Muse Around The World
พิพิธภัณฑ์กับเรื่องราวการอพยพ
Muse Around The World
10 ก.พ. 68 125

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

ภูมิทัศน์เมืองมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากการอพยพของประชากรตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้เมืองต่าง ๆ กลายเป็นจุดหลอมรวมวัฒนธรรมที่หลากหลาย แม้ความหลากหลายนี้จะเติมเต็มให้เมืองร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรม แต่นำมาซึ่งความซับซ้อนในหลายด้าน โดยเฉพาะในโครงสร้างสังคมและกลุ่มคนอพยพที่กลายอยู่ชายขอบสังคม

พิพิธภัณฑ์ในฐานะศูนย์กลางวัฒนธรรม มีบทบาทสำคัญในการสะท้อนและชี้ชวนให้สังคมพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยมุมมองที่เปิดรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้น การถ่ายทอดเรื่องราวเรื่องราวของชีวิตในเมืองที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในที่นี้ นำเสนอพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งในยุโรป ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และพิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์ แอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม ทั้งสองแห่งมีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจการอพยพและสิ่งที่สังคมกำลังเผชิญในยุคสมัยใหม่

พิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมกับความหลากหลายของเมือง

หากพิจารณาบทบาทของพิพิธภัณฑ์ด้วยแนวคิด “พื้นที่ติดต่อ” (contact zone) ที่หมายถึงพื้นที่ที่กลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ พบปะกัน และสะท้อนถึงลักษณะที่หลากหลายของสังคมเมือง ผลที่ตามมาคือความซับซ้อนทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ของกลุ่มคนและองค์กรที่มีผลประโยชน์ร่วมและหรือขัดแย้งกัน พิพิธภัณฑ์นำเสนอเรื่องราววัฒนธรรมที่หลากหลายเหล่านั้นสามารถก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจสร้างความร่วมมือหรือก่อให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นกัน

พิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ สะท้อนบทบาทนี้โดยการเปลี่ยนจากการจัดแสดงแบบดั้งเดิมที่เน้นการนำเสนอเรื่องราวของสังคมวัฒนธรรมจากวัตถุวัฒนธรรมและการค้นคว้าเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง สู่การมีส่วนร่วมกับสังคมร่วมสมัยโดยเฉพาะกลุ่มผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นข้ามชาติของเมือง โดยใช้มุมมองทางมานุษยวิทยาเมือง การเปลี่ยนแปลงในการทำงานพิพิธภัณฑ์นี้เน้นย้ำถึงแนวโน้มที่พิพิธภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการสนทนาทางวัฒนธรรมให้กับผู้คนในเมือง มากกว่าการบันทึกอดีต

ผู้เยี่ยมชมมีส่วนร่วมกับนิทรรศการเน้นปฏิสัมพันธ์ ณ พิพิธภัณฑ์รอตเตอร์ดัม สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม (2016) (ภาพจาก The Inclusion of Migrants and Refugees: The Role of Cultural Organisations, p. 62, Acesso Cultura, 2017). (อ่านเพิ่มเติม https://migrant-integration.ec.europa.eu/sites/default/files/2017-06/Access-Culture-migrants-refugees.pdf)

วิธีการที่น่าสนใจในงานพิพิธภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เช่น “City as Muse” ด้วยการพิจารณาว่าเมืองเป็นแหล่งความรู้ โดยอาศัยความร่วมมือโดยตรงกับชุมชนในเมือง เพื่อรวบรวมและผสานเรื่องราวของท้องถิ่นเข้ากับบริบทประวัติศาสตร์ที่กว้างขึ้น การดำเนินการนี้เปิดให้คนในเมืองมีส่วนร่วมโดยตรง ทำให้พวกเขาเป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการเล่าเรื่อง ทั้งเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และนำเรื่องราวเหล่านั้นมาถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าในนิทรรศการ

โครงการตัวอย่างเช่น “การดูแลกันในย่านตะวันตก” ในถนนหลายแห่งของร็อตเตอร์ดัม โครงการการวิจัยนี้ดำเนินการร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยในสาขาสังคมสงเคราะห์ และถ่ายทอดเรื่องราวของการทำงานในรูปแบบนิทรรศการ “การดูแลกันในย่านตะวันตก” เนื้อหาในนิทรรศการนำเสนอวิธีการต่าง ๆ ที่ผู้อยู่อาศัยให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน บทบาทของชุมชนในการดูแลสภาพแวดล้อมท้องถิ่น เพื่อชี้ให้เห็นวิถีปฏิบัติประจำวันและวิธีการดูแลที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม

บทบาทของพิพิธภัณฑ์จึงขยายขอบเขตการทำงานจากการอนุรักษ์และการสื่อสารประวัติศาสตร์ แต่นำเสนอวัฒนธรรมร่วมสมัย ในการยอมรับกับความซับซ้อนของชีวิตเมืองอันหลากหลาย สถาบันพิพิธภัณฑ์อย่างพิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมช่วยส่งเสริมความเข้าใจและโอบรับกลุ่มคนต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์จึงมีบทบาทอย่างมากในการสร้างพลเมืองที่ปรับตัวเข้ากับพลวัตของเมือง และทำให้เมืองกลายเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและการเข้าใจวัฒนธรรมในกระแสของสังคม

พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์กับประวัติศาสตร์ของการอพยพ

พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์ในแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม เป็นการทำงานที่น่าสนใจยิ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวของการอพยพของชาวยุโรปกว่าสองล้านคนสู่อเมริกาเหนือตั้งแต่ ค.ศ. 1873 ถึง 1934 ทั้งการออกแบบพื้นที่และถ่ายทอดเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์สะท้อนการเชื่อมโยงและเปลี่ยนแปลง ที่อาศัยความทรงจำส่วนตัวและความทรงจำร่วมเพื่อผู้ชมสมัยใหม่เข้าใจรากฐานของสังคมมนุษย์ที่มีการเดินทางและการตั้งถิ่นฐานใหม่เพื่อโอกาสและเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในอาคารประวัติศาสตร์ของบริษัทเรดสตาร์ไลน์ อาคารดังกล่าวนำเสนอการเดินทางของผู้อพยพ ฉะนั้น จึงที่เป็น “สถานที่แห่งความทรงจำ” (lieux de mémoire) ที่ทรงพลัง พิพิธภัณฑ์กำหนดให้พื้นที่ในภายในอาคารและที่เชื่อมโยงบริเวณโดยรอบ อำนวยให้ผู้ชมสามารถติดตามเส้นทางของผู้อพยพเมื่อครั้งอดีต ตำแหน่งแห่งที่เหล่านี้ช่วยสร้างประสบการณ์ของผู้คนในอดีต

ผู้เยี่ยมชมสนใจในสิ่งของส่วนบุคคลและโบราณวัตถุที่หลากหลาย วัตถุจัดแสดงเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นการเชื่อมโยงที่จับต้องได้กับเรื่องราวของผู้ที่เดินทางจากยุโรปไปยังอเมริกาเหนือ ซึ่งบรรจุความหวัง ความท้าทาย และประสบการณ์ของพวกเขา (ภาพจาก Red Star Line Museum)

พิพิธภัณฑ์เน้นการสื่อสารด้วยเนื้อหาที่ปรากฏเป็นข้อความ โบราณวัตถุ และการนำเสนอด้วยมัลติมีเดียหลายภาษา ทำให้ผู้ชมจากทั่วโลกที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้ รวมถึงการออกแบบทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ผสานการตีความประสบการณ์ของผู้อพยพ จึงทำให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของผู้อพยพได้ด้วย  บอร์ดนิทรรศการในตำแหน่งต่าง ๆ ของอาคารระบุ “คุณอยู่ที่นี่” เพื่อเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ปัจจุบันกับการใช้งานในอดีต อาคารพิพิธภัณฑ์จึงกลายเป็นพาหนะที่เชื่อมโยงกับความทรงจำ เช่น บริเวณนี้เป็นสถานที่ที่ผู้อพยพเคยรับการตรวจร่างกาย หรือการตรวจสอบเอกสารการเดินทาง เป็นต้น

นอกจากนี้ มีการใช้จอสัมผัสที่ผู้ชมสามารถฉายภาพตัวเองเป็นผู้โดยสารและสรุปเส้นทางการเดินทางของตนเองในแผนที่ดิจิทัล อีกตัวอย่างในส่วนของนิทรรศการ “การเดินทางถึงอเมริกา” ผู้ชมมีโอกาสระบุตัวตนกับข้อมูลผู้โดยสารและสัมผัสประสบการณ์ส่วนบุคคลในการเข้าสู่ด่านศุลกากรของสหรัฐอเมริกา ณ เอลลิสไอส์แลนด์ การจัดแสดงกล่าวนี้เน้นให้ผู้ชม “สวมรอย” เป็นผู้อพยพ เพื่อสื่อสารทั้งความรู้และความรู้สึกของการอพยพ

พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์เป็นตัวอย่างของปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ ในการสร้างความเข้าใจของผู้ชมในประวัติศาสตร์และประเด็นร่วมสมัย เมื่อใช้เทคโนโลยีแบบเน้นปฏิสัมพันธ์และการออกแบบพื้นที่อย่างพิถีพิถัน พิพิธภัณฑ์จึงไม่เพียงถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต แต่ดึงดูดผู้ชมให้ส่วนร่วมและสัมผัสถึงการเดินทาง ทั้งการเดินทางและความรู้สึกของผู้อพยพ นับเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจกับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์

