Museum Core
นักสร้างความเป็นไทยในแผนที่ “ทวี (ทองใบ) แตงน้อย”
Museum Core
09 ก.พ. 61 5K

ผู้เขียน : อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

นักสร้างความเป็นไทยในแผนที่ “ทวี (ทองใบ) แตงน้อย”

 

เพื่อแสดงความเป็นไทยให้สมบูรณ์ สิ่งหนึ่งซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในฐานะเครื่องยืนยันขอบเขตและตัวตนของรัฐไทยก็ย่อมมิพ้นไปจาก “แผนที่ประเทศไทย”


แผนที่อาณาบริเวณดินแดนสยามปรากฏแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จัดทำโดยพวกฝรั่งชาวยุโรปผู้ปรารถนาความสะดวกในการติดต่อค้าขาย ส่วนการเขียนแผนที่ขึ้นเองโดยฝีมือคนไทยนั้น พบหลักฐานระบุว่าเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 แผนที่ประเทศมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการปรับปรุงและพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัย รัฐบาลจึงจัดตั้งกองทำแผนที่ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2418 เกิดคณะนักสำรวจทำแผนที่ทั้งชาวต่างชาติรวมถึงชาวสยาม โรงเรียนแผนที่เปิดตัวพุทธศักราช 2425 ฝึกหัดชาวสยามให้สามารถเขียนแผนที่ได้เอง จนนำไปสู่การสถาปนากรมแผนที่อีกสามปีต่อมา นับแต่นั้นความสนใจต่อแผนที่และวิชาภูมิศาสตร์พลันแพร่หลายในสังคมยิ่งนัก เห็นได้จากมีการพิมพ์หนังสือตำรับตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย ตัวอย่างเช่น ตำราแผนที่ เช่นที่ต้องการใช้ในการทหาร จัดเป็นบทสอนนักเรียนทหาร ของพันเอก พระสารสาสน์พลขันธ์ ซึ่งใช้กันในโรงเรียนทหารช่วงทศวรรษ 2450 และ ภูมิศาสตร์ประเทศสยาม จัดทำโดยกรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการช่วงทศวรรษ 2460 เป็นต้น


ที่กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องราววิวัฒนาการแผนที่ประเทศไทย ทว่าการเขียนแผนที่ซึ่งเปี่ยมล้นอิทธิพลต่อความทรงจำของคนไทยอย่างมากเห็นจะไม่พ้นแผนที่ในหนังสือแบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ดูเหมือนนักเรียนไทยแทบทุกคนล้วนเคยสัมผัสกับเครื่องมือบ่งบอกอาณาเขตแห่งรัฐจากหนังสือเหล่านี้ และถ้าสังเกตให้ดี ชื่อผู้เขียนคนหนึ่งที่มักเด่นหราอยู่บนปกคือ “ทองใบ แตงน้อย”

ทองใบหาใช่เพียงแค่คนเขียนแผนที่เท่านั้น แต่คือผู้สร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านแผนที่ด้วย มิหนำซ้ำ ยังเป็นชุดองค์ความรู้ที่แพร่หลายและฝังลึกในสมองคนไทยเรื่อยมา จริงอยู่ ความเชื่อว่า “คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต” อาจเริ่มต้นจากหนังสือ หลักไทย ผลงานโดยขุนวิจิตรมาตราที่ได้รับรางวัลประกวดวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภาในพุทธศักราช 2471 อย่างไรก็ดี สิ่งที่ตอกย้ำจนทำให้ความเชื่อข้างต้นกลายเป็นข้อมูลหลักต่อการรับรู้ของคนส่วนใหญ่น่าจะมาจากหนังสือแผนที่ภูมิศาสตร์โดยฝีมือครูทองใบเสียมากกว่า นั่นเพราะถูกบรรจุในแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการซึ่งผลิตซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลายาวนานและมิได้แก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดเลย

 

แต่กระนั้น ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แผนที่แบบทองใบ แตงน้อย จากนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน ธงชัย วินิจจะกูล พาดพิงถึงแผนที่ประเทศไทยซึ่งอยู่ในหนังสือ แผนที่ภูมิศาสตร์ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ของทองใบว่า “...ไม่ใช่หลักฐานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่แสดงความจริงทางภูมิศาสตร์แม้แต่น้อย แต่เป็นการคาดเดาทางประวัติศาสตร์ออกมาในรูปแผนที่ เป็นการเอาวิกฤตการณ์มาใส่รหัส เป็นประดิษฐกรรมเชิงสัญญะล้วนๆ...” ศัพท์แสงในถ้อยความของธงชัยอาจจะฟังดูยาก พูดให้ง่าย ๆ ก็คือ ธงชัยมองแผนที่ของทองใบว่าไม่ได้มีข้อมูลความจริงอันสำรวจมาตามหลักภูมิศาสตร์ แต่เป็นการจงใจของผู้เขียนแผนที่เพื่อจะสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ตามแบบที่ตนปรารถนาลงบนแผนที่ ประเด็นซึ่งธงชัยเน้นย้ำได้แก่ แผนที่ของทองใบให้ความสำคัญต่อการที่ประเทศสยามต้องเสียดินแดน 7-8 ครั้ง โดยจงใจสื่อนัยเชิงปฏิเสธว่าประเทศสยามถูกกำหนดเส้นเขตแดนจากมหาอำนาจตะวันตก หากกลับมีขอบเขตดินแดนดำรงอยู่มานานแล้ว และที่สำคัญยิ่ง สยามสามารถคงไว้ซึ่งเอกราชอยู่รอดมาได้ สิ่งนี้แหละที่ธงชัยเรียก “เป็นการเอาวิกฤตการณ์มาใส่รหัส” ส่วนสัญญะอันประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ในมุมมองของธงชัยย่อมมิพ้นความเป็นไทยแบบชาตินิยม ซึ่งถือเป็นกรอบคิดหลักที่วางลงในแผนที่ของทองใบ แตงน้อย
จุดหนึ่งอันพึงใคร่ครวญเมื่อได้ลองสำรวจหนังสือแผนที่และตำราภูมิศาสตร์ในยุคแรก ๆ กลับพบข้อสังเกตชวนฉุกคิด เพราะถึงแม้ในหนังสือประเภทนี้จะอธิบายถึงการทำแผนที่หรือลักษณะภูมิศาสตร์อย่างไร แต่กลับไม่พบภาพแผนที่ประกอบอยู่ด้วยเลย เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทองใบ แตงน้อย อาจจะเป็นคนแรกที่ใช้ภาพแผนที่ประกอบไว้ด้วยในผลงานตำราเรียนของเขา

 

ก็ในเมื่อทองใบ แตงน้อย คือนักสร้างประวัติศาสตร์ผ่านแผนที่ผู้ได้รับการเอ่ยอ้างถึงมากเพียงนี้ เคยสงสัยบ้างไหมครับ เขาเป็นใครกันแน่ ? แล้วทำไมจึงมาเขียนแผนที่ประเทศไทย ? หลายบรรทัดถัดไปมีคำตอบ

 

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าแผนที่ของทองใบ แตงน้อย อยู่ในหนังสือแบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ผู้สร้างผลงานก็ย่อมจะมิพ้นคนสอนหนังสือ ใช่ครับ ทองใบคือครูโรงเรียนมัธยม เดิมทีเขาเป็นชาวกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา เกิดวันที่ 22 ธันวาคม พุทธศักราช 2454 บุตรชายคนที่ 6 ของพัศดีเรือนจำอย่างขุนอภิเทศสุรทัณฑ์ (ไชย แตงน้อย) กับนางเที่ยง หากทองใบสำเร็จการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศในกรุงเทพมหานครเมื่อพุทธศักราช 2472 พร้อมเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครู ณ วัดเดียวกัน จนได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) อีกสองปีถัดมา


