หลายคนที่สนใจประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศคงทราบกันดีว่า “จลาจลสโตนวอลล์” (หรือ Stonewall Riot) คือเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนและนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงเป็นจุดกำเนิดของการแสดงออกทางการเมืองและอัตลักษณ์ทางเพศคือ Gay Pride ด้วย เหตุการณ์สโตนวอลล์ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอีกนับไม่ถ้วน รวมถึงการเกิดขึ้นของหอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโตนวอลล์ ซึ่งเป็นคลังความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมของ LGBTQIA+ ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งด้วย
สโตนวอลล์คือชื่อบาร์เกย์ ตั้งอยู่ในย่านที่เรียกว่าหมู่บ้านกรีนิช แมนฮัตตัน เมืองนิวยอร์ก ย่านกรีนิชเป็นย่านพักอาศัยของบรรดาผู้มีเพศหลากหลายตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ก่อนหน้าที่จะเป็นบาร์เกย์ อาคารแห่งนี้เคยเปิดเป็นร้านอาหาร ต่อมากลุ่มมาเฟียซื้ออาคารดังกล่าวและเปิดเป็นบาร์เมื่อ ค.ศ. 1967 สโตนวอลล์เป็นบาร์ขนาดใหญ่ ค่าเข้าถูกกว่าบาร์เกย์อื่น ในขณะที่บาร์เกย์อื่นไม่อนุญาตให้มีการแด๊นซ์ สโตนวอลล์อนุญาตให้มีการแด็นซ์กระจายรวมถึงยอมให้มีการ “สโลว์แดนซ์” ได้ สโตนวอลล์ต้อนรับ drag queens คนผิวสีและคนไร้บ้าน เป็นสถานที่ที่ยอมรับกลุ่มคนชายขอบของสังคม จึงกลายเป็นสถานที่พบปะที่ฮิตมากของเกย์ในยุค 1960 ซึ่งเป็นยุคที่สังคมอเมริกันยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ หรือพูดให้ยิ่งไปกว่านั้น ในทศวรรษ 1960 (และก่อนหน้านั้น) LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่ถูกมองว่ามีความเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานสังคม “ปกติ” การแสดงออกที่แตกต่างจากเพศกำเนิดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีการบังคับใช้กฎเรื่องเครื่องแต่งกายที่ห้ามบุคคลแต่งกาย “ข้าม” เพศกำเนิด เว้นเสียแต่ว่าจะมีเครื่องแต่งกาย 3 ชิ้น ที่แสดงถึงเพศกำเนิดของตน ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงในยุคนั้น ไม่สามารถใส่เสื้อผ้าแบบผู้ชายได้ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากถูกตำรวจจับจะต้องพิสูจน์ว่าเธอใส่เสื้อผ้า “ผู้หญิง” อย่างน้อย 3 ชิ้น จึงจะรอดจากการจับกุม
ภายใต้บรรยากาศทางสังคมเช่นนี้ เพศอื่น ๆ จึงตกเป็นเป้าการโจมตี กลั่นแกล้ง หรือทำร้าย การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุจากเพศวิถีเกิดขึ้นทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น การปิดบาร์หรือร้านอาหารสามารถกระทำได้ ถ้าพบว่าในร้านนั้นมีลูกจ้างที่เป็นเกย์ หรือเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าเกย์ มีข้อบังคับเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เพศอื่น ๆ ในขณะที่สามารถจำหน่ายให้เพศ “ปกติ” ที่มาใช้บริการที่ผับ/คลับเดียวกันได้ ภายใต้บรรยากาศเช่นนั้น สโตนวอลล์ซึ่งควบคุมโดยมาเฟีย และเป็นแหล่งชุมนุมของคนหลากหลายเพศ จึงถูกต่อต้านจากชุมชนรอบข้างและมักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ่อยครั้ง แต่เหตุที่สโตนวอลล์ยังเปิดกิจการอยู่ได้ภายใต้กฎหมายจำกัดสิทธิเช่นนี้เนื่องจาก มาเฟียจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ตำรวจเพื่อขายแอลกอฮอล์ได้ในบาร์ที่ไม่มีใบอนุญาตขายแอลกอฮอล์ ในขณะเดียวกันก็เก็บค่าเครื่องดื่มจากเพศที่ผิดกฎหมายแพงกว่าปกติ จนถึงรีดไถและข่มขู่ลูกค้าร่ำรวยว่าจะเปิดเผยตัวตนให้ตำรวจ ครอบครัว หรือที่ทำงานรับรู้ ต้องกล่าวในที่นี้ว่าการตรวจค้นบาร์เกิดขึ้นเป็นปกติ แม้ว่าจะมีการรับเงินใต้โต๊ะก็ตาม
