Museum Core
เราบูชาพระประจำวันเกิดไปทำไม?
Museum Core
09 ก.พ. 61 14K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

เราบูชาพระประจำวันเกิดไปทำไม ?

 

 

เคยรู้สึกใช่ไหมว่าทำไมชีวิตบางช่วงดี๊ดี แต่บางช่วงเกิดเรื่องร้าย ๆ ถึงขั้นสบถในใจว่า “ทำไมถึงซวยขนาดนี้” ว่าแล้วเพื่อเป็นการล้างซวยก็หันหน้าเข้าวัดเข้าโบสถ์สวดมนต์ไหว้พระต่อหน้าพระประธาน ปิดท้ายด้วยการออกมาทำบุญเอาเหรียญหยอดใส่ตู้ หรือเติมน้ำมันตะเกียงกับพระประจำวันเกิดของตัวเอง แม้จะเชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วตามกฎแห่งกรรม แต่ในใจลึก ๆ บางครั้งก็แอบคิดว่ามีอะไรบางอย่างที่มีอำนาจมากเหลือเกินจนสามารถทำให้ชีวิตของเราเจอทั้งเรื่องดี ๆ และเรื่องร้าย ๆ ได้

 


ในสังคมไทยมีคนจำนวนมากที่นิยมบูชาพระประจำวันเกิดพร้อมสวดคาถาบูชา เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ป้องกันขจัดปัดเป่าเรื่องร้าย ๆ ให้กลายเป็นดี แต่การบูชาพระพุทธรูปไม่ว่าองค์ไหนปางไหน ต่างก็เป็นการระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่หรือ
แล้วทำไมเราถึงต้องบูชาพระพุทธรูปปางประจำวันเกิด

 


คติการบูชาพระประจำวันเป็นการผสมผสานพุทธศาสนาเข้ากับโหราศาสตร์ตามคัมภีร์มหาทักษา ซึ่งเชื่อว่ามีเทวดาคอยปกป้องควบคุมดูแลชีวิตของคนเราตั้งแต่เกิดและจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่ ประกอบด้วย พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ เรียกรวมว่าเทวดานพเคราะห์ แต่ละองค์จะเข้าเสวยอายุหรือเข้ามาควบคุมดูแลชีวิตในระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน โดยเทวดาทั้ง ๙ นี้มีต้นกำเนิดจากเทพเจ้าในศาสนาฮินดู

 


พระอาทิตย์ มีราชสีห์เป็นพาหนะ เสวยอายุ ๖ ปี ตามตำนานเชื่อว่าถูกสร้างจากราชสีห์ ๖ ตัว จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๖
พระจันทร์ มีม้าเป็นพาหนะ เสวยอายุ ๑๕ ปี ถูกสร้างจากนางฟ้า ๑๕ องค์ จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๕
พระอังคาร มีกระบือเป็นพาหนะ เสวยอายุ ๘ ปี ถูกสร้างจากมหิงสา (กระบือ) ๘ ตัว จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๘
พระพุธ มีช้างเป็นพาหนะ เสวยอายุ ๑๗ ปี ถูกสร้างจากช้าง ๑๗ เชือก จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๗
พระพฤหัสบดี มีกวางเป็นพาหนะ เสวยอายุ ๑๙ ปี ถูกสร้างจากฤาษี ๑๙ ตน จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๙
พระศุกร์ มีโคเป็นพาหนะ เสวยอายุ ๒๑ ปี ถูกสร้างจากโค ๒๑ ตัว จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๒๑
พระเสาร์ มีเสือเป็นพาหนะ เสวยอายุ ๑๐ ปี ถูกสร้างจากเสือ ๑๐ ตัว จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๐
พระราหู มีครุฑเป็นพาหนะ เสวยอายุ ๑๒ ปี ถูกสร้างจากศีรษะผีโขมด ๑๒ ตน จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๒
พระเกตุ มีพญานาคเป็นพาหนะ เสวยอายุตลอด

 


กำลังพระเคราะห์ที่ต่างกันข้างต้น ต่อมาภายหลังถูกนำมาใช้เป็นจำนวนรอบที่ใช้สวดคาถาบูชาพระประจำวันเกิดปางต่าง ๆ

