แม้ว่าการลงโทษด้วยการจำคุกหรือการควบคุมผู้กระทำผิดภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดจะเป็นรูปแบบการลงโทษทางอาญาที่แพร่หลายทั่วโลกนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ การจำคุกกลับเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยนิยมนักในบทลงโทษผู้กระทำผิดของผู้ปกครองรัฐจารีต เนื่องจากจุดประสงค์หลักของการลงโทษของรัฐจารีตคือ การแก้แค้นตอบแทนให้สาสมกับความผิดที่กระทำ ดังนั้นผู้มีอำนาจจึงลงโทษผู้กระทำผิดโดยการทรมานร่างกายด้วยวิธีการที่หลากหลายและพิสดาร ขณะเดียวกันยังใช้วิธีเนรเทศเพื่อกำจัดผู้กระทำผิดออกไปจากสังคมมากกว่าการควบคุมผู้กระทำผิดในสถานที่คุมขังที่มั่งคงแข็งแรง
สำหรับการลงโทษทางอาญาของผู้ปกครองสยามยุคจารีต พบว่าบทลงโทษทางอาญาในกฎหมายตราสามดวง มีการกำหนดโทษหลากหลายและรุนแรงอย่างน่าหวาดกลัวในความผิดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของบ้านเมือง การปกป้องพระศาสนา การควบคุมดูแลไพร่พล และความสงบเรียบร้อยในสังคม ตัวอย่างเช่น การลงโทษด้วยการตัดอวัยวะ การลงโทษประหารชีวิตด้วยวิธี ฟันคอด้วยดาบ เอาขวานผ่าอก ตีด้วยไม้ จุดไฟเผา และแล่เนื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้โทษจำคุกของสยามแบบจารีตนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะคือ ลักษณะแรกเป็นการจำคุกที่มีกำหนดเวลา มีกำหนดตั้งแต่ ๑๕ วันจนถึงตลอดชีวิตแล้วแต่ความผิดที่กระทำว่าหนักเบาเพียงใด ลักษณะที่สองเป็นการจำคุกที่ไม่มีกำหนดเวลา จนกว่าผู้กระทำผิดจะได้รับพระบรมราชโองการให้ปล่อยตัว
ขณะที่สภาพคุกและความเป็นอยู่ของนักโทษแบบจารีตนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้แสดงความเห็นว่าสภาพคุกเก่าบริเวณหน้าวัดโพธิ์มีลักษณะไม่ต่างจากบทประพันธ์เรื่องขุนช้างขุนแผนตอนนางวันทองเข้าไปเยี่ยมขุนช้าง โดยภาพของคุกเต็มไปด้วยความน่ากลัวสยดสยอง และนักโทษมีสภาพไม่ต่างจากสัตว์นรก ที่ถูกพันธนาการร่างกาย ขาดอาหาร และเต็มไปด้วยความสกปรก
มุมมองของชนชั้นนำสยามข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสยามตั้งแต่ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ อาทิ ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) และคาร์ล บ๊อค (Carl Bock) โดยพวกเขาล้วนมองว่าการลงโทษจำคุกของสยามและการปฏิบัติต่อนักโทษเป็นไปอย่างโหดร้ายทารุณและไร้อารยะ สภาพของคุกสยามเป็นเพียงสถานที่คุมขังนักโทษตอนกลางคืน ขณะที่ตอนกลางวันนักโทษจะถูกเกณฑ์ออกไปทำงานโยธาตามที่รัฐกำหนด คุกสยามยุคจารีตไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้คุม เสมือนเป็นสถานที่สำหรับสร้างความทุกข์ทรมานทางร่างกายแก่นักโทษให้สาสมกับความผิดที่กระทำไป
การเปลี่ยนแปลงของคุกสยามปรากฏเด่นชัดหลังจากรัฐบาลสยามสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ปฏิรูปการราชทัณฑ์ภายใต้บริบทกึ่งอาณานิคม เนื่องจากรัฐบาลสยามประสบปัญหาการควบคุมชาวต่างชาติที่ได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ส่งผลให้ชนชั้นนำสยามนำวิธีการจัดการนักโทษแบบคุกอาณานิคมมาประยุกต์ใช้กับการราชทัณฑ์สยามที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เริ่มจากการสร้าง “คุกกองมหันตโทษ” (ปัจจุบันเป็นสวนรมณีนาถ) สำหรับควบคุมนักโทษที่จำคุกตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไป และ “ตะรางกองลหุโทษ” (ปัจจุบันเป็นกลุ่มอาคารศาลยุติธรรมริมสนามหลวง) สำหรับควบคุมนักโทษที่จำคุกต่ำกว่า ๓ ปีและผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี
จากนั้นรัฐบาลสยามมอบหมายให้กระทรวงนครบาลปรับปรุงการคุมขังนักโทษในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านการดึงแรงงานนักโทษที่ควบคุมโดยขุนนางมาขึ้นตรงกับกระทรวงนครบาล ดังนั้นความเป็นสมัยใหม่ของการราชทัณฑ์สยาม จึงมิใช่เพียงการปรับปรุงการลงโทษให้เป็นอารยะ แต่เป็นการรวมอำนาจการคุมขังนักโทษโดยอาศัยระบบคุกสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากระบบคุกอาณานิคม เพื่อเสริมสร้างอำนาจและสถานะที่สูงเด่นของผู้ปกครองสยามในการลงอาญาผู้กระทำผิด ทั้งการควบคุมนักโทษผ่านการกำหนดกิจวัตรประจำวัน การดูแลสุขอนามัย และการบังคับให้ทำงานให้แก่รัฐ
