Museum Core
ชวนกันคิด ก่อนจะเป็นพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง
Museum Core
23 ก.ค. 61 1K

ผู้เขียน : Administrator

ชวนกันคิด ก่อนจะเป็นพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง

 

 

 

Museum’s Core พาไปคุยกับนักวิชาการผู้คลุกคลีอยู่ในวงการพิพิธภัณฑ์ ผศ.ดร.พจนก กาญจนจันทร อาจารย์ประจำสาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ครั้งใหญ่หรือภัยพิบัติต่าง ๆ และชวนกันคิดต่อว่าหากรัฐจะสร้างพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวงควรจะเล่าเรื่องให้ออกมาแบบใด อะไรคือวัตถุจัดแสดงที่ควรหยิบใช้ และอะไรคือข้อควรระวังในการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่

 

 

 

Museum’s Core: หากรัฐจะสร้างพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวงขึ้นมา อะไรคือสิ่งที่พึงระวังในเรื่องเล่า 

 

ผศ.ดร.พจนก กาญจนจันทร: สิ่งที่น่าเป็นห่วง และถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งคือ จะเล่าเรื่องอย่างไรให้ไม่ไปกระทบกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะโค้ช และเด็กทั้ง 12 คน ซึ่งอายุยังน้อยมาก เขาจะถูกจำและรับรู้จากสังคมแบบไหนผ่านพิพิธภัณฑ์ เพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าเด็ก ๆ ย่อมไม่อยากถูกรู้จักในฐานะของผู้ประสบภัย เพราะมันจะตามมาด้วยคำถามที่ว่า พวกเขาเข้าไปในถ้ำทำไม ซึ่งจะต่างกับกรณีที่เล่าเรื่องบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วในอดีต ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ายุติธรรมหรือไม่สำหรับคนที่ตายไปแล้ว เพราะเขาไม่สามารถลุกขึ้นมาแก้ไขข้อมูล หรือว่า ให้ความกระจ่างในอีกด้านหนึ่งได้ว่าคุณมีสิทธิอะไรไปกล่าวหาเขา ดังนั้นหากจะเล่าถึงคนในปัจจุบันควรจะต้องมีการถกเถียงกันว่าจะเล่าอย่างไร มันเป็นความท้าทายมากที่จะจัดพิพิธภัณฑ์อันมีบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

 


Museum’s Core: เรื่องที่เล่าในพิพิธภัณฑ์สามารถอยู่ในรูปแบบใดได้บ้าง

 

ผศ.ดร.พจนก กาญจนจันทร: เรื่องที่จะเล่าในพิพิธภัณฑ์ เล่าได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์เป็นสำคัญ เช่น หากต้องการให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ก็สามารถสร้างได้หลายแบบ เช่น เล่าโดยใช้แนวความรู้เชิงวิทยาศาสตร์แบบเข้มข้น แสดงรายละเอียดให้เห็นเลยว่ามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชุดใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนวัตกรรมการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ช่วยเหลือนักดำน้ำในถ้ำที่ซับซ้อนกว่าปกติ 
ตรงจุดนี้มันทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของความรู้เฉพาะทางที่ใช้ในแต่ละภารกิจ เช่น นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส (Richard Harris) วิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการดำน้ำในถ้ำ ทักษะต่าง ๆ ที่เขาใช้นั้นเป็นความรู้คนละประเภทกับกีฬาดำน้ำแบบที่เรารู้จัก ซึ่งประเทศไทยแทบจะไม่เคยรู้จักมาก่อนว่ามีองค์ความรู้เรื่องดังกล่าวอยู่หากไม่เกิดเหตุการณ์ถ้ำหลวง

 

 

Museum’s Core: ในต่างประเทศมี พิพิธภัณฑ์ในลักษณะคล้ายกับแบบที่กำลังกล่าวถึงหรือไม่


ผศ.ดร.พจนก กาญจนจันทร: จากประสบการณ์ของตนเองที่เคยไปชมในเอเชีย มีอยู่สองที่ คือที่เกาะไต้หวันและประเทศจีน ซึ่งทั้งสองแห่งเล่าเรื่องแผ่นดินไหวทั้งคู่ สำหรับที่ไต้หวัน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ เน้นไปทางธรณีวิทยา เนื่องจากภูมิประเทศของเขาตั้งอยู่ในแนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลกเพราะฉะนั้นแผ่นดินไหวที่ไต้หวันจึงเกิดขึ้นบ่อยมาก ในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะปูพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศแล้ว ยังจำลองสถานการณ์ขณะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นโดยให้ผู้ชมได้ลองนั่งเก้าอี้ที่มีแรงสั่นสะเทือนเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ พร้อมกับแสดงภาพความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นจริง

 

