“คนไทยยังไงก็ได้” “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” “เมืองไทยเมืองพุทธ” “คนไทยนี้รักสงบ” ประโยคคุ้นหูที่กล่าวถึงลักษณะนิสัยแบบ “ไทย ๆ” ที่มักได้ยินอยู่บ่อยครั้งจากคำกล่าวของต่างชาติที่มักมองว่าคนไทยใจดียิ้มง่าย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ที่พวกเขาพบเจออาจตรงกับลักษณะเช่นนั้น ย้อนกลับไปราวทศวรรษที่ 1940 ช่วงสงครามโลกครั้งสอง นักวิชาการจากโลกตะวันตกถูกส่งเข้ามาเพื่อทำความรู้จักกับประเทศทางตะวันออก ภารกิจหนึ่งคือทำความรู้จักนิสัยใจคอของคนในประเทศนั้น ๆ แล้วนำกลับไปให้กับฝ่ายนโยบายระหว่างประเทศเพื่อต่อรองผลประโยชน์(นฤพน ด้วงวิเศษ) ในด้านหนึ่งนั้นสะท้อนว่าต่างชาตินั้นมองบ้านเราต่างออกไปจากที่เรามองตนเองอย่างไร
รูธ เบเนดิกคต์ (Ruth Benedict 1940) นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมเจ้าของแนวคิด บุคลิกทางวัฒนธรรม เขียนหนังสือเรื่อง วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย (thai cultural and behavior) อาศัยข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ ประกอบการสัมภาษณ์ชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ประมวลออกมาเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทย 3 ประการ คือ “ชอบสนุก ใจเย็น เน้นเพศชาย” โดยคุณค่าดังกล่าวนั้นสร้างขึ้นมาจากปฏิบัติการทางพุทธศาสนาและแบบแผนการเรียนรู้ทางสังคมของเด็ก เบเนดิกคต์ ให้เหตุผลว่า ลักษณะการเลี้ยงดูเด็กของชาวไทย ได้สร้างให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นตัวของตัวเองมาก เพราะคนไทยมักจะเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย เด็กต้องช่วยตัวเองแต่เด็ก และการที่คนไทยเป็นคนง่าย ๆ มีมิตรจิตรมิตรใจและไม่เป็นคนชอบสงสัยนั้น เขาวิเคราะห์ว่า ไม่ใช่ได้เกิดจากการเชิดชูคุณค่าการเคารพเรื่องของคนอื่นแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะว่าตอบสนองต่อสภาพทางวัฒนธรรมไปในทำนองนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทำตามท่านไปอย่าได้สงสัยหรือตั้งคำถาม
ชอบสนุก
คนไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด ดูจะไม่ค่อยเข้าทำนองคลองธรรมนักหากพิจารณาตามการตีความของเบเนดิกคต์ เขาว่าคนไทยนั้นรักสนุกมาแต่เดิม ความสนุกของไทยอยู่ที่ “การพนัน” ในทุกรูปแบบ เบเนดิกคต์ อ้างงานของ ปีเตอร์ ทอมป์สัน (Peter Anthony Thompson 1910) เรื่อง สยาม: เรื่องเล่าของดินแดนและผู้คน (Siam: An Account of the Country and the People) ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2453 ราวสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวถึงความรักในการพนันขันต่อของคนไทยว่า ราวกับเป็นนักพนันมาตั้งแต่เกิด ทอมป์สัน กล่าวถึงความไม่สนใจประหยัดเงิน หรืออดออมไว้ใช้ของคนไทยในกรุงเทพฯ ว่า “ทันทีที่ได้รับเงิน ก็จะตรงไปยังบ่อนการพนันที่อยู่ใกล้ที่สุดและเล่นอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเงินหมด ถ้าโชคดีก็อาจมีเงินอยู่ได้ประมาณสักหนึ่งอาทิตย์ หากโชคร้ายก็อาจจะต้องกลับไปทำงานในวันรุ่งขึ้น การพนันเป็นเครื่องหย่อนใจอย่างหนึ่ง และเขาก็ไม่คิดว่าจะได้เงินจากการพนัน” (Thompson: 69)
