ทีวีกลายเป็นสิ่งที่มีทุกบ้าน นับตั้งแต่เริ่มแพร่ภาพออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ในปีนั้นมีเครื่องโทรทัศน์รับสัญญาณเพียง 1,000 เครื่อง ตามนโยบายของรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม มันจึงเป็นเครื่องมือที่โลกภายนอกบ้านจะสามารถเข้ามามีอิทธิพลทะลุทะลวงเข้ามาสู่พื้นที่ส่วนตัวอย่างในบ้าน ไม่ว่าจะโต๊ะกินข้าว ห้องรับแขก ห้องนอน ทัศนคติและโลกทัศน์ต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาในบ้านผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ทีวี”
ไม่ใช่แต่ละคร การ์ตูน รายการเพลง รายการผี มิวสิควิดีโอ โฆษณาสินค้า ข่าว เกมโชว์ รายการพิเศษถ่ายทอดสด ก็ต่างทำหน้าที่หล่อหลอมเราไปทุกขณะจิต อย่างที่เราไม่รู้ตัว
แม้ว่าเพศวิถีรักเพศเดียวกันจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมายอีกต่อไปเมื่อรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงครามอีกนั่นแหละสั่งให้ยกเลิกไปในพ.ศ. 2499 (ที่ถูกบัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2442 เนื่องจากสยามเป็นประเทศกึ่งอาณานิคมภายใต้อิทธิพลจักรวรรดินิยมอังกฤษ จึงต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ทัดเทียมตะวันตก) อย่างไรก็ตามการรักเพศเดียวกันก็ยังคงถูกอธิบายให้เป็นภัยต่อความอยู่ดีกินดีความปลอดภัยและสาธารณสุขของประชากร ที่ต้องป้องกัน เฝ้าระวัง สอดส่องควบคุมพฤติกรรม จนออกเป็นคู่มือโดยแพทย์ เช่น หนังสือ “เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเกย์” ของ พญ. ลลิตา ธีระสิริ (2530) ซึ่งมีคำโปรยหน้าปกว่า “รอช้าอาจสายเกินแก้”
คู่มือเช่นนี้ ประเวศ วะสี ก็ได้เขียนคำนำให้ ซึ่งเผยให้เห็นทัศนคติที่เป็นไปในทางลบ โดยมองว่าเกย์ไม่เพียงเป็นปัญหาของการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ยัง “...เป็นสังคมเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน ในครั้งโบราณปรากฏการณ์ของการเป็นเกย์อาจมีไม่มากและเกย์เป็นฝ่ายได้รับทุกข์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ในปัจจุบันมีการระบาดของการเป็นเกย์ เพราะมีจำนวนมากอย่างน่าตกใจ และเกย์เป็นชนวนของโรคเอดส์อันเป็นโรคร้ายแรงที่กำลังระบาดลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ แก่มนุษยชาติ อย่างร้ายแรง”
กะเทยและเพศวิถีรักเพศเดียวกันยังถูกปราบปรามบนหน้าจอทีวีโดยหน่วยงานรัฐ เนื่องจากเชื่อว่ามีอิทธิพลทำให้เยาวชนลอกเลียนแบบได้ การแสดงความรักระหว่างเพศเดียวกันถูกเซนเซอร์ และขจัดออกไปจากหน้าจอโทรทัศน์ในทศวรรษ 2530 ในฐานะ “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” ความสุขเล็ก ๆ ที่เกย์กะเทยพอจะเสพได้จึงมีแต่เพียง “เซเลอร์มูน” ช่อง 9 การ์ตูนตอนเช้าวันหยุด กับ “ดาวล้านดวง” ทุกวันอาทิตย์ทางช่อง 3 ที่นำไปสู่สำนวน “อลังการดาวล้านดวง” ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 มาถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันตัวละครหญิงรักหญิงก็ถูกทำให้คลุมเครือไม่ชัดเจนไม่แสดงออกถึงเพศสภาพเพศวิถี เช่น ตัวละครคุณหญิงศรีกับครูดอรีน ครูฝรั่งที่ถูกจ้างมาสอนภาษา ในละคร “คือหัตถาครองพิภพ” (2538, 2556 – 255, ช่อง 7)
