Museum Core
“อะเมซิ่งเสี่ยงตาย”
Museum Core
22 มี.ค. 61 1K

ผู้เขียน : ธนัย เจริญกุล

“อะเมซิ่งเสี่ยงตาย” 

 

 

 

ความตื่นตาตื่นใจของประเทศไทยในวันนี้ กำลังคลี่คลายหรือแปรผันไปสู่ “ความเป็นไทย” ที่จับต้องสัมผัส หรือใกล้ชิดได้จริงในชีวิตประจำวันมากขึ้น “ตลาดร่มหุบ” เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ “อะเมซิ่งไทยแลนด์” ในวันนี้

 


หากถามใครสักคนว่า “ตลาดแม่กลอง” อยู่ตรงไหน จะไปทางไหนได้บ้าง บางคนอาจทำหน้างง ๆ แล้วอาจตอบกว้าง ๆ ว่า “ก็ไป จ. สมุทรสงครามไง” แต่ถ้าเปลี่ยนชื่อเป็น “ตลาดร่มหุบ” คำตอบที่ได้คงท่วมท้น

 


“พูดได้คำเดียวว่าที่นี่คือตลาดที่เต็มไปด้วยบรรยากาศน่าตื่นเต้นที่สุดของเมืองไทยและคงไม่มีที่ใดให้ความอะเมซิ่งได้ เหมือนตลาดร่มหุบแห่งนี้อีกแล้ว โดยชื่อตลาดร่มหุบหรือ “ตลาดเสี่ยงตาย” ที่เรียกกันนั้น เกิดจากการที่พ่อค้าแม่ขาย มาตั้งแผงค้าสองข้างทางติดกับทางรถไฟสายแม่กลอง-บ้านแหลม ซึ่งเป็นรถไฟสายสั้นที่วิ่งระหว่างมหาชัย-แม่กลอง”

 


นี่คือบทแนะนำ “ตลาดร่มหุบ” สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของไทย จากเว็บไซต์ Amazing Thailand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมกับข้อมูลประกอบการเดินทางโดยละเอียด

 


“ตลาดร่มหุบ” ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟแม่กลอง “บน” เส้นทางรถไฟสถานีบ้านแหลม-แม่กลอง ระยะเพียง 33 กิโลเมตร เริ่มต้นตั้งตลาดเมื่อราว พ.ศ. 2527 ถูกจัดเข้าทำเนียบแหล่งท่องเที่ยวโดย ททท. ชูความสับสนอลหม่าน ความวุ่นวาย และ “เสี่ยงตาย” ขณะรถไฟแล่นผ่ากลางตลาด (หรือตลาดตั้งคร่อมทับทางรถไฟ) เป็นจุดขายอย่างชัดแจ้ง

 


ในตลาดแห่งนี้ พ่อค้าแม่ขายตั้งวางข้าวของเหมือนตลาดสดทั่วไป โดยสามารถวางขายขนาบประชิดรางทั้งสองด้าน อีกทั้งยังกางร่มหรือผูกผ้าใบบังแดดล้ำเข้าไปในเขตรางรถไฟ ส่วนช่องทางหลักให้ลูกค้าเดินจับจ่าย ก็อยู่บนรางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั่นเอง เมื่อรถไฟแล่นผ่าน พ่อค้าแม่ค้าต่างส่งสัญญาณหรือตะโกนบอกต่อกัน พร้อมทั้งพร้อมใจหุบร่มพรึบพรับ คนที่เดินบนรางก็ต้องหลบออกไปให้พ้น แต่ก็มีบางแผงที่วางกระบะของตนแนบติดกับราง จนบางส่วนของแผงยื่นไปอยู่ใต้ตัวถังโบกี้รถไฟก็มี

 


นี่แหละ... ความน่าตื่นตาตื่นใจ หรืออะเมซิ่งตามตำรับไทยในวันนี้

 


