สรุปสาระสำคัญจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ Museums and Ageing ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติกับบริติช เคานซิล ประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 179 คน ในหัวข้อเรื่อง นโยบายและการบริหารงานพิพิธภัณฑ์กับผู้สูงวัยในสหราชอาณาจักร
ดักลาส ฮันเตอร์ เป็นศิลปินและผู้อำนวยการของอิควัลอาร์ตส์ องค์กรที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางศิลปะ ด้วยประสบการณ์กว่า 24 ปี ฮันเตอร์มีบทบาทในการสร้างกิจกรรมสำหรับชุมชนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะการทำงานเพื่อผู้สูงวัย เน้นการพัฒนางานอย่างยั่งยืน การเสริมพลังชีวิตให้ผู้สูงวัย และความเท่าเทียมทางสังคม ส่วนซาราห์ ลอเรนซ์ เป็นบุคคลสำคัญในแวดวง “สูงวัยอย่างสร้างสรรค์” และทำงานร่วมกับกองทุนเวิร์ดส์เวิร์ธ (Wordsworth Trust) ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์และกิจกรรมทางวัฒนธรรม
ฮันเตอร์นำเสนอในหัวข้อ “อะไรคือความท้าทายและผลลัพธ์เชิงบวกของการทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ในสหราชอาณาจักร สำหรับอิควัลอาร์ตส์ ในฐานะองค์กรชั้นนำในการทำงานสูงวัยอย่างสร้างสรรค์ในอังกฤษ” ชี้ให้เห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างอิควัลอาร์ตส์กับพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ความร่วมมือเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย รวมถึงผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังโควิด-19
ภาพที่ 1 ในกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัยที่มีพิพิธภัณฑ์เป็นฐาน องค์กรอิควัลอาร์ตทำงานร่วมกับเวิร์สเวิร์ดทรัสต์ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยเห็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ของศิลปินภาพพิมพ์ไม้ การทำงานเบื้องหลังของพิพิธภัณฑ์ และการเพิ่มพูนทักษะใหม่หรือฟื้นทักษะเดิมในกระบวนการสร้างสรรค์ เหล่านี้เป็นการสร้างกระบวนและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการพัฒนาสุขภาพจิตให้กับผู้สูงวัย
อิควัลอาร์ตส์ประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงผู้สูงวัยกับวัฒนธรรมด้วยกิจกรรมลักษณะต่าง ๆ เช่น นิทรรศการที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ ด้วยการจัดแสดงภาพสีน้ำในศตวรรษที่ 18 และ 19 ณ พิพิธภัณฑ์ เวิร์ดส์เวิรธ์ และนิทรรศการ “บี อีส ฟอร์ บีวิกค์ (B is for Bewick) ณ หอสมุดเมืองนิวคาสเซิล นิทรรศการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการจัดแสดงผลงานศิลปะ แต่ยังจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ของผู้สูงวัย จากกิจกรรมในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบการทำงานดังกล่าวสร้างความผูกพันทางสังคมและการมีส่วนร่วมให้กับผู้สูงวัย นอกจากนี้ ยังก่อตั้งสำนักพิมพ์ “โอเพ่น เอ็นเด็ด บุ๊คส์” หนังสือปลายเปิด มั้ย (Open-Ended Books) ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์หนังสือที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โดยอาศัยความร่วมมือกับผู้ป่วยเองในการร่วมพัฒนาเนื้อหา
อิควัลอาร์ตส์เติบโตจากทีมงานเล็ก ๆ ที่มีศิลปินและนักออกแบบอิสระทั่วสหราชอาณาจักรเข้าร่วม แต่ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรและการทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับทุนอุดหนุนจากแหล่งทุน รวมถึงการออกแบบการทำงานที่ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ทางสังคม ดังตัวอย่างโครงการ “พลังแม่ไก่” (HenPower)[1] โครงการนี้เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยช่วยกันดูแลไก่ในชุมชน ซึ่งนำมาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในพื้นที่ และทำให้ผู้สูงวัยมีที่ทางและบทบาทในสังคม สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง อิควัลอาร์ตส์จึงดำเนินโครงการและกิจกรรมอย่างยั่งยืนในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงวัยในหลายพื้นที่
ลอเรนซ์ยกตัวอย่างความร่วมมือของเธอกับกองทุนเวิร์ดส์เวิร์ธในการร่วมจัดนิทรรศการภาพสีน้ำ[2] โครงการออกแบบให้ผู้สูงวัยโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบร่วมกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ในการเรียนรู้ถึงบทบาทของศิลปะและการสร้างสรรค์ในชีวิตประจำวัน เช่น การไปดูเบื้องหลังของการทำงานของพิพิธภัณฑ์ ความหมายของการสร้างสรรค์ ผลงานของศิลปิน และการทดลองวาดภาพสีน้ำ กิจกรรมเหล่านี้มอบโอกาสให้ผู้สูงวัยได้มีส่วนร่วมในการทำงานสร้างสรรค์และสำรวจศักยภาพทางศิลปะของตนเอง
ภาพที่ 2 การออกแบบนิทรรศการ่วม (co-curation) เป็นการทำงานที่ส่งเสริมให้ผลงานจากการสร้างสรรค์ของผู้สูงวัยที่เข้าร่วมกิจกรรมแสดงความคิดสร้างสรรค์ ผลงานของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับการจัดแสดงเคียงคู่ผลงานศิลปกรรมที่เป็นของพิพิธภัณฑ์ การทำงานดังกล่าวช่วยเสริมให้ผู้สูงวัยเกิดความภาคภูมิใจ และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