 

 

คติการสร้าง “พระประจำวันเกิด” ที่แพร่หลายในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยการกำหนดปางพระพุทธรูปเพื่อวัตถุประสงค์ในการบูชาพระเคราะห์ ดังที่กล่าวไว้ในตำราสมุดภาพที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ชำระปางพระพุทธรูปขึ้นใหม่ ในตำราเขียนว่าเป็น “รูปพระสำหรับบูชาพระเคราะห์” ดังนี้

 


“• พระอาทิตย์ พระถวายเนตร์
• พระจันทร์ พระห้ามสมุท
• พระอังคาร พระไสยาศน์
• พระพุทธ พระอุ้มบาตร
• พระพฤหัศบดี พระสมาธิ
• พระสุกร พระรำพึง
• พระเสาร์ พระนาคปรก
• พระราหู พระป่าเลไลย
• พระเกษ พระสมาธิเพชร์”

 


พูดง่าย ๆ ก็คือ นำพระพุทธรูปปางถวายเนตรมาเป็นสัญลักษณ์แทนเทวดาพระอาทิตย์ เป็นต้น ฉะนั้นในช่วงแรกพระพุทธรูปปางต่าง ๆ จึงเป็นเพียงเครื่องหมายแทน “พระเคราะห์” ยังไม่ใช่ “พระพุทธรูปประจำวันเกิด” ในความหมายที่รับรู้กันในปัจจุบันนี้

 


หากจะกล่าวย้อนในวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาจะมีกล่าวถึงพระปางห้ามสมุทร ปางสมาธิ ปางรำพึง ปางถวายเนตร ปางไสยาสน์ ดังที่พบในโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นการสร้างในฐานะพระประจำวันเกิด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อบูชาพระเคราะห์ตามความเชื่อพราหมณ์-ฮินดู ที่มีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้มานานแล้ว แต่ยังไม่ถูกกำหนดให้มีฐานะเป็นปางพระพุทธรูปประจำวันเช่นกัน

 


สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาเริ่มมีพระราชนิยมในพิธีสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระราชบุพการี โดยทรงสร้างพระพุทธรูปตามวันพระราชสมภพ เช่น พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร (วันพุธ) สมัยรัชกาลที่ ๕ สร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร (วันจันทร์) พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระปางสมาธิ (วันพฤหัสบดี) เป็นต้น

 


พระราชพิธีดังกล่าวแพร่หลายจากราชสำนักไปยังสามัญชนทั่วไปผ่านธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิด โดยทำการดัดแปลง ทั้งลดทอนและเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับฐานันดรของตน จนเกิดเป็นคตินิยมบูชาพระประจำวันที่แพร่หลายในสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

 


ดังนั้นการกราบไหว้บูชาพระประจำวันเกิดจึงเป็นการบูชาเทวดาพระเคราะห์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ด้วยบทสวดในศาสนาพุทธ เพื่อการสะเดาะเคราะห์-เสริมดวง ไม่ใช่เป็นการกราบไหว้พระพุทธรูปในฐานะเครื่องหมายระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

 

 

 

 

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 


พิริยะ ไกรฤกษ์. (๒๕๕๑). ลักษณะไทย ๑ : พระพุทธปฏิมาอัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. อ่านออนไลน์


ปิยนันท์ ชอบศิลประกอบ. (๒๕๕๗). เทวดานพเคราะห์ – พระพุทธรูปประจำวัน: ภาพสะท้อนคติความเชื่อ พิธีกรรมในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร. อ่านออนไลน์


ห้องโหรศรีมหาโพธิ์ (นามแฝง). (๒๕๒๑). ตำราพรหมชาติ ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : อำนวยสาส์น


เสถียร จิงโจ้ หาญคุณตุละ. (๒๔๙๘). ตำนานพระพุทธรูป ๓๒ ปางและพระประจำวันเกิด. พิมพ์เป็นบรรณาการอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายปิ่น ถิรพันธุ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร วันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑. อ่านออนไลน์

 


Museum Siam Knowledge Center


ลักษณะไทย. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (บรรณาธิการ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