ทำความรู้จักรัสเซียเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 อย่างสนิทสนมมากขึ้น ผ่านการคุยกับ อาจารย์ ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอดีตนักเรียนไทยในรัสเซีย
Museum's Core: คิดว่าตอนนี้คนไทยรู้จักรัสเซียไหมมากน้อยแค่ไหน รู้จักจากอะไร ?
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: ต้องบอกก่อนว่ารัสเซียเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวเองค่อนข้างมาก ไม่ต้องย้อนไปไกล เพียงแค่พูดถึง คนส่วนใหญ่ก็ยังติดภาพลักษณ์ของสังคมแบบคอมมิวนิสต์ หรือมุมมองความโหดร้ายที่มาจากช่วงสตาลิน แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง สหภาพโซเวียตล่มสลาย สังคมมีความเสรีมากขึ้น หรือมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย แต่คนก็ยังไม่คุ้นชิ้น ในวันนี้ยอมรับว่าสิ่งหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยรู้จักรัสเซียมากขึ้น ๆ ก่อนหน้าฟุตบอลโลก คือ วลาร์ดิมีร์ ปูติน คนไทยมีกระแสชื่นชอบ และให้ความสนใจ ปูติน มากขึ้น ถามว่าอยู่ ๆ คนไทยเริ่มเชียร์รัสเซีย เชียร์ปูติน ในบทบาทต่าง ๆ ในเวทีโลก หรือแม้บางกระแสก็เริ่มมองว่า ผู้นำอย่างนี้แหละที่โลกต้องการ ถ้ามองตัวภาพลักษณ์ของปูติน และยิ่งเมื่อต้องมีการพูดถึงอเมริกาคนไทยส่วนมากจะให้ความรู้สึกร่วมที่จะแสดงความคิดเห็นต่อความสัมพันธ์ระหว่างอดีตอภิมหาอำนาจ และการจับจ้องตัวผู้นำ ทำให้เราเห็นอย่างหนึ่งว่า ภาพลักษณ์ผู้นำนั้นสำคัญ เพราะภาพลักษณ์สุขุมนุ่มลึก ดูมีภาวะผู้นำ ของปูติน ก็ทำให้คนหลายคนรวมถึงคนไทยมองรัสเซียอย่างเปิดใจมากขึ้น ผู้นำสามารถทำให้ประเทศโดดเด่นและน่าสนใจขึ้น กรณีของรัสเซียเป็นตัวอย่างที่ดี ทัศนคติของคนภายนอกในการมองประเทศนั้น ๆ จะเปลี่ยนไปอย่างไรส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตัวผู้นำ เพราะไม่มีใครที่สปอตไลท์จะส่องเท่าตัวผู้นำ
อีกปัจจัยหนึ่งนอกจากภาพลักษณ์ของปูติน ก็อาจจะเป็นเพราะว่าบริบทโลกเริ่มเปลี่ยน เป็นส่วนหนึ่งของกระแสสังคม เหมือนตอนนี้เราเริ่มเบื่อกับระบบที่สหรัฐอเมริกาสร้างไว้ คือสหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเดียวหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย เขาสร้างระบบทุนนิยม สร้างเครือข่ายทางการเงินโดยเฉพาะธนาคาร เช่น ทุกคนก็ต้องอิงดอลล่าร์ อิงระบบของเขา ปัจจุบันบางคนมองว่ามันอาจดูสุ่มเสี่ยงและไม่มั่นคง เลยเกิดกระแสของการแสวงหาระบบอื่น จากมหาอำนาจอื่น แม้ว่ารัสเซียอาจจะไม่ชัดเจนเรื่องระบบการเงิน แต่จีนถือเป็นอีกทางที่โลกปัจจุบันพยายามเข้าหา รวมถึงไทยเรามีความสัมพันธ์ต่อจีนค่อนข้างดี และรัสเซียเองก็ดีมากเช่นกัน
Museum's Core: การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2018 จะทำให้คนไทยรู้จักรัสเซียมากขึ้นไหม
