Muse Around The World
ในมุมมองใหม่: “ม้งลาว” ในสหรัฐอเมริกา
Muse Around The World
23 ธ.ค. 67 292

ผู้เขียน : ศิรดา เฑียรเดช

ข้ามน้ำต้องถอดรองเท้า ลอดช่องลวดหนามต้องถอดหมวก อพยพข้ามแดนต้องถอดยศ

 

จากคนไร้รัฐในสงครามลับสู่ผู้ลี้ภัย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ให้คำนิยามผู้ลี้ภัยและผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยคือบุคคลที่อพยพ ข้ามพรมแดน หลบหนีออกจากประเทศของตน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการข่มเหงอย่างร้ายแรงต่อความปลอดภัยและชีวิตของพวกเขา จนพวกเขารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องออกไปแสวงหาความปลอดภัยนอกประเทศ ผู้ลี้ภัยจึงมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR The UN Refugee Agency) สำรวพบผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกเมื่อกลาง ค.ศ. 2024 มีจำนวนสูงถึง 43.7 ล้านคน จากการถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง สถานการณ์ทางการเมือง ภัยสงคราม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ชาวม้งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้พลัดถิ่นฐานและกลายเป็นผู้ลี้ภัย ก่อนจะเป็นพลเมืองอย่างถูกกฎหมายและมีแหล่งพักพิงถาวรในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส แคนาดา เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น  จากบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวม้งมักบอกเล่ากันว่า ม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แถบเอเชียตะวันออกที่มีวัฒนธรรมและภาษาเฉพาะ ในราวศตวรรษที่ 19 ม้งได้อพยพมายังภาคใต้ของจีน ต่อมาเมื่อถูกจีนขับไล่ จึงพากันอพยพมายังตอนเหนือของพม่า ลาว และเวียดนาม ในอีกส่วนหนึ่ง เชื่อว่าม้งอาจเป็นกลุ่นชนดั้งเดิมในดินแดนของจีนก่อนที่ชาวจีนจะเข้ามายึดครอง หรืออาจเป็นไปได้อีกว่าม้งอพยพเคลื่อนย้ายมาจากอาหรับหรือมองโกเลีย อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานเหล่านี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

ทหารม้งฝึกซ้อมยิงปืนและการใช้ระเบิดในสงครามลับ
Source: U.S. Department of Defense, 2013
(from https://media.defense.gov/2013/Oct/23/2000902406/-1/-1/0/131022-F-DW547-001.JPG)

ชาวม้งลาวที่ลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกาแบบถาวรได้บันทึกเหตุการณ์ที่ยากจะลืมเลือน เมื่อ ค.ศ. 1965 เกิดสงครามเวียดนาม สงครามแห่งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนามเหนือ เหตุเพราะสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้ลัทธิคอมมิวนิสต์จากเวียดนามแพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาจึงส่งซีไอเอหรือหน่วยข่าวกรองฝ่ายพลเรือนแห่งรัฐบาลกลางมาทำสงครามกับเวียดนามเหนือ สหรัฐอเมริกาได้เกณฑ์เด็กและผู้ใหญ่ชายชาวม้งที่อยู่ในลาวมาฝึกฝนเป็นทหารม้งเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับเวียดนามเหนือและพรรคคอมนิสต์ลาว โดยเรียกภารกิจนี้ว่า สงครามลับ ทหารม้งในการสั่งการจากซีไอเอทำหน้าที่ทำลายเส้นทางขนส่งกำลังพลของเวียดนามเหนือที่ผ่านลาวตามเส้นทางโฮจิมินห์ ให้ข่าวกรองกับซีไอเอเกี่ยวกับปฏิบัติการของศัตรู เฝ้ายามการติดตั้งเรดาร์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐ และช่วยเหลือนักบินสหรัฐที่ถูกยิงตก

