Museum Core
มวยไทย มวยใคร
Museum Core
27 ก.พ. 61 3K

ผู้เขียน : ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

มวยไทย มวยใคร ทำไมจึงเป็นมรดกไทยมรดกโลก

 

 

 

“มวยไทย” แค่ชื่อก็เป็นไทย ฟังดูแล้วภาคภูมิใจ แต่สังเกตไหมว่าเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่า พม่า มอญ เขมรหรือลาว ก็มีมวยหรือศิลปะการต่อสู้ที่มีรูปแบบคล้าย ๆ กัน แล้วแบบนี้จะถือว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมรากได้ไหม

 


งั้นมาลองดูที่มาที่ไปกันก่อน

 


มวยไทยมีที่มาจากมวยโบราณ เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่พัฒนามาเรื่อย ๆ เป็น “องค์ความรู้” เพื่อใช้ในการต่อสู้จริงในศึกสงครามที่ต้องห้ำหั่นกันแบบประชิดตัวในอดีต นอกจากนี้ยังฝึกฝนเพื่อป้องกันตัวหรือประชันแข่งขัน

 


ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นเนื้อเดียวกันระหว่าง “มวยโบราณ” กับ “มวยไทย” เป็นไปลักษณะไหน เพราะมวยโบราณกับมวยไทยในปัจจุบันมีทั้งลักษณะที่เหมือนและไม่เหมือนกัน คล้ายกับการมีรากเดียวกัน แต่มีวิวัฒนาการแตกออกไปหลายแขนงตามความถนัดสร้างสรรค์ของแต่ละค่ายสำนักและท้องถิ่น ฟังดูอาจเข้าใจยาก แต่ถ้าอธิบายใหม่ให้ชัดขึ้นคงเหมือนกับการที่มนุษย์ปัจจุบันมี “บรรพบุรุษร่วม” กับลิง แต่มนุษย์ไม่ใช่ลิง ขณะเดียวกันยังแตกออกไปได้อีกหลายเผ่าพันธุ์ โดยมีองค์ประกอบหลักร่วมกันไม่ว่ามีหู ตา จมูก ปาก แต่อาจดูไม่เหมือนกันเลย เช่น ผิวขาว ผมทอง ผิวสี ผมดำ ผมหยิก ผมตรง และทั้งหมดทั้งมวลยังสามารถผสมผสานกันได้อีก กลายเป็นความหลากหลายงดงามใหม่ ๆ ต่อไป

 


จากการต่อสู้ตามสัญชาตญาณ มนุษย์เหวี่ยงหมัดเท้าเข่าศอกหรือกระทั่งใช้หัวโขกฟันกัดมาตั้งแต่เกิด แต่การเคลื่อนไหวอย่างมีรูปแบบเพื่อตั้งรับหรือจู่โจมหวังผลแพ้ชนะ สำหรับสุวรรณภูมิดินแดนแถบนี้คงต้องย้อนมองไปยังอารยธรรมอินเดีย ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลเช่นเดียวกับองค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง ศิลปกรรมหรือภาษา และมีการปรับจนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น

 


อิทธิพลของอินเดียในสุวรรณภูมิมีมายาวนานตั้งแต่การค้าขาย เผยแผ่ศาสนา การลี้ภัยของเจ้าชายหรือกษัตริย์ในบางแคว้น หรือเหตุผลอื่น ๆ แน่นอนว่าได้นำเอาศิลปวิทยาความรู้ติดมาด้วย หนึ่งในนั้นก็คือวิชาการต่อสู้ ซึ่งที่ถูกนับเป็นสายแรกของประวัติศาสตร์ไทยและมวยไทยก็คือ มวยลพบุรีหรือสำนักเขาสมอคอน เมืองละโว้ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า ฤๅษีจากอินเดียนามว่า สุกกทันตฤๅษี เดินทางมาที่นี่แล้วตั้งสำนักเรียนขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1200 เพื่อสอนสรรพวิทยา ซึ่งวิชามวยเป็นหนึ่งในนั้น และจุดสำคัญคือการมีลูกศิษย์เป็นพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย

 


นอกจากมวยลพบุรี ท้องถิ่นอื่น ๆ ก็มีมวยโบราณแยกออกไป ที่พอสืบเค้าว่าน่าจะมีร่องรอยความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู เช่นกัน คือ มวยท่าเสา ซึ่งโด่งดังแถบจังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนการขึ้นชกต้องไหว้พระอิศวร เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ด้วยความที่มีดินแดนติดต่อกับลาว มวยท่าเสาจึงได้ชื่อว่าเป็นมวยลาวแกมไทย ดังนั้นจึงมีเทคนิคลีลาแตกต่างออกไปอีกแขนง แต่ก็ถือว่าเป็นอีกสำนักมวยมีชื่อเช่นกัน

