Museum Core
ส่องแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย ใน VS นอก ตำราเรียน
Museum Core
12 ก.พ. 61 39K

ผู้เขียน : รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด

ส่องแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย ใน VS นอก ตำราเรียน

 

 

 

ย้อนไปเมื่อปี ๒๕๕๗ กระทรวงศึกษาธิการประกาศปรับเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีความรักชาติ ปลูกฝังจริยธรรม สร้างความสามัคคี และประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ภายใต้ค่านิยม ๑๒ ประการ นโยบายของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มอย่างเป็นทางการในปีการศึกษา ๒๕๕๘ โดยโรงเรียนนำร่องหลายแห่งให้นักเรียนคัดลายมือเนื้อหาค่านิยม ๑๒ ประการ ในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาไทย

 


ประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกครั้งและอีกครั้งไปโดยปริยาย ซึ่งหากพิจารณาเนื้อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ จะพบว่า เรื่องเล่าเหล่านั้นได้ทำหน้าที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์ชาตินิยมแก่เยาวชนไทยมาหลายชั่วรุ่น โดยไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นนโยบายของ คสช. เลย

 


ว่ากันว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าของผู้ชนะ ถ้อยคำของผู้แพ้เป็นได้เพียงเรื่องเล่ากระแสรอง แล้วแบบเรียนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าแบบใด เราลองไปสำรวจแบบเรียนประวัติศาสตร์ ชั้นประถมศึกษา - มัธยมศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เด็กไทยรักชาติยิ่งขึ้น และมาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์อีกแง่มุมที่ไม่ได้เป็นตำราเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์สามารถตีความได้หลากมิติและไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางที่ “ความเป็นชาติ”

 

 

ท้าวสุรนารี ในแบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒

เริ่มที่แบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ประวัติและผลงานของบุคคลสำคัญในท้องถิ่น ยกตัวอย่างเนื้อหาวีรกรรมของท้าวสุรนารีหรือย่าโม บุคคลสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๓ ราวปี ๒๓๖๓ สร้างคุณงามความดีโดยเป็นผู้นำปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์อาณาจักรล้านช้าง (เวียงจันทน์) ขณะกำลังยกทัพผ่านนครราชสีมา เพื่อเข้าตีกรุงเทพฯ จนคุณหญิงโมได้รับปูนบำเหน็จขึ้นเป็นท้าวสุรนารี ซึ่งภายหลังได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้น

 

ขณะที่วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” ของสายพิน แก้วงามประเสริฐ ได้นำเสนอหลักฐานอย่างรอบด้านว่า ย่าโมไม่น่าจะมีตัวตนอยู่จริง เนื่องจากการปรากฏตัวของอนุสาวรีย์ย่าโม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ นครราชสีมาเป็นฐานที่ตั้งของกบฏ อนุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดีต่อส่วนกลาง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยกย่าโม ขึ้นเป็นวีรสตรีแห่งชาติ และยกย่องวีรกรรมปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ อีกทั้งตัวตนของย่าโม ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ ราวรัชกาลที่ ๕ ทั้งที่วีรกรรมปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เกิดขึ้น พ.ศ. ๒๓๖๙ ในเอกสารร่วมสมัยกับเหตุการณ์นี้ไม่มีการกล่าวถึงย่าโมเลย

 

 

ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ใน แบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔

การสร้างอาณาจักรไทยในอดีต หัวข้ออาณาจักรสุโขทัย ในหมวดย่อยเรื่องมรดกทางภาษาและวรรณกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย อธิบายว่า ลายสือไทยหรือตัวอักษรไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ราวพ.ศ. ๑๘๒๑ คือมรดกสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ามีการประดิษฐ์อักษรใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งหลักฐานที่สอดรับกับคำอธิบายดังกล่าวปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑

 

