Museum Core
เมื่อนักเรียนประวัติศาสตร์กระโดดข้ามกำแพง ตอน...เรียนไป เที่ยวไป
Museum Core
23 เม.ย. 61 1K

ผู้เขียน : ชลลดา กองทองนอก

เมื่อนักเรียนประวัติศาสตร์กระโดดข้ามกำแพง ตอน...เรียนไป เที่ยวไป

 

 

 

ผู้เขียนเคยคิดว่าการเรียนประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ใครก็เรียนได้ คงไม่ยากเหมือนกับวิชาอื่น และถึงแม้จะบอกว่ามันเป็นวิชาที่ไม่ยากแต่ในใจก็คิดว่าต้องน่าเบื่อแน่นอน เพราะใคร ๆ ก็มักบอกเช่นนั้น พอได้เข้ามาสัมผัสก็รู้สึกว่าน่าเบื่ออย่างที่คิดจริง ๆ อาจเป็นเพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เลย เวลาเรียนก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เลยใช้วิธีเรียนแบบท่องจำ ต่อมาเริ่มไม่ไหว เนื้อหาเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จนจำไม่หวาดไม่ไหว ด้วยความที่ต้องอ่านหนังสือวันละหลาย ๆ เล่ม ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือ บางเล่มไม่มีแม้แต่รูปภาพยิ่งชวนให้น่าเบื่อยิ่งขึ้น การท่องจำอย่างเดียวมันไม่พอ แต่ต้องเข้าใจและคิดวิเคราะห์ให้ได้


จนกระทั่งมีโอกาสเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดูพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยต่าง ๆ การดูองค์ประกอบของเจดีย์ การดูองค์ประกอบของการประดับตกแต่งอุโบสถ วิชานี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนุกกับการเรียนประวัติศาสตร์ ทำให้เข้าใจเนื้อหามากขึ้น อาจเป็นเพราะหนังสือเรียนมีรูปภาพประกอบพร้อมอธิบาย เวลาที่ลืมเนื้อหาก็จะนึกถึงภาพที่เห็นว่ามันอธิบายเกี่ยวกับอะไร เมื่อเข้าใจ ทำให้เรียนรู้เรื่องมากขึ้น เรียนอย่างสนุกและไม่รู้สึกว่าน่าเบื่ออีกต่อไป


สำหรับผู้เขียนแล้วการเรียนนอกห้องเรียน ถือเป็นการเรียนที่เพลิดเพลิน เพราะได้เที่ยวไปในตัว โดยอยากยกประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง ก็คือการไปวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จ. พิษณุโลก หรือ “วัดใหญ่” อาจารย์ชี้ชวนให้ดูบริเวณหน้าพระอุโบสถและอธิบายให้เห็นว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง เมื่อตามองเห็นยอดแหลมบนจุดสูงสุดเหนือหน้าบันดูคล้ายนก นั่นคือ “ช่อฟ้า” เป็นสัญลักษณ์แทนพญาครุฑ ส่วนที่เห็นเป็นครีบแหลมคล้ายปลายมีดเรียงรายตามหน้าจั่วทั้งสองด้านเรียกว่า “ใบระกา” ไล่เรียงลงมาจนสุดกรอบด้านล่างของหน้าบัน และมีส่วนที่โค้งขึ้นคล้ายกับลักษณะอาการสะดุ้งของพญานาคแทรกอยู่เรียกว่า “นาคสะดุ้ง” ปลายสุดของทั้งสองด้านนี้ที่มองเห็นเป็นหัวพญานาคเรียกว่า “หางหงส์” และเมื่อมองในภาพรวมทั้งช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และหางหงส์ เป็นการนำเสนอคติ “ครุฑยุดนาค” คติของพราหมณ์-ฮินดูนั่นเอง


พอเดินเข้ามาทางด้านหน้าของวัดใหญ่ก็อดที่จะหยุดชมกับความสวยงามของสถาปัตยกรรมของพระวิหาร ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราช ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ผลจากการที่ได้ร่ำเรียนมาก็บอกได้ว่าพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อขึ้นด้วยสัมฤทธิ์ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) มีเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ


พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นปางที่สร้างจากพุทธประวัติเมื่อคราวพระพุทธเจ้าชนะพญามาร มีเรื่องเล่าว่าหากเด็กคนไหนที่ไม่แข็งแรง ถ้านำมาฝากเป็นลูกหลวงพ่อใหญ่แล้วจะไม่เจ็บป่วยง่าย และการได้มากราบพระพุทธชินราชจะช่วยรักษาโรคภัย ร่างกายแข็งแรงและยังมีอานิสงส์ให้ชีวิตรุ่งเรือง มีโชคลาภอีกด้วย


หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็นบานประตูของพระวิหารที่ประดับมุกอย่างสวยงาม ประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สองข้างเป็นลายกนก ช่วงกลางอกเลามีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียกว่า นมอกเลา เป็นรูปบุษบก ถือเป็นงานปราณีตศิลป์ชั้นสูงโดยใช้มุกจากเปลือกหอยทะเล เช่น หอยอูด หอยนมสาว แล้วนำมาเจียระไนเป็นชิ้นเล็ก ๆ จนเกิดประกายแวววาวและติดลงบนรัก และยังมีลายกนก ภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรี และสัตว์อื่น ๆ ประตูประดับมุกนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ


ด้านหน้าพระวิหารใหญ่พระพุทธชินราชนั้น มีพระวิหารหลังเล็กอีกหลังหนึ่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ จนบางคนเข้าใจผิดว่าเป็นศาลพระภูมิ แต่แท้จริงแล้วพระวิหารหลังน้อยนั้นคือพระวิหารพระเหลือ ด้วยความสงสัยจึงไปสอบถามผู้ใหญ่แถวนั้น จนได้ความว่าเมื่อครั้งที่หล่อพระพุทธรูปสำคัญทั้งสามองค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ยังเหลือสัมฤทธิ์อยู่ พญาลิไทจึงรับสั่งให้ช่างนำเศษสัมฤทธิ์นั้นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยอีกองค์หนึ่ง จึงได้ชื่อว่าพระเหลือ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามให้ว่า พระเสสันตปฏิมากร


จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการเรียนไปเที่ยวไปตามสไตล์เด็กประวัติศาสตร์นั้น นอกจากจะได้ความรู้ใหม่ที่นอกเหนือจากในตำรา ยังจะได้เพลิดเพลินไปกับความสวยงามของสถานที่ สถาปัตยกรรม ที่สอดแทรกไว้ด้วยสัญลักษณ์ ความหมาย เรื่องราวต่าง ๆ ที่สำคัญได้รับความรู้ที่เป็นประสบการณ์ตรงที่หนังสือหรือตำราเล่มใด ๆ ก็ให้ไม่ได้ ผู้เขียนหวังว่าแนวคิดที่ว่าการเรียนไปเที่ยวไปจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงประวัติศาสตร์ได้ง่ายและสนุกมากยิ่งขึ้น

 

 

ชลลดา กองทองนอก (นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร)

 

 “ยังมีอะไรอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ เพราะทุกสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราล้วนแล้วแต่สอดแทรกด้วยสัญลักษณ์และมีเรื่องราวบางอย่างซ่อนอยู่ บางคนอาจจะมองแค่ผ่านตา พอรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรแล้วก็ผ่านไป แต่ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์เราควรมองให้ลึกขึ้น”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Museum Siam Knowledge Center

 


อภิธานศัพท์ช่างสถาปัตยกรรมไทย. / สมคิด จิระทัศนกุล

สาระน่ารู้ในศิลปะไทย. / วิบูลย์ ลี้สุวรรณ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