ส่วนที่จีนแผ่นดินใหญ่เล่าเรื่องเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน เมื่อปี 2008 คร่าชีวิตคนไป 70,000 คน การเล่าเรื่องจะเน้นด้วยภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละวันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ละวันจะแสดงภาพความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ จากชุมชนที่เสียหายถูกกู้กลับคืนขึ้นมา โดยรวมเอาทุกตัวละครเอาไว้หมด ไม่ใช่เพียงผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง แต่ยังรวมถึงภาพของการสนับสนุนจากคนเล็ก ๆ เช่น ภาพวาดของศิลปินที่จำลองภาพเด็ก ๆ ในพื้นที่กำลังต้มน้ำชงชาให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ซึ่งวิธีการเล่าเรื่องในลักษณะนี้จะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกรักชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเห็นถึงการระดมกำลังและความช่วยเหลือของคนในชาติเขาได้อย่างดี เช่นเดียวกับในกรณีของถ้ำหลวงที่ไทย งานลักษณะดังกล่าวนั้นถูกนำเสนอในรูปแบบของจิตอาสาที่ระดมกันมาช่วยเหลือในงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เก็บขยะ

 

 

Museum’s Core: หากอาจารย์เป็นผู้วางโครงเรื่องพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง จะเล่าเรื่องแบบใด 

 

ผศ.ดร.พจนก กาญจนจันทร: สำหรับพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง คิดว่าสามารถเล่าเรื่องแบบที่จีนได้ หากตนเองเป็นคนวางโครงเรื่องจะเริ่มจากคำถามใหญ่ว่า เรื่องที่เล่าจะนำไปสู่อะไร ซึ่งตนเองอยากให้พิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวงสร้างความตระหนักรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะเริ่มจากเล่าว่า เกิดอะไรขึ้นที่ถ้ำหลวงบ้างในวันแรกของปฏิบัติการจนถึงวันสุดท้าย และความรู้ศาสตร์ไหนบ้างที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือ และรับมือกับภารกิจอื่น ๆ ที่ตามา ตั้งแต่ศาสตร์การกีฬาอย่างเรื่องการดำน้ำ ที่ไม่ใช่แค่กีฬาดำน้ำเพื่อชมธรรมชาติ แต่เป็นการดำน้ำในถ้ำเพื่อช่วยเหลือในภารกิจต่าง ๆ อาจขยายความให้เห็นว่ามันต่างจากการดำน้ำที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยอย่างไร ต้องใช้ทักษะใดบ้างที่มากกว่าแค่ความแข็งแรงของร่างกาย


เรื่องการเมืองและการจัดการข่าว อาจจะเล่าว่าข่าวถ้ำหลวงในหน้าสื่อต่าง ๆ ถูกนำเสนอแบบใดบ้าง ไทยนำเสนอแบบใด ต่างชาตินำเสนอแบบใด ไปจนถึงความรู้ทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับถ้ำที่มากไปกว่าความรู้ท้องถิ่น คือ ไม่ใช่แค่ถ้ำตั้งอยู่ที่ไหน แต่ต้องรู้จักทางเข้าออกและสภาพภูมิศาสตร์ของถ้ำอย่างละเอียด


นอกจากเรื่องเหตุการณ์ที่นำเสนอแล้ว สิ่งที่ไม่ควรละเลยที่จะกล่าวถึงในพิพิธภัณฑ์คือ เรื่องความเชื่อและการตีความเกี่ยวกับถ้ำหลวงที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลมากจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านเข้าใจและอธิบายเรื่องถ้ำอย่างไร ประเพณีเกี่ยวกับถ้ำหลวงที่ทำสืบต่อกันมา ตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับถ้ำในท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับการตีความและคำอธิบายของนักวิชาการ

 

 

Museum’s Core: ลองยกตัวอย่างวัตถุจัดแสดงที่คิดว่าอยากให้มีในพิพิธภัณฑ์ 1 ชิ้น 

 

ผศ.ดร.พจนก กาญจนจันทร: ไฟฉาย เพราะไฟฉายโดยตัวของมันเองเป็นเหมือนสัญลักษณ์ (symbol) อะไรบางอย่าง เวลาที่เราอยู่ในที่สว่าง ไฟฉายไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่กลับเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเราอยู่ในความมืด เหมือนกับเราไปอยู่ในที่ที่เราไม่รู้จักอะไรเลย และคิดว่าสิ่งที่เรารู้หรือความรู้ของเรามันสำคัญที่สุด แต่ที่จริงแล้วยังมีอะไรอีกมากมายที่เรามองไม่เห็น ซึ่งอาจจะสำคัญไม่แพ้กัน...ไฟฉาย สิ่งที่แสนสามัญแต่กลับเป็นสิ่งสำคัญในภาวการณ์บางอย่างและมันก็ช่วยชีวิตคนได้จริง ๆ อย่างที่เราเห็นในถ้ำ

 

 

 Museum’s Core

 



อ่านเพิ่มเติม : องค์ความรู้ความรู้ด้านพิพิภัณฑ์ Museum Siam Knowledge Center

 
การศึกษาการจัดการเชิงกลยุทธ์ของพิพิธภัณฑ์ กรณีศึกษา สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ | สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ


ปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ บทเรียนจากคนอื่น | สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ


พิ(ศ)พิธภัณฑ์ museum refocused | สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