ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ ทั้งชาย หญิง ทอม ดี้ เลสเบี้ยน กะเทย ฯลฯ ไม่ว่าเพศสภาพใดก็ควรที่จะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน และควรที่จะมีคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบเห็นข่าวพระตุ๊ด-เณรแต๋วเป็นระยะ นำมาสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า แท้จริงแล้ว กะเทยสามารถบวชได้หรือไม่?
คนไทยพุทธส่วนใหญ่ให้ “คุณค่าแห่งการบวช” มีความเชื่อว่าความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของลูกผู้ชายคือการบรรพชาอุปสมบท ขณะที่ความภาคภูมิใจของลูกผู้หญิงคือการแต่งงานออกเหย้าออกเรือน ในเรื่องของการบวชนั้นเป็นความฝันอันสูงสุดของคนเป็นพ่อแม่ด้วยความหวังว่ากุศลผลบุญที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกชายบรรพชาอุปสมบทนั้นให้อานิสงส์มาก สามารถนำพาพ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์หลังจากละโลกนี้ไปแล้ว เราจะสังเกตได้จากเมื่อเวลาขบวนแห่นาค นำนาคเข้าสู่อุโบสถส่งตัวเข้าไปอุปสมบทนั้น ญาติพี่น้องจะร่วมกันอุ้มนาคข้ามผ่านธรณีประตูอุโบสถ ในขณะที่นาคก็ยกมือขึ้นแตะกรอบประตูอุโบสถด้านบน พ่อแม่ญาติพี่น้องนาคที่เหลือก็พากันจับเสื้อครุยนาค พร้อมกับเปล่งเเสียงสาธุการอันดังกังวาลลั่นอุโบสถ ความปลื้มปีตินี้ทำให้บางคนไม่สามารถที่จะกลั้นน้ำตาแห่งความภาคภูมิใจนี้ไว้ได้
ต้นรัตนโกสินทร์มีวรรณกรรมเรื่อง “สุบินกุมาร” ที่สะท้อนถึงประเพณีบวชเป็นสามเณร ผลบุญกุศลสามารถส่งต่อได้ แม้ว่าพ่อแม่จะทำบาปกรรมก็สามารถที่จะรอดพ้นจากนรกได้ ดังนั้นจึงมีค่านิยมส่งเสริมให้เด็กชายลูกชาวบ้านบวชเป็นเณร ไม่เว้นพระโอรสของกษัตริย์ด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้ “บวชเรียน” ด้วยเพราะสังคมนิยมว่า ผู้ที่บวชเรียนแล้วเป็น “คนสุก” หรือเป็นคนที่สมบูรณ์ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้บวชเป็น “คนดิบ” ไม่มีความรู้ จากวรรณกรรมดังกล่าวทำให้เห็นถึงความเชื่อและค่านิยมในการบวชในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ย้อนกลับมาในข้อถกเถียงที่ว่า กะเทย เกย์ สามารถบวชได้หรือไม่ ? ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นประเด็นโดยนำเอาข้อความในพระไตรปิฎกมาเป็นที่ตั้งว่า
“...ปณฺฑโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ...”
“... ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย...” หมายความว่า ห้าม “บัณเฑาะก์” บวช หากบวชแล้วก็ต้องให้สึก
แต่หากลองพิจารณาคำว่า “บัณเฑาะก์” นั้น หมายถึงใคร กินความแค่ไหน หรือมีการตีความไว้ว่าอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบในการพิจารณาประเด็นนี้
เมื่อตรวจสอบในคัมภีร์อรรถกถาซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระมหาเถระได้ร่วมกันพิจารณาขยายความถึงข้ออรรถข้อธรรมต่าง ๆ อธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จะพบว่าในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ในข้อว่า “บัณเฑาะก์” นั้น พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความแยกบัณเฑาะก์ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1. อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่อมอวัยวะเพศของชายอื่น
2. อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
3. โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลที่ถูกตอน เช่น ขันที
4. ปักขบัณเฑาะก์ คือเป็นบัณเฑาะก์ในช่วงข้างแรม (มีอารมณ์กำหนัดบางวัน) แต่ช่วงข้างขึ้นไม่เป็น
5. นปุงสกัปบัณเฑาะก์ คือ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ คือไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด
จากอรรถกาจึงกล่าวได้ว่า “อาสิตตบัณเฑาะก์” และ ”อุสุยยบัณเฑาะก์” สามารถบวชได้ “ปักขบัณเฑาะก์” สามารถบวชได้ในวันที่ไม่มีกำหนัด ส่วน “โอปักกมิยบัณเฑาะก์” และ ”นปุงสกัปบัณเฑาะก์” นั้นไม่สามารถบวชได้
การอนุญาตให้บัณเฑาะก์บวช พระอรรถกถาจารย์หมายความว่าต้องเป็นบัณเฑาะก์ก่อนที่จะเข้ารับการอุปสมบท เมื่อบัณเฑาะก์ผู้นั้นมีความประสงค์ที่จะเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชาย ละทิ้งกริยาอาการแห่งหญิง ตั้งใจที่จะมาอุปสมบทบำเพ็ญภาวนาก็สามารถที่จะกระทำได้ แต่เมื่อบวชแล้วต้องบังคับข่มใจสละ ความประพฤติเดิมนั้นออกเสีย คือเมื่อเลือกที่จะบวชแล้วถือได้ว่าเป็นการเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชาย ของตน ข่มจิตใจอาการแห่งความเป็นหญิงไม่ให้ฟุ้งซ่านขึ้น
