Museum Core
ถอดรหัสไทยในเครื่องราชอิสริยาภรณ์
Museum Core
17 เม.ย. 61 3K

ผู้เขียน : ภานุพงศ์ สิทธิสาร

ถอดรหัสไทยในเครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

 

 

เรามักคุ้นตากับงานพิธีต่าง ๆ ทั้งที่จัดงานอย่างยิ่งใหญ่และลดหลั่นกันลงมา งานพิธีทั้งหลายย่อมต้องมีผู้ร่วมพิธี ตั้งแต่พระราชวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนตามแต่โอกาสอันเหมาะสม แต่เราเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า บรรดาเหรียญ ดวงตรา หรือสายสะพายมากมายที่ประดับชุดของผู้ร่วมงานจนแน่นขนัดนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร หากดูเพียงผิวเผินก็อาจมองเป็นเครื่องประดับสวยงาม และบ่งบอกฐานะตำแหน่งหน้าที่ของผู้ประดับ จนเป็นความเคยชินในวัฒนธรรมการแต่งกายแบบพิธีการของไทย ซึ่งอันที่จริง อาจไม่ใช่อย่างที่เราคิดก็เป็นได้


สังคมไทยตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ ขุนนาง หรือคนทั่วไป ย่อมต้องมีข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถบ่งบอกฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับแสดงแก่ที่ชุมชนให้ล่วงรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร คำว่าเครื่องยศจึงมีความหมายต่อการชี้ให้เห็นฐานะของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น กษัตริย์จะต้องมีเครื่องทรงที่วิจิตรงดงาม ตั้งแต่เครื่องแต่งกาย เครื่องอุปโภค เครื่องอาวุธ เครื่องสูง และเครื่องพาหนะ ซึ่งล้วนทำจากวัสดุล้ำค่า อาทิ ทองคำ เงิน หรืองาช้าง ดุจเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และผู้มีฐานะมั่งคั่งจะพึงมีใช้ ผิดกันที่วัสดุ และบรรดาศักดิ์ไล่เรียงกันลงมา


อย่างไรก็ตาม เครื่องยศดังที่กล่าวมานั้น มิใช่จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติของสภาพสังคมไทย หากแต่เป็นเพราะการได้ติดต่อกับโลกภายนอก ทั้งจากการค้าขาย การเจริญสัมพันธไมตรี และการสงคราม เครื่องประกอบยศของไทยจึงได้รับความบันดาลใจไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นต้นว่า ลอมพอกหรือหมวกทรงสูงของขุนนางสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับอิทธิพลมาจากชนชาติเปอร์เซีย


ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การติดต่อกับชาติตะวันตกมีเพิ่มมากขึ้น และไม่ใช่เพียงการค้าขายเท่านั้น หากแต่เป็นการเมืองการปกครองที่เริ่มรับเอาธรรมเนียมปฏิบัติจากราชวงศ์ที่สำคัญในทวีปยุโรป มาปรับให้เข้ากับราชวงศ์ไทย เพื่อที่จะได้มีหน้าตาทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ทั้งนี้ การเอาอย่างชาติตะวันตกของชนชั้นผู้นำไทย ไม่ใช่ต้องการเหมือนฝรั่งเฉพาะการแต่งกาย ทว่าการมีอำนาจปกครองเช่นเดียวกับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ และฝรั่งเศสต่างหาก คือเป้าหมายสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนของชาวสยาม


เมื่อ พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯ ให้สร้างดวงตราขึ้นสำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ หรือพระราชาธิบดีต่างประเทศ เรียกว่าเครื่องราชอิสริยยศ และสำหรับขุนนางข้าราชการ เรียกว่าเครื่องสำคัญยศ โดยดวงตราที่สร้างขึ้นนั้น เป็นดาราหรือคล้ายกับวงกลมมีแฉกเหมือนดวงดาว ภายในดวงตรามีรูปช้างไอราพต (ช้างสามเศียร), ช้างเผือก และนพรัตน์ (อัญมณีมีค่าทั้งเก้าสี) ใช้ประดับบนเสื้อในงานพิธีต่าง ๆ ในที่นี้เห็นควรอธิบายไว้ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของดวงตราที่ใช้ประดับเสื้อ เป็นภาพสะท้อนการแต่งกายของชนชั้นผู้นำไทยที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ เดิมทีขุนนางไม่นิยมสวมเสื้อเข้าเฝ้า เพราะเกรงจะพกพาอาวุธเข้ามาลอบทำร้ายกษัตริย์ การหันมาสวมเสื้อผ้าอย่างตะวันตกและประดับดวงตราเพื่อบ่งบอกฐานะ และตำแหน่งหน้าที่จึงเป็นการแปรเปลี่ยนทางธรรมเนียมปฏิบัติของขุนนางข้าราชการ ดังจะชัดเจนยิ่งขึ้นในสมัยต่อมา


วิชามุทราศาสตร์ (Heraldry) หรือการเขียนดวงตราจากองค์ประกอบต่าง ๆ ขึ้นใช้แทนตัวเจ้าของดวงตรา หรือตราประจำตระกูลนั้น เริ่มแพร่หลายในยุโรปอย่างเป็นวิชาการ ด้วยมีการศึกษา จดบันทึก และถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ศาสตร์ว่าด้วยเรื่องดวงตรามีความสำคัญยิ่งต่อการจัดระเบียบสังคมของยุโรปมาตั้งแต่ยุคกลาง ด้วยเหตุที่ดวงตราจะประกอบหรือผูกขึ้นจากพื้นเพทางสังคมของผู้ที่ใช้ดวงตรา เช่น กษัตริย์องค์หนึ่งอาจเคยมีต้นตระกูลเป็นพรานล่าสัตว์ ก่อนจะก้าวขึ้นมาทำอาชีพอัศวิน และเป็นกษัตริย์ในที่สุด ดวงตราที่ถูกผูกขึ้นจึงมีสัญลักษณ์ตัวแทนพื้นเพของกษัตริย์พระองค์นั้น อาทิ กวางแทนสัญลักษณ์นายพราน หมวกหรือโล่แทนสัญลักษณ์อัศวิน มังกรแทนสัญลักษณ์ผู้พิชิต เป็นต้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ก็ได้นำสัตว์พื้นถิ่น หรือสัตว์ในเทวตำนาน อย่างช้างเผือก, ช้างสามเศียร, สิงห์, หรือคชสีห์ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการผูกตรา


ช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ดังจะเห็นได้จากการค้นหาช้างคู่พระบารมีกษัตริย์ (ช้างเผือก) จนถึงขั้นต้องรบราทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงช้างเผือกมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีช้างสามเศียร (ไอราพต หรือเอราวัณ) สัตว์พาหนะของพระอินทร์ ซึ่งสอดคล้องกับคติสมมติเทพ ที่เปรียบกษัตริย์เป็นดั่งพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้ ช้างจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญสำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์ในดวงตราเครื่องราชอิสริยศ/เครื่องสำคัญยศ


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยยศ/เครื่องสำคัญยศขึ้นตามแบบแผนตะวันตกอย่างเป็นระบบ คือมีการแบ่งชั้นดวงตรา ดวงตราประดับแพรแถบ และดวงตราประดับสายสะพาย ซึ่งล้วนถ่ายเทแบบอย่างมาจากเหรียญตราของชาติยุโรปที่ถวายเข้ามาแก่พระเจ้ากรุงสยามทั้งสิ้น ครั้น พ.ศ. 2432 จึงเปลี่ยนมาเรียกว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีทั้ง ช้างเผือก จุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล และเหรียญบำเหน็จในราชการ เป็นต้น


ด้วยเหตุดังกล่าวมา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยสำหรับพระราชทานประดับชุดในการพิธีต่าง ๆ จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยปราศจากที่มาที่ไป หากเป็นการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ สอดแทรก และนำเสนอความคิดแบบไทย ๆ เข้าไปในสิ่งของที่เป็นสากล ไม่ต่างจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ที่นำดวงตรามาใช้อย่างแพร่หลาย ผ่านกระบวนการปรับปรุงให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะหรือลักษณะร่วมกันของชาติแต่ละชาติ ซึ่งถูกกำกับโดยมาตรฐานตะวันตกอีกทีหนึ่ง

 

 


ภานุพงศ์ สิทธิสาร

 

 

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

 


คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. (2544). ฝรั่งศักดินา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า.


เรวัตร หินอ่อน. (2557). การใช้ตราราชการไทย พ.ศ.2394 – 2482. ปริญญานิพนธ์ ศศ. ม. (ประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ถ่ายสำเนา.


วิทย์ พิณคันเงิน. (2551). เครื่องราชภัณฑ์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.


สวัสดิการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ประมวลกฎหมายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย. (2550). กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.


สุจิตรา มาถาวร. (2541). เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย. กรุงเทพฯ: เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย.

 

Museum Siam Knowledge Center


ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฯ ภาค 2. / สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