Museum Core
ความสุขของคนไทย
Museum Core
14 มิ.ย. 61 3K

ผู้เขียน : สามชาย ศรีสันต์

ความสุขของคนไทย

 

 

 

ความสุขในที่นี้หมายถึงความสุขร่วมกันของคนไทย โดยพิจารณาจากอารมณ์ความรู้สึกเป็นสุขซึ่งอยู่ภายในสะท้อนออกมาทางพฤติกรรมที่แสดงออกในทางบวก ในลักษณะชื่นชมยินดี พึงพอใจ ซึ่งเป็นการกระทำรวมหมู่ (collective action) ของคนไทยโดยมุ่งตอบคำถามว่า อะไร และสถานการณ์แบบใดที่สร้างความสุขร่วมกันให้กับคนไทยในปัจจุบัน


ก่อนที่จะกล่าวถึงความสุขของคนไทย เราควรจะทำความรู้จักว่า “ความสุข” คืออะไรก่อน องค์ความรู้ว่าด้วยความสุขที่มีการศึกษากันทั่วโลก สามารถแบ่งจุดสนใจ และมีมุมมองต่อความสุขแตกต่างกันแบ่งได้เป็น 3 แนวทาง คือ 1. ความสุขเป็นกระบวนการภายในของสภาวะจิตใจ 2. ความสุขที่เป็นภาวะยู่ดีมีสุข (well-being) 3. ความสุขที่ได้เข้าถึงธรรม


จะเห็นได้ว่ากระบวนการสร้างความสุขมีความซับซ้อน ที่ไม่ใช่เกิดจากเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างกระบวนการทางจิต การได้รับการตอบสนองความต้องการ ความพึงพอใจในชีวิต หรือการที่ประชาชนได้รับบริการสวัสดิการจากภาครัฐเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับวัฒนธรรม ความเชื่อ ระเบียบปฏิบัติทางสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์ของคน ตลอดจนประสบการณ์ร่วมกันของคนในสังคมด้วย ปรากฏการณ์ของการกระทำร่วมกัน (collective action) ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จึงเป็นสิ่งสะท้อนความสุขร่วมกันของคนไทยที่รวมหลากหลายมิติของมุมมองต่อความสุขเข้าไว้ด้วยกัน


สังคมไทยใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนไทยมีประสบการณ์ความสุขร่วมกันที่สำคัญ และมีผลกระทบในทางบวกเป็นการกระทำร่วมกันอย่างพร้อมเพียงทั่วประเทศ เมื่อประชาชนจำนวนมากพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลือง ประดับธงสัญลักษณ์ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี 2549 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติ เมื่อพระมหากษัตริย์ 25 ประเทศทั่วโลกตอบรับคำเชิญของรัฐบาลไทยมาร่วมพระราชพิธีในเดือนมิถุนายนปีดังกล่าว นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่าง ๆ มากที่สุดในโลก (กรมศิลปากร, 2550 : 157-159)


ในปี 2558 มีเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของชาวไทยเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงมีพระราชปณิธานที่จะจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม ปี 2558 เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ความจงรักภักดี และความสามัคคีของประชาชนชาวไทย ภายใต้ชื่อกิจกรรม “BIKE FOR MOM ปั่นเพื่อแม่” ขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2558 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงจักรยานพระที่นั่งนำขบวนพสกนิกรสวมเสื้อสีฟ้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยาน กิจกรรมดังกล่าว “กินเนสส์บุ๊ก เวิลด์เรคคอร์ด” ได้ให้การรับรองว่ามีประชาชนเข้าร่วมปั่นจักรยานมากที่สุดในโลก คือมีจำนวน 136,411 คน ทำลายสถิติกิจกรรมปั่นจักรยานที่เคยมีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในโลกที่ประเทศใต้หวันเมื่อปี 2554 ที่มีผู้เข้าร่วม 72,919 คน (Swatman, 2015)