ขณะที่การปฏิรูปการราชทัณฑ์หัวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๕ สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจที่เรียกว่า “ระบบมณฑลเทศาภิบาล” นับตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ ๒๔๓๐ โดยข้าหลวงเทศาภิบาลในแต่ละมณฑลเทศาภิบาลจะมีบทบาทในการสร้างสถานที่คุมขังนักโทษและปรับปรุงระเบียบการคุมขังนักโทษที่มีกระบวนการใกล้เคียงกัน ผ่านการรวบรวมนักโทษที่ถูกคุมขังกระจัดกระจายตามบ้านเรือนขุนนางท้องถิ่นมาคุมขังรวมในเรือนจำของหลวง อันทำให้อำนาจการคุมขังนักโทษที่เป็นอิสระของขุนนางท้องถิ่นถูกดึงเข้าสู่ส่วนกลาง พร้อมกันนั้นข้าหลวงเทศาภิบาลได้แบ่งสรรงบประมาณสำหรับจัดซื้ออาหารสำหรับเลี้ยงนักโทษ กำหนดแนวทางในการใช้แรงงานนักโทษตามหัวเมือง
ถึงแม้การปฏิรูปการราชทัณฑ์จะเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๓๐ แต่โครงสร้างการบริหารจัดการคุกสยามกลับแบ่งแยกกันระหว่างคุกส่วนกลางที่รับผิดชอบโดยกระทรวงนครบาล (บางช่วงเวลาโอนไปให้กระทรวงยุติธรรม) กับคุกหัวเมืองที่รับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทย อันทำให้ระบบคุกของสยามแบ่งเป็น ๒ ระบบที่มีระเบียบข้อบังคับนักโทษและเจ้าพนักงานแตกต่างกันเกือบ ๓๐ ปี จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๕๘ รัฐบาลสยามสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้สร้างความเป็นเอกภาพของงานราชทัณฑ์ทั่วราชอาณาจักร โดยรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบคุกทั่วประเทศสยามมาอยู่ใน “กรมราชทัณฑ์” สังกัดกระทรวงนครบาล อันทำให้รัฐบาลสยามสามารถบริหารจัดการงานราชทัณฑ์และควบคุมนักโทษได้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกันนั้นยังแก้ไขระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ถึงกระนั้นการปฏิรูปการราชทัณฑ์ของรัฐบาลสยาม เป็นเพียงแนวทางในการบริหารจัดการระบบคุกสยามแบบใหม่จากการกำหนดนโยบายราชทัณฑ์ของรัฐบาลสยามเท่านั้น ซึ่งหากอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงจากการดำเนินงานราชทัณฑ์แบบใหม่ของรัฐบาลสยาม อาจต้องพิจารณาจากเอกสารราชการที่รายงานวิกฤตภายในคุกจากมุมมองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและนักโทษ เช่น กรณีนักโทษฆ่ากันตาย นักโทษแหกคุก เจ้าพนักงานใช้อำนาจลงโทษจนทำให้นักโทษเสียชีวิต เจ้าพนักงานก่อความวุ่นวายในคุก และรายงานโรคระบาดในคุก โดยเนื้อหาของเอกสารเหล่านี้อาจทำให้เข้าใจ “ความเป็นไทย” ในแนวคิดและวิธีการลงโทษที่แฝงเร้นอยู่ในรูปแบบคุกสมัยใหม่ของไทยได้
ศรัญญู เทพสงเคราะห์
Ian Brown. (2007). “South East Asia: Reform and the Colonial Prison,” in Frank Dikotter and Ian Brown (editors), Cultures of Confinement: A History of the Prison in Africa, Asia, and Latin America. New York: Cornell University Press, pp. 224-227.
นริศรานุวัติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2505). สาส์นสมเด็จ เล่ม 11. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา. หน้า 82 – 84.
ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์. (2549). เล่าเรื่องกรุงสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกัณฐิกา ศรีอุดม (บรรณาธิการ). (2547). ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. อ่านออนไลน์
คาร์ล บ๊อค. (2529). ท้องถิ่นสยาม ยุคพระพุทธเจ้าหลวง (Temple and elephants). แปลโดย เสถียร พันธรังษี และอัมพร จุลานนท์. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม.
หจช. ร.5ม.40/2 เรื่องมณฑลกรุงเก่า (5 มกราคม 117 – 7 เมษายน 124).
หจช. ร.5ม.43/3 เรื่องมณฑลชุมพร (6 พฤศจิกายน 119 – 6 กรกฎาคม 129).
Museum Siam Knowledge Center
ตำนานคุกไทย / ธนพัฒน์ จันทรปรรณิก และ ยงยุทธ์ ผันเผ่าเลิศ.
สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๑ / กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อ่านออนไลน์
เล่าเรื่องกรุงสยาม / มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ ; แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. อ่านออนไลน์
ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง / Carl Bock ; เสฐียร พันธรังษี, อัมพร ทีขะระ เรียบเรียง.
#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials