จากโพสต์ก่อนหน้า... ที่ นายกบแดง เชิญชวนเพื่อนๆ มาเที่ยวงาน NIGHT AT THE MUSEUM ครั้งที่ 7 ตอน “งิ้ว” กล้า ก้าว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15 - 17 ธันวาคม 2560 ตั้งแต่ เวลา 16.00 - 22.00 น. หนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยม และเสียงตอบรับจากแฟนๆ เป็นอย่างดีทุกปี
.
ก่อนจะถึงงานในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า นายกบแดง ขอรับอาสาทำหน้าที่ผู้ส่งสาส์นจำเป็น เล่าเกร็ดประวัติและความรู้เกี่ยวกับ “งิ้ว” อุปรากรจีนที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก ซึ่งได้กลายมาเป็นธีมการจัดงานของเราในปีนี้
.
เมื่อเอ่ยถึง “งิ้ว” สิ่งที่ทุกคนนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ คงหนีไม่พ้น ใบหน้าของนักแสดงที่ถูกแต่งแต้มไปด้วยสีสันฉูดฉาด การแต่งกายด้วยชุดจีน และเครื่องหัวแบบจัดเต็ม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ โพสต์นี้จึงได้รวบรวม 7 เรื่องราวเบื้องหลังความ Wow ! อันเป็นมนต์เสน่ห์ของการแสดงงิ้วมาฝาก.. จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
.
1.️ “งิ้ว” หรือ “อุปรากรจีน” ฝรั่งเรียกว่า Chinese opera เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1179-1276) เป็นการแสดงที่ผสมผสานการขับร้อง และการเจรจาประกอบกับลีลาท่าทาง โดยนำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์จีนมาดัดแปลงเป็นบทแสดง รวมทั้งเอาความเชื่อทางประเพณีและศาสนาเข้าไปผสมผสานกับการแสดงด้วย
.
2. เดิมในประเทศจีนมี “งิ้ว” ราว 300 กว่าประเภท แบ่งเป็น งิ้วท้องถิ่น และงิ้วระดับประเทศ เช่น งิ้วปักกิ่ง งิ้วเส้าซิง งิ้วเหอหนัน และงิ้วกวางตุ้ง โดยงิ้วที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและถือเป็นตัวแทนงิ้วประจำชาติจีน คือ “งิ้วปักกิ่ง” ได้รับการขนานนามว่า เป็นศิลปะการแสดงสมบูรณ์แบบที่รวมศิลปะ“การขับร้อง” “การพูด” “การแสดงลีลา” “การแสดงศิลปะการต่อสู้”และ“ระบำรำฟ้อน” เข้าไว้ด้วยกัน
.
3. ตัวละครของ “งิ้ว” ที่สำคัญแบ่งเป็น “เซิง”(ชาย) - “ตั้น”(หญิง) - “จิ้ง”(ชาย) และ “โฉว”(มีทั้งชายและหญิง) ในยุคเริ่มต้นทั้งชายและหญิงแสดงร่วมกันได้ แต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง มีพระราชโองการห้ามแสดงร่วมกัน คณะอุปรากรจีนจึงต้องแสดงเป็นเพศตรงข้าม โดยผู้หญิงแสดงแทนผู้ชาย ผู้ชายแสดงแทนผู้หญิง กินระยะเวลานานถึง 200 ปี
.
4. สมัยของ พระนางซูสีไทเฮา เป็นยุคที่การแสดงงิ้วรุ่งเรืองสุดขีด เพราะพระนางทรงโปรดปรานการแสดงงิ้วมาก แต่งิ้วต้องลดบทบาทลงภายหลังจากที่พระนางซูสีไทเฮาและพระเจ้ากวงสูสวรรคต เมื่อการสนับสนุนงิ้วในราชวงศ์ลดลง คณะงิ้วต้องออกมาแสดงตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ถือเป็นก้าวแรกที่งิ้วได้รับการถ่ายทอดออกมาสู่สามัญชนและสุดท้ายก็ได้แพร่ขยายออกไปสู่ประเทศต่างๆทั่วโลก
.
5. การแสดง “งิ้ว” ได้รับการยอมรับจากองค์การยูเนสโก และได้ขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลก’ ตามลำดับ ดังนี้ “งิ้วคุนฉวี่" ปี 2001 - “งิ้วกวางตุ้ง" ปี 2009 และ “งื้วปักกิ่ง" ปี 2010
.
6. คนไทยเรารู้จัก “งิ้ว” มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตามบันทึกรายวันของ บาทหลวงเดอ ชัวสี ตาซารต์ ทูตพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ติดตามมองซิเออร์ เลอ เชอวาเลีย เดอโชมองต์ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยใน สมัยพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2228 และบันทึกของลาลูแบร์ทูตชาวฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2230 กล่าวชื่นชมการแสดงงิ้ว โดยเรียกการแสดงชนิดนี้ว่า “Comedie a la chinoife” และ “A Chinefe Comedy” ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า “ละครจีน”
.
7. ทุกวันนี้ “งิ้ว” ในไทยหาดูค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ต้องรอช่วงเทศกาลตรุษจีนหรืองานประเพณีชาวจีนต่างๆ โดยใน กทม. ที่ยังเห็นจัดแสดงทุกปีคือที่ ศาลเจ้าปึงเถ่ากง ถ.มหานคร สี่พระยา และ ห้างเสนาเฟส ถ.เจริญนคร
.
แต่สำหรับใครที่ไม่อยากรอนานล่ะก็ ตบเท้าแวะมาเที่ยวงาน NIGHT AT THE MUSEUM ตามวันและเวลาที่เขียนไว้ข้างบนได้เลย เพราะงานนี้เราได้ยก "โรงงิ้ว" มาตั้งในพิพิธภัณฑ์ พร้อมจัดให้มีการแสดงงิ้ว เรื่อง “มู่หลาน” ด้วยภาษาไทย ซึ่งได้เรียบเรียงเนื้อร้องและทำนองขึ้นใหม่ เพื่อกิจกรรมนี้โดยเฉพาะเลยทีเดียว แล้วพบกันครับ