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: น่าจะรู้จักมากขึ้น เพราะผ่านตาจากทีวี หรือสื่อต่าง ๆ ตลอดเวลา (แม้ว่าบางคนอาจจะบอกว่าก็เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น) ทำให้เกิดความสนใจว่าประเทศนี้ เป็นอย่างนั้นรัสเซียเป็นอย่างนี้ ประเทศสวยดี อีกอย่างที่คนเริ่มให้ความสนใจรัสเซียคือเรื่องของการท่องเที่ยว อันนี้น่าสนใจเพราะไม่ใช่คนทุกคนทุกกลุ่มที่จะพูดถึงในเชิงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ อย่างปีที่ครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ไทยและรัสเซีย ถึงแม้ว่าหน่วยงานรัฐพยายามที่จะทำนิทรรศการหรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ แต่ก็จับความสนใจได้แค่คนกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่จับคนกลุ่มมากได้คือการท่องเที่ยว หากมีทัวร์ท่องเที่ยวรัสเซียก็จะขายได้มากมาย เพราะคนทั่วไปก็ยังมองเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว อย่างมอสโก (ต้องไป) เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (สวยงาม) ทำให้คนทั่วไปรู้จักรัสเซียได้มากกว่าการมาจัดบอร์ดและจัดงานนิทรรศการแล้วผ่านตาไป แต่การไปเที่ยวนี่จับความรู้สึกคนได้ว่า ประเทศนี้สวย น่าเที่ยว เป็นปากต่อปาก มันก็เลยทำให้คนไทยก็เริ่มเข้าหามากขึ้น ยิ่งตอนนี้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกคนก็อยากไปเที่ยวเพิ่มขึ้น เชื่อว่าสนามการแข่งขันทั้งหมด 12 สนาม 11 เมือง มีกี่เมืองที่คุณรู้จัก โดยที่ไม่ต้องไปสืบค้นข้อมูล
Museum's Core: มหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็มีการศึกษาเกี่ยวกับประเทศรัสเซียโดยเฉพาะใช่ไหม นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งหรือเปล่าที่จะทำให้มีคนไทยรู้จักรัสเซียดีขึ้น
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: ใช่ค่ะ ต้องบอกว่าในเรื่องของการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area study) ก็มีส่วนทำให้มีคนไทยที่รู้จักรัสเซียมากขึ้น สัมผัสด้วยตัวเอง อย่างตอนเรียนปริญญาตรีเรียนรัสเซียศึกษาที่ธรรมศาสตร์เขาจะสอนในเชิง Area study มีหลายสาขา มีทั้ง อเมริกันศึกษา (American Study) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asia Study) แล้วมาจนเป็น รัสเซียศึกษา (Russian Study) คือเรียนทุกอย่างในเชิงพื้นที่ ประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจและการเมือง เป็นมุมเชิงกว้างที่มีมิติเชิงลึก ในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ที่อเมริกาหรืออังกฤษ เพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนามหรือลาว ก็มองเห็นว่ามันต้องมีการศึกษาที่ศึกษาเป็นภูมิภาค แล้วภูมิภาคจะตอบทุกอย่างที่อยู่ในนั้นได้ แล้วเราค่อยเอาไปบูรณาการกับความรู้อื่น ๆ ก็ถือว่าเป็นส่วนช่วยที่นำกลับมาเผยแพร่ข้อมูล ให้รู้จักรัสเซียดี หรือมากขึ้น
Museum's Core: คำพูดติดปากคนไทยที่ว่า “โหดสัสรัสเซีย” มีความเกี่ยวข้องกับรัสเซียอย่างไร หรือสะท้อนอะไรบ้าง ?