เมื่อเวียดนามเหนือเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ของลาวได้สำเร็จ จึงตอบโต้กลุ่มที่ให้การช่วยเหลือสหรัฐอเมริกา โดยการนำไปจองจำ ทรมานโดยใช้แรงงานหนัก และสังหาร หมู่บ้านชาวม้งลาวถูกเวียดนามเหนือถูกโจมตีด้วยสารเคมีและระเบิดนาปาล์ม ทหารม้งลาวและครอบครัวหลบหนีมายังประเทศไทยโดยการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง เกิดการสูญเสียชีวิตจากการจมน้ำระหว่างการหลบหนี แต่ม้งลาวที่รอดชีวิตมาได้ราว 40,000 กว่าคน พากันหลบหนีไปยังค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนฝั่งไทย เช่น ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านน้ำยาว ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านวินัย ค่ายผู้ลี้ภัยหนองคาย ค่ายผู้ลี้ภัยเชียงคำ ค่ายผู้ลี้ภัยนาโป ค่ายผู้ลี้ภัยพนัสนิคม และค่ายผู้ลี้ภัยวัดถ้ำกระบก ชาวม้งอยู่ในค่ายอพยพจนกว่าสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นได้

จากผู้ลี้ภัยสู่ม้งอเมริกัน “เพื่อนร่วมตาย สหายร่วมศึก”

"ผู้ที่ถูกกดขี่จะไม่เป็นผู้ที่ถูกกดขี่ตลอดไป เพราะความปรารถนาในอิสรภาพจะฉายชัดในวันหนึ่ง”
ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ คศ.1964

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1975 รัฐสภาสหรัฐได้ผ่านรัฐบัญญัติการอพยพคนอินโดจีนและการช่วยเหลือทหารม้งลาวจากค่ายผู้ลี้ภัยประเทศไทย ทหารม้งและครอบครัวซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยในไทยจึงได้รับอนุญาตเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย สหรัฐอเมริการับม้งอพยพกลุ่มแรก 9,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร คนพื้นเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับซีไอเอ ต่อมา ค.ศ. 1991 – 1996  ม้งลาวกลุ่มที่สองซึ่งเป็นเครือญาติของกลุ่มแรกเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา 29,000 คน โดยมีองค์กรด้านศาสนาของสหรัฐ เป็นผู้ประสานงานให้ความช่วยเหลือม้งลาวในการจัดสรรที่พักอาศัย และม้งบางส่วนกระจายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น

อนุสรณ์สถานสงครามม้งลาวอเมริกัน ตั้งอยู่ในเมืองเฟรสโน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงชาวม้งลาวผู้เสียชีวิตและต่อสู้ในสงครามลับ ร่วมกับหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ในช่วงสงครามเวียดนาม 
Source: SGU Veterans Organization (from https://www.sguveterans.org/hmong-lao-war-memorials)

เมื่อผู้ลี้ภัยชาวม้งลาวเข้าพำนักในสหรัฐอเมริกาอย่างถาวรและถูกกฎหมายจากรัฐบาล ม้งลาวยังต้องเผชิญและรับมือกับปัญหาอีกมากมาย เช่น ปัญหาการใช้ชีวิตในสถานะผู้อพยพในการตั้งถิ่นฐานใหม่ การใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร การอดทนต่อการเหยียดเชื้อชาติ

แม้ว่าเหตุการณ์สงครามลับผ่านมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ แต่บาดแผลยังคงฝังตรึงในความทรงจำของลูกหลานสายเลือดม้งลาวพลัดถิ่น ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 350,000 คน ในสหรัฐอเมริกา ลูกหลานม้งลาวในสหรัฐอเมริกา จึงได้ร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกม้งลาวอเมริกัน เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงชาวม้งทุกคนที่ร่วมต่อสู้และเสียชีวิตในสงครามลับ พวกเขายังคงสืบสานวัฒนธรรมประเพณีในกลุ่มม้งลาวเป็นอย่างดี มีการแต่งกายและของประดับตามแบบอย่างชาวม้งในเทศกาลงานสำคัญที่จัดขึ้น ณ ศูนย์กลางวัฒนธรรมม้งในสหรัฐฯ  การจัดกิจกรรมศิลปะ ละคร ดนตรี วรรณกรรม งานเขียน บทกวี เป็นต้น

นิทรรศการ Vinai : Hmong Refugee Experience

ลา หยาง ภัณฑารักษ์นิทรรศการ Vinai : Hmong Refugee Experience นำเสนอผลงานศิลปะผ่านภาพถ่าย เอกสาร วัตถุ สื่อเหล่านี้ช่วยเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ของม้งลาวอเมริกันผู้เคยตกอยู่ในสถานการณ์ลี้ภัยภายใต้นิทรรศการที่ให้คำตอบสำหรับคำถามเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวม้งในสงครามลับ การหลบหนีจากบ้านเกิดในแผ่นดินลาวสู่แผ่นดินสหรัฐอเมริกาบ้านหลังใหม่ของพวกเขา

ลา หยาง เกิดที่ลาวเมื่อ ค.ศ. 1974 เขาได้ลี้ภัยตามครอบครัวมาถึงสหรัฐอเมริกาในปี 1980 เราไม่สามารถถามหรือพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเราได้เลย ประวัติศาสตร์ของเราถูกจัดเป็นความลับ ผมคิดว่าตอนที่ผมเติบโตขึ้น ผมมีความสนใจโดยธรรมชาติที่จะค้นหาประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นจึงได้นำมาสู่เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในนิทรรศการชุดนี้

ลา หยาง เล่าแนวคิดการออกแบบห้องจัดแสดงนิทรรศการอย่างน่าสนใจว่า เมื่อคุณเข้ามา เราอยากให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ ดังนั้น เราจึงสร้างประสบการณ์ที่ทุกคนสามารถแบ่งปันร่วมกันได้ ประสบการณ์ Immersive Story Cloth เป็นผ้าทอมือ ที่เล่าเรื่องราวในค่ายผู้ลี้ภัย ผู้หญิงชาวม้งในค่ายผู้ลี้ภัยจะเย็บผ้าด้วยมือเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ลวดลายบนผ้าเป็นเรื่องราวประสบการณ์ในชีวิตของพวกเธอเอง

Vinai: Hmong Refugee Experience จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวม้งลาวในช่วงสงครามลับ นิทรรศการนี้นำเสนอเรื่องราวของชาวม้งที่พลัดถิ่นฐานจากลาวสู่การตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกา ด้วยการจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
Source: Fresnoland (from
https://fresnoland.org/2022/12/21/you-cant-be-a-complete-person-without-your-history-fresno-exhibit-details-the-hmong-refugee-experience/)

นิทรรศการ Vinai : Hmong Refugee Experience ยังได้นำเสนอเรื่องราวบนชีวิตประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวม้งลาวสมัยสงครามลับเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ผ่านห้องจัดแสดงแห่งความรู้สึก ประกอบด้วย

ห้องสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย จัดแสดงสำเนาการกรอกแบบฟอร์มของผู้ลี้ภัยม้งลาว ในวันเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา

ห้อง Refugee Home จัดแสดงสภาพความเป็นในค่ายผู้ลี้ภัย  

ห้องจดหมายค่ายผู้ลี้ภัย นำเสนอเรื่องราวในการสนทนาของคนในครอบครัวที่ต้องพลัดพรากจากกันเพราะสงคราม ผ่านเทปเสียงเกี่ยวกับความวิตกกังวลและการเดินทางลี้ภัยในช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต 

ห้อง Leaving for America จัดแสดงเรื่องราวให้เห็นว่าผู้ลี้ภัยม้งลาวรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องจากบ้านเกิด ซึ่งผู้คนต่างหวาดกลัวว่าจะไม่ได้เจอกันอีกเลย รู้สึกว่าอนาคตช่างมืดมนและมืดมน พวกเขาไม่รู้ว่าอเมริกาเป็นอย่างไร และไม่เคยคิดว่าจะได้พบหน้าครอบครัวอีกครั้ง

ภายในนิทรรศการให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรยากาศและความรู้สึกเสมือนกำลังเป็นผู้ลี้ภัยเดินทางผ่านอุโมงค์มืด การข้ามแม่น้ำ โดยการให้เสียงน้ำ เสียงสัตว์ในป่า และเสียงปืนไล่ล่า ยามค่ำคืน

นิทรรศการ Vinai : Hmong Refugee Experience เป็นนิทรรศการเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการลี้ภัยจากเหตุการณ์สงครามลับ โดยเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่ 10.00 – 17.00 น. ตลอดเดือนธันวาคม 2024 ณ Fresno Fairground รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตลอดเดือนธันวาคม 2024 จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2025