การอพยพผ่านมุมมองของพิพิธภัณฑ์

มุมมองเกี่ยวกับการอพยพ ทั้งพิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมและพิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์ถ่ายทอดมุมมองที่แตกต่างในเรื่องราวการอพยพที่เป็นปรากฎการณ์ในระดับโลก พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์สำรวจการออกเดินทางของชาวยุโรปไปยังอเมริกาเหนือ โดยเน้นที่จุดเริ่มต้นของการเดินทางและบริบทประวัติศาสตร์ที่ผลักดันให้ผู้คนเหล่านี้ออกเดินทางจากบ้านเกิด ในทางตรงกันข้าม พิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมเน้นแง่มุมของการมาถึงดินแดนใหม่ ผู้อพยพค่อย ๆ เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ทางสังคมวัฒนธรรมของเมืองในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์การอพยพทั้งสองแห่งจึงมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์มองไปที่รากเหง้าและเหตุผลของการอพยพ ส่วนพิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมชี้ให้เห็นผลกระทบระยะยาวและกระบวนทางสังคมที่ยังคงดำเนินไปในปัจจุบัน

ความทรงจำและชุมชน -พิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนผู้อพยพกับความทรงจำ พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์บันทึกความทรงจำของผู้อพยพที่ออกเดินทางเพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ โดยเก็บรักษาประสบการณ์ของผู้ที่เริ่มต้นการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ส่วนพิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมทำงานร่วมกับชุมชนผู้อพยพที่หลากหลายในปัจจุบัน เน้นบทสนทนาเกี่ยวกับประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของผู้อพยพในเมือง การมีส่วนร่วมดังกล่าวก่อเป็นความทรงจำร่วมให้กับวัฒนธรรมอันหลากหลายของเมืองในปัจจุบัน

ความร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมพิจารณาความร่วมสมัยของผู้อพยพและลูกหลาน ที่มีอิทธิพลและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวัฒนธรรมเมืองอย่างต่อเนื่อง พิพิธภัณฑ์เน้นลักษณะพลวัตของอัตลักษณ์วัฒนธรรมภายในเมืองที่คงดำเนินอยู่ ในทางตรงกันข้าม พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์การอพยพในอดีต ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันและมีผลกระทบต่อสังคมโลก มุมมองนี้เปิดเผยให้เห็นว่าการอพยพเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้และมีความสำคัญในการก่อรูปสังคมทั่วโลก

ทั้งพิพิธภัณฑ์ร็อตเตอร์ดัมและพิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์นำเสนอข้อมูลเชิงลึกและมีลักษณะที่ซับซ้อนเกี่ยวกับการอพยพ  บทบาทของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของการอพยพและผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์จึงแสดงบทบาทของตัวกลางของความทรงจำและเป็นตัวแทนในการสานสนทนาทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ช่วยเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและความแน่นแฟ้น พิพิธภัณฑ์จึงไม่เพียงแต่สืบทอดประวัติศาสตร์ แต่ยังมีส่วนในการจัดการกับประเด็นสังคมที่ซับซ้อนดังเช่นการอพยพ

แหล่งข้อมูล

Spiessens, A., & Decroupet, S. (2022). Translating spaces and memories of migration: the case of the Red Star Line Museum. Perspectives, 31(1), 484-504. https://doi.org/10.1080/0907676X.2022.2122850

The Art Newspaper. (2024). Rotterdam’s new Museum of Migration, FENIX, to open in May. Retrieved from https://www.theartnewspaper.com/2024/11/22/rotterdams-new-museum-of-migration-fenix-to-open-in-may

Van de Laar, P. T. (2013). The Contemporary City as Backbone: Museum Rotterdam Meets the Challenge. Journal of Museum Education, 38(1), 39-49. https://www.jstor.org/stable/43305769

Van Dijk, N. (2017). Translating hyperdivercity for the museum. In M. Vlachou (Ed.), The inclusion of migrants and refugees: The role of cultural organisations (pp. 58-64). Acesso Cultura. ISBN: 978-989-20-7579-2.

UNESCO. (2013). European Museums in the 21st Century: Setting the Framework (Vol. 2). Red Star Line Museum, Antwerp, Belgium. Milano: Politecnico di Milano. ISBN 978-88-95194-33-2. Retrieved from https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000227421

ภาพปก เด็กๆ สำรวจประวัติศาสตร์การอพยพผ่านการแสดงโต้ตอบกับกระเป๋าเดินทางที่พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์ วิธีการนี้ช่วยให้เรื่องราวการอพยพมีความส่วนตัวมากขึ้น ทำให้เข้าถึงได้ง่ายและน่าสนใจสำหรับรุ่นต่อไป (ที่มา: พิพิธภัณฑ์เรดสตาร์ไลน์)

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