เฉกเช่นเดียวกับชายไทยส่วนใหญ่ซึ่งถือคติทำนองร่ำเรียนเสร็จสิ้นก็บวชเป็นพระสงฆ์ ครั้นพอลาสิกขาออกมาจึงแต่งงานมีครอบครัว ทองใบมิใช่ข้อยกเว้นเลย เขาอุปสมบทที่วัดชนะสงคราม แต่ไปจำพรรษาวัดนวลนรดิศ ทางฝั่งธนบุรีสี่เดือนเศษ กลับมาเป็นฆราวาสอีกหนและเข้าพิธีสมรสกับนางสาวเชื้อ ต้อยปาน ในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2475 พอถึงเดือนมิถุนายน ทองใบเริ่มรับราชการครูชั้นมัธยมศึกษาประจำโรงเรียนวัดนวลนรดิศ อาศัยเวลานอกราชการศึกษาต่อจนได้ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) นับจากนั้น ยึดอาชีพสอนหนังสือมาตลอดเกือบสี่ทศวรรษ โดยย้ายไปประจำโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง ทั้งโรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส และช่วงทศวรรษ 2480-2490 มุ่งสู่โรงเรียนทางจังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ครูชั้นตรีโรงเรียนประจำจังหวัดจันทบุรี “เบญจมราชูทิศ” ครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดระยอง “ระยองมิตรอุปถัมภ์” กระทั่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี “ปราจิณราษฎรอำรุง” จวบจนปีพุทธศักราช 2508 เขาหวนย้อนคืนกรุงเทพฯ ในฐานะอาจารย์ประจำกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อพุทธศักราช 2513

 

 

ช่วงเป็นครูสอนหนังสือประจำโรงเรียนจังหวัดทางภาคตะวันออกนี้เอง คือจุดเริ่มต้นที่ทองใบ แตงน้อยได้จัดทำหนังสือแผนที่แบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์ สืบเนื่องด้วยเงินเดือนจากอาชีพครูไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว เขาเองก็มีบุตรหลายคนให้ส่งเสีย ขณะอยู่โรงเรียนประจำจังหวัดจันทบุรีเคยต้องเลี้ยงเป็ดเลี้ยงหมู รวมถึงถักลูกไม้ ทอกระเป๋าทอเสื่อออกขาย แต่ความฝืดเคืองใช่จะหมดสิ้น ราวช่วงกลางทศวรรษ 2480 ทองใบเกิดความคิดว่าตนเองเป็นคนมีฝีมือด้านวาดเขียน น่าจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยเรียบเรียงตำราภูมิศาสตร์ขึ้นพร้อมวาดแผนที่ประกอบ ส่งไปให้โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชพิจารณาจนได้รับความอนุเคราะห์ให้จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ภายหลังออกเผยแพร่จัดจำหน่ายกลายเป็นที่ยอดนิยมในตลาดอย่างรวดเร็ว กระทั่งตีพิมพ์ครั้งใหม่ซ้ำหลายหน ทำรายได้งดงามยิ่งนักจนช่วยยกฐานะครอบครัวของทองใบให้ดีขึ้นมาก อีกทั้งโรงเรียนต่าง ๆ ยังนำไปใช้ในการเรียนการสอน ดังนั้น ทองใบจึงพยายามเรียบเรียงหนังสือแบบเรียนแผนที่ภูมิศาสตร์ออกมาอีกหลายเล่ม และพยายามปรับปรุงแก้ไขสม่ำเสมอให้ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ


ใคร่จะแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักกับจรัส แตงน้อย เสียด้วยอีกคน เขาเป็นน้องชายแท้ ๆ ของทองใบ ตามความเห็นของผมแล้ว จรัสอาจมีอิทธิพลต่อทองใบในการตัดสินใจหารายได้เสริมโดยจัดทำหนังสือแบบเรียนภูมิศาสตร์ขึ้นมาบ้าง เพราะจรัสเองก็เคยเรียบเรียงหนังสือ แบบเรียนภูมิศาสตร์พาณิชย์ เมื่อพุทธศักราช 2479 ไม่เพียงเท่านั้น ต่อมาภายหลัง จรัสยังเป็นนักเขียนสารคดีเชิงท่องเที่ยวต่างแดนฝีมือฉมังและฝากผลงานไว้ในบรรณพิภพหลากหลายชิ้น เป็นต้นว่าเรื่อง ไปดูของดีที่อินเดีย (พุทธศักราช 2508), 7วัน ในพม่า (พุทธศักราช 2509) และ เที่ยวเมืองเขมรและเมืองญวน (พุทธศักราช 2510)
เกี่ยวกับการที่โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชเข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตหนังสือแบบเรียนให้กระทรวงศึกษาธิการนั้น เนื่องจากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พุทธศักราช 2484-2488) กระทรวงศึกษาธิการประสบปัญหากระดาษขาดแคลน แต่โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชยังมีกระดาษเก็บในสต๊อกเป็นจำนวนมาก จึงได้ติดต่อไปทางกระทรวงโดยเฉพาะกรมตำราเพื่อที่จะขายกระดาษให้ ตรงจุดนี้อาจเป็นเหตุให้หนังสือแบบเรียนที่ผลิตจากโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชมักถูกบรรจุเป็นหนังสือแบบเรียน แน่นอนเล่มสำคัญย่อมไม่พ้นหนังสือแผนที่ภูมิศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย


มีอีกข้อควรสนใจคือ แผนที่ประเทศไทยของทองใบเขียนขึ้นโดยหยิบยกองค์ความรู้และกรอบวิธีคิดมาจากไหน เป็นไปได้สูงว่าคงเอาข้อมูลมาจากหนังสือ หลักไทย ของขุนวิจิตรมาตรา หรืออาจได้มาจากงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์หลายเล่มของหลวงวิจิตรวาทการ ส่วนการเขียนภาพแผนที่ประกอบน่าจะยึดตามแบบของกรมแผนที่ทหารมาบ้าง หากลองถอดรหัสแผนที่ของทองใบอาจมองเห็นภาพสะท้อนความเป็นไทยแบบชาตินิยมชัดเจน และเมื่อพิจารณาบริบทร่วมสมัยกับตอนที่ทองใบเริ่มเรียบเรียงหนังสือแบบเรียนภูมิศาสตร์ราวช่วงกลางทศวรรษ 2480 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็จะพบความสอดคล้องกันอย่างเหมาะเจาะเลยทีเดียว ความเป็นไทยแบบชาตินิยมชัดเจนที่กล่าวมาคืออะไร ? แน่นอนได้แก่การบ่งบอกว่าประเทศไทยมีเอกราชเป็นปึกแผ่นมาแต่โบราณ อาณาเขตดินแดนกว้างขวางแผ่ไพศาล คนไทยดำรงอยู่และสืบทอดมายาวนาน แม้จะการเสียดินแดนบางส่วนจะสร้างบาดแผลชอกช้ำ แต่กระนั้น คนไทยก็ร่วมใจร่วมแรงแข็งขันปกป้องชาติรักษาแผ่นดินไว้รอดปลอดภัย เหล่านี้ล้วนเป็นการเสริมสร้างสำนึกความเป็นไทยให้พรั่งพรูขึ้นมา ประกอบกับสมัยต้นทศวรรษ 2480 กลิ่นอายการเรียกร้องดินแดนคืนแผ่ซ่านไปทั่วอย่างฮึกเหิมและนำโดยนายกรัฐมนตรีเองเลยทีเดียว