 


ขยับออกไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา มีการต่อสู้ชนิดหนึ่งที่ชื่อ Bokator มีความหมายว่า การตำหรือทุบสิงโต มีตำนานบอกว่า สืบทอดมาจากขอมโบราณ แม้ว่าจะมีความไม่ชัดเจนในที่มาของประวัติศาสตร์ แต่ด้วยเป็นพื้นที่หนึ่งที่รับอิทธิพลอินเดียอย่างเข้มข้นมาตลอด จึงไม่แปลกหากรับรูปแบบการต่อสู้เข้ามาผสมผสานด้วย โดยเฉพาะชื่อที่เกี่ยวพันกับสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่มีในดินแดนสุวรรณภูมิก็อาจเป็นร่องรอยหนึ่งของสายสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับคนในดินแดนแถบนี้

 


สำหรับมอญ-พม่าซึ่งอยู่ใกล้กับอินเดียมากกว่าใครในแถบนี้ มีการติดต่อระหว่างกันได้ง่าย ยิ่งไม่แปลกหากจะมีการรับศิลปะการต่อสู้แบบอินเดียเข้ามาในหลายลักษณะ ประเด็นที่อยากตั้งเป็นคำถามไว้เล่น ๆ คือ ช่วงเวลาที่พระนเรศวรเป็นองค์ประกันอยู่ที่หงสาวดีตั้งแต่เด็กและได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากมหาเถรคันฉ่องพระมอญ ต่อมายังทรงนำแบบแผนหลายอย่างในราชสำนักพม่ามาใช้ในราชสำนักอยุธยา แล้ววิชาหมัดมวยแบบมอญพม่าจะถูกนำมาผสมผสานในราชสำนักอยุธยาด้วยหรือไม่

 


ส่วนในอินเดีย ปัจจุบันยังพอมีมวยโบราณให้เห็นบ้าง เช่น คาราริพายันธุ Kalaripayattu ศิลปะการต่อสู้ทางตะวันตกเฉียงใต้ การต่อสู้มีทั้งหมัด เท้า เข่า ศอก เตะ ถีบ ทุ่ม ทับ จับ หัก หัวโขก แน่นอนคงไม่สามารถบอกได้ว่า มวยโบราณของไทยมาจากมวยโบราณชนิดนี้ในอินเดีย เพราะอินเดียก็มีขอบเขตกว้างขวางไพศาลและการต่อสู้ก็มีหลายรูปแบบ แต่ศิลปวิทยาทางการต่อสู้ในลักษณะคล้ายกันนี้อาจถ่ายทอดผ่านนักบวชฤาษีที่มาตั้งตักสิลาหลากสำนักในสุวรรณภูมิ จนผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ของบรรดาปรมาจารย์ครูมวยสำนักต่าง ๆ พัฒนาเกิดเป็นมวยโบราณหลากรูปแบบแตกตัวไปตามแต่ละท้องถิ่น

 


สิ่งที่ทำให้พัฒนาการมวยโบราณในบ้านเราแตกต่างไปจากเพื่อนบ้าน สามารถสร้างชื่อ “มวยไทย” ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากบทบาทของราชสำนัก อีกส่วนคงเป็นเรื่องความมีเสถียรภาพภายในและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในราชสำนักอยุธยามีกรมกองมวยอย่างชัดเจน ส่วนในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในสมัย รัชกาลที่ 5 นอกจากทรงชื่นชอบแล้วยังโปรดให้บรรจุเป็นหนึ่งในหลักสูตรครูฝึกหัดพลศึกษาและโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ต่อเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงพัฒนาเป็นการชกมวยแบบสวมนวม นับคะแนนแพ้ชนะ มีการกำหนดยก มีลักษณะแบบมวยสากลมากขึ้นและมีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายค่าย

 


ถึงตรงนี้คงพอมองเห็นภาพกันบ้างแล้วใช่ไหมว่า การนับอายุของมวยไทยหรือการหาที่มาที่ไปเป็นปัญหาคลาสสิคพอ ๆ กับอะไรคือความเป็นไทยหรือความเป็นไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ โดยเฉพาะการผูกประวัติศาสตร์เข้ากับตำนานพระร่วงและราชวงศ์สุโขทัยของมวยไทย ก็อาจเป็นเพียงหนึ่งในการสร้างอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” สมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อรับมือแรงกดดันจากตะวันตกและสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ต่อมาภายหลังเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนชื่อ “สยาม” เป็น “ไทย” จึงทำให้คำว่า “มวยไทย” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ขณะที่นโยบายสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมยังดำเนินต่อภายใต้ความเป็น “ไทย” ในการนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงนี้เป็นยุคที่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับมวยไทยออกมาอย่างเป็นแบบแผน รวมถึงการก่อสร้างเวทีมวยมาตรฐาน ได้แก่ เวทีมวยราชดำเนินและลุมพินี พูดง่าย ๆ ก็คือ มาตรฐานกลางหรือมวยไทยในรูปแบบที่เห็นในปัจจุบันก่อเป็นรูปร่างที่ชัดเจนในยุคนี้

