ก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะเข้ามาศึกษาต่อในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ผู้เขียนคิดว่าไม่ว่าใครต่างก็สามารถเข้าถึงประวัติศาสตร์ได้ แต่เมื่อได้มาสัมผัสกับตัวเองผ่านการเรียนอย่างจริงจังกลับพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำความเข้าใจเนื้อหาของหนังสือแต่ละเล่ม และกลั่นกรองออกมาเพียงเพื่อการหาคำตอบ 10 บรรทัดในแต่ละวิชา โดยไม่ได้อยากศึกษาต่อในเรื่องราวที่จบจากบทเรียนแต่อย่างใด
จุดเปลี่ยนของผู้เขียนคือวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สอนในการประยุกต์ใช้การศึกษาประวัติศาสตร์จากนอกห้องเรียนมาปรับใช้ให้ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตของผู้คน ในตอนแรกก็ยังแปลกใจว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวของชีวิตคน สามารถทำได้จริงหรือไม่ หรือจะสามารถต่อยอดไปยังเนื้อหาของบริบทนั้น ๆ ได้อย่างไร เนื่องจากเป็นการศึกษาที่ต่างไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่เคยเรียนมาแต่เดิม ที่เน้นตำราและการอ้างอิงความจริงจากหลักฐาน ในขณะที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นศึกษาประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่าของผู้คนที่ไม่มีบทบาท อีกทั้งยังยึดเพียงประสบการณ์จากผู้เล่าเป็นหลัก
ผู้เขียนได้มีการลงพื้นที่สัมภาษณ์งานวิจัยเกี่ยวกับผ้าทอในจังหวัดอุทัยธานี สัมภาษณ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่รวมไปถึงความเป็นมาของการทอผ้า และนั่นได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการอยากค้นหาคำตอบจากเรื่องราวของชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการหรือเคยศึกษาประวัติศาสตร์มาก่อน การเล่าเรื่องที่ธรรมดาของชาวบ้านในอายุ 70 – 80 ปี ใครจะรู้ว่ามีประเด็นเนื้อหามากมายของประวัติศาสตร์ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนุกและอยากค้นหาเรื่องราวต่าง ๆ ในตำรามากขึ้น เราเริ่มต้นที่สนใจการสนทนาเรื่องราวในอดีตของป้าจำปีที่นอกเหนือจากอาชีพการทอผ้า การที่ป้าเล่าชีวิตเรื่องราวของตัวเองในวัยเด็กจนมาสู่อาชีพทอผ้าได้ ในบริบทเหล่านั้นถ้ามองแยกจากเรื่องผ้าทอแล้วจะเห็นได้ว่าทุก ๆ เรื่องราว แล้วกลับมองว่าถ้าเราไม่มีหลักการในการฟัง พูด คิดประเด็นตามเรื่องราวที่ได้ยิน มองเรื่องราวนั้นให้เป็นประวัติศาสตร์มากขึ้น เนื้อหาเรื่องราวจะสนุกและน่าค้นหา เพราะการทำวิจัยใคร ๆ ก็ว่ายาก ทว่าหากลองเปลี่ยนมุมมอง ลองมองหาความสนุกจากเรื่องเล่าในงานวิจัยที่ทำก็ได้ทำให้งานที่ว่ายากกลับสนุกขึ้นอีกมาก
ป้าจำปี ธรรมศิริ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ไท – ลาว จังหวัดอุทัยธานี จากการลงพื้นเก็บข้อมูลสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตของป้าจำปี ป้าจำปีเริ่มทอผ้าแบบโบราณ เมื่อ พ.ศ. 2509 ได้เรียนรู้จากย่าป๊อก (แม่สามี) จนถึง พ.ศ. 2514 ก็เริ่มทอผ้าแบบโบราณขาย ผ้าชิ้นแรกที่ทอขายเป็นผ้าตีนซิ่น คู่ละ 12 ถึง 15 บาทในสมัยนั้น ป้าจำปีเล่าว่า “อายุสิบกว่าปีก็ทำแล้ว ทอตั้งแต่มือยังไม่ถึงหัวกี่เลย ตอนนั้นทอเป็นผ้าธรรมดา ทอเป็นผ้าซิ่นคั่นให้แม่ ผ้าคั่นโบราณจะใช้เป็นผ้าถุง สมัยก่อนป้าเป็นคนยากจนทำเป็นเพราะความลำบาก ต้องปั่นฝ้าย ดีดฝ้าย อิ้วฝ้ายเอง ให้แม่ไปทำไร่กับพ่อส่วนเราก็เลี้ยงน้องและทอผ้าไปด้วย เศรษฐกิจก็ไม่เติบโตมากนักจึงทำให้ป้าต้องเรียนรู้งานฝีมือจากแม่ เพื่อเป็นอาชีพติดตัวใช้เลี้ยงตัวเองในอนาคตเพราะการศึกษาในสมัยป้าก็มีให้เรียนน้อย”
จากที่ป้าจำปีเล่า ผู้เขียนมองว่าจุดเริ่มต้นของการทอผ้าอาจจะเป็นเพราะชีวิตครอบครัวที่เมื่อก่อนมีฐานะยากจน ต้องทำมาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยในวัยเด็กซึ่งในปัจจุบันเด็กอายุแบบป้าสมัยก่อนต้องเรียนหนังสือ เรียนพิเศษเพื่อเอาความรู้มาเลี้ยงตัวเองในอนาคต ทำให้ผู้เขียนเริ่มสนใจและสนุกในเรื่องราวชีวิตของป้าจำปีนอกเหนือจากเนื้อหาของงานวิจัยที่ต้องทำและมีความใฝ่ที่จะอยากรู้เรื่องราวในอดีตมากขึ้น ผู้เขียนจึงตั้งคำถามจากเรื่องราวในอดีตของป้าและหาคำตอบหรือต่อยอดกับประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนของเรามีความสนุกมากขึ้นจากแค่มาเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่ต้องการเพียงเท่านั้น