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: นี้ก็สงสัยเหมือนกันว่าใครเป็นคนแรกที่คิด แต่แน่นอนคนไทยเป็นคนคิด คือคำว่า “สัส” มันอาจเป็นคำเน้นย้ำที่แสดงถึงความ โคตรห่าม โคตรโหด อะไรอย่างนี้หรือเปล่า เพราะภาษามันมีระดับชั้นของอารมณ์ความรู้สึก แล้วโหดสัสรัสเซีย ก็เคยตั้งคำถามเหมือนกันว่ามันมาจากไหน ใครเป็นคนตั้ง แต่พออ่าน หรือที่ได้ยินมา เราก็รู้สึกว่าอะไรก็ตามที่มันยาก หนัก ไม่ง่าย ดุดัน ก็จะพูดว่า โหดสัสรัสเซีย แล้วทุกคนในสังคมก็เข้าใจกันอย่างพร้อมเพรียง แต่การเกิดของวลีนี้คงไม่เกินสิบปีมานี้ เพราะเมื่อก่อนก็ไม่เคยได้ยิน แต่คิดว่ามันเป็นภาพสะท้อนที่รัสเซียผูกติดกับ ความหนาว ความโหด แต่มันก็ยากที่จะค้นว่าคำนี้มาจากไหนจริง ๆ แต่ที่ชัดเจน คือ นัยยะของที่คนรู้สึก เหมือนคนที่เคยไปอยู่รัสเซีย คลุกคลีกับความเป็นสังคมรัสเซีย พวกเรากันเองแค่พูดถึงในสิ่งที่มันไม่เข้าใจเลยกับคนรัสเซีย หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซีย มักพูดติดปากแบบตลกๆว่า “ก็รัสเซียนี่เนอะ” จะเข้าใจกันทันที ประมาณว่าก็อย่างนั้นแหล่ะอย่าไปเข้าใจอะไรมันเลย
Museum's Core: แล้วก่อนหน้านี้เรามองรัสเซียแบบไหน เขาน่ากลัวหรือเปล่า
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: อย่างที่บอกพอพูดถึงรัสเซียเราก็จะนึกถึงคอมมิวนิสต์ เพราะคนไทยไม่รู้จักหรืออาจจะไม่ได้ใส่ใจ ขนาด 5 ปีที่แล้วเราบอกจะไปรัสเซีย บางคน สัก 3-5 คนอาจจะมีสัก 2 คนบอกว่ามันเป็นคอมมิวนิสต์จะไปทำไม เคยโดนมากับตัว ทำไมต้องไปเรียน ไปประเทศอื่นไม่ดีกว่าหรอ มันเป็นคอมมิวนิสต์มันน่ากลัว แสดงให้เห็นว่าสำหรับคนไทยรัสเซียยังผูกกับภาพรัสเซียคือคอมมิวนิสต์ และคอมมิวนิสต์เท่ากับน่ากลัว แต่พอย้อนถามทำไมถึงรู้ว่ามันน่ากลัว ก็เคยเห็นข่าว เห็นไรงี้ อ้าวแล้วปัจจุบันไม่ได้ดูข่าวหรอ ก็บอกว่าไม่รู้ดูจากไหน ไม่ได้จับต้อง ไม่ได้ศึกษา แต่ยึดติดกับภาพความเป็นคอมมิวนิสต์ต่อไป เราก็ว่าเขาไม่ได้เพราะเขาคิดอย่างนั้น
อีกส่วนหนึ่งคือการศึกษาเราไปยึดความเป็นตะวันตก อย่างอเมริกา หรือยุโรปส่วนหนึ่ง หนังสือองค์ความรู้อะไรเราเป็นของฝั่งนั้นไปหมด อย่างสื่อ ข่าว ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ แต่อาจจะขึ้นกับฝ่ายนำเสนอ สามารถที่ผสมอารมณ์ความรู้สึกของผู้นำเสนอไปด้วย หรือเมื่อเราดูหนังฮอลลีวูด รัสเซียต้องเป็นผู้ร้าย ทำไมต้องเป็นกัปตันอเมริกา ถ้าเป็นกัปตันรัสเซียจะเป็นอย่างไร แน่นอนรัสเซียมักถูกเป็นมาเฟีย เป็นแก็งค์ผู้ร้าย เราเองก็ซึมซับมาโดยอ้อมว่ารัสเซียเป็นแบบนี้ต้องน่ากลัว
Museum's Core: ในระหว่างนี้ที่รัสเซียกำลังเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมีข่าวว่า รัฐบาลรัสเซียรณรงค์ให้คนรัสเซียยิ้มเยอะ ๆ เพื่อการเป็นเจ้าภาพที่ดี เกิดอะไรขึ้น คนรัสเซียทำไมถึงดูเป็นเสือยิ้มยาก ซึ่งดูตรงข้ามกับสยามเมืองยิ้มมากเลย ?
