ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงสู่สภาวะโลกาภิวัตน์มากขึ้น และเป็นเหตุปัจจัยของการคนอพยพที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษก่อน ค.ศ. 2000 ปัจจัยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งอิทธิพลต่อการทำงานพิพิธภัณฑ์เมืองอย่างชัดเจน พิพิธภัณฑ์เมืองหลายแห่งมุ่งเน้นการทำงานกับกลุ่มคนที่แตกต่างในสังคมมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์เมืองในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ในที่นี้ นำเสนอการทำงานของพิพิธภัณฑ์เมืองขนาดใหญ่ ในรูปแบบของเครือข่ายกับผู้คนที่อยู่ในเมือง อาจนำไปสู่การสร้าง “สาขา” ของพิพิธภัณฑ์เมือง ที่หมายถึงการทำงานพิพิธภัณฑ์ในฐานะขบวนการทางสังคมที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับย่านหรือเขต และวางเป้าหมายในการสร้างการรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของชุมชนในวงกว้าง
ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นในหลายด้านในหลายแห่งทั่วโลก เช่น การเรียกร้องทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิชนชาติส่วนน้อยและสิทธิวัฒนธรรม และผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและเมืองต่อสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ส่งผลต่อการทำงานของพิพิธภัณฑ์ต้องปรับเปลี่ยนสู่การทำงาน “ร่วมกับสังคม” นั่นคือพิพิธภัณฑ์ควรแสดงบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ความร่วมมือจากภาคประชาสังคมในกระบวนการพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นกลไกในการสร้างพลเมือง การลดอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ (Chynoweth et al. 2020; Davis 2004)
ในทศวรรษ 1970 เกิดความเคลื่อนไหวให้กับการทำงานพิพิธภัณฑ์ เช่น พิพิธภัณฑ์นิเวศ (ecomuseum) ที่ขยายพรมแดนของพิพิธภัณฑ์สู่การทำงานในพื้นที่ พิพิธภัณฑ์นิเวศเกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับชุมชนและพัฒนาการในพื้นที่ ผู้อยู่ในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเนื้อหา สร้างเส้นทางการเรียนรู้ในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญและประสบการณ์กับสถานที่เหล่านี้ (Davis 2009) รวมถึงการสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นในการพัฒนางานพิพิธภัณฑ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ (Chang 2015; Ohara and Yanagida 2004)
ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ศิลปะและวัฒนธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเขตเมือง การท่องเที่ยวในเขตเมืองเติบโตและมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจหลายเมืองในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมถึงบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมือง (Bianchin et al. 1988, 10 อ้างใน Couch & Farr, 2000, p. 153) รัฐบาลทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนา ดังเช่น กระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา (DCMS) ในสหราชอาณาจักรกำหนด “ยุทธศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น” โดยระบุบทบาทวัฒนธรรมใน “การลดการกีดกันทางสังคม การดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น การส่งเสริมกิจกรรมชุมชนและอาสาสมัคร การฟื้นฟูเมืองและชนบท และโอกาสส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (DCMS, 1999 อ้างใน Couch & Farr, 2000, p. 153)
เหตุนี้ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์สมัยใหม่จึงขยายขอบเขตงานสะสมที่สามารถสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นและอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ที่เป็นองค์ประกอบประชากรของท้องถิ่นให้มากยิ่งขี้น ในลำดับต่อไป เป็นการนำเสนอตัวอย่างการทำงานที่เน้นกระบวนการทำงาน เพื่อฉายให้เห็นภาพวิธีคิดและแนวทางการพัฒนางานพิพิธภัณฑ์ที่มีชุมชนเป็นฐาน ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์สามแห่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนในการทำงานของพิพิธภัณฑ์เมืองที่ทำงานกับชุมชน