พิพิธภัณฑ์ ประจักษ์พยานแห่งประวัติศาสตร์ชาวม้ง

มาย หวัง ฮุย ลูกหลานม้งในสหรัฐอเมริกา นับเป็นอเมริกันชนเชื้อสายม้งรุ่นใหม่ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของพิพิธภัณฑ์ม้ง เล่าถึงบรรพบุรุษของเธอเคยให้การช่วยเหลือซีไอเอสหรัฐเช่นเดียวกับม้งลาวครอบครัวอื่น จากนั้นครอบครัวของเธอได้อพยพมายังค่ายผู้ลี้ภัยในไทย ก่อนที่จะเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาปลายทศวรรษ 1970  เมื่อเธอเข้ามาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เธอดูแปลกแยกจากคนอื่นในเมืองที่เป็นชาวอเมริกัน ด้วยสำเนียงพูดที่แปลกและวัฒนธรรมม้งที่ติดอยู่ในตัว ทำให้เธอไม่ได้รับการยอมรับจากชาวอเมริกันในการเข้าสังคมในช่วงเวลานั้น 

ก่อนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ม้ง เมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา มาย หวัง ฮุย เล่าว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พิพิธภัณฑ์ม้งเป็นเพียงภาพเลือนรางในใจของเธอเท่านั้น เมื่อครั้งที่เธอยังเป็นนักศึกษาด้านมานุษยวิทยา วิชาพิพิธภัณฑ์ มีกิจกรรมเดินทางเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทั่วเมือง ทำให้เธอได้พบกับต้นฉบับลายมือของนักเขียนหนังสือคนหนึ่ง เธอจึงตระหนักได้ว่าเธอไม่มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์สมัยที่พ่อแม่ของเธอยังมีชีวิตอยู่  แม้แต่กับวัฒนธรรมของชาวม้ง ไม่มีอะไรที่ถูกเก็บรวบรวมไว้เพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวมีชีวิตชีวาคือการใช้วัตถุสิ่งของ จากนั้นเธอจึงเข้าใจได้ว่าเป้าหมายหลักของเธอคือการส่งเสริมจิตสำนึกของชาวม้งให้สูงขึ้นผ่านการรวบรวม อนุรักษ์ และจัดเก็บเรื่องราวที่หลากหลายของชาวม้งให้ได้มากที่สุด

ต่อมามาย หวัง ฮุย เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน หลังจากนั้นเธอติดต่อกับผู้นำท้องถิ่นชาวม้งเพื่อสำรวจพื้นที่ เธอมองเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ในตัวผู้คน และเชื่อว่าทุกคนควรมีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของตนเองจากเสียงของตนเอง และเธอได้ประเมินความสนจากกลุ่มสมาชิกชุมชนม้ง ในการสร้างคลังเก็บสิ่งของของชาวม้ง

ภาพวาดสิ่งประดิษฐ์วัฒนธรรมม้งโดย Seexeng Lee ถ่ายทอดความงดงามของเครื่องมือ เครื่องดนตรี และสิ่งประดิษฐ์สำคัญของชาวม้ง เปิดมุมมองสู่จิตวิญญาณและวิถีชีวิตของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์และความหมาย
Source: Hmong Cultural Center Museum (from https://hmongculturalcentermuseum.org/wp-content/uploads/2024/02/015-5-980x654.jpg)

ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ แต่ไม่มีใครริเริ่มทำจริงๆ ฉันจึงสร้างเพจออนไลน์ขึ้นมา ทุกคนในชุมชนที่ฉันพูดคุยด้วยต่างบอกว่าพวกเขาต้องการบางอย่างที่คล้ายกับพิพิธภัณฑ์ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะมีวิธีสร้างสิ่งนั้นได้หรือไม่ - มาย หวัง ฮุย, ผู้อำนวยการบริหารพิพิธภัณฑ์ม้ง

