Museum Core
ถอดรหัสนักกีฬาไทย ชูพระบรมฉายาลักษณ์
Museum Core
21 ก.พ. 61 4K

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

ถอดรหัสนักกีฬาไทยชูพระบรมฉายาลักษณ์

 

 

 

ทุกครั้งที่ได้ชมถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ จะเห็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของนักกีฬาไทย เมื่อมีชัยชนะหรือได้รับรางวัลใดรางวัลหนึ่งที่ติดหนึ่งในสาม (เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง) นักกีฬาไทยก็จะทำการแสดงเอกลักษณ์ที่น่าจะเป็น Thailand Only เลยก็ว่าได้ นั่นคือการชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งปัจจุบันก็มีการเพิ่มการชูพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เข้ามาด้วย แถมยังมีวลีที่ถูกกล่าวซ้ำอยู่บ่อยครั้งเพื่อสนับสนุนการแสดงเอกลักษณ์นี้ คือ “นักกีฬาของพระราชา” “สู้เพื่อพ่อ” “สู้เพื่อพระองค์ท่าน” เป็นต้น การชูพระบรมฉายาลักษณ์และการแสดงเจตจำนงค์ของการสู้เพื่อพระมหากษัตริย์ของประเทศตนที่นักกีฬาไทยได้ปฏิบัตินั้น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่เห็นแล้วก็ทำให้รู้ได้เลยว่านี่คือนักกีฬาไทย สิ่งเหล่านี้ตอบได้ถึงความจงรักภักดีที่นักกีฬาไทยมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็มิได้ทำให้คลายความสงสัยได้ว่า เหตุใดปรากฏการณ์นี้ถึงไม่เกิดขึ้นกับนักกีฬาชาติอื่น ๆ เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่มีกษัตริย์ อีกทั้งนักกีฬาประเทศอื่น ๆ ที่มีกษัตริย์ก็จงรักภักดีกับกษัตริย์ของตนมิใช่หรือ และที่สำคัญประเทศไทยก็มีสถาบันพระมหากษัตริย์มาช้านาน พร้อม ๆ กับการมีนักกีฬาก็มีมาก่อนรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 แล้วเหตุใดปรากฏการณ์แสดงความจงรักภักดีนี้ถึงเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่เกินหกสิบปีมานี้

 

 


น่าสนใจว่าสิ่งที่มีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์นักกีฬาชูพระบรมฉายาลักษณ์นี้คือ “พิธีการ” ต่าง ๆ ที่มีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีลักษณะในการพันผูกกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และวงการกีฬามาโดยตลอด อย่างเรื่องของการพระราชทานไฟพระฤกษ์ ที่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะมีการจุดไฟเพื่อใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันจากแสงอาทิตย์ ณ เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ เป็นประเพณีที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน สำหรับประเทศไทยก็มีเหมือนกัน ในการแข่งขันกีฬาใหญ่ ๆ คณะกรรมการจัดการแข่งขันก็ดำเนินการตามแบบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเช่นกัน แต่เป็นการขอพระราชทานไฟพระฤกษ์ จาก รัชกาลที่ 9 (ภายหลังมีการโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้แทนพระองค์) จะทรงใช้พระแว่นสุริยกานต์กรอบทองลงยา รวมแสงอาทิตย์จุดไฟพระฤกษ์แล้วพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขัน อีกทั้งมีการเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิด-ปิดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพอยู่บ่อย ๆ ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ปี 2502 – 2541 มีทั้ง กีฬาแหลมทอง(ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์), กีฬาซีเกมส์, กีฬาเอเชี่ยนเกมส์

 


นอกจากนี้ก่อนการเดินทางไปแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลลา รับพระราชทานพระบรมราโชวาท และรับพระราชทานพร ในส่วนของนักกีฬาที่ได้รางวัลจากการแข่งขันและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศกลับมาก็จะมีโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ตัวอย่างนักกีฬา เช่น สมรักษ์ คำสิงห์ (เหรียญทองโอลิมปิกแรกของไทย พ.ศ. 2539), วิจารณ์ พลฤทธิ์ (เหรียญทองโอลิมปิก พ.ศ. 2543) เป็นต้น และยังไม่พอยังมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับนักกีฬาที่ทำคุณงามความดีอีกด้วย

 


พิธีการทั้งหมดนี้มิได้เกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของกีฬาสากลที่เข้ามาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทในทุก ๆ ด้าน ค่อย ๆ มีบทบาทในวงการกีฬาเสมอมา แต่จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา รัชกาลที่ 9 กับวงการกีฬามีความเกี่ยวข้องกันมากขึ้น มากกว่ารัชกาลก่อน ๆ ผ่านพิธีการที่เป็นทางการ และเป็นการส่วนพระองค์ เช่น การโทรศัพท์ไปพระราชทานกำลังใจแก่นักกีฬา และยิ่งไปกว่านั้น “วันกีฬาแห่งชาติ” คือวันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี ก็มีที่มาจากการนำวันที่รัชกาลที่ 9 ได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาเรือใบ และสมเด็จพระราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัล ณ สนามศุภชลาศัย ในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 จากวันดังกล่าวนี้ถูกนำมากำหนดให้เป็นวันกีฬาแห่งชาติ เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา

 


พิธีการทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องพันผูกกันของสถาบันการกีฬาและสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นภาพลักษณ์ของสองสถาบันที่ต่างก็สร้างคุณงามความดีให้กับประเทศ นอกจากในนามกษัตริย์แล้ว รัชกาลที่ 9 ก็ทรงเป็นนักกีฬา (การแข่งขันกีฬาเรือใบ ในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 พ.ศ. 2510) ที่เคยได้เหรียญทอง พระองค์ยิ่งเป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดีและความสำเร็จ เพราะฉะนั้นจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ผ่านพิธีการต่าง ๆ สำหรับนักกีฬาไทยแล้วพระองค์เปรียบเสมือนเบื้องหลังแห่งความสำเร็จ ถึงแม้ว่าชัยชนะนั้นจะเกิดจากความเพียรของนักกีฬาเอง แต่นักกีฬาก็มีพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ นี่คือการพันผูกกันของวงการกีฬาและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แทบไม่มีประเทศไหนที่พันผูกกันไว้ได้ถึงขนาดนี้ การชูพระบรมฉายาลักษณ์จึงเป็นธรรมเนียมอย่างไม่เป็นทางการธรรมเนียมหนึ่งที่นักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะทำ นอกจากนักกีฬาไทยก็ยังขยายไปสู่กีฬาที่มีคนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเช่น สโมสรเลสเตอร์ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก ที่มีบริษัทคิงพาวเวอร์เป็นเจ้าของ ก็มีการชูพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย

 


ดังนั้นการที่นักกีฬาไทยชูพระบรมฉายาลักษณ์นอกจากเป็นสัญลักษณ์ที่กระทำเมื่อได้รับชัยชนะในการแข่งขันของนักกีฬาแล้ว ยังมีนัยที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มี “สิทธิธรรมเหนือการกีฬา” อีกด้วย ซึ่งมีส่วนสำเร็จได้เพราะการนำพิธีการต่าง ๆ มาพันผูกเอาไว้นั่นเอง ฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าพิธีการต่าง ๆ นี้มีส่วนที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นักกีฬาชูพระบรมฉายาลักษณ์

 

 

รัชนก พุทธสุขา

 

 

 

บรรณานุกรม

 


การกีฬาแห่งประเทศไทย. (2547). 40 ปี 4 ทศวรรษ การกีฬาแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ดอกเบี้ย.


การกีฬาแห่งประเทศไทย. (2549). บันทึกฮีโร่กีฬาไทย. กรุงเทพฯ: ดอกเบี้ย.


การกีฬาแห่งประเทศไทย. (2549). พระมหากษัตริย์นักกีฬา. กรุงเทพฯ: ดอกเบี้ย.


กิตติ โล่เพชรัตน์. (2554). ราชันย์ผู้สร้างสรรค์ ดนตรี กีฬา ศิลปะ ของพระเจ้าแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: ก้าวแรก.


ฐิติรัตน์ เกิดหาญ. (2549). พรจากพ่อ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ. ปทุมธานี: สกายบุ๊กส์.


ณรงค์ พ่วงพิศ. (2549). ประมวลสาระชุดวิชาการเมืองการปกครองไทย 80701 หน่วยที่ 1-5. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.


ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพชร์. (2525). พัฒนาการของพลศึกษาในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2325-2525. กรุงเทพฯ: กรมพลศึกษา.


ภ. ณ ประมวญมารค. (2545). ชีวิตชั้นๆ. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์.


สมบัติ จันทรวงศ์: และ ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2523). ความคิดทางการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.


อนันต์ อ่อนจันทร์. (2534). ประวัติการกีฬา. กรุงเทพฯ: กรมพลศึกษา.


วาด รวี. (2554). สิทธิธรรมเหนือสิทธิเสรีภาพ, แหล่งอำนาจและรากเหง้าของปัญหาสังคมการเมืองไทย. สืบค้นจาก อ่านออนไลน์

 

Museum Siam Knowledge Center

 

พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม / จิรัฎฐ์ จันทะเสน.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