 


ในช่วงเวลาที่มวยไทยกำลังถูกผลิตสร้างขึ้นร่วมกับอุดมการณ์ความเป็นชาติ สถานการณ์ของเพื่อนบ้านยังคงเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มวยไทยจึงสามารถตั้งลำได้ก่อนทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจที่ถูกผูกเข้ากับเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติคุ้นเคยกับมวยไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ก็มีเหมือนกันที่มวยไทยถูกท้าทาย เช่นครั้งหนึ่ง โอซามู โนกูจิ เคยนำมวยไทยไปดัดแปลงเป็น คิ๊กบ็อกซิ่ง และประกาศว่า มวยไทยมีที่มาจากคิ๊กบ็อกซิ่ง ทำให้ ยอดธง เสนานันท์ ครูมวยในยุคนั้นนำนักมวยไทยชกกับคิ๊กบ็อกซิ่งขึ้น ผลการแข่งขันนักมวยไทยเป็นฝ่ายชนะ จอมพลถนอม กิตติขจร จึงมีคำสั่งเนรเทศโอซามู โนกูจิ ออกนอกประเทศภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของประเทศ อย่างไรก็ตาม คิ๊กบ็อกซิ่งยังคงเป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา ส่วนมวยไทยยังคงเป็นที่รู้จักในวงจำกัด

 


แตกต่างจากในยุโรป มวยไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายกว่า นอกจากการบวกรวมเข้ากับการท่องเที่ยวแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในผลพวงจากการที่ ผุดผาดน้อย วรวุฒิ อดีตนักมวยไทยฝีมือดีได้รับทาบทามไปสอนมวยในฝรั่งเศส เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ฝรั่งที่ทาบทามไปสอนต้องการให้ใช้ชื่ออื่น แต่เขายืนยันต้องใช้ชื่อ “มวยไทย” เท่านั้น ต่อมาเมื่อประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหาฝรั่งมากมาย ส่งผลให้นักมวยไทยอีกหลายคนเดินทางไปเปิดค่ายมวยไทยในประเทศในยุโรปมากขึ้น ถือเป็นการเปิดตลาดต่างแดนอย่างแท้จริง

 


ผุดผาดน้อยยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า การไปสอนมวยไทยให้คนต่างชาติในช่วงแรกนั้น เขาถึงกับโดนข้อกล่าวหาจากคนในวงการมวยไทยและเพื่อนร่วมชาติว่า “ขายชาติ” เลยทีเดียว

 


ความตลกร้ายก็คือ ในขณะที่มวยไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นในต่างประเทศ มวยไทยเวทีอันเคยเป็นความภาคภูมิใจกลับเสื่อมความนิยมลงในยุคปัจจุบันโดยมีสาเหตุสำคัญจากอิทธิพลของธุรกิจพนัน และมากไปกว่านั้นกลับกลายเป็นศึกมวยสไตล์ไทยไฟต์ที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาชกด้วย ปรากฏว่า การออกอาวุธสู้กับนักมวยของไทยสามารถทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ นักมวยฝรั่งบางคนยังกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยไปเสียอีก

 


ดังนั้น ผลสืบเนื่องวาทกรรมมวยไทยที่เคยต้องไปช่วงชิงในต่างแดนจนถึงข้อหาขายชาติ ถึงวันนี้กลับกลายเป็นดังลมหายใจเฮือกใหม่ของวงการมวยไทย ซึ่งหลังจากนี้ความเป็นไทยและนิยามมวยไทยจะเลื่อนไหลไปต่อในทิศทางไหนก็คงต้องจับตากันต่อไป

 

 

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

 

 

 

 


บรรณานุกรม


กรมพลศึกษา. (2559). ประวัติศาสตร์มวยไทย. กรุงเทพฯ:กรมพลศึกษา.

 

Museum Siam Knowledge Center


มวยไทย กระบวนยุทธ์แห่งสยาม. / สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. อ่านออนไลน์

ปริทัศน์มวยไทย. / เขตร ศรียาภัย.

 

 

 

 

 

#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