การที่ผู้สูงวัยได้มีโอกาสเข้าร่วมเวิร์คช็อปด้านศิลปะและฝึกฝนทักษะตามความสนใจ ช่วยเปิดมุมมองใหม่ในการรู้จักและเข้าใจศิลปะ เช่น การสังเกตและอภิปรายเกี่ยวกับงานศิลปะ และการตีความความหมายของศิลปะ รวมถึงผู้สูงวัยใช้ทักษะของตนในการสร้างผลงาน เหล่านี้เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงวัยได้สร้างสรรค์ และผลงานของพวกเขาได้รับการจัดแสดงเคียงคู่ไปกับผลงานศิลปกรรมของพิพิธภัณฑ์ในนิทรรศการ ลอเรนซ์สรุปให้เห็นว่ากระบวนการเหล่านี้สร้างเสริมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความรู้สึกมีคุณค่าและมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดนิทรรศการ การมีส่วนร่วมต่างๆ จึงไม่ใช่เพียงประสบการณ์ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้สูงวัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอีกด้วย
โครงการสำคัญของอิควัลอาร์ตส์อีกลักษณะหนึ่งคือการจัดพิมพ์หนังสือที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย ในนาม “โอเพ่น เอ็นเด็ด บุ๊คส์”[3] หนังสือปลายเปิด มั้ย ซึ่งออกแบบสำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะ ด้วยความตระหนักถึงข้อจำกัดและความต้องการของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมและสิ่งที่ผู้ดูแลต้องเผชิญ โครงการนี้จึงมีเป้าหมายในการผลิตหนังสือที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ ด้วยการปรับองค์ประกอบของหนังสือให้เหมาะกับความต้องการเหล่านั้น
ภาพที่ 3 โครงการหนังสือเพื่อผู้ป่วยที่เผชิญกับภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกับผู้ป่วย นอกจากความงดงามของผลงานศิลปกรรมในแต่ละหน้า หนังสือมีลักษณะเฉพาะที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถอ่านเนื้อหาอย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละหน้า ขนาดและการวางรูปแบบอำนวยให้ผู้อ่านกวาดสายตาและติดตามเนื้อหา นอกจากนี้ หนังสือยังช่วยสร้างบทสนทนาระหว่างผู้ดูแลหรือญาติกับผู้ป่วย ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
หนังสือที่ผลิตในโครงการนี้มีเนื้อหาที่เรียบง่าย อ่านง่าย และมีการออกแบบที่ชวนอ่าน แต่ละหน้าได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันให้มีเรื่องราวหรือเป็นบทความที่สมบูรณ์ในตัวเอง ทำให้ผู้อ่านไม่ต้องติดตามเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง การออกแบบเช่นนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ช่วยให้พวกเขาเพลิดเพลินกับการอ่านโดยไม่ต้องกังวลกับเนื้อหาก่อนหน้า นอกจากนี้ หนังสือมีองค์ประกอบที่กระตุ้นประสาทสัมผัสและส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ ด้วยภาพประกอบที่ชัดเจน ตัวอักษรขนาดใหญ่ และการจัดวางองค์ประกอบที่เป็นระเบียบให้อ่านง่าย บางหน้ายังมีคำถามปลายเปิดที่ชี้ชวนให้ผู้อ่านได้ไตร่ตรองและแบ่งปันความคิดของตน จึงช่วยเพิ่มการสื่อสารและเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมกับครอบครัวหรือผู้ดูแล
อ้างอิง
[1] โครงการริเริ่มนี้สนับสนุนให้สถานดูแลผู้สูงวัยเน้นความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นศูนย์กลาง โดยยึดหลัก “การอยู่ร่วมกับกับการดูแล” ที่ไม่ใช่การดูแลแต่เพียงอย่างเดียว โครงการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้สูงวัยเป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชน เช่น โรงเรียน เทศกาล และกิจกรรมชุมชน “พลังแม่ไก่” ช่วยพัฒนาทักษะและกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมให้กับญาติของผู้สูงวัยอีกทางหนึ่งด้วย ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมนวัตกรรมนี้ได้ทางเว็บไซต์ https://www.equalarts.org.uk/our-work/henpower
[2] บทสัมภาษณ์ของฮันเตอร์และลอเรนซ์ในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพื่อยกระดับสุขภาวะของผู้สูงวัย นับเป็นแนวทางสร้างสรรค์ในการใช้ศิลปะเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ลดความโดดเดี่ยว และส่งเสริมสุขภาพจิต อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.artfund.org/our-purpose/news/how-equal-arts-have-been-using-art-to-improve-wellbeing
[3] โครงการ “Open Ended Books” เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยอิควัลอาร์ตส์ ได้รับร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ป่วยในภาวะสมองเสื่อม ในการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย สำรวจรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.equalarts.org.uk/open-ended-books#:~:text=Open%20Ended%20Books%20is%20our,and%20experts%20in%20the%20field.
อ้างอิงภาพประกอบ
Hunter, Douglas and Sarah Lawrence. (2024). “What have been the challenges and positive outcomes of working with museums in the UK for Equal Arts as a leading creative ageing organisation in England,” Presentation at Online Sharing Sessions under the NDMI-UK Museums and Ageing Programme, hosted by National Discovery Museum Institute and British Council Thailand.