ช่วงทศวรรษ 2480 ทองใบยังได้เปลี่ยนชื่อของตนตามนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วย โดยเปลี่ยนเป็น “ทวี แตงน้อย”อย่างไรก็ดีบนปกหนังสือแบบเรียนแผนที่ภูมิศาสตร์ยังคงโดดเด่นด้วยชื่อ “ทองใบ แตงน้อย” หากเล่มไหนใช้ชื่อ “ทวี” จะต้องมีชื่อ “ทองใบ” ไว้ในวงเล็บเสมอ
ย้อนกลับไปยังประเด็นของธงชัย วินิจจะกูล อีกสักหน่อย ถ้ามองคล้อยตามข้อเสนอของธงชัยแล้ว คงจะเชื่อว่าทองใบ แตงน้อย ได้จงใจสร้างความเป็นไทยแบบชาตินิยมลงบนแผนที่ของเขาแน่ ๆ แต่เมื่อลองมองอีกแง่มุมหนึ่ง บางทีครูทองใบอาจมิได้เจตนาเขียนแผนที่โดยคาดหวังให้คนหลงเชื่อประวัติศาสตร์แบบไทย ๆ อย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ยุคหลังหรือเปล่า เพราะมูลเหตุในการจัดทำหนังสือภูมิศาสตร์ก็เพื่อช่วยเหลือครอบครัวทางด้านการเงิน เพียงแต่ด้วยภูมิรู้และองค์ความรู้ชุดที่มีอิทธิพลต่อครูทองใบช่วงขณะนั้นคือเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยแบบชาตินิยมต่างหาก


ทองใบ แตงน้อย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2529 แต่ชื่อของครูโรงเรียนมัธยมผู้นี้ยังถูกจดจำเคียงคู่กับหนังสือแบบเรียนแผนที่ภูมิศาสตร์หลายเล่ม โดยเฉพาะแผนที่ประเทศไทยของทองใบซึ่งมีการเอ่ยอ้างถึงไม่สิ้นสุด


หากความเชื่ออันแพร่หลายเรื่องความเป็นไทยทำนอง “คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต” เกิดขึ้นมาโดยขุนวิจิตรมาตรา ที่เพียงส่งหนังสือเข้าประกวดชิงรางวัล แผนที่ประเทศไทยของทองใบ แตงน้อย ก็เกิดขึ้นมาโดยเหตุผลของความจำเป็นต้องหารายได้เสริมเพื่อเลี้ยงชีพ ทว่าสิ่งที่ทั้งสองบันทึกลงไปในหน้าประวัติศาสตร์โดยอาจจะมิได้เจตนานั้น ได้พัฒนามาสู่ “ความเป็นไทย” ที่หลงเชื่อกันแบบผิด ๆ และดูเหมือนจะยังแก้ไขให้คนไทยลบล้างความทรงจำแบบนี้มิได้สักที

 

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

 

 


บรรณานุกรม


กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ. (2468). ภูมิศาสตร์ประเทศสยาม. พระนคร :โรงพิมพ์อักษรนิติ.

กรมแผนที่ทหาร. (2525). วิวัฒนาการทางแผนที่ในประเทศไทย. พิมพ์ในโอกาสแสดงนิทรรศการทางทหารสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร.

จรัส แตงน้อย. (2479). แบบเรียนภูมิศาสตร์พาณิชย์. พระนคร : โรงพิมพ์ศรีหงส์.

ทองใบ แตงน้อย. (2529). แผนที่ภูมิศาสตร์ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2556). กำเนิดสยามจากแผนที่:ประวัติศาสตรภูมิกายาของชาติ. กรุงเทพฯ: อ่าน. (ผู้แปล พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์

ประสิทธิ์ สุนทโรทก. (2531). “นายทวี (ทองใบ) แตงน้อย”. ใน ประวัติครู ๒๕๓๒ คุรุสภาจัดพิมพ์เนื่องในวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๓๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

วิจิตรมาตรา, ขุน. (2478). หลักไทย. พระนคร : กรุงเทพบรรณาคาร.

สารสาสน์พลขันธ์, พระ. (2453). ตำราแผนที่ เช่นที่ต้องการใช้ในการทหาร จัดเป็นบทสอนนักเรียนทหาร. พิมพ์ครั้งที่ 3. พระนคร :โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.

อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี (ทองใบ) แตงน้อย. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 29 มีนาคม 2530. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ห้างฯ ป.สัมพันธ์พาณิชย์.

 

Museum Siam Knowledge Center

กำเนิดสยามจากแผนที่:ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ. / ธงชัย วินิจจะกูล. อ่านออนไลน์

ประมวลแผนที่ : ประวัติศาสตร์ - ภูมิศาสตร์ - การเมืองกับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน - อุษาคเนย์. / ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