ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยหนึ่ง เคยผนวก “อาณาจักรน่านเจ้า” เป็นส่วนหนึ่งของชาติไทยมาแล้ว นัยว่าเป็นอาณาจักรอันเก่าแก่แต่โบราณ และเป็นต้นกำเนิดของ “ประเทศไทย” แม้ในวันนี้จะไม่ปรากฏในตำราเรียนแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าความคิดความเชื่อดังกล่าว ฝังลึกลงในมโนสำนึกของคนไทย ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ยังพอพบเห็นร่องรอยได้ไม่ยากนัก ทั้งที่แนวคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับในทางวิชาการอีกแล้ว
ล้มล้างประวัติศาสตร์ฉบับ “มโน”
ในปัจจุบันนักวิชาการ โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ไม่ยอมรับแนวคิดอาณาจักรน่านเจ้าอีกแล้ว โดยยืนยันด้วยหลักฐานต่าง ๆ จนตกไป
ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป” (Thailand: A Short History) โดย “เดวิด เค วัยอาจ” ระบุชัดว่า ข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับน่านเจ้าที่หลงเหลือในวันนี้ มิได้ชวนให้คิดไปเลยว่าเป็นดินแดนของคนไท-ไต บนที่ราบสูงด้านเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้ปกครองน่านเจ้าองค์แรกคือ “พระเจ้าพีล่อโก๊ะ” (ซึ่งย่อมกลายเป็นกษัตริย์องค์แรกของไทยโดยปริยาย) ผู้รวบรวมแว่นแคว้นน้อยใหญ่รอบทะเลสาบ “ต้าลี่” ในยูนนานตะวันตก 6 แคว้น ได้รับการสถาปนาจากราชสำนักจีนให้เป็น “เจ้าแห่งยูนนาน” สืบทอดตำแหน่งกษัตริย์ทางสายบิดา โดยใช้ระบบนามบุคคลที่นำพยางค์สุดท้ายของพ่อ มาเป็นพยางค์นำหน้าของชื่อตน นั่นคือ พี–ล่อ–โก๊ะ, โก๊ะ–ล่อ–ฝง, ฝง–เจี่ย–อี้, อี้–มู่–ซุ่น ตามลำดับ
ธรรมเนียมตั้งชื่อดังกล่าวเป็นแบบแผนวัฒนธรรมที่พบในหมู่ชนเผ่าโลโล่ (หรือ “ละหุ”) กับชนชาติทิเบต-พม่า ไม่พบในชนเผ่าไท-ไต นอกจากนี้คำศัพท์ภาษาน่านเจ้า ในหนังสือ “หม่านชู” (Man Shu) เขียนโดยข้าราชสำนักจีนราว พ.ศ. 1403 ซึ่งจัดเป็นเอกสารร่วมสมัย ก็เทียบเคียงได้กับภาษาโลโล่ ไม่ใช่ภาษาไท-ไต
อีกทั้งตำนานหรือพงศาวดารของชนเผ่าไท-ไต ก็ไม่ได้เอ่ยถึงอาณาจักรน่านเจ้าหรือเจ้าองค์ใดเลย ประกอบกับพบหลักฐานในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ว่า บรรดาหัวหน้าเผ่าโลโล่ในยูนนานกลาง สืบบรรพบุรุษของตนกลับไปยังราชสำนักน่านเจ้าอีกด้วย
ความเป็นไทยในความทรงจำอันเก่าแก่
“เมดอินไทยแลนด์ แดนดินไทยเรา
เก็บกันจนเก่า เรามีแต่ของดีดี
มาตั้งแต่ก่อนสุโขทัย มาลพบุรี อยุธยา ธนบุรี
ยุคสมัยนี้ เป็น กทม. ...”