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: มันถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเป็นเจ้าบ้านจัดงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ความเป็นจริงถ้าวิเคราะห์เรื่องของอากาศก็อาจจะมีผลต่อการยิ้มพร่ำเพรื่อบนถนนในช่วงหน้าหนาวอันยาวนานของรัสเซียที่ทั้งปีหนาวร่วมกว่า 8 เดือน โดยเฉพาะช่วง พฤศจิกายน-มีนาคม ที่หนาวมาก หน้ามันตึงจนอาจจะเจ็บ มันก็ไม่อยากยิ้ม อีกอย่างหนึ่งถ้ามองแบบทัศนคติของสังคม อย่างคนรัสเซีย ถามว่าเขาไม่อยากยิ้มให้กันเหรอ เขาบอกว่าการยิ้มพร่ำเพรื่อ เราจะไม่รู้เลยว่าใครจริงใจหรือไม่จริงใจ ถ้ายิ้มให้กันพร่ำเพรื่อเราเรียกว่าเป็นเพื่อนกันได้ไหม ก็ยังไม่ได้ เขาก็จะมองว่ามายิ้มให้ฉันทำไม เราไม่รู้จักกัน แล้วการยิ้มพร่ำเพรื่อมันดูแบบโง่ โง่เลยนะ อันนี้เคยโดนกับตัวตอนเรียนอยู่ที่รัสเซีย อาจารย์ที่ปรึกษาคอมเม้นงาน ดุเรา เราก็ยิ้มรับ ไม่รู้จะทำไง ถ้าหน้าบึ้ง เดี๋ยวเขาจะหาว่าไม่มีปฏิสัมพันธ์ แต่เขาบอกกับเราว่า เธอจะยิ้มทำไมเยอะ ๆ มันดูเป็นคนไม่ฉลาดเลย อ้าวหรอ เวลาด่ามา นี้ห้ามยิ้มเลยนะ คิดต่างกับเราคนไทยไง ตอนครูดุ ถ้าทำหน้าบึ้ง ครูจะถามทันทีว่าเธอไม่พอใจใช่ไหม ฮ่า ฮ่า ฮ่า
สำหรับเขาการยิ้มพร่ำเพรื่อ หนึ่ง มันดูไม่จริงใจ สอง มันดูไม่ฉลาดเลย ที่อยู่ดี ๆ ก็ยิ้ม อะไรอย่างนี้ มันไม่มีเหตุผล คนรัสเซียก็เลยดูเป็นคนยิ้มยาก แต่ถ้าเขายิ้มกับเราแล้วเขาก็จะยิ้มให้เราตลอดชีวิต ก็แสดงว่าเราเป็นเพื่อนของเขาแล้ว และยิ้มนั้นมันจะ “มีค่า”
Museum's Core: คนรัสเซียมองไทยอย่างไร ?
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: ถามว่าคนประเทศนี้ชอบเมืองไทยไหม ชอบ ชอบมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แล้วคำที่เขาพูดว่า ที่เราบอกว่ามันสวยหรูเหมือนวิ่งในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่มันก็จริงว่าไทยก็ไม่เคยทำอะไรให้รัสเซียเจ็บช้ำน้ำใจ หรือไม่เคยโกรธ ไม่เคยบาดหมาง รัสเซียเองก็เอ็นดูเรามาตลอด เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาตินี้ไม่เคยมองว่าเราเป็นศัตรู มีครั้งหนึ่งที่เดินถนนแล้วคนรัสเซียแซว (จริง ๆ เขาไม่รู้คิดว่าเป็นชาติอะไร เขาคิดว่าเป็นคนจีน) ถูกล้อเลียน พูด “หนีห่าว ๆ” แบบล้อจีน แต่พอเราบอกมาจากไทย เขาก็จะเปลี่ยนท่าที และพูดถึงไทยว่าเป็นประเทศที่เหมือนสวรรค์ ชอบเมืองไทยไปต่าง ๆ นาน เราก็เลยสรุป (กันเอง) เราเป็นประเทศมีเครดิตดีนะเนี่ย
Museum's Core: ปัจจุบันมีชุมชนรัสเซียอยู่ในประเทศไทยไหม ?