อย่างไรก็ตาม LGBT ก็ยังโลดแล่นบนจอแก้วเรื่อยมาอย่างจำกัดจำเขี่ย เป็นตัวประกอบชวนหัว ไม่ก็ชีวิตน่าเวทนาไปเลย เช่น ละครชีวิตที่เต็มไปด้วยความผิดหวังขมขื่น เพรียกหาความเห็นอกเห็นใจอย่าง “ไม้แปลกป่า” (2544) และ “นางโชว์” (2546) ที่ปล่อยเพลง “เป็นเพราะใคร” ซึ่งตั้งใจเป็นเพลงชาติให้กับหญิงข้ามเพศทั้งเนื้อเพลงท่วงทำนองดนตรีและขับร้องโดย ฉันทนา กิติยพันธ์ Divaขวัญใจชาวเกย์ไทย หรือตลกไปเลยเช่นละครคอมเมดี้ “ชายไม่จริงหญิงแท้” (2554, ช่อง 3) ที่นางเอกปลอมตัวเป็นกะเทยแล้วพระเอกไปหลงรักนางเอกในร่างกะเทย สุดท้ายก็มารู้ว่าเป็นผู้หญิงจริง ๆ และได้ครองรักกันอย่าง happy ending ละครเรื่องนี้ไม่เพียงถูกรีเมค ในพ.ศ. 2560 ทางช่องOne ที่แม้ว่าจะห่างกันเกือบ 2 ทศวรรษแต่ทัศนคติและความเข้าใจต่อหญิงข้ามเพศก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก แต่พล็อตเรื่องเช่นนี้ยังถูกนำเสนอในรูปแบบละคร “แฝดนะยะ” (2553, ช่อง 3) ในขณะที่ละครที่นำเสนอความสัมพันธ์คู่รักเกย์อย่างจริงจังและโรแมนติค “รักแปดพันเก้า” (2547-2548, ช่อง 9) กลับถูกเพ่งเล็งอย่างจริงจังเป็นพิเศษ
หน้าจอทีวีในขณะนั้นกลายเป็นพื้นที่เปิดหน้าประกาศความเกลียดชังต่อความหลากหลายทางเพศแบบไม่อายใคร พ.ศ. 2541 ถือได้ว่าเป็นปีทองของ homophobia แห่งค่ายแกรมมี่ที่ปล่อยเพลงประเภท “ยายตุ๊ดตู่” ของ อ่ำ อัมรินทร์ แต่งเนื้อร้องโดย ชนะ เสวิกุล และเพลง “ประเทือง” ของไท ธนาวุฒิ คำร้องโดย กมลศักดิ์ สุนทานนท์ ซึ่งได้กลายเป็นคำล้อเลียนเย้ยหยันเกย์กะเทยเรื่อยมาข้ามทศวรรษ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ที่วงดนตรีชั้นใต้ดิน Sepia สามารถปล่อยเพลงอย่าง “เกลียดตุ๊ด” และ พ.ศ. 2543 “ประเทศเทย” ที่ตั้งใจดูถูกด่าทอเกย์กะเทยอย่างหยาบคาย
เช่นเดียวกับซิทคอม “เป็นต่อ” (เริ่มต้น 2547, ช่อง 3) ที่ฉายอย่างต่อเนื่องข้ามทศวรรษก็วาดภาพให้กะเทยเป็นตัวละครดูโง่ ๆ หื่นกามบ้าผู้ชาย ทำงานรับใช้รองมือรองเท้า ถูกโขกสับกดขี่ด่าทอและรังแก ท่ามกลางเสียงหัวเราะบทละคร บทสนทนา เหยียดเพศและแสดงท่าทีรังเกียจความหลากหลายทางเพศ
ท่ามกลางความพยายามควบคุมแทรกแซงของรัฐ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมขณะนั้น กล้า สมตระกูล ได้กล่าวว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศคือปัญหาต่อวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม เพราะไม่ใช่ธรรมชาติ และกำลังแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้มาจากอิทธิพลของสื่อที่ยอมรับส่งเสริม โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ที่มีการนำนักแสดงที่มีพฤติกรรม “รักร่วมเพศ” มาแสดง มีมากจนกลายเป็นแฟชั่น สื่อต่าง ๆ ไม่ควรที่จะให้มีการนำเสนอพฤติกรรมแสดงรักร่วมเพศออกอากาศ โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะทำหนังสือไปถึงสถานีทีวีทุกช่อง ให้หยุดเผยแพร่งานดารากะเทย เพื่อขอความร่วมมือต่อต้านไม่ให้นำเสนอพฤติกรรมรักร่วมเพศไปมากกว่านี้