เพลงดังจากวงดนตรีเพื่อชีวิตระดับตำนาน “คาราบาว” แฟนเพลงคงยังจำได้ดีว่า นี่คือเนื้อร้องท่อนเปิดของเพลง “เมดอินไทยแลนด์” อันโด่งดังเมื่อ 30 ปีก่อน ได้สะท้อนถึงความทรงจำฝังลึกของคนไทยยุคหนึ่ง เชื่อว่าเรามี “ประเทศไทย” ที่เก่าแก่กว่าอาณาจักรสุโขทัย และมีกษัตริย์ไทยมาก่อนหน้า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” แห่งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งประวัติศาสตร์ฉบับทางการถือว่าปฐมกษัตริย์แห่งสยามประเทศ ขึ้นครองราชย์ราว พ.ศ. 1792 แม้จะไม่ได้ออกเสียงเรียงนามให้ชัดเจน แต่ก็พอจะให้เดาได้ว่า “น่านเจ้า” คืออาณาจักรไทยที่มีมาก่อนสุโขทัย ตามตำราเรียนยุครุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย
ที่น่าสนใจไปกว่าก็คือในยุคข้อมูลข่าวสารที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นห้องสมุดหรือคลังความรู้ขนาดใหญ่ ความคิดความทรงจำเรื่อง “น่านเจ้า” ได้ย้ายจากตำราเรียนที่ยกเลิกไปแล้ว ไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่บนโลกออนไลน์ ลองเสิร์ชหาข้อมูลในหัวข้อ “วิวัฒนาการของละครไทย” ก็ยังพบเจอร่องรอยอันฝังแน่น
ด้วยพลังของระบบการศึกษาของชาติ ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของห้องเรียน ที่สะกดให้เด็กนักเรียนเชื่อโดยสนิทใจ แม้จะมีหลักฐานโต้แย้งคัดค้านในภายหลัง แต่ก็ไม่ทันกับความคิดที่ถูกปลูกฝังไปเสียแล้ว คล้ายกับกรณีใกล้เคียงกันอย่างเรื่อง “คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต” ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนฝังหัวกับความคิดดังกล่าว
ผนวก “น่านเจ้า” เข้าสู่สำนึกคนไทย
ต้นกระแสความคิดเริ่มจากความเชื่อว่า คนไทยอพยพลงใต้มาจากเทือกเขาอัลไตของหมอสอนศาสนา “วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์” (William Clifton Dodd) ซึ่งได้เดินทางสำรวจอาณาบริเวณพื้นที่แถบเชียงรายไปจนถึงจีน พร้อมทั้งเผยแผ่ศาสนาไปด้วย หมอดอดด์ได้เขียนงานชื่อ The Thai Race : The Elder Brother of the Chinese ใน พ.ศ. 2452 ซึ่งมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อแนวคิด “ชาตินิยมไทย” ในกาลต่อมา โดยสรุปว่าคนไทยสืบเชื้อสายจากมองโกล และยังเป็นชาติพันธุ์เก่าแก่กว่าจีนและฮิบรู
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้สานต่อแนวคิดนี้โดยแต่งหนังสือชื่อ “หลักไทย” ย้ำว่า คนไทยกำเนิดมาจากแถบเทือกเขาอัลไต ตามแนวคิดของดอดด์ หนังสือเล่มนี้ยังได้รับพระราชทานรางวัลประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2471
ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเดินหน้าโหมประโคมแนวคิดชาตินิยมอย่างเต็มที่ มือขวาคนสำคัญคือหลวงวิจิตรวาทการ ได้ตีพิมพ์งานเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์สนับสนุนแนวคิด “อาณาจักรน่านเจ้า” ว่าเป็นคนไทย โดยระบุว่า ชนชาติไท-กะได อพยพจากเทือกเขาอัลไต แล้วมาก่อร่างสร้างอาณาจักรน่านเจ้า จากนั้นก็แยกแตกออกมาสร้างล้านนาและสุโขทัย โดยเชื่อว่าคำว่า “ไต” ท้ายคำ “อัลไต” (Altai) หมายถึงชนชาติไท-กะได
และที่สำคัญ “น่านเจ้า” คือหนึ่งในละครเพลงทั้ง 24 เรื่องของหลวงวิจิตรวาทการ หลายเรื่องยังเป็นที่รู้จักและจดจำจนทุกวันนี้ เช่น เลือดสุพรรณ, ศึกถลาง, ราชมนู, เจ้าหญิงแสนหวี เป็นต้น ด้วยความสั่นสะเทือนอารมณ์ในบทละคร ทั้งรักและรบ ตามขนบนิยายโรแมนติก ความรักระหว่างหญิง-ชาย ควบคู่กันไปกับความรักชาติ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความคิดเรื่องน่านเจ้า ยังดำรงอยู่ในชุดความคิดว่าด้วยวิวัฒนาการการละครไทยดังที่ปรากฏ
แนวคิดคนไทยจากเทือกเขาอัลไตรวมทั้งอาณาจักรน่านเจ้า ยิ่งกลายเป็นรูปธรรมจารึกในสำนึก เมื่อถูกบรรจุไว้ในหนังสือแผนที่ภูมิศาสตร์สำหรับชั้นมัธยมปลาย โดย ทองใบ แตงน้อย ซึ่งทรงอิทธิพลและหล่อหลอมความคิดทางชาติพันธุ์ให้กับคนไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก
ในอนาคต ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตามที่ปรากฏในหนังสือเรียนปัจจุบันบางเรื่อง อาจต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกับเรื่อง “น่านเจ้า” หรือ “เทือกเขาอัลไต” ก็ได้ และแม้ว่าความถูกต้องตามหลักวิชา หรือข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลัง ก็คงยากจะลบล้างความเชื่อดังกล่าว เพราะคนไทยยังถูก “โปรแกรม” ความคิดมาอย่างผิด ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าโลกจะก้าวไปไกลแค่ไหน เราจะยังต้องเจอคนที่เชื่อว่า คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต หรือน่านเจ้าเป็นไทย อีกต่อไป
เราจึงควรพัฒนาวิธีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในแบบที่เปิดกว้าง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของข้อเท็จจริงใหม่ ๆ อยู่เสมอ มากกว่าวิธีตอกย้ำให้เชื่อตามตำราหรือครูบาอาจารย์แต่เพียงอย่างเดียว
ธนัย เจริญกุล
ไขความลับสุวรรณภูมิ. / สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. อ่านออนไลน์
ไทยสมัยโบราณ ถิ่นเดิมและน่านเจ้า (ฉบับปรับปรุงและขยาย). / วุฒิชัย มูลศิลป์. อ่านออนไลน์