ต่อมาในเดือนธันวาคม ปีเดียวกันได้จัดกิจกรรมปั่นจักรยานขึ้นอีกครั้งภายใต้ชื่องาน “ปั่นเพื่อพ่อ” ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากเช่นเดียวกัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตอนปลายปี 2560 “ตูน บอดีแสลม” ได้สร้างผลสะเทือนในทางบวกที่มีต่อความชื่นชมยินดี ภาคภูมิใจในความเสียสละ อุทิศตนทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ ในฐานะ “ฮีโร่คนใหม่ของไทย” ด้วยการวิ่งระยะทาง 2,215 กิโลเมตร ระหว่างอำเภอเบตง- อำเภอแม่สาย ใช้เวลาวิ่ง 55 วัน เริ่มต้นวันที่ 1 พฤศจิกายน สิ้นสุดวันที่ 26 ธันวาคม เพื่อขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายเงินบริจาคไว้ที่ 700 ล้านบาท ได้รับเงินบริจาคจริงทั้งสิ้น 1,401 ล้าน (ก้าวคนละก้าว, 2560)


ประสบการณ์ความสุขร่วมกันนี้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความสุขของคนไทยที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคล ผู้เป็นตัวแทนของการสร้างประโยชน์สุขให้กับส่วนรวมซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับการทำความดีตามคำสอนของพุทธศาสนา และยึดโยงอยู่กับความเป็นไทย (Thainess) อย่างเหนียวแน่น

 

 

วีรบุรุษของไทยผู้เป็นตัวแทนสร้างความสุข


สังคมไทยเป็นสังคมยกย่อง “ฮีโร่” ในสถานการณ์และเวลาที่แตกต่างกันไป จะมีผู้แสดงหลักที่เป็นพระเอกเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถ สติปัญญา เสียสละ เห็นแก่ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ และสำหรับวีรบุรุษของคนไทยในหลาย ๆ กรณีแล้ว ไม่เพียงแต่ความเก่งกาจที่เป็นคุณสมบัติสำคัญนี้จะปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดภายในประเทศแต่มักเป็นที่ประจักษ์ข้ามประเทศด้วย อาทิ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา หรือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงได้รับการยกย่องจากประชาชนว่าเป็นราชาแห่งแผ่นดิน เป็นกษัตริย์ที่เหนือกษัตรย์ทั้งปวง และยิ่งวีรบุรุษเหล่านี้แสดงการกระทำสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นคนดีตามหลักพุทธศาสนา ความรักชาติ และการทำเพื่อคนอื่นโดยเฉพาะเพื่อผู้ที่ด้อยโอกาส เป็นผู้ทุกข์ยากขาดแคลนด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความปิติสุขให้กับคนไทยมากขึ้นเป็นทบทวี

 

 


ความสุขจากการทำความดีตามหลักพุทธศาสนา


ความสุขสูงสุดในทางพุทธศาสนา อยู่เหนือไปจากความสุขทางโลก คือการดับอวิชชา ก่อให้เกิดความรู้อันสูงสุด กล่าวคือหยั่งรู้สัจธรรม ดับกิเลศ กำจัดความชั่วร้ายภายในจิตใจซึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา และสุดท้ายก็จะสามารถดับทุกข์ได้โดยสิ้น เป็นการหมดสิ้นของความทุกข์อย่างถาวรไม่เกิดขึ้นอีก ความสุขในระดับนี้ถือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ที่พึงก้าวไปให้ถึง พุทธศานาแบ่งความสุขออกเป็นขั้น ตั้งแต่ขั้นหยาบคือสุขจากกาม จากการได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไปจนถึงความสุขที่มีความละเอียด หลุดพ้น สงบ ดับอารมณ์ความรู้สึกได้ทั้งหมด คนไทยเชื่อว่าการทำความดี ด้วยการทำบุญเป็นหนทางที่จะนำมาซึ่งความสุข ทั้งความสุขขั้นต้นคือความสุขจากกาม เช่น ความเชื่อที่ว่าหากหญิงต้องการจะให้ชาติหน้าเกิดมาสวยให้ทำบุญด้วยดอกไม้ มีการจัดตกแต่งอย่างประณีตบรรจง การทำบุญยังส่งผลถึงความสุขสูงสุดที่เรียกว่า “บรมสุข” ด้วย ความเชื่อในการทำดีสะสมบุญของคนไทยสะท้อนให้เห็นได้จากดัชนีชี้วัดความใจบุญ (World Giving Index) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกมาโดยตลอด นับแต่ปี 2011 ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 และปี 2017 ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 16 โดยการจัดอันดับนี้มีตัวชี้วัด 3 เรื่อง คือ การบริจาคเงิน การช่วยเหลือคนแปลกหน้า และเวลาที่อุทิศตนทำงานอาสาสมัคร (Charities Aid Foundation, 2017, 8,11,35)