พิพิธภัณฑ์ม้ง Hmong Cultural Center Museum ตั้งอยู่ที่รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา มีห้องจัดแสดงนิทรรศการชาวม้งในมินนิโซตา: เมื่อวานและวันนี้ ชวนสำรวจประวัติศาสตร์ชาวม้งผ่านนิทรรศการที่เต็มไปด้วยเรื่องราวสะเทือนใจของสงครามลับในลาว รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณี และงานเทศกาลเฉลิมฉลอง เครื่องดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิม Qeej ในพิธีกรรมชาวม้ง งานแต่งงาน งานศพ และ Ncas ไวโอลินสองสายห้องในนิทรรศการศิลปะพื้นบ้านชาวม้ง ชมนิทรรศการภาพวาดโบราณวัตถุของชาวม้งเกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องดนตรี และสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าต่างสู่จิตวิญญาณของวัฒนธรรมม้งดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีลวดลายงานปักอันวิจิตรหลากหลายบนผ้าปักที่สะท้อนเรื่องราวทางประเพณี วิถีความเป็นอยู่ชาวม้ง

มาย หวัง ฮุย ตั้งใจทำงานถ่ายทอดอัตลักษณ์ของชาวม้งทุกรูปแบบ ดังคำกล่าวอันโด่งดังของ Chinua Achebe กวีชาวไนจีเรียที่ว่า “ตราบใดที่สิงโตยังมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง ประวัติศาสตร์ของการล่าสัตว์ก็ยังคงเป็นเกียรติแก่ผู้ล่า”

ม้งลาวรุ่นใหม่ในอเมริกายังคงสืบสานรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตน สืบสานประเพณีที่ฝังรากลึกในตำนานและความทรงจำ วัฒนธรรมได้รับการปรับให้เข้ากับบริบทใหม่ ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและยกย่องบรรพของพวกเขา มิใช่เพื่อเชิดชูสงคราม แต่เป็นเครื่องเตือนใจให้ลูกหลานชาวม้งและชาวลาวต้นเหตุในการเดินทางมาสหรัฐอเมริกา เพื่อสอนให้ชาวม้งและผู้ที่ไม่ใช่ชาวม้งรู้ว่าความกล้าหาญและเสียสละของคนสมควรได้รับการจดจำและยกย่องเชิดชูตลอดไป

แหล่งข้อมูล

ชวาลศิลป์, บ. (n.d.). "2503 สงครามลับลาว" [1960 Secret War in Laos]. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_586747

ศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา. (2537). สุภาษิตคำสอนม้ง. ชุดภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายเลข 1. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สืบค้นจาก https://studyhmong.com/wp-content/uploads/2017/09/Hmong-proverbs-Leepreecha.pdf

Hmong Story Legacy. (2022). Vinai: Hmong refugee experience. Retrieved from https://www.hmongstorylegacy.com/vinai

Narain, Aarohi. (n.d.). Through Hmong Museum Initiative, Mai Vang Makes Hmong History Visible. Hmong Times Online. Retrieved from https://hmongtimes.com/through-hmong-museum-initiative-mai-vang-makes-hmong-history-visible/3356/

Learning Uake. (n.d.). The Hmong refugee experience. Retrieved from https://learnuake.org/articles/the-secret-war/refugee-experience/

National Museum of the United States Air Force. (n.d.). Hmong and other indigenous people. Retrieved from https://www.nationalmuseum.af.mil/Visit/Museum-Exhibits/Fact-Sheets/Display/Article/579603/hmong-and-other-indigenous-people/

UNHCR The UN Refugee Agency. (n.d.). Data and statistics: Mid-year trends. Retrieved from https://www.unhcr.org/mid-year-trends

Wikipedia contributors. (n.d.). Sheboygan Hmong Memorial. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Sheboygan_Hmong_Memorial

ภาพหน้าปก

ผ้าปักเล่าเรื่องของชาวม้ง ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการ Vinai: Hmong Refugee Experience  ถ่ายทอดความโหดร้ายจากการสูญเสียบ้าน ครอบครัว และวิถีชีวิตในช่วงเวลาที่ต้องพลัดถิ่นฐานอันเนื่องมาจากสงครามลับ เส้นด้ายแต่ละเส้นในผ้าปักเล่าเรื่องราวที่สะท้อนถึงความทรงจำร่วมกัน ความเข้มแข็ง ความโศกเศร้า และการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด

เครดิตภาพ: Heather Halsey Martinez
ที่มา: Fresnoland
ลิงก์ภาพ: https://i0.wp.com/fresnoland.org/wp-content/uploads/2022/12/IMG_3369.jpg?resize=800%2C600&ssl=1

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