ภาพ 1 การชุมนุมประท้วงของกลุ่มแกนนำการปลดปล่อยเพศหลากหลายในไทม์สแควร์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1969 (ภาพจาก https://news.harvard.edu/wp-content/uploads/2019/06/Stonewall-Gay-liberation.jpg?resize=2048,1366)
เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์เกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 เมื่อตำรวจ 9 นาย และสื่อท้องถิ่น Village Voice เข้าไปตรวจค้นในบาร์โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ตำรวจตรวจพบแอลกอฮอล์ และปฏิบัติอย่างหยาบคายกับลูกค้า จับคน 13 คนซึ่งรวมถึงลูกจ้าง และคนที่ละเมิดกฎเรื่องเสื้อผ้า แม้ว่าการตรวจค้นของตำรวจจะเป็นเรื่องปกติ แต่ท่ามกลางการสะสมความโกรธแค้นจากการถูกเหยียดหยามและการเลือกปฏิบัติ ก็ทำให้ผู้คนต่อต้านการตรวจค้นของตำรวจ มีการขว้างปาข้าวของและเกิดการลุกฮือขึ้นเมื่อเลสเบี้ยนคนหนึ่งถูกตีศีรษะในขณะที่กำลังถูกบังคับให้ขึ้นรถตำรวจ เธอตะโกนเรียกร้องให้คนที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่มีแอคชั่นต่อความรุนแรงนี้ ในไม่กี่นาทีก็เกิดจลาจลขึ้น ทำให้ตำรวจและนักข่าวต้องหลบไปลี้ภัยด้านในบาร์ เกิดการจุดไฟเข้าไปในบาร์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะสามารถระงับเพลิงไหม้ได้ แต่การจลาจลยังดำเนินต่อเนื่องไปอีก 5 วัน โดยมีผู้คนเข้าร่วมเป็นพันคน เกิดการล้อมปราบ จับกุมผู้คนจำนวนมาก บาร์สโตนวอลล์ต้องปิดตัวลงอันเป็นผลจากเพลิงไหม้
เหตุการณ์สโตนวอลล์เป็นหมุดหมายของการต่อสู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของเพศที่หลากหลาย แนวร่วมปลดปล่อยเกย์ หรือ Gay Liberation Front คือแนวร่วมแรกที่ต่อสู้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมของเกย์อย่างเปิดเผยเกิดขึ้นหลังจากนั้น และหนึ่งปีให้หลังของเหตุการณ์ ผู้คนเป็นพันคนพากันลงเดินบนถนนจากสโตนวอลล์ไปยังเซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) นับเป็นครั้งแรกของงานเกย์ไพรด์ในสหรัฐฯ “Say it loud, gay is proud!” เป็นประโยคมนตราที่ผู้คนส่งเสียงออกมาในครั้งนั้น
บาร์สโตนวอลล์ ได้กลายเป็นแลนด์มาร์คทางประวัติศาสตร์เมื่อ ค.ศ. 2016 เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำหนดให้อาณาบริเวณต่าง ๆ ที่เป็นจุดของการเกิดจลาจล ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารสโตนวอลล์เอง ถนนโดยรอบ ตลอดจนทางเท้า เป็นเสมือนอนุสรณ์สถานของชาติในการระลึกถึงพื้นที่ที่มีคุณูปการต่อการเรียกร้องสิทธิของเกย์ บริเวณดังกล่าวได้รับการบริหารจัดการโดย National Park Service มีการเปิดพื้นที่ให้จัดนิทรรศการ มีการจัดการเยี่ยมชมสถานที่ เปิดพื้นที่ให้คนแสดงออก มีกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในประเด็นความหลากหลายทางเพศ ทั้งหมดนี้ทำให้บริเวณจลาจลกลายเป็นอนุสรณ์สถานที่มีชีวิต (living monument) อย่างน่าสนใจ
แตกต่างจากความเข้าใจทั่วไปว่าพิพิธภัณฑ์ควรเกิดขึ้น ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งในกรณีนี้คือที่นิวยอร์ก หอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโตนวอลล์ กลับถือกำเนิดไกลออกไป ณ รัฐฟลอริด้า มาร์ก นิล ซิลเบอร์ (Mark Neil Silber) ผู้ก่อตั้งเป็นชาวนิวยอร์กโดยกำเนิด เขาเติบโตมาในครอบครัวที่เปิดกว้างและเห็นคุณค่าของการศึกษา เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ 1960 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านสงครามเวียดนาม และเหตุการณ์สโตนวอลล์ ในช่วงวัยรุ่น เขาตัดสินใจเปิดเผยเพศสภาพกับครอบครัว และได้รับการโอบรับด้วยดีจากบิดามารดา จากนั้นเขาเริ่มสะสมหนังสือเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยน และได้ก่อตั้งห้องสมุดสโตนวอลล์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1973 กล่าวได้ว่าหอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโตนวอลล์มีรากฐานมาจากห้องสมุดซึ่งเป็นคอลเลคชั่นส่วนตัวของผู้ก่อตั้ง
