Museum Core
ไทยรบพม่า “ความสันนิษฐานของข้าพเจ้าอาจจะผิดได้”
Museum Core
12 ก.พ. 61 12K

ผู้เขียน : ภานุพงศ์ สิทธิสาร

ไทยรบพม่า “ความสันนิษฐานของข้าพเจ้าอาจจะผิดได้”

 

 

 

เราทุกคนคงเคยผ่านประสบการณ์ชมภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งที่มีส่วนสร้างให้เกิดความฮึกเหิม เลือดกายสูบฉีด เช่น ภาพยนตร์แนวปลุกใจรักชาติ รักความเป็นไทย ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ได้ดูคราใดก็อดไม่ได้ที่จะคล้อยตามไปกับภาพยนตร์เรื่องนั้น บางทีอาจถึงขั้นอยากหยิบดาบมากวัดแกว่งวิ่งไล่ฟันต้นไม้ต้นหญ้าแทนศัตรูข้าศึกก็เป็นได้

 


ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์แทบทุกเรื่องล้วนดัดแปลงเนื้อหามาจากตำราทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ชาติไทย ตำราเล่มสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ไทยรบพม่า” พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย พระนิพนธ์เรื่องนี้ย่อมเคยผ่านหูผ่านตาเรามาไม่มากก็น้อย ทั้งจากตำราเล่มหนาประกอบวิชาประวัติศาสตร์ไทย หรือประหนึ่งนวนิยายเล่มโปรดที่หยิบมาอ่านกี่หนก็ได้อรรถรสไม่จืดจาง

 


น้อยคนนักที่จะทราบว่า พระนิพนธ์เรื่องไทยรบพม่านั้นมีประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจเพียงไร กว่าจะกลายเป็นตำราที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่ง ทั้งในด้านการตีพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน และในด้านที่กินใจผู้อ่านชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน บทความชิ้นนี้จึงจะชวนผู้อ่านทุกท่านมาร่วมกันทำความเข้าใจที่มาของหนังสือเรื่องไทยรบพม่า เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาความน่าเชื่อถือในฐานะหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ครอบงำความรับรู้ของเรามาโดยตลอด

 


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๕๘ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “อธิบายพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา” เพื่อขยายความเพิ่มเติมพระราชพงศาวดารฉบับที่พระราชบิดาของพระองค์ทรงโปรดฯ ให้ชำระไว้ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหมุดหมายแรกของการเริ่มต้นเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติ

 


ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร พระองค์ทรงตอบรับในการเรียบเรียงพระนิพนธ์ “พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า” ซึ่งรวมอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖ สำหรับพิมพ์แจกในงานปลงศพสนองคุณมารดาของนายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร (เล็ก ปาณิกบุตร) ความปรากฏว่าพระนิพนธ์เรื่องนี้มีกระแสตอบรับอย่างงดงาม จึงเป็นแรงบันดาลพระทัยให้พระองค์ทรงปรับปรุงแก้ไขไทยรบพม่าจนกลายเป็น “พงศาวดารเรื่องเรารบพม่า” ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ กระทั่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเศรษฐี) และคุณหญิงเพิ่ม โชฎึกราชเศรษฐี แสดงความจำนงจะพิมพ์หนังสือแจกในงานทำบุญฉลองอายุครบ ๕ รอบ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ข้อความต่าง ๆ ที่ยังคงคลาดเคลื่อนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และทรงประทานนามกลับไปเป็นเรื่อง “ไทยรบพม่า” ดังเดิม ตลอดจนมิได้ทรงแก้ไขเรื่องไทยรบพม่าอีกเลยจนสิ้นพระชนม์

 


อย่างไรก็ตาม พระนิพนธ์เรื่องไทยรบพม่าได้รับการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษภายใต้ชื่อ “Our Wars with the Burmese” โดยพระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อู ออง เทียน หรือเทียน สุพินทุ) ข้าราชการกรมป่าไม้ชาวพม่าที่แปลงสัญชาติเป็นไทย พิมพ์ลงวารสารของสมาคมวิจัยพม่า (Journal of the Burma Research Society – JBRS) ระหว่างช่วง พ.ศ. ๒๔๙๘ – ๒๕๐๑ ซึ่งก่อนหน้านี้ พระไพรสณฑ์สาลารักษ์ได้ทำการแปลพงศาวดารพม่า ฉบับหอแก้ว (Hmannan Yazawindawgyi) จากภาษาพม่าเป็นภาษาอังกฤษ ลงพิมพ์ในวารสารของสยามสมาคม (Journal of the Siam Society - JSS) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๔๖๒