ขณะที่บทความเรื่อง “หลักศิลาจารึกฉบับที่ ๑ กับปัญญาชนรุ่นรัชกาลที่ ๓ - ๔ พิมพ์เขียวสำหรับอนาคตที่นำมาใช้งานไม่ได้” ของ ไมเคิล ไรท์ ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓ ใจความสรุปคือ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔) ร่วมกับผู้รู้และสานุศิษย์ของพระองค์ โดยนำเหตุการณ์การขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมอังกฤษที่เข้ามาสู่ดินแดนสยาม มาอธิบายว่า ชนชั้นปกครองเริ่มกังวลถึงความมั่นคงของชาติ จึงได้สร้างรัฐในอุดมคติที่เรียกว่า สุโขทัย และบันทึกในศิลาจารึกหลักที่ ๑ เหตุเพราะชนชั้นปกครองสยามต้องการแสดงหลักฐานให้นานาชาติรู้ถึงอารยธรรมที่มีมาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย

 

 

วีรบุรุษ - วีรสตรี ไทย กับการกอบกู้เอกราช ในแบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕

บทเรียนเรื่อง อาณาจักรอยุธยา ระบุเนื้อหา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพจากพม่า สร้างความมั่นคงให้กับกรุงศรีอยุธยา ในบทที่ ๓ ประวัติและผลงานบุคคลสำคัญในสมัยอยุธยา ระบุถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่า ในพ.ศ. ๒๑๕๓ ฝั่งพม่านำโดยพระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวร จึงยกทัพไปตั้งรับและกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา ส่งผลให้ทัพพม่าแตกพ่ายในที่สุด

 

ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรณาธิการหนังสือ “ชาตินิยมในแบบเรียนไทย” ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะข่าวตื้นถึงการกอบกู้เอกราชในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ว่า พระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระนเรศวร คือการไม่ยอมรับสถานะของพม่า ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลาย ไม่ใช่การกู้เอกราชในความหมายของการต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากการปกครองของเจ้าอาณานิคม เพราะในขณะนั้น อยุธยายังมีกษัตริย์ปกครอง

 

 

ส่วนหัวข้อเรื่องวีรกรรมของบรรพบุรุษไทย อย่างชาวบ้านบางระจัน แบบเรียนระบุว่า ชาวบ้านบางระจัน สร้างวีรกรรมสำคัญต่อแผ่นดิน ด้วยการรวมตัวกันต่อสู้ทัพพม่าที่นำโดยเนเมียวสีหบดี ซึ่งยกทัพมาหวังเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ระหว่างทางได้ออกปล้นสะดมหมู่บ้านที่เคลื่อนทัพผ่าน ชาวบ้านบางระจันสามารถรวบรวมกำลังพลได้จำนวนมากตั้งค่ายสู้กับพม่า แต่สุดท้ายต้องแพ้พม่าที่มีกำลังพลและอาวุธมากกว่า

 

ในขณะที่คำอธิบายของ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ระบุว่า การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันเป็นการสู้เพื่อป้องกันตนเอง ไม่ใช่สู้เพื่อป้องกันทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา บริบททางประวัติศาสตร์ในขณะนั้น ไม่ว่าทัพพม่าเคลื่อนกำลังพลไปที่ไหน จะต้องปล้นเสบียงอาหารของหมู่บ้านที่ทัพเคลื่อนผ่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติยามเกิดศึกสงคราม ทางเลือกของชาวบ้านมีอยู่ ๓ ทาง คือ ๑. หนีเข้าไปหลบในกำแพงเมือง ๒. หนีไปซ่อนตัวในป่า และ ๓. รวมตัวกันต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง

 

 

เสียดินแดนเพื่อรักษาเอกราช ในแบบเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๓

แบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ หัวข้อการเสียดินแดนสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เนื้อหาแบบเรียนระบุว่าไทยเสียดินแดนทั้งสิ้น ๖ ครั้ง ปัจจัยสำคัญมาจากอิทธิพลการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษ โดย ครั้งที่ ๑ เสียเขมรให้แก่ฝรั่งเศสตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๔, ครั้งที่ ๒ เสียแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๕, ครั้งที่ ๓ เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสหรือที่รู้จักกันในชื่อ วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒, ครั้งที่ ๔ เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี ๒๔๔๖ เพื่อแลกกับจังหวัดจันทบุรีที่ถูกฝรั่งเศสนำทัพไปยึด, ครั้งที่ ๕ เสียมณฑลบูรพาหรือประเทศเขมรส่วนในให้แก่ฝรั่งเศส ปี ๒๔๔๙ และครั้งที่ ๖ เสียดินแดนบริเวณไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส หรือบริเวณประเทศมาเลเซียในปัจจุบันให้แก่อังกฤษ ในปี ๒๔๕๓

 

 

อย่างไรก็ดี งานศึกษาเรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม” ของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เสนออีกมิติหนึ่ง เรื่องการเสียดินแดนทั้ง ๖ ครั้งว่า ประเทศไทยหรือสยามไม่เคยเสียดินแดน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพ่ายแพ้ต่อชาติตะวันตกในการแข่งขันกันผนวกดินแดนเข้ามาเป็นของตนเองให้ได้มากที่สุด เหตุที่ประวัติศาสตร์ไทยอธิบายว่าไทยเสียดินแดนให้ชาติตะวันตกเป็นผลจากการเขียนประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ประวัติศาสตร์ที่มุ่งเน้นอธิบายความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์แต่ละยุค วีรกรรมที่สำคัญในการรวมและพัฒนาประเทศ ดังนั้นการเสียเอกราชจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรเอ่ยถึง

 

 

ท้ายที่สุด เมื่อประวัติศาสตร์คือการตีความและเป็นเรื่องเล่า นี่จึงไม่ใช่การบอกว่าเรื่องเล่าของฝ่ายไหนจริงแท้ เพียงแค่แสดงแง่มุมว่าเรื่องเล่ามีหน้าที่ของมันอยู่ในสังคมการเมือง ที่เหลือเป็นเรื่องที่ต้องเลือกว่าจะเชื่อแบบไหน

 

 

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด

 

 

 


บรรณานุกรม

 

ไมเคิล ไรท์. (๒๕๔๓). หลักศิลาจารึกฉบับที่ ๑ กับปัญญาชนรุ่นรัชกาลที่ ๓-๔ พิมพ์เขียวสำหรับอนาคตที่นำมาใช้งานไม่ได้. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๑ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓.

สายพิน แก้วงามประเสริฐ. (๒๕๓๘). การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี. กรุงเทพฯ: มติชน.

สุเนตร ชุตินธรานนท์. (๒๕๕๒). ชาตินิยมในแบบเรียนไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.


อ่านเพิ่มเติม

 

ธงชัย วินิจจะกูล. (๒๕๕๙). โฉมหน้าราชาชาตินิยม : ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๓๑). จารึกพ่อขุนรามคำแหง ใครแต่งกันแน่ ของจริงหรือของปลอม. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ: มติชน.

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี. (๒๕๓๓). ใครปลอมศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง?. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ: มติชน.

ไมเคิล ไรท์. (๒๕๔๔). ระบบการศึกษาและอำนาจในสังคมไทย ฝรั่งเป็น “อริ” หรือ “อริยะ” ?. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒๑-๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔. อ่านออนไลน์

สายพิน แก้วงามประเสริฐ.(๒๕๕๓). เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนผงาด ตำราเรียน "ประวัติศาสตร์ไทย" จะ "ปรับเปลี่ยน" อย่างไร?. ประชาไท วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๓. อ่านออนไลน์


Museum Siam Knowledge Center

 

จารึกพ่อขุนรามคำแหง: วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม /พิริยะ ไกรฤกษ์.


ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1: เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 / คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี.


พม่าอ่านไทย: ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทัศนะพม่า /สุเนตร ชุตินธรานนท์, บรรณาธิการรวบรวม.

 

การเสียดินแดนของไทยในยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก /กรมยุทธศึกษาทหารบก.


สยาม ร.ศ.112 วิกฤตแผ่นดิน :พิพาทฝรั่งเศสและเสียดินแดน / เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ.

 

 

 

 

 

 

 

 

#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