ลิเวอร์พูลเป็นเมืองที่เติบโตอย่างมากจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงศตวรรษที่ 19 ด้วยสถานที่ตั้งที่เอื้ออำนวยการเดินเรือนในเส้นทางการค้าทางทะเล เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองในแถบตะวันตกเฉียงเหนือและตอนกลางของอังกฤษอย่างแมนเชสเตอร์ ลีดส์ สถานที่ตั้งมีความสำคัญอย่ายิ่งในการเชื่อมต่อกับปากน้ำเมอร์ซีสู่ทะเลไอริช และเส้นทางเดินเรือไปยังทวีปอเมริกา (Kaczmarska and Kaczmarska 2018, 23) จนได้ฉายานามว่า “เมืองสิ่งทอ” โดยจะเห็นอาคารคลังสินค้าและท่าเรือจำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มคนอพยพและย้ายถิ่นจากประเทศใกล้เคียงและประเทศอาณานิคม ซึ่งชุมชนเหล่านั้นคงปรากฏให้เห็นถึงปัจจุบัน (Kaczmarska and Kaczmarska 2018, 22)
นับแต่ทศวรรษ 1950 อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดบทบาทลงอย่างชัดเจน เพราะความต้องการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และแนวทางคิดสังคมใหม่ ๆ ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมือง ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เมืองลิเวอร์พูลเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยจำนวนองค์กรวัฒนธรรมที่มากขึ้นและนำมาสู่การวาง “นโยบายศิลปะและวัฒนธรรม” ของเทศบาลเมืองลิเวอร์พูล (Couch and Farr 2000, 154)
โครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเมอร์ซี่ (River Mersey) เป็นหนึ่งในโครงการของเทศบาลเมืองลิเวอร์พูล สิ่งปลูกสร้างและอาคารประวัติศาสตร์ (historical dock facilities) ได้รับการบูรณะและปรับเปลี่ยนการใช้งาน รวมถึงการสร้างอาคารขนาดใหญ่เป็นแลนด์มาร์กของสถานที่ เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองลิเวอร์พูล (Museum of Liverpool) และอาณาบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ การจัดแสดงดนตรี กีฬา และการพบปะทางสังคม นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่ออาณาบริเวณอื่นของเมืองอีกหลายแห่ง
กล่าวถึงทิศทางการทำงานของพิพิธภัณฑ์เมืองลิเวอร์พูล แม้พิพิธภัณฑ์ลิเวอร์พูล (Liverpool Museum) เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1851 และเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวทางธรรมชาติวิทยาและชาติพันธุ์โดยนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มชนตามความเจริญทางวัฒนธรรม (Tythacott 2011) แต่งานสะสมของพิพิธภัณฑ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ จึงทำให้พิพิธภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโลก (World Museum) (1970) พิพิธภัณฑ์พาณิชย์นาวี (Maritime Museum) (1984) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทาสสากล (International Slavery Museum) (2007) เป็นต้น (Nationals Museum Liverpool, n.d.)
ภาพ 1: "Little Amal" หุ่นจำลองที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ระหว่างสัปดาห์ผู้ลี้ภัยโลกในลิเวอร์พูล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลิเวอร์พูลนำเสนอเรื่องราวของการย้ายถิ่นฐาน ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมที่มุ่งสร้างความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ลี้ภัยและผลกระทบที่พวกเขามีต่อสังคม
(ภาพจาก https://culturecdn.fra1.cdn.digitaloceanspaces.com/2022/06/002-Amal-and-Boat-Chios-c-The-Walk-Productions.jpg)
หนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑ์ชีวิตลิเวอร์พูล (Museum of Liverpool Life) (1993) ที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์สังคมของเมืองท่าการค้า ชีวิตของผู้คน แรงงานอพยพ และพัฒนาการทางสังคมจนถึงปัจจุบัน เดิมพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการในอาคารประวัติศาสตร์ไพลอตเทจ (Pilotage) ก่อนการขยายนิทรรศการอย่างต่อเนื่องมายังอาคารสมาคมซัลเวจ (Salvage Association) ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์อยู่ในการบริหารจัดการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลิเวอร์พูล (National Museums Liverpool) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1986 และมีพิพิธภัณฑ์จำนวน 6 แห่งอยู่ในความดูแล (National Museums Liverpool 2002)