ภาพ 2 หน้าอาคาร Stonewall Gallery, National Museum and Archives
(ภาพจาก https://images.squarespace-cdn.com/content/v1/5d7d116999ce3e1707fd2332/1570572623753-IKXJ9UU60CJ3QBEHUJHL/stonewall+gallery+front.jpg?format=500w)
ก่อนที่จะมีหลักแหล่งถาวร ซิลเบอร์เก็บคอลเลคชั่นหนังสือของเขาไว้ที่บ้านบิดามารดานาน 10 ปี จากนั้น ค.ศ. 1983 จึงย้ายไปเก็บไว้ ณ ห้องเรียนในโบสถ์แห่งหนึ่งในฟลอริดา หลังจากนั้นห้องสมุดได้รวมกับหอจดหมายเหตุเกย์ทางภาคใต้ ก่อร่างเป็นหอสมุดและหอจดหมายเหตุสโตนวอลล์ ค.ศ. 2001 หอสมุดและหอจดหมายเหตุได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่ศูนย์ชุมชนแกย์และเลสเบี้ยนทางใต้ของฟลอริด้า เวลาผ่านไปหลายปี ศูนย์ชุมชนดังกล่าวถูกรื้อถอน ห้องสมุดและหอจดหมายเหตุได้รับการติดต่อจากรัฐบาลท้องถิ่นของเขตโบรวาร์ด (Broward) ซึ่งเสนอพื้นที่ที่เป็นห้องสมุดสาขาหนึ่งของเขตให้ หอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโตนวอลล์จึงได้เปิดอีกครั้งในพื้นที่ใหม่ใน ค.ศ. 2009 จะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของ “องค์กรอิสระนอกกระแส” องค์กรหนึ่งใช้เวลาเป็นแรมปี นับจากแรงบันดาลใจ ไปสู่จุดเริ่มต้นของการสะสมคอลเลคชั่นในบ้านในค.ศ. 1973 จนถึงปัจจุบันที่ลงหลักปักฐาน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น มูลนิธิ และผู้ประกอบการมากมาย
ภาพ 3 เครื่องฉายภาพยนตร์และเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ในการรณรงค์เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม (ภาพจาก https://www.instagram.com/p/CPTesKTBnc-/?igsh=MTBxaXJ6NWVzaTY5cA%3D%3D)
หอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโตนวอลล์ แห่งนี้ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงและห้องสมุด และเว็บไซต์ซึ่งทำหน้าที่เป็นข้อมูลออนไลน์ ส่วนของการจัดแสดงไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่โตนัก มีนิทรรศการหมุนเวียนทุกเดือนหรือสองเดือนครั้ง องค์กรที่อายุใกล้ 50 ปีนี้ มีมิชชั่นในการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมความเข้าใจ ผ่านการรวบรวมสะสม สงวนรักษา และแบ่งปันวัฒนธรรมอันเป็นที่ภาคภูมิใจของ LGBTQIA+ และคุณูปการอันสำคัญของพวกเขาที่มีต่อสังคมอเมริกัน เนื้อหาหลัก ๆ อุทิศให้กับประวัติศาสตร์ เรื่องราวของ LGBTGIA+ สิทธิมนุษยชน ศิลปะและวัฒนธรรม
จากการสำรวจในเว็บไซต์ นับจาก ค.ศ. 2006 หอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโตนวอลล์ มีนิทรรศการที่ผ่านมาร่วมร้อยนิทรรศการ มีนิทรรศการเคลื่อนที่ 10 นิทรรศการไปยังห้องสมุด ชุมชน เทศกาล สถาบันการศึกษาต่าง ๆ นิทรรศการเคลื่อนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาว LGBTQIA+ ส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียมทางสังคม โดยใช้ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุและห้องสมุด ในส่วนของการเป็นคลังความรู้นั้น ห้องสมุดสโตนวอลล์เป็นห้องสมุดเฉพาะทางเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ส่วนหอจดหมายเหตุออนไลน์ The Fasana-Graham Archive เป็นแหล่งข้อมูลในระดับคลังแสงที่รวบรวม เชื่อมโยง