“...ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า...ก๋วยเตี๋ยวจ้า...ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย...ของไทยใช้พืชผล เกิดในไทยรัฐทั้งสิ้น...ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป...ช่วยซื้อขายกันให้มั่งมี เพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป…”
เนื้อเพลง “ก๋วยเตี๋ยว” ที่แต่งขึ้นในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามนโยบายรัฐนิยม รณรงค์ให้คนไทยหันมากินก๋วยเตี๋ยวที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบที่ซื้อหาจากคนไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักอย่างถั่วงอก พืชเศรษฐกิจที่รัฐส่งเสริมให้ปลูก ณ ขณะนั้น รวมไปถึงเนื้อหมู ที่แต่เดิมรัฐตั้งใจเพียงส่งเสริมเพื่อให้บริโภคกันเองแต่ในครอบครัว แต่เมื่อผักและเนื้อเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้น จึงจำเป็นต้องหาวิธีจัดการด้วยการนำมาประกอบอาหาร พร้อมออกประกาศให้ราษฎรหันมาบริโภค ทั้งในแบบทางการผ่านประกาศแนบท้ายไปจนถึงโฆษณาผ่านเพลง
ประจักษ์พยานความนิยมที่ตกค้างมาจนถึงปัจจุบันนั้นปรากฏในรูปของ “ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว” ชื่อเรียกถนนบางขุนนนท์ ที่ทุก ๆ 500 เมตรจะต้องเจอร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างน้อยหนึ่งร้าน นับรวมจากต้นจรดท้ายถนนรวมไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน ไล่ตั้งแต่ ร้านก๋วยเตี๋ยวตำลึงนายอ้วน ร้านก๋วยเตี๋ยวนายเพ้ง ร้านก๋วยเตี๋ยวนายแกละ ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหลานนายเงี๊ยบ และอีกสารพัดเจ้า ที่เคยพายเรือขายในคลองชักพระ บางขุนนนท์ จำนวนร้านรวงที่มากมายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหากแต่เกี่ยวพันกับประวัติศาตร์การสร้างความเป็น “ไทย” ที่ย้อนไปได้หลายขวบปี
ยุวดี ศิริ นักประวัติศาสตร์ผู้เติบโตท่ามกลางไอร้อนของหม้อก๋วยเตี๋ยวแห่งคลองชักพระ กล่าวไว้ในงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ เรื่อง “มองประวัติศาสตร์สังคมบางขุนนนท์ผ่านถนนและคลอง” ว่าจำนวนร้านก๋วยเตี๋ยวที่มากมายเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เอื้อให้คนในย่านนั้นหันมาขายก๋วยเตี๋ยว แทบทั้งหมดเป็นลูกหลานของคนจีนที่อพยพเข้ามาราว สมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งธนบุรี ก่อนจะถูกย้ายไปอยู่ย่านสำเพ็ง
ยุวดีตั้งข้อสังเกตภายในงานว่า เดิมทีคนจีนย่านคลองชักพระนั้นยึดอาชีพทำมาค้าขายเป็นหลัก ส่วนใหญ่พายเรือขายของ แต่ที่นิยมสุดคือ พายเรือขายก๋วยเตี๋ยว สาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ
ปัจจัยแรกมาจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายจากในพื้นที่ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าถนนบางขุนนนท์จรดคลองชักพระเป็นที่ตั้งของโรงผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวถึง 2 แห่ง ห่างออกไปบริเวณเชิงสะพานเป็นที่ตั้งของโรงไม้ ขี้เลื่อยถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ไม่ร้อนหรือเบาจนเกินไป ไม่ไกลกันนั้นแถบปากคลองตลาดเป็นที่ตั้งของโรงสีขนาดใหญ่ โรงก๋วยเตี๋ยวใช้ข้าวจากที่นี่นำมาโม่แป้งทำเส้น ซึ่งในยุคนั้นบริเวณตลิ่งชัน บางขุนนนท์ และคลองชักพระ เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของฝั่งธนบุรี ผลิตได้ถึง 11,324 เกวียน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับข้าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
ส่วนเนื้อหมูนำมาจากโรงเลี้ยงที่ติดกับโรงก๋วยเตี๋ยว ขายให้โรงฆ่าสัตว์ในถนนเส้นเดียวกัน แทบจะเรียกได้ว่าวัตถุดิบหลักในชามก๋วยเตี๋ยวนั้นหาได้ในรัศมีไม่กี่กิโลเมตร
สาเหตุหนึ่งที่ฝั่งธนบุรีมีโรงงานหลายประเภทตั้งกระจายอยู่ เป็นเพราะในสมัยนั้นราชการมักไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานในฝั่งพระนคร ฝั่งธนบุรีจึงเป็นที่ตั้งของทั้ง โรงสี โรงฆ่าสัตว์ โรงก๋วยเตี๋ยว และใช้การสัญจรทางน้ำบรรทุกไปขายยังฝั่งพระนคร