พิพิธภัณฑ์ชีวิตลิเวอร์พูลได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 13 ปี และปิดตัวลงเมื่อ ค.ศ. 2006 เพื่อเตรียมการในการจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ในอาคารที่ใช้เงินทุนสูงถึง 72 ล้านปอนด์ อาคารดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเมอร์ซีย์ สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นอย่างยิ่งด้วยความกว้างอาคารที่ใหญ่กว่าเรือเดินสมุทรไทเทนิกสองเท่า (Verdict Media Limited 2023)
พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ในนาม พิพิธภัณฑ์เมืองลิเวอร์พูล (Museum of Liverpool) เปิดให้บริการตั้งแต่ ค.ศ.2011 และเปิดอย่างสมบูรณ์ในช่วงปลาย ค.ศ. 2012 ห้องจัดแสดงหลักทั้งสี่ที่นำเสนอ โลกนคร (Global City) นำเสนอเรื่องราวความเชื่อมโยงระหว่างเมืองลิเวอร์พูลกับโลก สถานที่อัศจรรย์ (Wondrous Place) บอกเล่าถึงบุคคลสำคัญในงานสร้างสรรค์ นักเขียน กวี และอื่น ๆ รวมถึงสถานที่พบปะทางสังคม (social gathering places) เมืองของผู้คน (People’s Republic) ชีวิตของคนในชุมชนและย่าน ท่าเรือสำคัญ (Great Port) กล่าวถึงพัฒนาการท่าเรือและการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของเมือง (Flemming 2013, 10)
พิพิธภัณฑ์ลิเวอร์พูลตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 สะท้อนพัฒนาการสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ที่เติบโตในแต่ละช่วงเวลา กิจการพิพิธภัณฑ์ค่อยขยายสู่พิพิธภัณฑ์เฉพาะทางที่มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างกัน จากพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องธรรมชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ สู่พิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเฉพาะทางพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโลก พิพิธภัณฑ์พาณิชย์นาวี หอศิลป์วอล์เกอร์และเลดีเลเวอร์ พิพิธภัณฑ์ทาสนานาชาติ (International Slavery Museum) เรือนประวัติศาสตร์ซัดลีย์ และพิพิธภัณฑ์ชีวิตลิเวอร์พูล ซึ่งพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองลิเวอร์พูลในระยะต่อมา พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งฉายให้เห็นวัฒนธรรมที่ในแต่ละส่วนของสังคม ที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน
พิพิธภัณฑ์เมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam Museum) ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1905 เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุ (museum of antiquities) โดยตั้งอยู่ในอาคารประวัติศาสตร์ “Schielandshuis” ที่เป็นหน่วยบริหารจัดการน้ำของเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 1660 การจัดแสดงภายในจนถึง ค.ศ. 1940 เน้นวัตถุฉายให้เห็นความยิ่งใหญ่ของเมืองท่ารอตเตอร์ดัม การค้าทางทะเล รวมถึงความก้าวหน้าในการบริหารจัดการน้ำที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1270 และชีวิตของแรงงานท่าเรือ แม้เกิดเหตุการทิ้งระเบิด ค.ศ. 1940 แต่อาคารพิพิธภัณฑ์ไม่ได้รับความเสียหาย พิพิธภัณฑ์เปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์รอตเตอร์ดัม” เมื่อ ค.ศ. 1948 และเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองรอตเตอร์ดัม” ค.ศ. 2011
ตั้งแต่ ค.ศ. 2005 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์รอตเตอร์ดัมกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ของการทำงานพิพิธภัณฑ์ ในการทำงานกับสภาพสังคมในปัจจุบัน มากกว่าจะเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่ฉายความยิ่งใหญ่ในอดีต “พิพิธภัณฑ์จะต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นคุณค่า ความเชื่อ การปฏิบัติ หรือเรียกโดยรวมว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่กายภาพของผู้คน” ในที่นี้ แวนเดอเลียร์ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์รอตเตอร์ดัม เรียกสิ่งนั้นว่า ‘มรดกเชิงพลวัต’ (dynamic heritage) (van de Laar 2013) หมายถึงการใช้เมืองรอตเตอร์ดัมเป็นฐานในการทำงาน รอตเตอร์ดัมคือ “เมืองข้ามชาติ” (transnational city) ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงสังคมและการผสมผสานของผู้คนหลากหลายกลุ่ม
ในระหว่างการเตรียมการย้ายพิพิธภัณฑ์ไปยังสถานที่แห่งใหม่ พิพิธภัณฑ์เมืองรอตเตอร์ดัมดำเนินโครงการพานอรามา (Panorama project) ค.ศ. 2005-2006 โดยทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่และผู้อาศัยในแต่ละย่านจำนวน 10 แห่ง การศึกษาจัดเก็บภาพและเรื่องราวในเมืองจากมุมมองของชุมชน และนำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการขนาดเล็กในหลายพื้นที่ของเมือง อีกตัวอย่างหนึ่ง “Roffa 5314” เป็นโครงการที่ใช้ชื่อในภาษาซุรินัมและรหัสไปรษณีย์ของเมืองที่วัยรุ่นมักเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับพื้นที่ที่ตนอาศัย พิพิธภัณฑ์ทำงานร่วมกับเยาวชนในการนิยามวัฒนธรรมของวัยรุ่นร่วมสมัย เช่น รอยสัก เสื้อผ้า กราฟิตี เพื่อสร้างความหมายในมรดกเมืองที่แตกต่างไป เป็นต้น (van de Laar 2013) นับเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องแม้พิพิธภัณฑ์อยู่ระหว่างการปรับปรุง
ภาพ 2: การทำงานของพิพิธภัณฑ์รอตเตอร์ดัมในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงกับชุมชนแรงงานชาวบัลแกเรีย สะท้อนแนวทาง "Museum Rotterdam-on-location" ของพิพิธภัณฑ์ โครงการนี้เน้นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ในระดับรากหญ้า โดยทำงานร่วมกับผู้คนในแต่ละชุมชนของเมือง เพื่อให้เสียงของชุมชนและประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายได้รับการนำเสนอ
(ภาพจาก https://www.academia.edu/33729778/Translating_hyperdivercity_for_the_Museum_interview_with_Nicole_van_Dijk_?auto=download)
ค.ศ. 2016 พิพิธภัณฑ์เมืองรอตเตอร์ดัมย้ายสู่สถานที่แห่งใหม่ใจกลางเมือง อันเป็นส่วนหนึ่งในอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองที่มีเจ้าหน้าที่มากถึง 1,800 คน ส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์รอตเตอร์ดัม โดยจัดแสดงเนื้อหาใน 3 ส่วนประกอบด้วย คนรอตเตอร์ดัมและเมืองของตน (Rotterdammers en hun stad) กล่าวถึงชีวิตคนสามัญ เมืองใหม่ (De nieuwe stad) นำเสนอโมเดลเมืองจากทศวรรษ 1950 และประวัติศาสตร์เมือง (Geschiedenis van de stad) เป็นส่วนที่เล็กที่สุดที่ใช้วัตถุของพิพิธภัณฑ์ในการฉายภาพอดีต (Ruis 2016)
พิพิธภัณฑ์เมืองรอตเตอร์ดัมย้ำถึงการทำงานกับชุมชนอย่างจริงจัง โดยอาศัยการทำงานร่วมกับชุมชนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง (Museum Rotterdam, n.d.) วานเดอร์เลียร์ เสนอแนวคิดพิพิธภัณฑ์เล็กที่กระจายทั่วเมือง (Museum Rotterdam-on-location) ในการสร้างเครือข่ายของเรื่องเล่าในเมืองตามย่านในเมือง โดยมี “ภัณฑารักษ์เมือง” (urban curator) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างสมาชิกชุมชนกับพิพิธภัณฑ์ และใช้กระบวนการภัณฑารักษ์แบบสังคมและการเรียนรู้ (social and learning curatorship) ในการทำงานกับเจ้าของเรื่องราวและสร้างความหมายของพลเมืองกับเมืองที่ตนอยู่อาศัย (van de Laar 2013, 47–48)
ศูนย์มรดกความทรงจำเมืองมอนเทรอัล (Centre des mémoires montréalaises: MEM) เมืองมอนเทรอัล ประเทศแคนาดา เดิมคือ ศูนย์ประวัติศาสตร์มอนเทรอัล (le Centre d'histoire de Montréal) จัดตั้งเมื่อ ค.ศ. 1983 และเปลี่ยนเป็นชื่อศูนย์มรดกความทรงจำฯ เมื่อ ค.ศ. 2022 ในช่วงทศวรรษ 1970 เทศบาลเมืองมอนเทรอัลกับกระทรวงวัฒนธรรมควิเบกลงนามร่วมกันในการฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์ และจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นศูนย์กลางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในกำกับของเทศบาลเมืองมอนเทรอัลตั้งแต่ ค.ศ. 1987 (Lauzon and Forget 2004)