และต่อมา เมื่อรัฐบาลเผด็จการได้มอบมรดกทันทีในปีที่รัฐประหาร พ.ศ. 2549 คือการจัด “ระดับความเหมาะสม” ของรายการทีวีโดยใช้อายุผู้ชมเป็นเงื่อนไข ที่จะต้องแสดงสัญลักษณ์ “ระดับความเหมาะสม” ก่อนออกรายการ และ ระหว่างรายการมีสัญลักษณ์ปรากฏตรงด้านล่างซ้ายของจอ โดยการจัดระเบียบความเหมาะสมของรายการนั้น ความหลากหลายวาไรตี้ที่ถูกฉายออกมาบนจอแก้ว จึงจัดระเบียบไม่ให้เกิดความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศสภาพและเพศวิถี เพศภายในรายการทีวีถูกกำหนดการเข้าถึงตามช่วงวัย ควบคู่ไปกับการเซนเซอร์ที่ยังคงปรากฏสม่ำเสมอ เช่น เมื่อช่อง 7 ได้นำภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” (2550) มาฉาย ในพ.ศ. 2553 กลับตัดฉากจูบระหว่างตัวละครชายซึ่งเป็นฉากสำคัญและ climax ของเรื่องออก
แต่ LGBT ก็ยังอยู่ยั้งยืนยง คู่รักเกย์ยังเป็นคู่รองของเรื่อง “พรุ่งนี้ก็รักเธอ” (2552, ช่อง 5) “เลื่อมพรายลายรัก” (2553, ช่อง 3) ประกอบเรื่องราวของรักต่างเพศ ที่ตัวละครหลักเป็น “พระเอก-นางเอก” ควบคู่ไปกับการโจมตีแสดงความเกลียดชัง LGBT อย่างต่อเนื่อง ผ่านรายการทีวีประเภทต่าง ๆ รายการ “ตีสิบ”(At Ten) โดยวิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ ที่ยังคงนำ LGBT มาเสนอแบบ freak show ให้เป็นตัวประหลาดเป็นภาพเชิงลบ เช่น พ.ศ. 2552 เล่าถึงเกย์หนุ่มที่ถูกแฟนหลอกลวงใน “พิษรักสีม่วง”, กะเทยที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงแล้ว “กลับใจ” เป็นผู้ชาย, ใน พ.ศ. 2554 เรื่องกะเทยประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้ม ฟื้นมาแล้ว “หาย” กลายเป็นชายในปีเดียวกัน, ปีต่อมาก็ยังคงย้ำเรื่องเดิมด้วยเรื่องราวของทอมมอเตอร์ไซค์ล้มหัวกระแทกพื้น เมื่อได้สติก็กลายเป็นว่าเธอเปลี่ยนเพศวิถีเองเป็นหญิงรักชาย ในพ.ศ. 2555 และในปีเดียวกันก็ได้นำเสนอ “เกย์อันตราย” ชายรักชายที่อ้างว่ามั่วเซ็กส์จนมีเชื้อเอดส์และไม่ทราบว่าเคยแพร่เชื้อให้ใครบ้าง
ทั้งนี้เพราะ LGBT ถูกวางอยู่ในสถานะความเบี่ยงเบน ความรันทด เจ็บปวด และสิ่งประหลาดแปลกปลอมในสังคม ทำให้เป็นเพศสภาพเพศวิถีที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือลงโทษทางสังคม เช่น ลูก ๆ ของตัวละครชายหลายใจทำร้ายเมียจนครอบครัวมีปัญหาในเรื่อง “แรงเงา” (2544, ช่อง 3) เนื้อเรื่องไม่เพียงบอกเป็นนัย ๆ ว่า ผลกรรมของเขาทำให้ลูกสาวใจแตก ยังตามสนองให้มีลูกเป็นเกย์ เช่นเดียวกับ “นางบาป” (2548, ช่อง 3) ที่ชายมักมากในกามารมณ์ จนนำพาหายนะมาสู่ครอบครัว และเมื่อเขาผิดสาบานกับเมีย ก็ส่งผลให้ชาติหน้าเกิดมาเป็นเกย์ในฐานะ “ชายไร้คู่” อย่างที่สาบานไว้เมื่อชาติก่อน และเขาก็ยังคงก่อโศกนาฏกรรมรักขึ้นอีกครั้งเพราะเพศวิถีของเขาในชาติใหม่
ในส่วนของเนื้อหา MV ของแต่ละบทเพลงที่นำเสนอผ่านหน้าจอโทรทัศน์ MV มีส่วนทำให้เนื้อหาของเพลงถูกขับให้เห็นภาพความหลากหลายทางเพศในเนื้อหา MV มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็มักเป็นเรื่องของความรักสารพัดมิติทั้ง แอบรัก อกหัก สมหวัง บอกรัก ถูกหักอก หักหลัง ผิดหวัง LGBT ใน MV จึงเป็นในทิศทางของโรแมนติคดราม่า โดยศิลปินรักต่างเพศและรักเพศเดียวกัน เช่น การนำเสนอหญิงรักหญิงในเพลง “เพียงเธอ” ของสุกัญญา มิเกล อัลบั้ม Crossover (2539) ในพ.ศ. 2550 บทเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องใหม่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม”, เพลง “เศษส่วน” (2552) วง Getsunova, เพลง “มีสิทธิ์เจ็บถึงเมื่อไหร่” (In The End) ศิลปิน เฟย์ ฟาง แก้ว (2557), “นักเลงคีย์บอร์ด” (2557) แสตมป์ อภิวัชร์ ft. Takeshi Yokemura From YMCK ที่มิวสิควิดีโอนี้กำกับโดย เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, “ยิ่งรักยิ่งเหงา” (2557) น้ำชา ชีรณัฐ, “ที่เดิมในหัวใจ” (2558) TMT Feat. ตู่ ภพธร, “จูบปาก” (2559) ของ fellow fellow