 

 

 


ความอยู่ดีมีสุข (wellbeing)


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สร้างดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุขของคนไทยขึ้น โดยต่อมาเรียกว่า ความอยู่เย็นเป็นสุข เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนา ความอยู่เย็นเป็นสุข หมายถึง “สภาวะที่คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพทั้งจิต กาย ปัญญา ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นองค์รวมและสัมพันธ์กันได้ถูกต้องดีงาม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม” แบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ ได้แก่ การมีสุขภาวะกายและใจ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจเข้มแข็งและเป็นธรรม สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุล สังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559 : 8) ทั้ง 6 องค์ประกอบ คือสภาวะความอยู่ดีมีสุขของคนไทย

 

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากอารมณ์ ความรู้สึกในทางบวกประกอบด้วยแล้ว ความสุขของคนไทยจะเกิดขึ้นเมื่อภาวะความอยู่ดีมีสุขเหล่านี้ได้รับการหยิบยื่นให้จากบุคคลที่คนไทยเคารพยกย่อง เป็นฮีโร่ หรือเป็นวีรบุรุษ มากกว่าที่จะได้มาโดยเสมอหน้าตามระบบสวัสดิการของรัฐปกติ ซึ่งเกี่ยวพันใกล้ชิดกับคติความเชื่อของไทย ในการเคารพผู้อาวุโส “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” การเป็นไพร่สังกัดมูลนาย เป็นศิษย์มีครู คติความเชื่อเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความสุขกับการได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีอำนาจบารมี เป็นพสกนิกรภายใต้เบื้องพระยุคลบาท อาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาของผู้ที่อยู่เหนือกว่า ซึ่งไม่เพียงเป็นตัวบุคคลดังกล่าวจะเป็นกษัตริย์ผู้ทรงทศพิตรราชธรรมเท่านั้น บุคคลธรรมดาผู้มีอำนาจบารมีที่สร้างภาวะความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมก็ทำให้คนไทยรู้สึกปลาบปลื้มมีความสุขด้วยเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จาก นโยบายประชานิยมในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 3 นโยบายหลัก ได้แก่ “30 บาทรักษาทุกโรค” “กองทุนหมู่บ้าน” “พักชำระหนี้เกษตรกร” นโยบายทั้ง 3 นี้สร้างประโยชน์สุขให้กับคนส่วนใหญ่ คนยากจน เกษตรกร ชาวนา ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปี 2548 จนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ การทำความดีโดยการทำบุญ หรือการให้กับผู้ที่ต่ำกว่านี้ เป็นหลักการทำความดีที่พุทธศาสนาแบบไทยเน้นย้ำมาโดยตลอด จะเห็นได้จากนิทานชาดกพระเวสสันดร พระมหาชนก ตลอดจนเรื่องเล่า ที่มีอยู่มากมายในสังคมไทย ซึ่งทานและบริจาคเป็นสองข้อในสิบข้อหลักทศทศพิธราชธรรม หรือธรรมสำหรับผู้ปกครองด้วย