จัดระเบียบข้อมูลจากแหล่งต่างๆอย่างเป็นระบบ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุออนไลน์นี้เปิดกว้างสำหรับคนทั่วโลกที่สนใจประวัติศาสตร์ LGBTQIA+ ให้สามารถเข้าถึงได้ ไม่น่าแปลกใจเลยที่หอจดหมายเหตุ และห้องสมุดสโตนวอลล์จะถูกถือเป็นหอจดหมายเหตุอิสระเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ความน่าสนใจอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่งของคลังความรู้ออนไลน์คือข้อมูลมากมายในรูปแบบไทม์ไลน์ จุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ การปรากฏของ LGBTQIA+ ในปริมณฑลทางสังคมและศิลปะ ตลอดจนคุณูปการที่มีต่อความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของอเมริกา ข้อมูลในส่วนนี้ถูกจัดระดับอย่างดี ภายใต้หัวข้อ PLAINSIGHT LGBTQ+ Journey of Transformation
ภาพ 4 หน้าเว็บไซต์ Stonewall Gallery, National Museum and Archives (ภาพจาก https://www.stonewallnma.org.)
หอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโตนวอลล์ รองรับการเข้าเยี่ยมชมเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ปกติ ผู้เข้าชมจะได้ชมห้องสมุด มีผู้แนะนำการใช้ข้อมูลจดหมายเหตุ ทัวร์นิทรรศการ ชมวัตถุที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ ผู้ชมจะได้เห็นว่าประวิศาสตร์สามารถมีชีวิตได้อย่างไร ทำไมมันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เรื่องราวของทุกคนจะถูกบอกเล่า ผู้ชมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเดินทางร่วมกัน การสร้างชุมชนที่แข็งแรง รวมถึงได้สำรวจหนทางต่างๆที่เราจะสามารถเคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันได้
จากจลาจลสโตนวอลล์ถึงหอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สโตนวอลล์ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆตัวอย่างเดียว ที่ฉายให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ความรุนแรงไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การนับรวมเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของผู้คนสามัญเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ ตลอดจนการไม่ปล่อยให้หน้าประวัติศาสตร์วิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่หวนกลับไปเก็บ บันทึก รวมรวม จัดระเบียบเอกสารหลักฐาน เพื่อส่งต่อข้อเท็จจริง และเพื่อหยัดยืนทำงานกับอคติที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมอย่างต่อเนื่อง
History.com Editors. (n.d.). Stonewall riots: History, significance, and facts. History. Retrieved May 29, 2024, from https://www.history.com/news/stonewall-riots-facts-gay-rights-lgbt
National Park Service. (n.d.). Stonewall National Monument. Retrieved May 29, 2024, from https://www.nps.gov/ston/index.htm
Wikipedia contributors. (2024, May 29). Stonewall National Museum and Archives. In Wikipedia, The Free Encyclopedia. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Stonewall_National_Museum_and_Archives
Stonewall National Museum & Archives. (n.d.). History timeline. Retrieved May 29, 2024, from https://stonewall-museum.org/history-timeline/
ภาพปก Lynes, G. P. (1951). Photograph of ballet performer Jean Babilee in ‘L’Amour et son Amour’ [Gelatin silver print]. From the Collections of the Kinsey Institute, Indiana University. © Estate of George Platt Lynes. Retrieved May 28, 2024, from https://artblart.com/wp-content/uploads/2019/01/ki_lynes_6.jpg?w=650&h=785.