นิทรรศการถาวรในช่วงทศวรรษ 1990 ฉายภาพความเคลื่อนไหวของเมืองจากประวัติศาสตร์ของการลงหลักปักฐาน การเติบโตของเมือง โดยอาศัยโบราณวัตถุและการจำลองโบราณสถานสำคัญ รวมถึงการบอกเล่าในเชิงประเด็น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทำงานของนักผจญเพลิง (สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ซึ่งเดิมเป็นสถานีดับเพลิงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20) นอกจากนี้ ศูนย์มรดกความทรงจำฯ ออกสิ่งพิมพ์รายสองเดือนที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาคารและโบราณวัตถุ จุดหมายของการทำงานในช่วงเวลานั้นคือการพัฒนาความตระหนักในมรดกเมืองและพื้นที่ประวัติศาสตร์ (Collins 1995)
ค.ศ. 2001 ศูนย์ประวัติศาสตร์มอนเทรอัลปรับเปลี่ยนชุดนิทรรศการสู่การบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนด้วยการวางโครงเรื่องจากเหตุการณ์สำคัญ สถานที่ และบุคคล โดยกำหนดให้ประสบการณ์ของคนเป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์สังคมมอนเทรอัล ในระยะต่อมา จึงเกิดการทำงานในพื้นที่ในหลายลักษณะเช่น ค.ศ. 2003 โครงการการพบกัน (Encontros) เกิดจากการทำงานร่วมกับลูกหลานคนเชื้อสายโปรตุเกส ในวาระครบรอบห้าทศวรรษการอพยพของชุมชน นับเป็นโอกาสสำคัญในการทำงานทางประวัติศาสตร์จากมุมมองชุมชน (Société du patrimoine d’expression du Québec 2004)
ศูนย์มรดกความทรงจำมอนเทรอัลในปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองที่เรียกว่า การ์ติเยเดส์สเปกตักส์ (Quartier des spectacles) อันเป็นที่ตั้งของสถาบันทางวัฒนธรรมหลายแห่ง ศูนย์มรดกความทรงจำฯ จึงวางเจนตนารมย์ให้เป็นพื้นที่ของการสนทนาของคนต่างชาติภูมิ ต่างความเชื่อและศรัทธา ต่างบทบาทและหน้าที่ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการเรียนรู้ของพลเมือง (Centre des mémoires montréalaises n.d.) กระบวนการทำงานของศูนย์มรดกความทรงจำมอนเทรอัลสะท้อนภาพพิพิธภัณฑ์เพื่อคนทุกกลุ่ม (inclusive museum) ให้สมาชิกอยู่ร่วมกันในสังคม (Fraser 2020)
การทำงานของพิพิธภัณฑ์เมืองทั้งสามตัวอย่างแสดงถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองของพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เมืองต้องศึกษาและติดตามความเปลี่ยนแปลงในสังคมเมือง เรื่องราวจากชุมชน ย่าน ชุดประสบการณ์ของคนเมือง และวัตถุกายภาพ มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวจากมุมมองอันหลากหลายจากกลุ่มสังคม คนอพยพ วัยรุ่น ผู้หญิง และอื่น ๆ กระบวนการทำงานอาศัยวิธีการและแนวทางจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งประวัติศาสตร์สังคมและประวัติศาสตร์คำบอกเล่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเมือง มรดกศึกษา โดยต้องเข้าใจทั้งภาพกว้างจากพัฒนาการของเมือง และภาพในระดับชุมชนที่โต้ตอบกับกระแสของเมือง
จึงมีข้อเสนอให้พิพิธภัณฑ์เมืองควรทำหน้าที่แสวงหาความเข้าใจในพัฒนาการของเมือง และการเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นเมือง (process of urbanism) (Galla 1995)
พิพิธภัณฑ์เมืองเพื่อเมืองในที่นี้ จึงหมายถึงการทำงานที่เข้าใจธรรมชาติของเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความเข้าใจดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการทำงาน “ร่วมกับเมือง” ที่มีผู้คน กลุ่มคน ชุมชนดั้งเดิมและมาใหม่ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มที่มีรสนิยมและความสนใจแตกต่างกัน นักวิชาการ นักปกครอง และสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อจับกระแสความเคลื่อนไหวของคน สิ่งของ ความคิด และความสัมพันธ์ต่าง ๆ มาสร้างกระบวนการเรียนรู้ ทิศทางของการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานของสิ่งที่มีร่วมกันของสังคม (commons) (Bollier 2016) ที่สร้างความร่วมมือและความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน “เพื่อเมือง” และพลเมือง
Bollier, David. 2016. “Commoning as a Transformative Social Paradigm.” The System Project. April 28, 2016. https://thenextsystem.org/node/187.
Centre des mémoires montréalaises. n.d. “À Propos.” MEM - Centre Des Mémoires Montréalaises. n.d. https://memmtl.ca/apropos.
Chang, Cheng. 2015. “Community Involvement & Ecomuseums: Towards a Mutual Approach to Comuseology and Landscape Studies.” PhD Thesis, Alnarp: Swedish University of Agricultural Sciences.
