Museum Core
“มุงดู” นิทรรศการแสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์
Museum Core
02 ก.ค. 61 2K

ผู้เขียน : อิทธิเดช พระเพ็ชร

“มุงดู” นิทรรศการแสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

 

 

หากพูดถึงงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ในปัจจุบัน คงมีคนจำนวนไม่น้อยนึกถึงงานแสดงรถยนต์และรถจักรยานยนต์อย่าง Motor Expo หรืองานมหกรรมโทรศัพท์มือถืออย่าง Thailand Mobile EXPO โดยเฉพาะการได้ไปถ่ายรูปพริตตี้สาวสวยภายในงาน จนการ์ดความจำกล้องถ่ายรูปเต็มความจุ


อย่างไรก็ตาม บทความนี้มิได้พาผู้อ่านไปเที่ยวงานข้างต้น หากแต่จะพาย้อนเวลากลับไป “มุงดู” นิทรรศการแสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งขออนุญาตตั้งชื่อให้เสนาะหูว่า “Communist Expo” แม้งานนี้จะไม่มีพริตตี้ให้ท่านชม แต่ทว่าหากโชคดีก็อาจได้พบกับ “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” แบบตัวเป็น ๆ


ย้อนกลับไปปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมยึดหนังสือ เอกสาร และวัตถุต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง ที่ทางการเชื่อว่าใช้สำหรับผลิต “ใบปลิว” เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย


ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องคอมมิวนิสต์ทางการเมืองไทยนิดหนึ่งว่า เรื่องคอมมิวนิสต์นั้นเป็นประเด็นทางการเมืองที่เริ่มถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 มีความหมายหรือประทับตราให้กับผู้ที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันทางการเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2490 นัยของคอมมิวนิสต์ได้ถูกสร้างภาพลักษ์และความเข้าใจว่าหมายถึงการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ อย่างไรก็ดี การปฏิวัติในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 (ตามคำของจอมพลสฤษดิ์เอง) ได้ทำให้นัยของคำว่าคอมมิวนิสต์หมายถึงทั้งผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อราชบัลลังก์ ทำลายความมั่นคงของรัฐบาลและพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ดังแถลงการณ์จับกุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ที่ให้เหตุผลว่า


“ตามที่มีบุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ ได้พิมพ์ใบปลิวแจกจ่ายไปตามธรรมดาบ้างตามไปรษณีย์บ้าง ส่งไปยังข้าราชการและประชาชนตลอดจนหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งในพระนครและต่างจังหวัดเป็นระยะเวลานานมาแล้วนั้น...การกระทำของบุคคลคณะนี้มีจุดประสงค์ที่จะนำระบอบการปกครองอันไม่พึงปรารถนาและไม่เป็นไปตามมรัฐธรรมนูญปกครองของราชอาณาจักรเข้ามาสู่ประเทศด้วยกลวิธีต่าง ๆ...”


อย่างไรก็ตาม การจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์จำเป็นต้องอาศัยข้ออ้างการค้นพบหลักฐาน เพื่อนำมาแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมในการจับกุม ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดนิทรรศการแสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์พร้อมการบรรยายให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม


อนึ่ง บทความนี้มิได้พาท่านผู้อ่านเข้าป่าฝ่าดงเพื่อไปรู้จักคอมมิวนิสต์หรือสรุปค้นหาความจริงว่าบุคคลและหลักฐานที่นำมาจัดแสดงเป็นของคอมมิวนิสต์จริงหรือไม่ (เพราะผู้เขียนก็ไม่รู้เช่นกัน) หากแต่จะทำหน้าที่ในฐานะ “ไทยมุง” ที่ดี ด้วยการพาท่านผู้อ่านไป “มุงดู” นิทรรศการซึ่งตั้งอยู่ในพระนคร ทั้งนี้ขอเรียนว่าท่านผู้อ่านไม่ต้องไว้หนวดเคราแบบโฮจิมินห์ ใส่หมวกดาวแดงหรือเรียกผู้เขียนว่าสหายแต่อย่างใด เพียงแต่สองมือล้วงกระเป๋าสองเท้าเก้าเข้ามาพร้อมกับผู้เขียนก็เพียงพอ


หลังการจับกุมในช่วงปลายเดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำหลักฐานและเอกสารที่ยึดได้ไปจัดแสดงให้ประชาชนรับชม งานนี้จัดขึ้นทั้งหมด 5 วัน สองวันแรกคือวันพุธที่ 1 และวันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ. 2502 จัดที่สนามเสือป่าหน้าสวนสัตว์ดุสิต และอีกสามวันคือวันที่ 3 - 5 กรกฏาคม พ.ศ. 2502 จัดที่ท้องสนามหลวง โดยงานนี้เข้าชม “ฟรี” ตลอดงาน และยังเปิดบริการให้เข้าชมตลอด 24 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว


ภายในงานท่านจะได้พบกับหลักฐานที่ทางเจ้าหน้าที่นำมาจัดแสดงอย่าง เครื่องอัดโรเนียวที่ทำจากประเทศอังกฤษยี่ห้อเอ็มกี้, หนังสือภาษาอังกฤษปกแข็ง ซึ่งภายในเจาะสำหรับบรรจุปืนสั้นขนาด 6.35 ม.ม. ยี่ห้อ C.I.B. จากประเทศอิตาลี, เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยยี่ห้อรอยัลและโอลิมเปีย, โทรศัพท์สนามยี่ห้อ T.E.L., ปืนคอลท์ซุปเปอร์ขนาด 9.00 ม.ม., ปืนสั้นลิกโนสขนาด 6.35 ของเยอรมัน, ปืนลมสั้นยี่ห้อเวบเลย์พร้อมด้วยกระสุนชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี กระดาษไข, ใบปลิวโจมตีรัฐบาล, ภาพบุคคลสำคัญของคอมมิวนิสต์ทั้งภาพถ่าย ภาพเขียน, ผ้าทอไหมเป็นรูปบุคคล รูปวิว, เหรียญตราและหลักฐานอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

 

 

 ภาพวัตถุหลักฐานที่ถูกจัดแสดงที่สนามเสือป่าในช่วงวันแรก
ที่มา: หนังสือพิมพ์สารเสรีวันที่ 3 กรกฏาคม พ.ศ. 2502


แม้สิ่งสำคัญของทุกนิทรรศการคือวัตถุจัดแสดง แต่ทว่าหัวใจสำคัญที่สุดนั่นคือ “ผู้ชมหรือคนดู” เพราะงานนิทรรศการจะประสบความสำเร็จไม่ได้หากไม่มีผู้เข้าชม


หากพิจารณาตามแนวคิดของ Clifford Geertz เรื่อง รัฐนาฏกรรม (Theatre State) ทั้งการละเล่น กีฬา งานพิธีการหรืองานราชพิธีต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นภาพการแสดงอำนาจรัฐที่แสดงอยู่บนเวทีพื้นที่ของรัฐ เป็นการแสดงที่บ้างก็เรียกเสียงฮาเสียงหัวเราะ บ้างก็เรียกความศรัทธา ความยำเกรง หรือความจงรักภักดี โดยสิ่งสำคัญของการแสดงก็คือ “คนดูหรือผู้ชม”


นั่นหมายความว่าสำหรับบางเวทีแล้ว วัฒนธรรม “ไทยมุง” จึงมิใช่เรื่องอันน่าตลกขบขับในแบบที่เรามักสรุปว่าคนไทยมีความอยากรู้อยากเห็นดังเช่นที่เข้าใจกัน หากแต่เป็นวัฒนธรรมที่รัฐเองก็ยอมรับและต้องการให้คนเข้ามาร่วมเป็นผู้ชม เพื่อแสดงให้เห็นอำนาจรัฐแบบระยะประชิดหรือ “ริงไซด์” ติดขอบ ไปจนถึงการที่คนดูกลายเป็น “นักแสดง” ไปเสียเอง ดังนั้นภาพขบวนราชพิธี งานพิธีการต่าง ๆ ที่เรารับชมจึงไม่เคยตัดขาดจากการมี “ผู้ชม คนดู” ทั้งที่ได้เข้าไปชมด้วยตาในงาน หรือเห็นจากการเผยแพร่ของโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ประชาชนคนดูล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากกระบวนการงานแสดงของรัฐเสมอ เช่นเดียวกับนิทรรศการ“แสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์”


นอกจากเรื่องการแสดงหลักฐานแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ “คนดู” การจัดงานทั้งที่สนามเสือป่าและสนามหลวง การเอาหลักฐานมาแสดงให้เห็น รวมทั้งเปิดให้ชมตลอด 24 ชั่วโมง ล้วนแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐสนใจและต้องการมากที่สุดก็คือคนดู ดังที่หนังสือพิมพ์ได้เล่าว่า


“อนึ่ง นอกจากเจ้าหน้าที่จะได้จัดให้มีเครื่องบันทึกเสียงออกแถลงการณ์ของกรมตำรวจแล้ว เจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีเครื่องขยายเสียง มีไมโครโฟน สำหรับชี้แจงข้อซักถามของประชาชนผู้สงสัยว่าอะไรเป็นอะไรให้เข้าใจแจ่มแจ้งอีกด้วย”


ขณะเดียวกัน เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังที่ตั้งแสดงนิทรรศการ ณ สนามเสือป่า ก็ได้แสดงความเห็นและสั่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างน่าสนใจตามรายงานข่าวที่ว่า