ในยุคที่ตลาดร่มหุบกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อระดับชาติไปแล้ว ย่อมต้องเกิดความชุลมุนวุ่นวายเพิ่มเติมขึ้นมาในวันนี้ นั่นคือ เหล่านักท่องเที่ยวต่างควักกล้องออกมา แย่งกันเก็บภาพ “อันซีนไทยแลนด์” ของตลาดเสี่ยงตายไว้เป็นที่ระลึก

 


เมื่อรถไฟแล่นพ้นไป ทุกอย่างจะกลับคืนสู่ความเป็นตลาด แผงสินค้าที่ถูกยกออกไป จะกลับมาจัดวางอย่างรวดเร็ว ผู้คนกลับมาสัญจรบนรางรถไฟเป็นปกติ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น หากยกหรือลบรางรถไฟออกไป นี่ก็คือตลาดสดที่คนทั่วไปคุ้นชินกัน

 


หากเปรียบเทียบกับกรณีของตลาด หรือแผงค้าขายตามทางเท้าหรือบาทวิถี หากเบียดเสียดแออัด จนไม่เหลือทางให้คนเดินเท้า จนต้องเลี่ยงไปเสี่ยงตายโดยเดินบนพื้นถนน ซึ่งเป็นที่สัญจรของรถยนต์ หรือหากวางของขายล้นเกินจนรุกล้ำถนน ทางการหรือหน่วยงานรับผิดชอบต้องเข้ามา “จัดระเบียบ” เพื่อดูแลไม่ให้เกิดภาวะ “เสี่ยงตาย” จากการโดนรถเฉี่ยวชน

 


แต่สำหรับตลาดเล็ก ๆ แห่งนี้ เรื่อง “เสี่ยงตาย” กลับถูกสงวนรักษา พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุน เพราะนั่นเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ในสายตานักท่องเที่ยว ผู้นำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ

 


“ตลาดร่มหุบจะมีบรรยากาศของความวุ่นวาย 8 ครั้งต่อวันตามเวลาที่ขบวนรถไฟออกจากมหาชัยมาแม่กลอง และจากแม่กลองกลับไปยังมหาชัย กล่าวคือ รถไฟจะผ่านสถานีแม่กลองเวลา 08.30 น. 11.10 น. 14.30 น. 17.40 น. และจะออกจากสถานีแม่กลองเวลา 06.20 น. 09.00 น. 11.30 น. และ 15.30 น.”

 


เว็บไซต์ Amazing Thailand ให้ข้อมูลโดยละเอียด เพื่อการันตีว่านักท่องเที่ยวจะไม่พลาดโอกาสน่าประทับใจกับความเป็นไทยแบบบ้าน ๆ อย่างแน่นอน

 


“ความเป็นไทย” ในอดีต ซึ่งเคยโหมประโคมแต่เรื่องราวและภาพวิจิตรของปราสาทราชวัง ทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงาม รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้านคนชนบทอันน่าหลงใหล ในวันนี้ต้องหันมายอมรับ “ความเป็นไทย” ที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ไร้ระเบียบ ถึงขั้น “เสี่ยงตาย” ของตลาดร่มหุบ จนยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศในที่สุด

 


"ความเป็นไทย" ในแบบสูงส่ง เลอค่า และสง่างาม ที่เพียรพยายามหยิบยื่นให้ "คนอื่น" หวังว่าเขาจะเห็นดีเห็นงามตามเราไปด้วยนั้น กำลังถูกท้าทายจากความนิยมชมชอบความเป็นไทยแบบ "ไทยบ้าน ๆ" มากขึ้นทุกขณะ

 

 

 

ธนัย เจริญกุล

 

 

 

อ่านเพิ่มเติม

 

ชมภูนุช หุ่นนาค. (2558). การศึกษาความเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรสงคราม. ใน วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม. อ่านออนไลน์

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ตลาดร่มหุบ. จาก อ่านออนไลน์

“ตลาดร่มหุบ” ในวันที่ไม่หุบร่ม มนต์เสน่ห์ขาดหาย รอวันกลับมาคึกคักอีกครั้ง!!. (8 มีนาคม 2559). ผูัจัดการออนไลน์. จาก อ่านออนไลน์

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