 

 

ในส่วนของหลักฐานประกอบพระนิพนธ์เรื่องไทยรบพม่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุว่า พระองค์ทรงใช้หนังสือพงศาวดารทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่ามาสอบสวนทวนความกันและกัน ความที่ใดปรากฏตรงกันก็ถือเป็นที่ยุติ ความที่ใดขัดแย้งกันก็ทรงเสริมพระสันนิษฐานเพิ่มเติมเอาไว้ บางคราวยังทรงนำเอกสารจดหมายเหตุชาวต่างชาติมาช่วยขยายความจนกระจ่างแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น ฟังเช่นนี้แล้วราวกับว่าพระนิพนธ์เรื่องไทยรบพม่านอกจากจะพิถีพิถันในแง่กระบวนการเขียนแล้ว ยังมีความบริบูรณ์ในตัวอย่างไม่มีข้อติ นำมาสู่พระนิพนธ์เรื่องที่กล่าวกันว่าตกผลึกที่สุดของพระองค์ คือ “แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗

 


ถึงกระนั้น มีสิ่งที่ผู้อ่านควรพึงระลึกอยู่เสมอว่า องค์ผู้ทรงนิพนธ์เป็นคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงที่ประเทศชาติบ้านเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทรงยึดติดกับจารีตการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยอุดมการณ์และขนบแบบเดิมอีกต่อไป ไทยรบพม่าจึงเป็นผลผลิตที่มีความกลางเก่ากลางใหม่ กล่าวคือ มีรูปแบบการประพันธ์ด้วยวิธีลำดับเวลาคล้ายกับพงศาวดารของไทยในอดีต และภาษาสำนวนไม่ต่างจากคำเทศนาทางพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันก็มีอุดมการณ์แบบใหม่ที่เรียกว่าชาตินิยมกำกับโครงเรื่องอย่างแนบเนียนจนผู้อ่านอาจไม่ทันรู้สึกตัว

 


กาลเวลาได้ผ่านพ้นมาครบศตวรรษ ไทยรบพม่าได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเป็นเราและเป็นเขาคือสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นบนเงื่อนไขและบริบทของการสร้างชาติไทย เมืองไทย และอะไรไทย ๆ อีกมากมาย ประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นความทรงจำร่วมแห่งชาติมีความสถิตสถาวรจนไม่ต้องการการตรวจสอบหรือท้าทายใด ๆ ทั้งสิ้น เท่ากับเป็นการหยุดนิ่งตายตัวอย่างไร้เหตุผล และองค์ผู้ทรงนิพนธ์คงทรงผิดหวังที่เคยรับสั่งไว้ว่า “ความสันนิษฐานของข้าพเจ้าอาจจะผิดได้... บรรดาข้อสันนิษฐานทั้งปวงเปนสันนิษฐานของข้าพเจ้าทั้งนั้น ไม่จำต้องถือว่าเปนถูกต้อง” ไม่ได้แค่ย้ำเตือนให้เราเลิกย่ำอยู่กับที่ แต่เราควรพิจารณาว่าการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ไทยรบพม่าหรือพม่ารบไทยผ่านสื่อต่าง ๆ อาจกำลังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดของความเป็นไทยและความเป็นอื่นอยู่หรือเปล่า

 

 

 

ภานุพงศ์ สิทธิสาร

 

 

 

บรรณานุกรม

 

 

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2460). ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 6 เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า. พระนคร: อักษรนิติ์. (นายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร มสม, ทจว, ภช, รรป 3, รจม, พิมพ์ครั้งแรกแจกในงานปลงศพสนองคุณมารดา พ.ศ. 2460).

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2558). พม่าไม่ได้รบไทยในประวัติศาสตร์ไทยรบพม่า. (เอกสารประกอบโครงการ). กรุงเทพฯ: คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร. อัดสำเนา.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2554). พม่ารบไทย : ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 10 (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ: มติชน.

Thongchai Winichakul. (2011). Siam’s Colonial Conditions and the Birth of Thai History. In Southeast Asian Historiography Unravelling the Myths Essays in honour of Barend Jan Terwiel. Edited by Volker Grabowsky. pp. 20 – 41. Bangkok: River Books.

Sunait Chutintaranond. (1992). The Image of the Burmese Enemy. In Thai Perceptions and Historical Writings. JSS. 80(1): 89 – 103.



Museum Siam Knowledge Center

 

พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า / สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อ่านออนไลน์

เรียงความประเทศไทย / สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) Interacitve E-book

 

อ่านเพิ่มเติม

พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา / สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อ่านออนไลน์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