ขณะเดียวกันก็มี MV ที่เล่าเรื่องราวของความรักชายรักชาย เช่น “ความลับในใจ” (2544) ในวงสิบล้อที่ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ เป็นสมาชิก ที่เล่าถึงแต่ละคนแต่ละเพศวิถีก็มีความลับของแต่ละคน, “บอกให้รู้ว่ารักเธอ” (2550) ของดัง พันกร บุณยะจินดา, เพลง “นาที” (2554) ของ ว่าน ธนกฤษ
มากไปกว่านั้น วงการเพลง ก็ได้เปิดตัว “ซี” ภูวรินทร์ คีแนน นักร้องชายข้ามเพศเสียงดีเป็นศิลปิน สังกัดอาร์เอส ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ทำให้วงการเพลงมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ส่วนวงการเพลงลูกทุ่งเองก็ผลิตเพลงขึ้นมาเพื่อเกย์กะเทยเช่น “น้ำตาสีม่วง” (2548) ที่ยังคงมีมายาคติว่าไม่มีทางพบรักแท้ เป็นกะเทยสายเปย์(บุญทุ่ม) ถูกผู้ชายหลอกลวง ต้องใช้ชีวิตอย่างอดทนขมขื่น ต้องกัดฟันต่อสู้ เมื่อครบทศวรรษบทเพลงนี้ถูกนำมาร้องใหม่อีกครั้ง โดยมนต์สิทธิ์ คำสร้อย โดยใช้ชื่อเพลงว่า “ผิดด้วยหรือ” (2558) ขณะเดียวกันก็มีเพลง “กะเทยประท้วง” (2549) ของปอยฝ้าย มาลัยพร ที่เป็นเพลงเล่าถึงชีวิตเศร้าชาวกะเทยเช่นกันแต่ทำให้เป็นเรื่องตลกสนุกสนาน และเพลง “กะเทยไม่เคยนอกใจ” (2557) โดยศิลปิน วิด ไฮเปอร์ อาร์ สยาม ที่ทำหน้าที่ตอกย้ำผลิตซ้ำมายาคติ อคติทางเพศต่อกะเทย
นี่ยังไม่รวมโฆษณาพานิชย์ต่าง ๆ ที่มีตัวละครเป็นเกย์กะเทยที่ทำให้เกิดวลี “พ่อไม่เข้าใจตุ้ม” หรือ “บอยไม่ดื่มค่ะ” ตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ไปจนถึงโฆษณาที่แสดงความรักผ่านการมอบสตรอเบอร์รี่ระหว่างเด็กผู้ชาย ในโฆษณาร้านไอศกรีม Swensen’s พร้อมกับการถูกแสดงท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ หรือหักมุมให้ตลกขบขันเพียงเพื่อจดจำผลิตภัณฑ์โฆษณาได้
กลายเป็นว่าทีวีได้นำ LGBT มาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมวลชน (pop culture) บนจอแก้ว แต่ไม่ได้ช่วยยกระดับสถานภาพ หรือให้คุณค่าทางสังคมนอกเหนือไปจากตัวตลก เพศสภาพเพศวิถีที่น่ารังเกียจ มากไปกว่านั้น LGBT ที่ปรากฏอยู่ในทีวียังถูกนำมาเป็นเครื่องมือล้อเลียน LGBT บนโลกแห่งความเป็นจริง สร้างมายาคติและภาพตัวแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกย์กะเทยให้เป็นตัวตลก รองมือรองเท้า คุณค่าความเป็นคนต่ำกว่าชายหญิงจนสามารถทำให้เป็นตัวตลกน่าอับอายบนที่สาธารณะได้
โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 ...
ชานันท์ ยอดหงษ์
ชานันท์ ยอดหงษ์. (2555). กว่าจะมาเป็น “ปรีดี เกลียดตุ๊ด”. ใน อ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2555.
ลลิตา ธีระสิริ. (2530). เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเกย์. กรุงเทพฯ: รวมทรรศน์.
อั้ม เนโกะ. (2557) "กะเทยไม่เคยนอกใจ" : มายาคติของความเมตตาในสังคมไทย. ใน มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 1755 (4-10 เม.ย. 2557)
Genders & sexualities in modern Thailand / edited by Peter A. Jackson & Nerida M. Cook.