“นายกรัฐมนตรีได้ไปเห็นว่าการจัดสิ่งของต่าง ๆ นั้นเจ้าหน้าที่ยังมิได้จัดเป็นที่เรียบร้อยพอ เช่นควรที่จะจัดเอกสารเป็นพวกหนึ่ง เครื่องรับ-ส่งวิทยุโทรศัพท์สนามเป็นพวกหนึ่ง รูปถ่ายและภาพต่าง ๆ อีกพวกหนึ่งเพื่อให้ประชาชนจะได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทำเป็นการด่วนในการแยกประเภทนี้เสีย และให้ตั้งเต็นท์เสียใหม่จากเต็นท์ผ้าใบเป็นเต็นท์โครงเหล็ก เพื่อให้กว้างขวางและน่าสนใจ...”

 

 

ภาพด้านซ้าย ประชาชนไปมุงดูนิทรรศการแสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์ ขณะที่ภาพขวา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปดูด้วยตนเองที่สนามเสือป่า และสั่งให้ปรับปรุงการวางวัตถุจัดแสดงพร้อมให้กางเต็นท์เสียใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและประชาชนได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์สารเสรี วันที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ. 2502

 
การสั่งการของจอมพลสฤษดิ์ทำให้เต็นท์นิทรรศการซึ่งขยับมาจัดที่ท้องสนามหลวงในวันต่อมา ถูกเปลี่ยนกลายเป็นโครงเหล็กมุงหลังคาสังกะสีเป็นอย่างดีและรองรับผู้ชมได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากตัวงานที่ให้ความสำคัญแก่ผู้ชมภายในงานแล้ว สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ก็ให้ความสนใจในการรายงานข่าว “ผู้ชม” ที่เข้าชมภายในงานอย่างหนาแน่น ดังการรายงานข่าวอย่างออกรสจนราวกับว่าผู้อ่านหนังสือพิมพ์ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการชมงานจริง ๆ


“ผู้สื่อข่าว (สารเสรี – ผู้เขียน) ของเราไปสังเกตการณ์ตั้งแต่เวลาก่อน 7.00 น. รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โครงเหล็กโรงงานเคลื่อนที่ตั้งบรรดาของกลางทั้งหมด...แล้วเปิดสามด้าน มุงหลังคาสังกะสี มีเต็นท์สำหรับเจ้าหน้าที่กระจายเสียงบรรยายเหตุการณ์กับเต็นท์รับรองเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ บรรดาของกลางทั้งหมดจัดตั้งเป็นชนิดประเภท เช่น หนังสือตำราคอมมิวนิสต์ เครื่องมือสื่อสาร อาวุธแผนที่ ภาพต่าง ๆ และเหรียญตรา ซึ่งไม่เคยปรากฏคนไทยคนใดมีไว้เป็นของตนมาก่อนเลย


เวลาสายเป็นเวลาที่สถานทำงานทั้งทางราชการและเอกชนใกล้จะเปิดทำงาน ประชาชนยิ่งทยอยกันมาหนาแน่นยิ่งขึ้น เสียงเครื่องกระจายเสียงบรรยายเหตุการณ์...


ผู้ที่มาชมของกลางที่เจ้าหน้าที่นำมาตั้งให้ดูแล้วก็กลับไป ผู้ที่ยังไม่ได้ดูก็เปลี่ยนมาดูต่อ บางคนดูไปแล้วกลับมาดูอีก จนถึงเวลาเย็นสถานที่ทำงานเลิกแล้วประชาชนยิ่งหนาแน่นขึ้นทุกที ๆ เจ้าหน้าที่จัดให้ผู้ที่ต้องการดูใกล้ชิดได้ทยอยกันเข้าด้านตะวันตก ผ่านเข้าในโรงหลังคาสังกะสีทะลุออกทางด้านตะวันออก ปรากฏว่าประชาชนต้องเข้าคิวคอยการได้ดูใกล้ชิดนับร้อย ๆ คน คิวยาวเหยียดประชาชนก็ทนกรำแดดอยู่ในคิวอย่างไม่ท้อถอย...