Chynoweth, Adele, Bernadette Lynch, Klaus Petersen, and Sarah Smed, eds. 2020. Museums and Social Change: Challenging the Unhelpful Museum. Museum Meanings. Milton Park, Abingdon, Oxon; New York, NY: Routledge, Taylor and Francis Group.
Collins, Anae Marie. 1995. “The City Is the Museum!” Museum International 47 (3): 30–34.
Couch, Chris, and Sarah-Jane Farr. 2000. “Museums, Galleries, Tourism and Regeneration: Some Experiences from Liverpool.” Built Environment 26 (2): 152–63.
Davis, Peter. 2004. “Ecomuseums and the Democratisation of Japanese Museology.” International Journal of Heritage Studies 10 (1): 93–110. https://doi.org/10.1080/1352725032000194268.
———. 2009. “Ecomuseums and the Representation of Place.” Rivista Geografica Italiana 116:483–503.
Flemming, Daivd. 2013. “Creating the Modern Museum: The Museum of Liverpool.” OPUSCULA MUSEALIA 13:7–14. https://doi.org/10.4467/20843852.OM.13.001.2911.
Fraser, John. 2020. “Advancing Diversity, Equity, Access, and Inclusion.” Curator: The Museum Journal 63 (1): 5–8. https://doi.org/10.1111/cura.12356.
Galla, Amareswar. 1995. “Urban Museology: An Ideology for Reconciliation.” Museum International 47 (3): 40–45.
Kaczmarska, Elżbieta, and Małgorzata Kaczmarska. 2018. “New Developments in the Liverpool Waterfront.” Czasopismo Techniczne, no. 3, 21–39. https://doi.org/10.4467/2353737XCT.18.034.8296.
Laar, Paul Th. van de. 2013. “The Contemporary City as Backbone: Museum Rotterdam Meets the Challenge.” Journal of Museum Education 38 (1): 39–49. https://doi.org/10.1080/10598650.2013.11510751.
Lauzon, Gilles, and Madeleine Forget. 2004. L’histoire Du Vieux-Montréal à Travers Son Patrimoine. Québec: Ministère des Affaires culturelles du Québec.
Museum Rotterdam. n.d. “Echt Rotterdams Erfgoed: De Actieve Collectie van de Stad [Real Rotterdam Heritage: The Active Collection of the City].” Museum Rotterdam. Accessed October 23, 2023. https://museumrotterdam.nl/echt-rotterdams-erfgoed/over-echt-rotterdams-erfgoed.
National Museums Liverpool. 2002. “National Museums Liverpool Excavation Archives.” Text/html,text/plain,image/jpeg,application/pdf,application/rtf, text/rtf,text/csv. Archaeology Data Service. https://doi.org/10.5284/1000214.
Nationals Museum Liverpool. n.d. “About National Museums Liverpool.” Education. Nationals Museum Liverpool. Accessed October 27, 2023. https://www.liverpoolmuseums.org.uk/about.
Ohara, Kazuoki, and Atsushi Yanagida. 2004. “Ecomuseums in Current Japan and Ecomusuem Network of Miura Penensula.” In The Third International Conference of Ecomuseums and Community Museums. Rio de Janeiro: Green Lines Institute for Sustainable Development.
Ruis, Edwin. 2016. “Het Nieuwe Museum Rotterdam [The New Museum Rotterdam].” Historiek. February 5, 2016. https://historiek.net/het-nieuwe-museum-rotterdam/56853/.
Société du patrimoine d’expression du Québec. 2004. “Les Grands Prix Du Patrimoine d’expression: Lauréat Du Prix Jean-Collard 2004 Projet Encontrosn [Archive].” 2004. https://archive.wikiwix.com/cache/index2.php?url=http%3A%2F%2Fwww.reelmacadam.com%2FSPEQ%2FSpeq%2FGrandPrix%2FEncontros.asp.
Tythacott, Louise. 2011. “Race on Display: The ‘Melanian’, ‘Mongolian’ and ‘Caucasian’ Galleries at Liverpool Museum (1896–1929).” Early Popular Visual Culture 9 (2): 131–46. https://doi.org/10.1080/17460654.2011.571039.
Verdict Media Limited. 2023. “New Museum of Liverpool, River Mersey, Merseyside.” World Construction Network. 2023. https://www.worldconstructionnetwork.com/projects/museum-liv/?cf-view.