การอธิบายของพระอรรถกถาจารย์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดโอกาสของพระพุทธศาสนา คือ อนุโลมให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีโอกาสเข้ามาประพฤติตามพระธรรมวินัยได้ แต่ตนเองนั้นต้อง เป็นผู้เลือกที่จะยอมรับวิถีปฏิบัติในหมู่สงฆ์ ส่วนประเภทที่ห้ามบวชนั้นล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับเพศกำเนิดทางกายภาพที่บกพร่อง ในส่วนของผู้ทำการบวชให้ ได้แก่ประชุมสงฆ์อันมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธาน พระอุปัชฌาย์นี้ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกุลบุตรผู้ที่เข้ามาขออุปสมบทว่าสามารถบวชได้หรือไม่
ในขั้นตอนนี้พระอุปัชฌาย์จะถามอันตรายิกธรรมกับนาคท่ามกลางหมู่สงฆ์ หนึ่งในนั้นมีข้อหนึ่งถามว่า “...ปุริโสสิ๊..” (เธอเป็นผู้ชายหรือไม่ ?) เมื่อกล่าวตอบว่า “อาม ภนฺเต” (ใช่ครับ) พระอุปัชฌาย์จึงจะอุปสมบทให้ ในขั้นตอนนี้จึงถือเป็นการคัดกรอง สอบถามความแน่ใจและย้ำเตือนบุคคลที่จะเข้ามาอุปสมบทถึงการเลือกและยอมรับการปฏิบัติอย่างสมณเพศ
ถึงจุดนี้คงได้คำตอบแล้วว่า “บัณเฑาะก์” สามารถบวชได้หรือไม่ แต่ประเด็นที่อาจนำมาพิจารณาต่อว่าเมื่อบวชแล้วนั้นจะประพฤติตนอย่างไรมากกว่า ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เมื่อ พ.ศ. 2556 อดีตมิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส ตัดสินใจบวชตลอดชีวิต ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายว่าสามารถบวชได้หรือไม่ ในที่สุดผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติในขณะนั้นได้ออกมาชี้แจงว่าบวชได้ เนื่องจากไม่ปรากฏสิ่งแปลกปลอมที่แสดงถึงความเป็นเพศหญิง ร่างกายมีสภาพเป็นผู้ชายปกติ ไม่มีจิตใจเป็นผู้หญิง โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าอาวาส ปัจจุบันนี้พระรูปดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ในสมณเพศ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม และปฏิบัติตนจนเป็นที่ยอมรับของสังคม
สรุปว่า ในโลกแห่งสังคมปัจจุบันทุกคนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกได้อย่างชัดเจนโดยไม่จำกัดความหลากหลายทางเพศ แต่ในด้านศาสนานั้นค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนบ้างอยู่พอสมควร กระแสความเชื่อเรื่องบาปบุญกุศลอันไหลเวียนอยู่ในอดีตยังคงส่งต่อมาสู่ปัจจุบัน ทำให้เกิดช่องทางที่สามารถทำให้ความเชื่อและความหลากหลายเป็นไปด้วยกันได้ ในขณะเดียวกันเมื่อพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาประพฤติปฏิบัติตามความศรัทธาของตนแล้ว ตัวพระภิกษุสามเณรนั้นควรจะต้องยกระดับประคับประคองจิตใจให้ไม่ก้าวล่วงพระธรรมวินัยด้วยเช่นกัน จีวรคือสิ่งที่ย้ำเตือนให้ระมัดระวังในการประพฤติ เป็นเครื่องแบบ (uniform) ที่กระตุ้นความรู้สึกความเป็นพระที่ต้องข่มกลั้นจิตใจ ต้านทานต่อกระแสโลก กระแสความต้องการของตน
ในที่สุดแล้วคุณค่าของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่เพศ ไม่ได้อยู่ที่เชื้อชาติ ศาสนา หรือชนชั้นใด ๆ แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติตนนั้นสามารถมองเห็นคุณค่าของตน ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่
พระมหาอิสระ ชัยภักดี
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ. (2470). เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท. พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาคที่ 1.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2480). วินิจฉัยบัณเฑาะก์ (ปัณฑกวัตถุ). ตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรค ตอนที่ 1.
อัจฉรา กาญจโนมัย. (2523). การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325-2394). วิทยานิพนธ์ ภาควิชาประวัตศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อ่านออนไลน์
ข่าว Mthai. (2013). พระแจส เปิดใจเหตุบวช ขอละทางโลกตลอดชีวิต. อ่านออนไลน์
ไทยรัฐออนไลน์. (2561). แก่ตัวไป พระแจ๊ส มุ่งมั่นอยากทำบางอย่าง. อ่านออนไลน์
หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (2556). ผอ.พศ. แจงพระแจ๊สเป็นชายบวชต่อได้. อ่านออนไลน์.