สังคมไทยกับความเชื่อนั้นเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร จะแต่งงานหรือขึ้นบ้านใหม่ ก็ต้องดูฤกษ์งามยามดี กระทั่งว่าหากวันไหนที่ก้าวเท้าออกจากบ้านแล้วจิ้งจกทักอาจจะประสบเหตุร้ายไปทั้งวัน อิทธิพลเรื่องความเชื่อที่ฝังลึกได้ขยายวงออกไปจนถึงการนำวันสำคัญของคนต่างวัฒนธรรมมาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมไทย เช่นวันวาเลนไทน์ ชื่อเดิมคือ วันนักบุญวาเลนไทน์ มีขึ้นเพื่อระลึกถึงการจากไปของ นักบุญในคริสต์ศาสนา แต่ปัจจุบันความหมายได้เปลี่ยนไปเป็นวันแห่งความรัก ขณะที่เมืองพุทธอย่างไทยกลับหยิบมาใช้ด้วยการใส่ความเชื่อเรื่องรักมั่นขวัญยืนเข้าไป ทำให้ทุก ๆ ปี เราจึงมักเห็นภาพของการจูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอชื่อมงคลต่าง ๆ นับพันคู่
บางรักกลายเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของหนุ่มสาวหลายคู่ เหตุปัจจัยหลักมาจากชื่อเขตอันเป็นมงคล เชื่อกันว่าหากคู่ใดได้สมรสกันที่เขตนี้ ชีวิตรักจะรุ่งเรือง ประจง จุลวงษ์ เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญการ สำนักงานเขตบางรัก
เล่าว่า หลายคู่เดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อมาจดทะเบียนที่บางรักก็มีอยู่ให้เห็นปีละ 4-5 คู่ มากไปกว่านั้นสาวไทยที่สามีเป็นชาวต่างชาติยังนิยมจูงมือกันเข้ามาจดทะเบียนเชื่อมรักข้ามแดนกันที่นี่
ความนิยมในการจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรักเริ่มประมาณ พ.ศ. 2555 จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3-4 พันคู่ เพิ่มขึ้นมาเป็น 7,232 คู่ อยู่ในระดับนี้เรื่อยมา โดยปีล่าสุด พ.ศ. 2556 อยู่ที่ 4,563 คู่ ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการรณรงค์ของภาครัฐที่สนับสนุนให้คนจดทะเบียนสมรสกันมากขึ้น จากปัญหาสถิติการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากความเชื่อของสาวไทยแล้วนั้น ปัจจัยหนึ่งมาจากความแม่นยำด้านเอกสารของฝ่ายทะเบียนสมรสที่หลายสถานทูตให้ความมั่นใจว่า พลเมืองของพวกเขาจะไม่ถูกหลอกให้จดทะเบียนซ้อนแต่อย่างใด อีกทั้งสถานทูตส่วนใหญ่มีที่ตั้งในกรุงเทพฯ บางรักจึงกลายเป็นตัวเลือกหลักอันดับต้น ๆ บางคู่ต้องมาเข้าคิวรอจดทะเบียนกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อรอกดบัตรคิว โดยเฉพาะใน วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ที่บางคู่มาเข้าคิวรอจดทะเบียนตั้งแต่ 4.00 นาฬิกา ขณะที่สำนักงานก็จัดกิจกรรมฉลองวันแห่งความรักในธีมต่าง ๆ กันไป เช่น งานสมรสย้อนยุค พร้อมแจกรางวัลเป็นทะเบียนสมรสทองคำ ซึ่งในปี 2560 มีคู่รักจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรัก 5463 คู่ เฉพาะวันวาเลนไทน์วันเดียวสูงถึง 625 คู่
จากความเชื่อเรื่องโชคลางและฤกษ์ยาม ทำให้หน่วยงานของรัฐที่นอกไปจากเขตบางรัก ฉวยใช้คติเหล่านั้นนำมาสร้างเป็นกลยุทธ์เพื่อประชาสัมพันธ์สำนักงานของตน ด้วยการสวมวิญญาณนักประพันธ์รังสรรค์ชื่อมงคลต่อท้าย อย่าง บางซื่อ หมายถึง คู่ครองที่ซื่อตรง หลักสี่ หมายถึง ความมั่นคงเป็นหลักเป็นฐาน บางแค หมายถึง เทคแคร์ (take care) ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่าดูแลกัน กระทั่ง เขตบางพลัด ยังเปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดีที่เดิมมักคิดถึงคำว่า พลัดพรากจากจร ให้เป็น พลัดลงมาเจอรัก อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจผ่านการจัดกิจกรรมให้คู่รักที่มาจดทะเบียนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ลุ้นรางวัล ซึ่งจะมีตั้งแต่ของที่ระลึก ไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และคอนโดพร้อมอยู่