ในตอนค่ำวานนี้เวลาประมาณ 19.00 น. แม้จะมืดค่ำแล้วก็ตามมิได้ทำให้ศรัทธาของประชาชนเสื่อมคลายในอันที่จะดูของกลางให้ได้ คงพากันยืนเข้าคิวยาวเหยียดและบ้างก็พยายามโหนปีนป่ายขึ้นดูและในขณะเดียวกันนั้นฝนก็ได้พร่ำมาเป็นระยะมากบ้างน้อยบ้าง ผู้ไม่ทนฝนก็พยายามหลบและพร้อมกันก็ยังมีผู้ศรัทธาแรงกล้ายืนกรำฝนเข้าคิวเพื่อจะดูและบางคนกล่าวว่าแม้จะดึกก็ขอดูให้ได้ก่อน”


นอกไปจากคำบรรยายที่ให้ความสนใจกับผู้ที่เข้ามาชมแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการก็คือรูปถ่าย ซึ่งปรากฏว่าหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ถ่ายรูปผู้มาชมลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนอย่างล้นหลามต่อนิทรรศการ ในแง่นี้ผู้ที่ไปชมงานโดยตรงจึงกลายเป็น “ผู้เข้าฉาก” หรือ “นักแสดง” สำหรับคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ ขณะเดียว “คนอ่าน” หนังสือพิมพ์ก็ได้กลายเป็นผู้เข้าชมที่ไป “มุงดู” นิทรรศการร่วมกับคนที่ได้ไปดูจริง ๆ ด้วยอีกชั้นหนึ่ง

 

 ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นประชาชนกำลังดูนิทรรศการแสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์ (Communist expo) ที่ท้องสนามหลวง (จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างมาเป็นเต็นท์โครงเหล็ก เพื่อรองรับผู้ชมเป็นจำนวนมาก)
ที่มา: หนังสือพิมพ์สารเสรีวันที่ 4 กรกฏาคม พ.ศ. 2502

  
หากสิ่งสำคัญของนิทรรศการคือ ผู้ชม ก็อาจกล่าวได้ว่านิทรรศการแสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์ (Communist expo) ซึ่งจัดโดยรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ทว่าสิ่งสำคัญยิ่งของนิทรรศการนี้มิใช่งานแสดงละคร ภาพเขียน หรือการละเล่น วัตถุประสงค์จึงมิใช่ความเพลิดเพลินจำเริญใจทางสุนทรียะ หากแต่เป็นการสร้างภาพลักษ์และความเข้าใจทางการเมืองต่อลัทธิหรืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์จากความคิดของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบ


กระนั้น ความรู้ และความจริง ที่รัฐบาลผลิตสร้างภาพลักษ์คอมมิวนิสต์ มีประชาชนเชื่อถือและเข้าใจหรือไม่นั้น อาจเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่สิ่งที่รัฐบาลทำต่อภายหลังงานแสดงนิทรรศการเสร็จสิ้นลงสำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ การใช้มาตรา 17 ลงโทษประหารชีวิต (สมัยนั้นนิยมเรียก “ยิงเป้า” ) บุคคลที่รัฐเห็นว่าเป็นผู้มีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์คนสำคัญรายหนึ่ง


นิทรรศการนี้จึงเป็นรัฐนาฏกรรม ที่รัฐสร้างพื้นที่เป็น “ลานแสดง” ก่อนเข้าสู่พิธีกรรม “เชือดไก่ให้ลิงดู”


หมายความว่า นิทรรศการแสดงหลักฐานของพวกคอมมิวนิสต์ (Communist expo) มิได้มุ่งหวังสร้างความรู้ ความเข้าใจ หรือแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลปฏิบัติการจับกุมและมีหลักฐานเป็นไปโดยถูกต้องเพียงเท่านั้น หากแต่กลายเป็น “พื้นที่” หรือ “ลาน” ที่มุ่งหวังให้คนดูจำนวนมากทั้งที่เข้าไปดูในงานจริงและดูผ่านหนังสือพิมพ์ได้กลายเป็น “ลิง” กล่าวคือถ้าไม่อยากโดนเชือด (ยิงเป้า) จงเชื่อฟังและประพฤติตน ปฏิบัติตน ในฐานะพลเมืองอันดีตามแนวทางของรัฐในฐานะ “ลิงที่ดี”


มิฉะนั้น ประชาชนที่ไปมุงดู ซึ่งเคยอยู่ในฐานะ “ผู้ชม” หรือ “ลิง” ก็อาจกลายเป็น “ไก่” ได้สักวันหนึ่งเช่นกัน

 

 


อิทธิเดช พระเพ็ชร

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

 

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ก/ป7/2502/ บ.13.5 ศุภชัย ศรีสติ ผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์.

 

ตามไท ดิลกวิทยรัตน์. (2546). “ภาพลักษณ์ของ "คอมมิวนิสต์" ในการเมืองไทย”,ใน รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 24 ฉบับที่ 2.

 

ปรีดี หงษ์สต้น. (2557-2558). เชือดไก่ให้ลิงดู: รัฐไทยกับการทำลายศัตรูด้วยนาฏกรรม, ใน วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่2 (ตุลาคม -มีนาคม).

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2560). ประชาชนในรัฐนาฏกรรม (1). สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2561, ที่มา อ่านออนไลน์

 

 

Museum Siam Knowledge Center

 

กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม / เออิจิ มูราชิมา


การก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย / กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์.

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