เรื่องเล่าของป้าจำปีนั้นไม่ได้มีลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ชัดเจนเท่าใดนัก แต่โดยไม่รู้ตัว ผู้เขียนใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เข้ามาจับกับเรื่อเล่าของป้าจำปีได้เองผ่าน Timeline ของประวัติศาสตร์ สามารถเรียงลำดับเหตุการณ์จากเรื่องเล่าได้ และหลังจากนั้นจึงจะนำไปทำการศึกษาต่อยอดในตำราที่มีหลักฐานอ้างอิงได้โดยสมบูรณ์
ณ ตอนนี้ ปัญหาเรื่องการเรียนประวัติศาสตร์ของผู้เขียนได้ถูกแก้ไขลงไปบ้างผ่านการเรียนนอกห้องเรียน ค้นพบว่าแม้กระทั่งเรื่องเล่าของคนใกล้ตัวอย่างยายของผู้เขียนเองก็ทำให้อยากรู้อยากมองประวัติศาสตร์ผ่านเหตุการณ์เรื่องเล่าของยายได้ ผู้เขียนชอบมองเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีตที่เป็นวิถีชีวิตการเป็นอยู่ว่าแต่ก่อนมีการเป็นอยู่อย่างไรจึงชอบตอนที่ยายเล่าว่า “ในสมัยนั้นการเดินทางไปไหนมาไหนต้องเดินเท่านั้น ถนนหนทางไม่ได้ดีเหมือนตอนนี้ แต่ก่อนจะเข้าไปในตัวเมืองต้องเดินหลายกิโลกว่าจะถึง สมัยนี้อะไร ๆ ก็สะดวกสบายไปหมด สมัยยายมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก กว่าจะได้เงินแต่ละบาทต้องเลี้ยงควายไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วย ยายจบแค่ ป. 4 แล้วทำงานเลยไม่ได้เรียนต่อส่วนใหญ่บ้านที่ฐานะไม่ร่ำรวยก็จะให้ลูกเรียนแค่นี้ เขามองไม่เห็นอนาคตของการศึกษาที่สำคัญ ยายแต่งงานอายุ 24 ปี มีลูกหลายคนเพราะตอนนั้นไม่มียาคุมกำเนิดเมื่อเกิดมาก็ต้องเลี้ยงกันไป กว่าจะผ่านมาจนอายุขนาดนี้ก็ลำบากมามากเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยนิ่ง ต้องเลี้ยงดูลูกไปด้วย ทำงานไปด้วย ช่วงยายอายุ 45 ปี บ้านเมืองวุ่นวายมีการชุมนุมประท้วงกัน เขาว่ากันว่ามีคนไปชุมนุมเป็นแสน ๆ คน เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 คนแถวบ้านก็มีไปร่วมกับเขา แต่ยายไม่ได้ไปหรอกมีลูกเยอะไม่ค่อยรู้การเมืองขนาดนั้น เราอยู่บ้านนอกไม่ค่อยรู้เรื่องราวกับเขามากฟัง ๆ กันมาอีกที”
จะเห็นได้ว่า เพียงนำเรื่องเล่าของยายมามองตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ เราสามารถมองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จากเรื่องเล่าของหญิงชราอายุ 70 ปี ทุกเหตุการณ์ในทุกเรื่องราวล้วนมีประวัติศาสตร์ หลายคนอาจมองว่ายากและน่าเบื่อลองเริ่มจากจุดเล็ก ๆ จากคนรอบตัว สิ่งที่สนใจและอยากรู้ ผ่านเรื่องราวเหตุการณ์การสนทนากับบุคคลที่อาจจะอยู่ในเหตุการณ์หรือมีเรื่องเล่าให้เราได้สามารถหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงจากตำราต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างสนุกและมีความสุขกับการศึกษาประวัติศาสตร์เหมือนกับผู้เขียนที่ชอบสนทนาเรื่องราวในอดีตกับคนรอบตัวเพราะมันทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์สนุกและได้มีข้อถกเถียงกันในวงสนทนาว่าเหตุการณ์หรือประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเล่ามีหลักฐานที่ถูกบันทึกไว้อย่างน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร
สุพรรษา คงรอด (นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร)
“คำบอกเล่าของคนทั่วไป หลายคนอาจมองว่าเล่าแล้วก็ผ่านเลย แต่สำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์ มองว่ามีประวัติศาสตร์มากมายให้ค้นหา เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็มีประวัติศาสตร์เป็นความทรงจำของตน”
สัมภาษณ์
นางจำปี ธรรฒศิริ ชาวบ้าน: ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
นางหลง มวลชู ชาวบ้าน: ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร