมนิทรรศการแบบส่วนตัว ด้วยแอปพลิเคชันหรืออุปกรณ์เสริมความจริงเสมือน ผู้เข้าชมจะได้รับบริการนำเที่ยวตามความสนใจในพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น หากผู้เข้าชมใช้เวลาส่วนใหญ่กับผลงานศิลปะในยุคใดยุคหนึ่ง ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจแนะนำส่วนจัดแสดงที่คล้ายคลึงกันหรือให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลงานหรือโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้จำเป็นต้องอาศัยข้อพิจารณาเชิงจริยธรรมและการปฏิบัติในการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์กับงานพิพิธภัณฑ์อย่างเหมาะสม นั่นหมายความว่าพิพิธภัณฑ์ในฐานะผู้ดูแลวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ควรสร้างหลักประกันว่า การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ต้องเป็นไปด้วยเคารพต่อประสบการณ์และมรดกวัฒนธรรมของมนุษย์ รวมถึงการใช้ประโยชน์ปัญญาประดิษฐ์ในการรักษาบริบทและความสมบูรณ์ของวัตถุพิพิธภัณฑ์อย่างเหมาะสม
ปัญญาประดิษฐ์ในงานพิพิธภัณฑ์
ในการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในบริบทการทำงาน พิพิธภัณฑ์สามารถสร้างอนาคตที่เทคโนโลยีและมุมมองของมนุษย์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแรงบันดาลใจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ลองพิจารณาตัวอย่างการริเริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้
Dust and Data – The Art of Curating หรือ DAD เป็นโครงการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่ต้องการสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนานิทรรศการ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักศิลปากรแห่งเวียนนา (Academy of Fine Arts, Vienna) สถาบันการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ (Institute of Computational Perception) แห่งมหาวิทยาลัยโยฮันน์ แคปเลอร์ เมืองลินซ์ (Johannes Kepler Universität Linz) และสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งออสเตรเลีย (Austrian Research Institute for Artificial Intelligence: OFAI) ประกอบด้วยภัณฑารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และนักออกแบบนิทรรศการ จากการทำงานในระยะเวลาเก้าเดือน โครงการฯ สามารถพัฒนาให้ปัญญาประดิษฐ์นำเสนอการพัฒนานิทรรศการ และแปลงตัวแบบดิจิทัลสู่การนำเสอนที่เป็นกายภาพ ช่วยเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างความจริงเสมือนกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้อย่างน่าสนใจ
ภาพ 2 นิทรรศการเรื่อง AI: More than Human จัดแสดง ณ Barbican Centre ค.ศ. 2019 กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร์ ออกแบบโดย บริษัทสถาปนิก Tonkin Liu กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับมนุษย์ (ภาพจาก https://www.archdaily.com/922812/ai-more-than-human-exhibition-tonkin-liu/5d51563d284dd1d5e2000783-ai-more-than-human-exhibition-tonkin-liu-image?next_project=no)
NoRILLA ปัญญาประดิษฐ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สถาบันปฏิสัมพันธ์มนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (Human-Computer Interaction Institute) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนเกิล เมลลอน (Carnegie Mellon University) เมืองพิตต์สเบิร์ก สหรัฐฯ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการออกแบบฐานเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน โดยประยุกต์ใช้ NoRILLA ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มที่ผสมผสานระหว่างความจริงกับความจริงเสมือนในการส่งเสริมการเรียนรู้ “สเต็ม” (STEM) ส่วนจัดแสดงที่กล่าวถึงแผ่นดินไหว เปิดโอกาสให้ผู้ชมทดลองวางวัตถุในการทดสอบความมั่นคงของโครงสร้าง โดยมีคำแนะนำของปัญญาประดิษฐ์ กิจกรรมนี้จึงไม่เพียงให้บทเรียนฟิสิกส์ที่น่าสนุกสนาน แต่ยังการพัฒนาให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้สถานการณ์เฉพาะหน้า โดยผู้พัฒนาใช้กล้องติดตามปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพของผู้เล่น ที่ส่งผลโดยต่อในการให้คำอธิบายและคำแนะนำแบบเรียลไทม์เพื่อเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ในระหว่างกิจกรรม
ปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าชม เช่น พิพิธภัณฑ์คูเปอร์ฮิวอิทสมิธโซเนียน (Cooper Hewitt Smithsonian Design Museum) ในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ใช้ระบบแนะนำนิทรรศการด้วย ปัญญาประดิษฐ์ตามความสนใจของผู้เข้าชมที่เรียกว่าระบบ “เพน” ("Pen" system) เรียนรู้ความสนใจของผู้ชมและแนะนำสิ่งจัดแสดงที่สอดคล้องกับความสนใจดังกล่าว นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมได้ ตัวอย่างเช่น ArtLens Exhibition ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะคลีฟแลนด์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ที่สนับสนุนให้ผู้เข้าชมสำรวจเนื้อหาเพิ่มเติมด้วยแอบพลิเคชันในสมาร์ตโฟน
การบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ในงานพิพิธภัณฑ์นับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญ ทั้งการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีพร้อมกับการรักษาความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และการดูแลมรดกวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่การแทนที่บุคลากร ฉะนั้น ศักยภาพที่แท้จริงในการทำงานในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง จึงไม่ได้อยู่ที่ปัญญาประดิษฐ์เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่พลังผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับความปราดเปรื่องของมนุษย์ ที่สร้างนิยามใหม่ให้กับพรมแดนในการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ ที่สามารถชวนคนรุ่นใหม่ร่วมเรียนรู้ในโลกที่วัฒนธรรมบรรจบกับเทคโนโลยี
อ้างอิง
Brooks, J., Ayres, P., Donovan, A., Tudor, A., & Hirsh-Pasek, K. (2021). Improving conceptual learning from museum exhibits through augmented reality and artificial intelligence. Journal of Computer Assisted Learning, 37(3), 751-763.
Bunz, M. (2024). The Role of Culture in the Intelligence of AI. In S. Thiel & J. C. Bernhardt (Eds.), AI in Museums: Reflections, Perspectives and Applications (pp. 23-29).
Caramiaux, B. (2024). AI with Museums and Cultural Heritage. In S. Thiel & J. C. Bernhardt (Eds.), AI in Museums: Reflections, Perspectives and Applications (pp. 117-130).
Cleveland Museum of Art. (n.d.). ArtLens Exhibition. https://www.clevelandart.org/artlens-gallery
Froiz-Vazquez, C. (2020, February 17). Iris+, the museum for tomorrow's AI chatbot in Rio de Janeiro. Metalocus. https://www.metalocus.es/en/news/iris-the-museum-tomorrows-ai-chatbot-rio-de-janeiro
Hitti, N. (2019, June 27). Curated by a robot, two upcoming art exhibitions will be shaped by artificial intelligence. Dezeen. https://www.dezeen.com/2019/06/27/robot-curated-exhibitions-whitney-museum-liverpool-biennial/
Reich, C., Soar, S., Norman, J., Stillings, S., & Desy, K. (2019, April 4). Cooper Hewitt Design Museum Uses AI to Transform Visitor Experience. Smithsonian Insider. https://www.si.edu/newsdesk/cooper-hewitt-design-museum-uses-ai-transform-visitor-experience
Rind, J. (2020, May 11). Dust and Data – The Art of Curating. ArtMaterialsMagen. https://artmaterialsmagen.com/dust-and-data-the-art-of-curating/
ภาพประกอบ
ภาพปก จาก Shmoylov, Vladimir. (No date). AI & Visual Culture: 4 Personalized Art Experiences in Museums. LinkedIn. Retrieved March 15, 2024, from https://media.licdn.com/dms/image/D4E12AQEnj4s_zc6ANg/article-cover_image-shrink_720_1280/0/1705136402697?e=1728518400&v=beta&t=4qUgr0LqQRVOVK8i1rkwjyd-9HvQCW7g3ptUOhcvNpg