ปัจจัยที่สอง อาจเรียกได้ว่าเป็นผลพวงจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่รณรงค์ให้ครัวเรือนไทยหันมาบริโภคก๋วยเตี๋ยว เพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ว่ากันว่าการรณรงค์เข้มข้นจนถึงขั้นทางราชการทำหนังสือแจกจ่ายไปทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ไปจนถึงครูใหญ่ทุกโรงเรียนให้ขายก๋วยเตี๋ยวคนละ 1 หาบ อีกทั้งยังให้กรมประชาสงเคราะห์ทำคู่มือการทำก๋วยเตี๋ยวแจกจ่าย เห็นได้จากปาฐกถาตอนหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485
“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วถึง เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีรส เปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันนึงจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยว 18 ล้านชาม...เงินก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ชาวนา ”
แม้แต่ในวรรณกรรมสี่แผ่นดินก็มีในตอนหนึ่งถึงกับเขียนเอาไว้ว่า ข้าราชการเดี๋ยวนี้หันไปขายก๋วยเตี๋ยวกันหมดเสียแล้ว
ยุวดีวิเคราะห์ว่า ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศนโยบายรัฐนิยมส่งเสริมให้คนไทยหันมาบริโภคก๋วยเตี๋ยว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คนจีนเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในย่านคลองชักพระมากขึ้น หลายคนจึงหันมายึดอาชีพพายเรือขายก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ซึ่งหน้าตาของ ก๋วยเตี๋ยวสมัยก่อน หากเป็นก๋วยเตี๋ยวในย่านคลองชักพระและบางขุนนนท์ หน้าตาไม่ต่างไปจากปัจจุบันมากนัก คือมีเส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก ตำลึง เนื้อ และเครื่องในหมู ซึ่งอย่างหลังเป็นเอกลักษณ์ของก๋วยเตี๋ยวแถบนี้ โดยเฉพาะร้านที่เจ้าของเป็นคนจีน เนื่องจากสมัยก่อนเครื่องในหมูราคาถูก และคนไทยไม่นิยมนำมาประกอบอาหารเนื่องจากต้องล้าง และทำความสะอาดหลายรอบกว่าจะหมดกลิ่นคาว ชาวจีน จึงนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการดัดแปลงใส่ในก๋วยเตี๋ยว ส่วนคนจีนที่ขายก๋วยเตี๋ยวที่รู้จักกันดีในปัจจุบันคือ เจ๊กเปาและลูกชาย หรือ “ก๋วยเตี๋ยวตำลึงนายอ้วน” ย้ายจากพายเรือขายมาตั้งร้านถาวรบริเวณหอพักพยาบาลศิริราช
อย่างไรก็ดี ภายหลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนจากก๋วยเตี๋ยวมาเป็น “ผัดไทย” เหตุเพราะก๋วยเตี๋ยวที่บริโภคกันอยู่นั้นไม่ได้คิดขึ้นโดยคนไทย แลจะออกไปทางจีนเสียมากกว่า จะให้กินก๋วยเตี๋ยวผัดก็กะไรอยู่ เพราะอาหารจีนเองก็มีก๋วยเตี๋ยวผัดของเขาเหมือนกัน ดังนั้นจากก๋วยเตี๋ยวจึงกลายมาเป็น ผัดไทย ที่ยังคงวัตถุดิบหลักคือ เส้นก๋วยเตี๋ยว และถั่วงอก เอาไว้ ปรุงรสเพิ่มน้ำมะขามเปียกและน้ำตาลปี๊ปเข้าไป เพื่อให้ต่างจากก๋วยเตี๋ยวเจ๊กที่แต่เดิมเคยสนับสนุนเมื่อเริ่มนโยบายรัฐนิยม
แม้การสัญจรทางน้ำถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ ร้านก๋วยเตี๋ยวลอยน้ำหลายเจ้าที่เคยพายเรือขายต่างพากันยกเรือขึ้นบกปักหลักตามสองข้างถนนจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิตและเปลี่ยนไปตามวิถีถึงแม้จะหมดยุคของนโยบายรัฐนิยมไปแล้วก็ตาม
รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด
(ล้อมกรอบ) ที่มาของใบตำลึงในก๋วยเตี๋ยว
ยุวดีตั้งข้อสันนิษฐานถึงที่มาของการนำใบตำลึงมาใส่ในก๋วยเตี๋ยวว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ถั่วงอกสำหรับใส่ก๋วยเตี๋ยวนั้นเกิดด้อยคุณภาพ ต้องใช้เวลาเพาะนานเกินปกติ ร้านก๋วยเตี๋ยวจึงเริ่มมองหาผักชนิดอื่นเข้ามาแทนที่ เนื่องจากตำลึงเป็นผักที่หาง่ายและราคาถูกในย่านนั้น เมื่อมีร้านก๋วยเตี๋ยวลองนำมาใช้แทนถั่วงอกลูกค้าก็เกิดติดใจ หลาย ๆ ร้านจึงเริ่มทำตามกันจนเป็นหนึ่งในที่มาของก๋วยเตี๋ยวใบตำลึง
ยุวดี ศิริ. (2558). ถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว: มองประวัติศาสตร์สังคมบางขุนนนท์ผ่านถนนและคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน.
ศรัณย์ ทองปาน และ วิชญดา ทองแดง. (2549). “ชุมทางตลิ่งชัน”, ใน เมืองโบราณ ปีที่ 32 ฉบับที่ 4.
อ่านเพิ่มเติม
ปรัศนีย์ เกศะบุตร. (2554). การรณรงค์เรื่องกินและการประกอบอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวกับนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2485-2487. ใน BU Academic Review ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 หน้า 136-149. อ่านออนไลน์
Museum Siam Knowledge Center
ชุมทางตลิ่งชัน: ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ / วิชญดา ทองแดง และศรันย์ ทองปาน.