ความสำราญในการพนันขันต่ออกจากจะเกิดขึ้นกันอย่างจริงจังแล้วในบ่อน เรื่องเล็ก ๆ อย่างการกีฬา คนไทยเราก็สามารถนำมาพนันได้ เป็นต้นอย่างกีฬาว่าว ก็ตั้งโต๊ะพนันวางเดิมพันว่าว่าวของใครจะติดลมบนสายป่านได้นานกว่า หรือการนำแมลงมากัดแข่งกันเพื่อเอาเงินของฝ่ายตรงข้าม เช่น การกัดจิ้งหรีด การกัดแมลงปีกแข็ง การกัดปลา ขณะที่ทางการเองก็ตั้งตัวเป็นเจ้ามือพนันแต่อยู่ในรูปผูกขาดอย่าง การเสี่ยงโชคลอตเตอรี่
นอกจากการพนันขันต่อให้ออกรสออกชาติ การร้องรำทำเพลงระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ยังเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมรักสนุกของคนไทย “การเล่นเพลง” ถือเป็นเครื่องบันเทิงใจสำคัญของวัยผู้ใหญ่ นิยมทำไปพร้อมกับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเก็บเกี่ยว หรือวันหยุดงานที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ โดยจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย ผลัดกันประชันกลอนสดท่อนต่อท่อน ความบันเทิงใจเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายตรงข้ามพยายามใช้สำนวนที่ส่อไปในทางสองแง่สองง่ามเกือบจะหยาบโลน ทอมป์สันวิเคราะห์ว่า คนไทยนั้นยอมรับการหยาบโลนและมีภาษาด่าอย่างถึงพริกถึงขิงและหยาบคายที่เป็นภาษาตลาดโดยเฉพาะ (เบเนดิคต์: 72)
ใจเย็น รักสงบ
ความใจเย็น รักสงบ ไม่ใคร่จะทะเลาะตบตีกัน เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่นักวิชาการตะวันตกระบุไว้ เบเนดิกคต์ อ้างงานของ เลอ เมย์ (Reginald Le May) ที่กล่าวถึงความพิเศษของคนไทยอย่างหนึ่งไว้ในบางช่วงบางตอนของงานเขียนเรื่อง ประวัติศาสตร์ความคิด ในพุทธศิลป์ของสยาม (A Concise History of Buddhist Art in Siam) ถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาต่อนิสัยคนไทยว่า คติของพุทธถือว่าความโกรธเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีชีวิตที่ดี เลอ เมย์ ยกตัวอย่าง คติคำว่า “เย็น” การเป็นคนเย็นนั้นมีความหมายหลัก ๆ อยู่ 2 ประการ
ประการแรก หมายถึงการไม่เป็นวิตกกังวลจนเกินงามเพราะ การเป็นคนร้อน ที่ตระหนกตกใจต่อหลายเรื่องราวรอบตัวนั้นเป็นอุปสรรคของความสงบในชีวิต ส่วนความหมายที่สองหมายถึง การใช้ความเยือกเย็นเข้าต่อรองกับสถานการณ์ต่าง ๆ เลอ เมย์ ตีความว่า การประจบประแจงผู้ใหญ่ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการใช้ความใจเย็นของคนไทย เช่น ในการละเล่นต่าง ๆ การประจบประแจงด้วยการยอมให้เจ้านายหรือคนที่มีตำแหน่งการงานสูงกว่าชนะเพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากความกินแหนงแคลงใจกันหากไม่ยอมอีกฝ่าย
ส่วนเรื่องความรักสงบ เขายกตัวอย่างวิธีคิดเรื่องการทะเลาะวิวาทอย่างใหญ่โตในที่รโหฐาน ก็ไม่ได้เกิดความรุนแรงแต่อย่างใด ระหว่างการวิวาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะผละไปทันทีและหันหลังให้กับเรื่องทั้งหมด ทางที่ดีที่สุดที่จะแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกว่าขาดความสำนึกในเหตุก็คือการยอมจำนนต่อเขา ความโกรธเป็นทางที่เสียเปรียบที่สุดในการเผชิญกับสถานการณ์ที่ยุ่งยาก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนไทยชอบให้อภัย (le may 155)
เน้นเพศชาย
“ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร” คือสุภาษิตที่ เบเนดิกคต์ ยกให้เป็นข้อสรุปที่เด่นชัดที่สุดเกี่ยวกับคติเรื่องชายไทย แปลความได้ว่า ชายเปรียบเสมือนข้าวเปลือกที่สามารถงอกงามขึ้นได้ ส่วนผู้หญิงเปรียบเสมือนข้าวสาร ขัดแล้วใช้เพื่อหุงรับประทานเท่านั้น ส่วนชายสามารถงอกงามเป็นข้าวต้นใหม่ขึ้นได้ เบเนดิกคต์ยกข้อเขียนเรื่องภรรยาประเภทต่าง ๆ ขึ้นมาวิเคราะห์ว่า ภรรยายถูกแบ่งเป็นหลายประเภททั้งที่ดีและไม่ดีสำหรับสามี เช่น ภรรยาที่ดีจะต้องเป็นเสมือน น้องสาว เพื่อน และแม่ คือพูดจาหวานหู ว่านอนสอนง่าย และดูแลปรนนิบัติสามี ส่วนภรรยาที่ไม่ดีนั้นถูกเปรียบเป็นพวกปอกลอก เป็นผู้ร้ายฆ่าคน คือ ชอบควบคุมอำนาจการเงินของสามี ติดการพนัน เที่ยวเล่นนอกบ้าน ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของสามี สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงในสังคมไทย ณ ขณะนั้นอยู่ในสถานะแบบใด
การยอมรับให้มีแต่เพศชายเท่านั้นที่สามารถบวชได้ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยกย่องความเป็เพศชายผ่านพุทธศาสนา การที่ชายมีสิทธิพิเศษครองสมณเพศได้นั้นในทางปฏิบัติยิ่งส่งเสริมให้ชายอยู่เหนือกว่าหญิง มีเพียงชายเท่านั้นที่สามารถบวชสร้างกุศลได้ นอกจากเรื่องการบวช ยังพบคำพังเพยที่กล่าวถึงความไม่ดีของเพศหญิง เช่น อย่าไว้ใจ ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก และ สามวันจากนารีเป็นอื่น
นอกจากงานศึกษา “คนไทย” ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น การกล่าวถึงลัษณะนิสัยของคนไทยจากมุมมองของต่างชาติยังปรากฏขึ้นในบันทึกต่าง ๆ ของพ่อค้า มิชชันนารี ราชทูต จากตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในดินแดนแถบนี้ เช่นบันทึกที่มักได้รับการเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้งคือ จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ลาลูแบร์อาศัยอยู่สยามราว 3 เดือน ในบันทึกของเขากล่าวถึงลักษณะสังคม ประเพณี และความเชื่อของชาวสยามในช่วงเวลาดังกล่าว บันทึกของลาลูแบร์ได้ถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงอยู่หลายครั้งเนื่องจากบันทึกได้ละเอียดและมีภาพประกอบการเล่า
นอกจากนี้การมองคนไทยผ่านสายตาฝรั่ง ที่กล่าวถึงสภาพสังคมและลักษณะของผู้คนนั้นจำเป็นต้องพึงระวังเรื่องทัศนคติของของผู้บันทึก ที่อาจตีความต่างไปจากเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ๆ อีกทั้งข้อค้นพบดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการสร้างข้อสรุปจากเอกสารทางประวัติศาสตร์และการสัมภาษณ์บุคคลเพียงช่วงเวลาหนึ่งจึงไม่อาจเหมารวมได้ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมมีลักษณะเช่นนั้นทุกคน
รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด
รูธ เบเนดิกคต์ .(2522). วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เจ้าพระยา.
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ . (12 กุมภาพันธ์ 2561). Policy Anthropology.
. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2561, จาก อ่านออนไลน์
Museum Siam Knowledge Center
สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย. /ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
(ต่าง) คิดในคอก (ตน) :ว่าด้วยวัฒนธรรมและวิธีคิด. / นิธิ เอียวศรีวงศ์