สายไหม เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่หนุ่มสาวนิยมจูงมือกันไปจดทะเบียนสมรส รองจาก บางรักและหลักสี่ แม้สายไหมจะไม่ใช่ชื่อที่ดูจะสื่อถึงความรักและมั่นคงในชีวิตครอบครัวเท่าเขตอื่น สำนักงานเขตจึงได้นิยามคำอธิบายขึ้นใหม่ จากเดิมที่สายไหม อาจจะฟังดูคล้ายกับคำรำพัน “สายไปไหมที่จะรักกัน” ก็เปลี่ยนเป็น “สายไหม สายใยแห่งรัก” โดยนำภาพลักษณ์ของขนมสายไหมที่สีสันสวยสด ความรักจะหวานชื่นราวกับขนมสายไหม เข้ามาประชาสัมพันธ์ชวนคู่รักให้จดทะเบียนในวันวาเลนไทน์
แม้ความเชื่อเรื่องโชคลางของคนไทยจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตแทบจะในทุกกิจกรรม แต่เอาเข้าจริงแล้วยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คู่รักสมัยใหม่จะยังคงให้ความสำคัญกับความเชื่อดังกล่าวอยู่หรือไม่ บพิธ รัตนบุรี หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนสำนักงานเขตสายไหม ตั้งข้อสังเกตว่า กระแสการจดทะเบียนในวันวาเลนไทน์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากในอดีตมาก แม้ไม่อาจปฏิเสธว่าความเชื่อเรื่องโชคลาง วันมงคลจะยังคงมีอิทธิพลอยู่ แต่เมื่อเทียบกับ “ของรางวัล” ที่ผูกมากับทะเบียนสมรสแล้ว อย่างหลังดูจะมีอิทธิพลมากกว่าความเชื่อ
จากประสบการณ์การจัดกิจกรรมในวันแห่งความรักตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าหนุ่มสาวหลายคู่มักจะโทรมาถามที่สำนักงานเขตก่อนว่า วันวาเลนไทน์ปีนี้ทางเขตแจกอะไรเป็นรางวัลใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เพียงสายไหมและบางรัก แต่แทบทุกเขตที่มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมก็มักจะได้รับโทรศัพท์จากคู่รักอยู่เป็นปกติ จนทำให้บางสำนักงานเขตต้องตั้งกฎขึ้นมาว่า คู่รักที่มีสิทธิ์ลุ้นรางวัลใหญ่ต้องเป็นคู่ที่ไม่เคยจดทะเบียนสมรสกันมาก่อน เพราะที่ผ่านมาเคยมีหลายคู่ที่จดทะเบียนหย่าเพื่อมาลุ้นรางวัล
สมภพ และ ณัฐสนันท์ จิตต์สุทธิผล หนึ่งในคู่สามีภรรยารุ่นใหม่พยายามตั้งคำถามกับความเชื่อดังกล่าว ณัฐสนันท์ เล่าว่าตอนแรกตนต้องการไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตบางรัก เพราะถือเคล็ดเรื่องชื่อมงคล แต่เกิดเหตุขัดข้องเรื่องเอกสาร เรื่องจึงมาลงเอยที่ เขตบางพลัด ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของทั้งคู่มากกว่า ซึ่งฝ่ายสามีให้เหตุผลว่า ในเมือคู่ไหน ๆ ก็พากันไปจดที่บางรัก เหตุใดเราจึงไม่จดที่บางพลัดเพื่อพิสูจน์ว่าถ้าชื่อมีอิทธิพลจริงทั้งคู่คงไม่ได้ครองคู่กันจนมีพยานรักให้เห็นดังปัจจุบัน
จากความเชื่อของไทยที่แม้แต่วันสำคัญของต่างชาติยังถูกทำให้กลายเป็นไทยด้วยการใส่รายละเอียดผ่านคติมงคลและฤกษ์ยาม จนภาครัฐได้นำมาเป็นกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์หน่วยงานอย่างชาญฉลาดผ่านของรางวัลและโปรโมชั่น ๆ ไปพร้อมกับพัฒนาศักยภาพความเป็นมืออาชีพด้านการจดทะเบียนไปอย่างสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด
สำนักงานเขตบางรัก. (2561). สถิติการจดทะเบียนสมรสและการจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตบางรัก. (ถ่ายสำเนา). กรุงเทพมหานคร.
สำนักงานเขตสายไหม. (2561). สถิติการจดทะเบียนสมรสและการจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตสายไหม. (ถ่ายสำเนา). กรุงเทพมหานคร.
สัมภาษณ์
ประจง จุลวงษ์. (2561, 11 มกราคม). สัมภาษณ์โดย รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด, ที่สำนักงานเขตบางรัก.
บพิธ รัตนบุรี. (2561, 12 มกราคม). สัมภาษณ์โดย รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด, ที่สำนักงานเขตสายไหม.
#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials