คงไม่ผิดหากบอกว่า ยุคนี้สมัยนี้ “แป้นพิมพ์” ได้กลายเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่คนไทยเกือบทั่วประเทศจะขาดไม่ได้ไปแล้ว เพราะในกระแสที่สื่อสังคมออนไลน์กำลังครองเมือง ล้วนมีแป้นพิมพ์เป็นสื่อกลางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์คุยผ่าน LINE ผ่าน Facebook หรือพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ
แต่ใครจะรู้บ้างว่า ต้นกำเนิดแป้นพิมพ์ที่มีแต่อักษรไทยล้วน ๆ นั้นไม่ได้เป็นการประดิษฐ์โดยคนไทย แต่เป็นฝีมือชาวอเมริกันที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามารับราชการในฐานะเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมัยที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (เทียบกับปัจจุบันคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) นามว่า เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ (Edwin Hunter McFarland)
เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2434 ด้วย เอ็ดวินได้ขอลาราชการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่สหรัฐอเมริกา และมีโอกาสได้เห็นอุปกรณ์ช่วยทำงานเอกสารที่เรียกว่า “เครื่องพิมพ์ดีด” จึงเกิดความคิดขึ้นว่า เมืองไทยเองก็น่าจะมีเครื่องพิมพ์ดีดที่เป็นภาษาของตัวเองเสียที หลังจากเยี่ยมชมกิจการมาหลายแห่ง ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเลือกบริษัท Smith Premier Typewriter ให้มารับหน้าที่สำคัญนี้ ด้วยเห็นว่า เครื่องพิมพ์ดีดรุ่น Smith Premier 1 ซึ่งเพิ่งประดิษฐ์สำเร็จเมื่อปี 2433 นั้นมีขนาดใหญ่น่าจะบรรจุ พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ต่าง ๆ ของไทย ซึ่งมีมากกว่าอักษรของภาษาอังกฤษถึงสองเท่าได้ครบถ้วนสมบูรณ์
สำหรับแป้นพิมพ์ยุคแรกนั้นเป็นแบบแคร่ตาย คือพิมพ์แล้วแคร่ไม่เลื่อน มีแป้นพิมพ์ 7 แถว แถวละ 12 ตัว ไม่มีแป้นยกอักษร และไม่สามารถพิมพ์แบบสัมผัสได้ ต้องจิ้มที่ตัวอักษรทีละตัว ที่สำคัญหลังจากทดลองวางตัวอักษรลงแป้นพิมพ์แล้ว เอ็ดวิน ก็พบกับปัญหา คือ อักษรไทยเกินจำนวนแป้นพิมพ์ 2 ตัว หลังจากพยายามหาหนทางแก้ไขต่าง ๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงตัดสินใจตัดพยัญชนะ “ฃ” และ “ฅ” ซึ่งเป็นพยัญชนะที่แทบไม่มีการใช้งานแล้วออกเสีย ในที่สุดเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกของสยามก็สำเร็จในปี 2435
หลังจากนั้น เอ็ดวิน นำผลงานอันน่าภาคภูมิใจลงเรือกลับกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงก็ได้เข้าเฝ้าฯ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อให้ทดลองใช้เป็นพระองค์แรก ผลปรากฏว่าทรงพอพระราชหฤทัยอย่างมาก จึงรับสั่งให้นำเข้าเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเพิ่มเติมอีก 17 เครื่อง สำหรับใช้ในงานราชการต่าง ๆ ของประเทศ
ภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เอ็ดวินจึงพ้นจากตำแหน่งโดยปริยาย และหันไปศึกษาเรื่องเภสัชศาสตร์แทน กระแสเรื่องเครื่องพิมพ์ดีดจึงเริ่มซาลงไปบ้าง จนกระทั่ง เอ็ดวินถึงแก่กรรมจึงได้ทำพินัยกรรมมอบกรรมสิทธิ์เครื่องพิมพ์ดีดให้แก่ อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม หรือ นพ.ยอร์ช แบรดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ (George Bradley McFarland) ผู้เป็นน้องชาย รับช่วงเผยแพร่เครื่องพิมพ์ดีดให้เลื่องลือในสยามต่อไป
พระอาจวิทยาคมนั้นภายหลังได้เปิดกิจการของตัวเองเรียกว่า “ห้างสมิทพรีเมียร์” บริเวณมุมถนนระหว่างถนนวังบูรพากับถนนเจริญกรุง ในปี 2440 จำหน่ายสินค้านานาชนิด ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงระยะเวลา 2-3 ปี ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่าขายได้เป็นพัน ๆ เครื่อง นับเป็นการปฏิวัติการทำงานเอกสารของเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ว่าหน่วยงานใดต่างก็มีเครื่องพิมพ์ดีดเป็นอุปกรณ์สามัญประจำสำนักงาน
ต่อมาพระอาจวิทยาคมได้ขายกรรมสิทธิ์เครื่องพิมพ์ดีดแก่บริษัทเรมิงตัน และในปี 2458 บริษัทแห่งนี้ก็ประกาศยุติการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแบบเก่า และหันไปผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแบบยกแคร่ที่ส่ายได้แทน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของสังคมการพิมพ์ดีดโลก ทว่าสำหรับเมืองไทยแล้ว การจะให้มาเปลี่ยนแบบปุบปับก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้จะโฆษณาข้อดีมากเพียงใด แต่ลูกค้าก็ยังคงเรียกร้องเครื่องพิมพ์ดีดแบบเก่าอยู่ดี
กระทั่งเมื่อพระอาจวิทยาคมนำเข้าเครื่องพิมพ์ดีดแบบกระเป๋าหิ้วเข้ามาใช้ในประเทศไทย ด้วยรูปลักษณ์ที่น่าใช้ ทำให้ข้อรังเกียจที่ผู้คนตั้งแง่ไว้เริ่มหมดลง และเพื่อให้การใช้เครื่องพิมพ์ดีดชนิดนี้ ซึ่งพิมพ์แบบสัมผัสแพร่หลายมากขึ้น จึงได้เปิดโรงเรียนสอนการพิมพ์ดีด ปรากฏว่ามีคนมาเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้เครื่องพิมพ์ดีดแบบกระเป๋าหิ้วได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นคงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า การพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดในสังคมไทยนั้นขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีตะวันตกเป็นหลักนั่นเอง
นอกจากรูปลักษณ์ของตัวเครื่องที่เปลี่ยนไป แป้นพิมพ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลง เพราะแป้นแบบใหม่นี้มี 4 แถว และมีแป้นยกอักษร ส่งผลให้ต้องมีการขยับอักษรบนแป้นโดยอัตโนมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับ “ความเป็นไทย” มากขึ้น โดยเฉพาะกับความคุ้นชินการใช้อักษรของคนไทย พระอาจวิทยาคม จึงร่วมกับพนักงานในบริษัทปรับปรุงแป้นพิมพ์เสียใหม่ โดยนายสวัสดิ์ มากประยูร เป็นช่างประดิษฐ์ก้านอักษร และนายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี หรือนายกิมเฮง เป็นผู้ออกแบบการวางตำแหน่งแป้นอักษร
การวางตัวอักษรนี้มีหลักการง่าย ๆ โดยพิจารณาจากสถิติการใช้ตัวอักษรของคนไทยเป็นหลัก และเพื่อให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์ที่สุด ทีมงานของพระอาจวิทยาคม ต้องใช้หนังสือถึง 38 เล่ม และคำศัพท์ไทยอีก 167,456 คำ ใช้เวลาทั้งสิ้น 7 ปี จึงประสบความสำเร็จ ผู้คนต่างเรียกแป้นพิมพ์แบบใหม่นี้ว่า “แป้นพิมพ์เกษมณี” ตามนามสกุลของนายกิมเฮงผู้ออกแบบ โดยแป้นพิมพ์นี้ก็ยังไม่มีพยัญชนะ “ฃ” และ “ฅ” ปรากฏอยู่บนแป้นเหมือนเคย แต่ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นแป้นพิมพ์มาตรฐานมาตั้งแต่ปี 2474 เป็นต้นมา
แม้จะเริ่มต้นจากฝรั่งแต่เมื่อแป้นพิมพ์นั้นถูกปรับเข้ามาให้สอดคล้องกับคนไทยมากขึ้น ระบบต่าง ๆ ในสังคมจึงเปิดรับเรื่องนี้เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องการศึกษาและการทำงาน ในหลาย ๆ โรงเรียนเปิดสอนวิชาการพิมพ์ดีดขึ้นมาโดยเฉพาะ มีการกำหนดความเร็วของการพิมพ์ว่าภายใน 1 นาทีต้องพิมพ์ได้กี่คำ หรือแม้แต่ใบสมัครงานก็มักจะถามถึงความสามารถในการพิมพ์ จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การใช้แป้นพิมพ์ให้คล่องนี้ได้กลายเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับคนไทยทุกคน
ถึงแม้วันนี้อุปกรณ์สำนักงานที่เรียกว่าเครื่องพิมพ์ดีดจะกลายเป็นของโบราณ ตกยุค แทบไม่มีใครใช้อีกต่อไป แต่สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “แป้นพิมพ์ภาษาไทย” ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลง และนับวันก็จะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ และนี่คือตัวอย่างของอุปกรณ์นำเข้าที่ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นไทย จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่แทบทุกคนจะขาดไปไม่ได้ในชีวิตประจำวัน
สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์. (2493). ประวัติของสกุลแมคฟาร์แลนด์ในสยาม. พระนคร: เสรีวานิช. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระอาจาวิทยาคม (ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราศ วันที่ 11 พฤษภาคม 2493) อ่านออนไลน์
วารินทน์ สินสูงสุด. (2511). ประวัติพิมพ์ดีดและเรื่องน่าสนใจ. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์
อ่านเพิ่มเติม
Thaweesak Koanantakool, Ph.D. (1993). The Keyboard Layouts and Input Method of the Thai Language. In Proceedings of the Symposium on Natural Language Processing in Thailand 1993.
ยุกติ มุกดาวิจิตร. (2555). ระบอบพิมพ์ดีด: คน อักษร แป้นพิมพ์ และสังคม.ใน หนังสือที่ระลึกสำหรับผู้มาร่วมงานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. อ่านออนไลน์
#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials