Museum Core
ตุ๊กตุ๊ก (ไทย) ไม่ไทย ก็ ไทยได้
Museum Core
09 มี.ค. 61 67K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

ตุ๊กตุ๊ก (ไทย) ไม่ไทย ก็ ไทยได้

 

 

 

น้อยคนที่จะรู้ว่ารถตุ๊กตุ๊กไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร และได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติที่คนไทยภาคภูมิใจได้อย่างไร เนื่องจากรถตุ๊กตุ๊กเป็นพาหนะที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี สามารถพบเห็นรถตุ๊กตุ๊กได้โดยทั่วไป พบมากเป็นพิเศษในย่านตลาดสด หน้าโรงเรียน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั่วประเทศไทย ปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กน่าจะเป็น “icon” ที่ถูกเลือกมาใช้สำหรับการสร้างเป็นภาพจำให้กับสินค้าที่ต้องการแสดงถึงความเป็นไทยมากที่สุดอย่างหนึ่ง

 


รถตุ๊กตุ๊กถือกำเนิดครั้งแรกในประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2491 หรือสามปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดย Piaggio ตั้งใจผลิตออกมาเป็นรถสำหรับบรรทุกสินค้าที่ขับขี่ง่าย มีขนาดเล็กกะทัดรัด แม้จะมีกำลังแค่ 125 ซีซี ซึ่งสามารถทำความเร็วได้ไม่มากนัก แต่ก็มีความคล่องตัวเพียงพอในสภาพการจราจรที่คับคั่ง ที่สำคัญคือมีราคาถูก ไม่ต้องเสียค่าดูแลรักษามากนักจึงเหมาะสมกับยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองหลังสงคราม โดยนำเอาโครงสร้างพื้นฐานของ เวสป้า (Vespa) มาใช้ กล่าวคือควบคุมรถด้วยแฮนด์เหมือนขี่เวสป้า ส่วนด้านหลังเพิ่มสองล้อเข้าไป และติดตั้งกระบะเป็นพื้นที่บรรทุก ดังนั้นในช่วงแรกจึงเรียกว่า VespaCar หรือ TriVespa มีชื่อรุ่นอย่างเป็นทางการคือ “Ape” ในภาษาอิตาลีแปลว่า “ผึ้ง”

 


ส่วนต้นแบบรถตุ๊กตุ๊กไทยได้มาจากรถบรรทุกสามล้อยี่ห้อไดฮัทสุ (Daihatsu) รุ่นมิดเจ็ท ดีเคเอ (Midget DKA) เป็นรถสองจังหวะ 250 ซีซี มีไฟหน้า 1 ดวง และมีที่จับบังคับเหมือนรถจักรยานยนต์ มีบังโคลนโค้งครอบล้อหน้า เริ่มผลิต พ.ศ. 2500 นำเข้ามาขายในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 เพื่อใช้เป็นรถบรรทุกสินค้า ต่อมาดัดแปลงเพื่อใช้นั่งโดยสารได้ด้วย

 


พ.ศ. 2515 ประเทศญี่ปุ่นเลิกผลิตรถบรรทุกสามล้อรุ่นดังกล่าว ทำให้อะไหล่ต่าง ๆ ของรถขาดตลาด ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าของรถตุ๊กตุ๊กเป็นอย่างมาก ทำให้อู่ต่าง ๆ เช่น วัฒน์อุตสาหกรรมและพลสิทธิ์ตุ๊กตุ๊กเริ่มผลิตอะไหล่ทดแทนเอง และเริ่มประกอบรถตุ๊กตุ๊กทั้งคันรวมถึงออกแบบรูปร่าง โครงสร้าง ลวดลายและสีสันโดยช่างภายในประเทศ ท้ายรถตุ๊กตุ๊กที่ถูกผลิตจึงถูกถอดป้ายชื่อยี่ห้อรถออก ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไดฮัทสุ มิตซูบิชิ ฮีโน่ มาสด้า แล้วแทนที่ด้วยคำว่า "THAILAND"

 


รถตุ๊กตุ๊กสัญชาติไทยเริ่มก้าวไกลสู่เวทีโลก หลังจากผลิตรถตุ๊กตุ๊กส่งออกไปขายหลายประเทศทั่วโลก สามารถทำรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ด้วยลวดลายดีไซน์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ในนาม Tuk Tuk from Thailand

 


ไม่จบแค่นี้ แต่ยังมีการนำรถตุ๊กตุ๊กมาผลิตซ้ำภาพจำในช่องทางอื่น ๆ อีกมากมายยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่ององค์บาก ที่ออกฉาย พ.ศ. 2546 และเมื่อนำไปฉายยังต่างประเทศ ความเป็นไทยจึงถูกส่งออกให้ต่างชาติรู้จักวิถีชีวิตคนไทย อาหารไทย มวยไทย และแน่นอนรวมถึงคิวบู๊ที่ตื่นเต้นเร้าใจบนรถตุ๊กตุ๊กที่เป็นภาพจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ กระทรวงวัฒนธรรมถึงกับแต่งตั้งให้ จา พนม ยีรัมย์ เป็นทูตวัฒนธรรมด้านภาพยนตร์ในฐานะที่เผยแพร่ความเป็นไทย ปัจจุบันภาพยนตร์ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติแล้ว ล่าสุดถูกนำมาทำเป็น Ong-bak Live โชว์ที่เน้นขายนักท่องเที่ยว ไฮไลต์คือฉากรถตุ๊กตุ๊กติดสลิงวิ่งจากเวที ลอยข้ามหัวคนดูที่สร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก

 


ส่วนภาพยนตร์ฮอลีวูดเรื่อง The Hangover Part 2 รถตุ๊กตุ๊กไทยก็โลดแล่นโดดเด่นในหลาย ๆ ฉาก ภาพยนตร์จากประเทศจีนก็มี Detective Chinatown ที่มีภาพจำจากฉากไล่ล่ากันด้วยรถตุ๊กตุ๊กผ่านย่านไชน่าทาวน์เมืองไทย

 


รถตุ๊กตุ๊กไทยก็ยังไปปรากฏในภาพยนตร์โฆษณาบัตรเครดิตชื่อดังระดับโลกอย่าง VISA เมื่อเจมส์ บอนด์ ต้องลงจากรถลิมูซีนคันหรูเพื่อเรียกรถตุ๊กตุ๊ก ยอมเสี่ยงตายเพื่อฝ่าการจราจรอันคับคั่งในกรุงเทพ ฯเพื่อไปให้ทันดินเนอร์กับสาวสวย

 


เมื่อครั้งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ระดับผู้นำครั้งที่ 11 รถตุ๊กตุ๊กได้เข้ามามีบทบาทสร้างความประทับใจและแสดงเอกลักษณ์ของประเทศ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า “ไชย” ถูกนำมาใช้รับส่งผู้นำ APEC หลังงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเดินทางไปชมกระบวนพยุหยาตราชลมารค ที่จัดแสดงขึ้นให้ผู้นำทั้งหลายได้ชมความอลังการ และรับรู้ถึงประวัติความเป็นมาของประเพณีไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารูปร่างหน้าตาของ “ไชย” สื่อถึงความเป็นไทยไม่เด่นชัด

 


ใน พ.ศ. 2548 ชาวเยอรมันสองคนขับรถตุ๊กตุ๊กหน้าตาไทย ๆ ทะเบียน ศข110 สมุทรปราการ เดินทางไกลผ่านทั้งหมด 21 ประเทศ เริ่มต้นที่ประเทศไทยไปสิ้นสุดที่ประเทศเยอรมนี ระยะทางรวม 37,410 กิโลเมตร ได้รับการจดบันทึกในหนังสือกินเนสต์บุ๊ค (Guinness World Records) ว่าเป็นการเดินทางด้วยรถตุ๊กตุ๊กที่มีระยะทางยาวที่สุดในโลก (Longest journey by tuk-tuk)

 


แต่ไม่มีครั้งไหนที่ตุ๊กตุ๊กไทย จะเป็นภาพจำติดตาคนทั้งโลกเท่ากับเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2015 เมื่อชุด tuk-tuk ได้รับเลือกเป็นชุดประจำชาติยอดเยี่ยม ผู้ออกแบบได้หยิบความเป็นไทยร่วมสมัย (Contemporary Thai) และวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) มาใช้ในการออกแบบ โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชุดดังกล่าวได้จุดกระแสจนเกิดการวิจารณ์ถึงความเป็นไทยของชุดดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

 


แม้ว่าจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ททท. ก็ไม่รีรอที่จัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยยานพาหนะท้องถิ่น เพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ให้สัมผัสการท่องเที่ยวในแบบวิถีไทย ผ่านการโดยสารยานพาหนะท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยจัดแคมเปญส่งเสริมให้นักเที่ยวเดินทางโดยรถตุ๊กตุ๊กเพื่อการท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร

 


นอกจากนี้ยังได้มีการนำรถตุ๊กตุ๊กมาผลิตเป็นเกมที่สามารถเล่นบนโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์ ชื่อเกม Tuk-Tuk Rush พัฒนาร่วมกันระหว่างคนไทยและคนเยอรมัน ผู้เล่นจะได้สวมวิญญาณนักซิ่งขับรถตุ๊กตุ๊กไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศไทย “นอกจากจะเป็นเกมเพื่อคนไทยแล้ว ยังทำขึ้นเพื่อเอาใจคนต่างชาติที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย”

 


ยังไม่นับรวมของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีให้เลือกมากมาย เช่น รถตุ๊กตุ๊กจำลองผลิตจากกระป๋องน้ำอัดลม เสื้อยืด-หมวก-กระเป๋าผ้าสกรีนลาย พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น ถ้วยกาแฟร้านดังระดับโลกก็ยังผลิตลายรถตุ๊กตุ๊กพร้อมคำว่า “Thailand” ซึ่งไม่สามารถหาซื้อได้ในประเทศอื่นยกเว้นสาขาในประเทศไทยเท่านั้น

 


จะเห็นได้ว่ารถตุ๊กตุ๊กมาไกลจากเมืองนอก แต่เมื่อเข้ามาสู่เมืองไทยเรามีวิธีการฉกฉวยนำมาเป็นของไทยได้ โดยผ่านกระบวนการผลิตซ้ำภาพจำซ้ำ ๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย จนทุกวันนี้เรารู้สึกภาคภูมิใจว่ารถตุ๊กตุ๊กเป็นของคนไทยโดยแท้จริง

 

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

 

ล้อมกรอบ


ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่มีกว่า 30 ประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้รถตุ๊กตุ๊กในฐานะรถโดยสารรับจ้าง (taxi) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา โดยแต่ละประเทศมีรูปร่างหน้าตาและชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น Bajad ในอินเดีย อินโดนีเซีย, Coco taxi ในคิวบา, CNGs ในบังคาเทศ และมีหลายประเทศที่เรียกว่าตุ๊กตุ๊กเหมือนไทย เช่น กัมพูชา ลาว ศรีลังกา อียิปต์ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศไทยส่งออกรถตุ๊กตุ๊กไปยังประเทศเหล่านี้ และเรียกชื่อตามประเทศไทย

 

 

บรรณานุกรม


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. (2558). ไทยแลนด์ตุ๊กตุ๊ก ถอดรหัสอัตลักษณ์รถไทยข้ามประเทศ. ใน อุตสาหกรรมสาร. ปีที่ 57 กันยายน-ตุลาคม. อ่านออนไลน์


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2559). ททท. เปิดตัวโครงการ A TOUCH OF THAI VEHICLES เส้นทางสร้างสรรค์เที่ยววิถีไทยท่องวิถีถิ่น. สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2560 จาก อ่านออนไลน์

 

เพ็ญแข สร้อยทอง. (2550). ย้อนรอยไทย...ในสงครามทรัพย์สินภูมิปัญญา. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2560. จาก อ่านออนไลน์


สถาบันยานยนต์. (2546, พฤศจิกายน). รถสามล้อไฟฟ้า “ไชย” ไปโลดระดับชาติ. ยานยนตร์สาร. ปีที่ 1 (11) จาก อ่านออนไลน์


BBC News. (2002). Thailand protects famous tuk-tuks. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2560. จาก อ่านออนไลน์


Daihatsu Midget. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2560 จาก อ่านออนไลน์


Lisa Lim. (2017). How the term ‘tuk-tuk’ has travelled the world. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2560. จาก อ่านออนไลน์


Mr.D. (2557). Tuk-Tuk, the signature transportation of Thailand. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 จาก อ่านออนไลน์


Tukxi History of Piaggio Ape. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2560 จาก อ่านออนไลน์

 

 

Webmaster. (2559). Tuk-Tuk Rush [เกมส์มือถือคนไทย] สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2560 จาก อ่านออนไลน์


สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์. คุณเชด ต่ายกระโทก. เจ้าของหจก.ตุ๊กตุ๊ก 1999 วันที่ 19 ธันวาคม 2560

 


Museum Siam Knowledge Center

in Very Thai: everyday popular culture /Philip Cornwel-Smith ; photographs: John Goss & Philip Cornwel-Smith.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#Museum's Core, #Museumscore, #Raw Materials  

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