พระเอกผู้เก่งกาจ มีเมตตา เข้ามากอบกู้สถานการณ์ความทุกข์ยากของประชาชน มีความเป็นคนดีประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา มีลักษณะอนุรักษ์นิยม รักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม วิถีปฏิบัติแบบไทย สามารถนำพาสังคมให้เกิดความสงบร่มเย็น สามัคคี เป็นผู้ยิ่งใหญ่ กล้าหาญ เป็นที่เคารพยำเกรงของนานาประเทศ จนไม่อาจมีภัยอันตรายใด ๆ มารุกรานกล้ำกลายได้ จึงเป็นเรื่องราวแห่งความสุขร่วมกันของคนไทยที่ถูกนำมาใช้ในทุกบริบท ทั้งทางการเมือง วัฒนธรรม การพัฒนาประเทศ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณกรรม ธุรกิจ ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวัน (เช่น กรณีการยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมไปกับความภาคภูมิใจในเอกราชของชาติ)

 

 

สามชาย ศรีสันต์

 

 

 

 

 

 


เอกสารอ้างอิง

 

 

Carr, Alan. (2004). Positive Psychology: The Science of Happiness and Human Strengths. New York: Brunner-Routledge.


Charities Aid Foundation. (2017). World Giving Index 2017. Charities Aid Foundation. Retrieved อ่านออนไลน์

 

Diener, Ed, Shigehiro Oishi, and Richard E. Lucas. (2003). “Personality, Culture, and Subjective Well-Being: Emotional and Cognitive Evaluations of Life.” Annual review of psychology 54(1):403–25.


Harrison, Rachel V and Peter A. Jackson. (2009). “Special Issue: Siamese Modernities and the Colonial West.” South East Asia Research 17(3):325–60.


Haybron, Dan. (2011). “Happiness.” The Stanford Encyclopedia of Philosophy. Retrieved อ่านออนไลน์


Helliwell, John, Richard Layard, and Jeffrey Sachs. (2017). “World Happiness Report 2017.” 1–171. Retrieved อ่านออนไลน์


Ritzer, G. (2005). The McDonaldization of Society: Revised New Century Edition. SAGE Publications.


Swatman, Rachel.( 2015). “Thailand Hosts Largest Ever Bicycle Parade to Celebrate Queen’s Birthday.” Guinness World Records Limited. Retrieved April 19, 2018 อ่านออนไลน์


United Nations Development Programme. (2016). Human Development Report 2016. Retrieved อ่านออนไลน์


กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2550). จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.


การก้าวคนละก้าว. (2560). “โครงการก้าวคนละก้าว.” มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า. Retrieved April 19, 2018 (https://www.kaokonlakao.com/).


เกษียร เตชะพีระ. (2539). “บริโภคความเป็นไทย.” ใน จินตนาการสู่ปี 2000: นวกรรมเชิงกระบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา?, บรรณาธิการโดย ยศ สันตสมบัติ.ชัยวัฒน์ และ สถาอานันท์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย.


ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. (2554). โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.


บุพเพสันนิวาส. (2561). “Reviews.” ช่อง33.


พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต). (2558). พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย. พิมพ์ครั้ง. กรุงเทพ: งานพระราชทานเพลิงศพ นายเถลิง เหล่าจินดา.


ราชกิจจานุเบกษา. (2503). “ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย.” สำนักนายกรัฐมนตรี เล่ม 77 ตอนที่ 43: 1452.

สนิท สมัครการ. (2534). วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของสังคมไทย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.


สามชาย ศรีสันต์. (2554). “เศรษฐกิจพอเพียงกับการสร้างอัตลักษณ์ความพอเพียงให้กับชุมชนชนบท.” วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร 7(2):53–69.


สายชล สัตยานุรักษ์. (2548). “การสร้าง ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลัก และ ‘ความจริง’ ที่ ‘ความเป็นไทย’ สร้าง.” ฟ้าเดียวกัน 3(4):40–67.


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2559). “ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย ปี 2558.” จดหมายข่าวอยู่เย็นเป็นสุข 1(3).


อุ่นไอรักคลายความหนาว. (2561). “อุ่นไอรักคลายความหนาว.” Retrieved April 7, 2018 อ่านออนไลน์

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