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: มีค่ะ ที่ถือว่ามากคือ พัทยา เขาบอกพัทยาเป็นเขตการปกครองพิเศษของรัสเซีย นี่เป็นคำพูดเปรียบเปรย ในทางปฏิบัติมันไม่ได้เป็นจริง แต่ในเชิงภาพลักษณ์มันเห็นไง เพราะว่าคนรัสเซียอยู่เยอะ ก็ต้องย้อนกลับไปมันเกี่ยวกับเรื่องของเมื่อก่อนในช่วงที่ พัทยามีลักษณะเป็นท่าเรือโดยเฉพาะในเรื่องของการทหาร การปรากฏคนรัสเซียที่นั่น อาจจะแบ่งสรุปเป็นสองช่วง คือ การเข้ามาก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัสเซียก็ปรากฏว่าเข้ามาบริเวณนี้เยอะอยู่ ช่วงสงครามเวียดนามแต่โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นทหาร บุคคลคนทั่วไปไม่ปรากฏเยอะเนื่องจากการขอเอกสารเดินทางออกนอกประเทศนั้นยากและนานมาก แต่ช่วงเปิดประเทศ หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายจำนวนคนรัสเซียในไทยเริ่มมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา และเมื่อมีความตกลงยกเลิกวีซ่าอะไรก็เลยดูอำนวยให้เดินทางง่ายขึ้น ปัจจุบันเรื่องของการท่องเที่ยว การทำธุรกิจทำให้พัทยาเป็นแหล่งชุมชนของคนรัสเซียมากขึ้น เนื่องด้วยเป็นเมืองที่มีทะเลจึงเป็นที่นิยมมาพักผ่อน ไม่ใช่แค่เรื่องของการขายบริการทางเพศอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ กลุ่มที่ทำงานสายบริสุทธิ์ ธุรกิจในเชิงการค้าขาย พวกบริหาร พวกทัวร์ก็มี หรือกลุ่มที่ตั้งโรงเรียนสอนบัลเลต์ ระบำรัสเซีย ประเทศนี้เขาก็เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านนี้ ในการทำธุรกิจ พวกนี้อาศัยการแต่งงานกับคนไทยเปิดธุรกิจส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ในแง่ของศาสนาที่เกิดจากการเข้ามาในไทยของคนรัสเซียก็มีปรากฏให้เห็นสะท้อนการมีชุมชนเกิดขึ้น อย่างในกรุงเทพแถวปุณณวิถี มีโบสถ์คริสต์ออโธดอกส์ หากอยากไปชมว่าโบสถ์รัสเซียเป็นอย่างไร ตรงนี้ถือว่าไปไม่ยากสำหรับคนกรุงเทพฯ คนรัสเซียก็มีบทบาทสำคัญในการที่มีจิตศรัทธาสร้างศาสนสถานขึ้นมา แต่นอกจากคนรัสเซียที่นับถือคริสต์ออโธดอกส์แล้ว ก็ยังมีคนชาติอื่น ที่เป็นยุโรปตะวันออก ที่นับถือคริสต์ออโธ ดอกซ์
Museum's Core: ระหว่างที่อยู่รัสเซียได้เคยไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในรัสเซียบ้างไหม?
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: เคยไปค่ะ เพราะทุก ๆ เมืองของเขาก็จะมีพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ระดับของชุมชน ของเมือง และพิพิธภัณฑ์ของเขาก็ยังมีการสอดแทรกเนื้อหาประวัติศาสตร์ของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ Yeltsin center ที่เมืองเยคาเตรินเบิร์ก (ที่คิดว่าไม่ใช่คนไทยทั่วไปจะรู้จัก) ที่นี่แม้ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อประธานาธิบดีคนแรกแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย “บอริส เยลต์ซิน” ที่เกิดและเติบโตที่เมืองนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเล่าแต่เรื่องของเยลต์ซิน แต่จะมีการเล่าเรื่องตั้งแต่การเกิดอาณาจักรเคียฟรุส การเกิดจักรวรรดิรัสเซีย ก่อนการปฏิวัติรัสเซีย ปฏิวัติเป็นอย่างไร ช่วงสหภาพโซเวียตล่มสลายเป็นอย่างไร จนกลายเป็นรัสซียปัจจุบันอย่างไร บอกเล่าการเปลี่ยนแปลงของตนทุกอย่างในอาคารเดียว นำเสนอด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งภาพและเสียง ที่สัมผัสได้
และอีกสิ่งข้อดีของการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์คือเขากล้าบอกเราในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีการจัดนิทรรศการ กล้าบอกว่าเมืองนี้คือเมืองที่ซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกสังหาร เล่าถึงการสังหารราชวงศ์โรมานอฟ มีภาพให้เห็น แต่ไม่ได้นำเสนอในเชิงปลุกปั่นสังคม ทำให้รู้สึกว่าเขาไม่ได้พยายามปกปิด ที่รู้ว่าเขาไม่น่าจะปกปิด เพราะว่าเห็นเขาทำนิศรรทการ แล้วเด็กก็ยืนอ่าน เช่น รู้เลยนี้คือของเล่นของซาร์เรวิตซ์ที่หล่นอยู่ในคืนวันสังหาร แล้วเด็กก็อ่านเด็กก็รับรู้ได้ว่าเจ้าของของเล่นนี้โดนฆ่าตาย เคยถามอาจารย์ที่รัสเซียเหมือนกันว่ามีความรู้สึกไม่อยากให้คนหรือเยาวชนรับรู้ประวัติศาสตร์ความโหดร้ายนี้ไหม ว่าเกิดอะไรขึ้นกับราชวงศ์โรมานอฟ แต่เขาบอกว่าถึงมันเป็นเรื่องน่าละอาย แต่มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วทุกคนต้องรับรู้ อย่างไรก็ตามวันหนึ่งเด็กก็จะถามถึงความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี ทำไมถึงเปลี่ยน สิ่งที่เปลี่ยนมันหายไปไหน หรือมันเกิดอะไรขึ้นกับสิ่ง ๆ นั้น มันต้องมีคำถามอยู่แล้ว เขาก็เลยบอกว่ามันเป็นเรื่องราวเรื่องหนึ่งที่ส่งผลต่อเหตุการณ์ของประเทศเขา สังคมของเขา คนของเขา จึงไม่ใช่สิ่งแปลกที่เอามาให้เด็กเรียนรู้ คนปัจจุบันจึงรับรู้และยอมรับว่ามันหายไป แต่ถามว่ามันมีกลุ่มคนพยายามเรียกร้องไหม มันก็มี แต่ไม่ถึงกับว่าระบบนั้นมันดีเอากลับมาเถอะ แม้แต่การนำเสนอข้อมูลถึงรัฐบาลคอมมิวนิสต์เองก็ไม่ได้ดีทั้งหมด แต่ข้อดีของมันก็มี ระบบต่าง ๆ พวกนี้พอถึงจุด ๆ หนึ่งถ้าข้อเสียมันเด่นชัดกว่าข้อดี มันก็ต้องเปลี่ยน แล้วเขาก็ยอมรับว่าไม่แน่วันหนึ่งระบบสหพันธรัฐในปัจจุบันเองอาจจะต้องเปลี่ยนก็ได้ แต่มันทำอะไรไม่ได้ถ้ามันจะต้องเปลี่ยน เขาก็ต้องปรับตัวและหาทางออกใหม่ ซึ่งเขาก็ยังมีความหวังว่ามันว่าจะดีขึ้นกว่าเดิม เขาคงมองแบบโหดสัสรัสเซียมั้ง อยู่กับปัญหาและยอมรับมันไปถ้ามันเป็นปัญหา มองแบบสัจจะนิยม มองโลกตามจริง
Museum's Core: สุดท้ายแล้วอยากทราบเกี่ยวกับรัสเซียแดนหมีขาว หมีรัสเซียขาวจริงไหม หมีขาวมีเยอะเหรอ?
อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร: เคยถามคนรัสเซีย เขายังไม่รู้เลยว่าหมีเขาขาวไหม เขาก็งงทำไมเขาถึงถูกเรียกว่าหมีขาว เพราะส่วนใหญ่จะเป็นหมีสีน้ำตาลที่อยู่ในป่า แต่เราไปตีความว่าเขาหนาวดูเป็นตัวแทนของหมีขาวขั้วโลกเหนือไป แต่ถ้าถามว่าในรัสเซียมีหมีไหม ก็มี มีในสวนสัตว์ แต่ถ้าหมีจริง ๆ มีไม่เยอะ มีบ้างอยู่โซนทางเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นหมีน้ำตาล หมีดำ เพราะพื้นที่มันมีป่าเยอะ
การที่หมีรัสเซียไม่ขาวก็เหมือนช้างเผือกของเรานั่นแหละที่ความจริงก็ไม่ได้มีสีขาวอย่างที่คนจินตนาการไว้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า